ปลายปี 2023 กลุ่มนักสิทธิมนุษยชน ทนายความ และผู้มีความหลากหลายทางเพศชาวอินเดียพยายามยื่นเรื่องต่อศาลสูงสุดแห่งอินเดีย (Indian Supreme Court) เพื่อให้พิจารณาแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรสจากระหว่างชาย-หญิง เป็นระหว่าง ‘บุคคลกับบุคคล’ แทน ทว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกของอินเดียที่จะพยายามแก้ไขกฎหมายว่าด้วยการสมรส และเมื่อย้อนมองไปยังเทวตำนานแดนภารตะ เพศสภาวะส่งเสียงร้องดังกึกก้องมาอย่างยาวนาน ความหลากหลายลื่นไหลโลดแล่นอยู่ในวัฒนธรรมอินเดียมานับพันปี ก่อนที่สิ่งเหล่านี้จะค่อยๆ เงียบลง และกลายเป็นสิ่งอื่นทั้งทางวัฒนธรรมและกฎหมาย

ทว่า ณ โกวากัม (Koovagam) เมืองเล็กๆ อันเงียบสงบแห่งหนึ่งในรัฐทมิฬนาฑูทางใต้ของประเทศอินเดีย เสียงของความหลากหลายยังคงดังก้อง ในทุกเดือนจิตติไร (Cittirai Month) ตามปฏิทินจันทรคติแบบทมิฬ หรือระหว่างเดือนเมษายน-เดือนพฤษภาคม เมืองโกวากัมจะคับคั่งไปด้วยเหล่าหญิงข้ามเพศชาวอินเดียจากทั่วทุกมุมของอนุทวีปและโลก หรือเรียกได้ว่าเป็น Pride Month แห่งแดนภารตะก็ไม่ผิดนัก โดยเหล่าหญิงข้ามเพศทั้งหลายเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังเมืองแห่งนี้ด้วยความตั้งใจที่เด็ดเดี่ยว ศรัทธาที่แรงกล้าต่อ ‘พระอิราวัน’ (Iravan) เทพเจ้าอันเป็นที่รักของพวกเธอ 

พระอิราวันคือใคร?

พระอิราวัน พระเอราวัน หรือพระอิราวัต เป็นเทพเจ้าท้องถิ่นที่นับถือแพร่หลายอยู่ในวัฒนธรรมของชาวทมิฬ ตามตำนานเล่าสืบกันมาในปรตะเวนปะ (Parata Venpa) หนึ่งในมหาภารตะเวอร์ชันทมิฬว่า พระอิราวันเป็นลูกชายของอรชุน พี่น้องคนที่ 3 จาก 5 ของตระกูลปาณฑพ เกิดกับนางนาคชื่ออุลุปี และพระอิราวันเข้าร่วมสงครามมหาภารตะที่ทุ่งกุรุเกษตร

ขบวนแห่พระอิราวันในประเทศอินเดีย (ที่มา: AFP)

พระอิราวันถูกโน้มน้าวโดยทุรโยธน์ พี่ชายคนโตแห่งบุตรทั้ง 100 คน ของพระนางคานธารี ให้สังเวยชีวิตของตนเพื่อบูชาพระนางกาลี แต่พระกฤษณะมาได้ยินเข้า จึงโน้มน้าวพระอิราวันให้สังเวยในนามของฝ่ายปาณฑพ ในวิลลิปุตุรัลวาร มหาภารตัม (Villiputuralvar Mahabharatham) มหาภารตะอีกเวอร์ชันหนึ่งของทมิฬ อธิบายต่างไปว่า เดิมพระกฤษณะจะทรงมอบชีวิตของพระองค์ให้กับพระนางกาลี แต่พระอิราวันเสนอตนเองแทน เพราะมองว่า พระกฤษณะเท่านั้นที่จะนำพาพวกปาณฑพผ่านพ้นสงครามใหญ่นี้ได้

