เมื่อคืนวันที่ 25 มกราคมที่ผ่านมา ในแคว้นออริซาทางตะวันออกของประเทศอินเดีย แม่พร้อมลูกสี่คนถูกฆ่าอย่างโหดเหี้ยมตอนกลางคืนขณะที่พวกเขากำลังหลับด้วยขวานและแท่งไม้ กลุ่มฆาตกรได้นำศพไปไว้ในบ่อน้ำใกล้บ้านพักของเธอเอง ก่อนที่ในวันถัดมาตำรวจจะเข้าจับกุม 6 ผู้ก่อเหตุที่อ้างว่าทำไปเพราะเชื่อว่าเหยื่อเป็นแม่มด โดยตำรวจเชื่อว่าอันที่จริงแล้วน่าจะมีผู้ก่อเหตุมากกว่านั้น

เป็นที่แน่ชัดว่าการล่าแม่มดในอินเดียนั้นเป็นการใช้ความรุนแรงทางร่างกายและจิตใจอย่างสาหัส และยังคงไม่หมดไปโดยง่าย หนังสือพิมพ์ในอินเดียหัวหนึ่งเคยมีการรายงานข่าวว่าระหว่างปี 2000-2012 นั้นมีคนถูกฆาตกรรมด้วยเหตุผลเดียวกันนี้ถึง 2,100 คน แต่แหล่งอื่นๆ นั้นคาดการณ์ไว้ถึง 2,500 คนด้วยกัน

อีกทั้งในบางพื้นที่ยังมีอัตราการก่อเหตุสูงขึ้นด้วย อย่างเช่นในแคว้นออริซานี้ ที่ทางการได้รับแจ้งว่ามีการก่อเหตุโดยอ้างว่าเหยื่อเป็นแม่มดทั้งหมด 83 ครั้งในปี 2016 และพุ่งสูงขึ้นถึง 99 ครั้งในปี 2017 ถึงแม้จะมีกฏหมายแบนการล่าแม่มดคุ้มครองอยู่ และมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มสตรีในประเทศอยู่อย่างต่อเนื่องก็ตาม

นอกจากการใช้ขวานจามและการทำร้ายร่างกายภายนอก ยังเป็นที่รู้กันว่าในอินเดียมีการบังคับให้เหยื่อทำกิจอื่นที่น่ารังเกียจ เช่น การกลืนกินอุจจาระ เลือดไก่ และเนื้อคน รวมทั้งยังสาดปัสสาวะและอุจจาระใส่เหยื่อ หรือถอดเสื้อผ้าเหยื่อแล้วบังคับให้พวกเธอเดินไปตามทางในหมู่บ้านโดยมีขบวนผู้ก่อเหตุติดตามไปด้วย

ถึงการล่าแม่มดในอินเดียจะไม่เหมือนการมัดพวกเธอไว้กับเสาแล