ไม่ว่าอย่างไรก็ดี จะถูกโน้มน้าวหรือสมัครใจ สุดท้ายวรรณกรรมทั้งสองมาจบลงที่ว่า พระอิราวันเดินขึ้นสู่แท่นเพื่อบั่นเศียรของตน แต่ก่อนหน้านั้นพระกฤษณะให้พรกับพระอิราวันว่า “สิ่งใดที่เธอปรารถนาจะสำเร็จผลทั้งสิ้น” พระอิราวันจึงขอต่อพระกฤษณะ 3 ข้อ ได้แก่ 1. ของให้การตายนี้เป็นการตายที่มีเกียรติ 2. ขออยู่ดูสงครามดำเนินไป (บ้างว่า 8 วัน บ้างว่าจนจบสงคราม) และ 3. สุดท้ายก่อนจะจากโลกนี้ไปของแต่งงานสักครั้งหนึ่ง

พระกฤษณะผู้เป็นวิษณุอวตารก็ตอบรับ ผลปรากฏว่า ไม่มีสาวใดอยากแต่งงานกับพระอิราวันผู้เพียบพร้อมด้วยพลังรัก เนื่องด้วยสังคมของชาวอินเดียแต่โบราณเกรงกลัวการเป็นหม้าย ชีวิตของสตรีที่สามีตายก็ไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ใหญ่ที่ไร้รากแก้ว ทำได้เพียงแต่นับวันรอความตายเท่านั้น เมื่อเห็นท่าไม่ดี พระกฤษณะผู้เมตตาจึงทรงแปลงตนเป็นนางโมหินีผู้เลอโฉม เข้าพิธีวิวาห์ทำให้พระอิราวันสมหวังดั่งหมาย

เมื่อฉันแต่งงานกับเทพเจ้า

ตำนานความเสียสละของพระอิราวันเป็นที่นิยมแพร่หลายมากในวัฒนธรรมชาวทมิฬ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มหญิงข้ามเพศ เธอทั้งหลายเรียกตัวเองว่า ติรุนาไก (Thiru Nangai) เอราวนี (Aravani) และอิราวานี ซึ่งหมายถึง ‘เมียของพระอิราวัน’ โดยพวกเธอเปรียบตัวเองเหมือนพระกฤษณะในร่างหญิง (โมหินี) เพราะพระกฤษณะทรงเป็นชายแต่แปลงกายเป็นหญิง ไม่ต่างกับพวกเธอที่เกิดมาเป็นชายก่อนจะเกิดใหม่เป็นหญิงงาม

นอกจากนี้ในกลุ่มชาวบ้านที่นับถือพระอิราวันอย่างสุดหัวใจก็เรียกตนเองว่า กลุ่มกุตตันตวาร (Kuttantavar) ซึ่งมีที่มาจากพระนามหนึ่งของพระอิราวัน และความเชื่อสายนี้นับเป็นนิกายย่อยของศาสนาฮินดูฝ่ายใต้

ในเดือนจิตติไรจึงเป็นเดือนแห่งการรำลึกถึงความเสียสละของพระอิราวัน หญิงข้ามเพศจากทั่วทุกทิศจะมารวมตัวกันเพื่อเป็นเจ้าสาวหรือนางโมหินีให้แก่พระอิราวัน และนี่นับเป็นเทศกาลที่มีหญิงข้ามเพศมารวมตัวกันมากที่สุดในอนุทวีป ทุกคนมาด้วยใจเดียวกัน ทุกคนมาเพื่อแต่งงาน ไก่และแพะถูกสังเวยแด่พระอิราวัน และเหล่าสาวงามร้องเล่นเต้นระบำต่อหน้ารูปเคารพของพระอิราวันที่ประดิษฐานอยู่บนแท่นสูง ก่อนจะได้รับการเจิมโดยพราหมณ์

ผู้ทำพิธีของพระอิราวันสวมกำไลแขนจำนวนมาก พร้อมกับสร้อยคอสายสิญจน์สีเหลือง (มังคลสูตรัม หรือ Mangala Sutram) ซึ่งผูกอยู่กับก้านของหัวขมิ้นอันเป็นสัญลักษณ์ของเจ้าสาวในวัฒนธรรมทมิฬ หลังการแต่งงานสิ้นสุดลง หญิงข้ามเพศทั้งหลายก็ได้ดำรงตำแหน่งเจ้าสาวสมใจ โดยมีสามีคือพระอิราวัน แต่ตำแหน่งภรรยาของพวกหล่อนมิได้ยั่งยืนเลย เพราะเมื่อถึงเวลาย่ำรุ่ง พระอิราวันก็ต้องตายตามความในคัมภีร์

หญิงข้ามเพศชาวอินเดียกำลังแต่งตัวเพื่อแต่งงานกับพระอิราวัน (ที่มา: AFP)

หลังการตายของพระอิราวัน เจ้าสาวข้ามเพศทั้งหลายต่อแถวยืนก้มหน้าเศร้าสลดหน้าพราหมณ์ผู้ดูแล และพราหมณ์ค่อยๆ ทุบกำไลข้อมือของพวกเธอจนแตกละเอียด ตัดสายสร้อยคล้องคอที่ได้รับออกเป็นสองท่อน ปลดมาลัยบนมวยผมออกทั้งหมด เมื่อมวยผมที่มัดเก็บอย่างเรียบร้อยคลายออก เมียทั้งหลายของพระอิราวันได้เพียงแต่นั่งจับกลุ่มร้องไห้ให้สามีผู้จากไป รวมถึงความเป็นหม้ายของเธอและเพื่อนสาว

น้ำตาที่ไหลออกมาแท้จริงแล้ว อาจมากกว่าแค่การร้องไห้ที่เทพเจ้าของพวกเธอต้องตายลง แต่น้ำตาเหล่านั้นอย่างเป็นน้ำตาที่ร้องไห้ให้กับ 364 วันที่เหลืออยู่ของปีที่จะต้องทนทุกข์กับสังคมที่ขับไล่พวกเธอออกมา เพื่อรอวันเดียวที่สังคมจะมองพวกเธอในฐานะคนคนหนึ่งอีกครั้งในนาม ‘เมียของพระอิราวัน’

ไม่มีหลักฐานแน่ชัดว่า พิธีกรรมการแต่งงานของหญิงข้ามเพศกับเทพเจ้าพระองค์นี้เริ่มขึ้นเมื่อไร แต่หากกำหนดอายุเทียบเคียงจากวรรณกรรมทมิฬที่กล่าวถึงการแต่งงานระหว่างโมหินีกับพระอิราวันแล้ว วัฒนธรรมชุดนี้อาจเริ่มขึ้นตั้งแต่ราวพุทธศตวรรษที่ 14 หรือพุทธศตวรรษที่ 19 แต่ที่แน่ๆ ตำนานนี้ก็สะท้อนถึงการมีอยู่ของเพศหลากหลายที่มากไปกว่าหญิง-ชายด้วย

หญิงข้ามเพศในสังคมอินเดียร่วมสมัย

แม้สังคมอินเดียรับรู้ถึงการมีอยู่ของหญิงข้ามเพศมานาน แต่ปัจจุบันหญิงข้ามเพศอินเดียถูกสังคมผลักออกมาเป็นตัวประหลาด พวกเธอไม่สามารถหางานทำได้ เพราะไม่อยู่ในระบบวรรณะ เป็นพวกนอกวรรณะ แม้ปัจจุบันมีการพยายามนำพวกเธอเข้าไปในกลุ่มทางสังคมที่เรียกว่า OBC (Other Backward Classes) หรือชนชั้นอื่นๆ ที่ต้องการความช่วยเหลือจากรัฐบาล เพื่อเปิดช่องทางการเข้าถึงสวัสดิการให้กับพวกเธอ แต่สิ่งนี้ก็ยังเชื่องช้าและไม่เพียงพอ เหล่าเอรวานีจึงทำได้เพียงหาเลี้ยงตนเองจากการขายบริการทางเพศและเต้นรำ ทว่าเป็นที่รังเกียจในหมู่ชน

ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ทำไมวัฒนธรรมของความลื่นไหลทางเพศที่มีมายาวถึงเปลี่ยนไป ประเด็นนี้น่าสนใจอย่างมาก และเป็นไปได้ว่ามีจุดเปลี่ยนครั้งใหญ่คือ ‘หลังการปกครองของอังกฤษ’

หญิงข้ามเพศมาเข้าร่วมในเทศกาลเดือนจิตติไร (ที่มา: AFP)

อินเดียได้รับอิทธิพลความคิดแบบวิกตอเรียน (Victorian) เข้ามามากมาย ผ่านระบบการศึกษาแบบอังกฤษ กฎหมายแบบอังกฤษ และวิธีคิดแบบอังกฤษ จากการตกเป็นเมืองขึ้นภายใต้อาณานิคมของอังกฤษกว่า 2 ศตวรรษ ส่งผลให้ความหลากหลายทางเพศที่เคยกระโดดโลดเต้นอยู่ ณ แดนภารตะกลายเป็นสิ่งประหลาดไป เพราะแนวคิดข้างต้นนั้นปฏิเสธเรื่องเหล่านี้ โดยเชื่อว่า โลกนี้ดำรงอยู่ภายใต้ความเป็นชายและหญิงเท่านั้น เพศอื่นๆ ในสังคมและการมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติเป็นสิ่งผิดกฎหมาย (แม้แต่ในอังกฤษ) ตามมาตรา 377 ของประมวลกฎหมายอาญาอินเดีย (Indian Penal Code) ที่ร่างโดยอังกฤษเมื่อศตวรรษที่แล้วระบุว่า การมีเพศสัมพันธ์ที่ผิดธรรมชาติ (ชาย-หญิง) นับเป็นความผิดทางกฎหมาย

แม้เมื่อปี 2018 ศาลสูงอินเดียประกาศว่า กฎหมายมาตราดังกล่าว ‘ขัดต่อสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ’ แต่สุดท้ายคำพิพากษาของศาลจะยังพิจารณาให้คงคุณค่าการสมรสแบบเดิมเอาไว้ และบรรยากาศในสังคมยังค่อนข้างอนุรักษนิยมอยู่มาก แต่นั่นไม่ใช่จุดจบเหมือนเรื่องราวของเหล่าอิราวานี ที่ไม่สามารถเป็นโมหินีของอิราวันได้อีกต่อไปในโลกแห่งความจริงนี้ และการต่อสู้ทางกฎหมายเพื่อความเท่าเทียมทางเพศก็จะดำเนินต่อไปในอินเดีย พร้อมเทวตำนานโบราณที่ขับขานเรื่องราวอันน่าอัศจรรย์ของเหล่าผู้มีความหลากหลายทางเพศ 

ขอพระอิราวันทรงอวยพรแด่ความหลากหลายทางเพศเถิด

  

อ้างอิง

Hiltebeitel, Alf (1988). The cult of Draupadi: Mythologies: from Gingee to Kuruksetra. The cult of Draupadi. Vol. 1. University of Chicago Press.

Johnson, Jerry, Tulleken, Loraine & Mokgethi-Heath, J.P. (2017). I am divine so you are: How Buddhism, Jainism, Sikhism and Hinduism Affirm the Dignity of Queer Identities and Sexualities. Haryana: Harper Coline.

Hinchy, Jessica. (2019). Governing Gender and Sexuality in Colonial India: The Hijra, c.1850–1900. Cambridge University Press.

Kalia, Saumya (2023). Supreme Court’s verdict on same-sex marriages,   https://www.thehindu.com/news/national/supreme-courts-verdict-on-same-sex-marriages-explained/article67429494.ece

 Pandey, Geeta (2023). India Supreme Court declines to legalise same-sex marriage, https://www.bbc.com/news/world-asia-india-65525980

Tags: , , , , ,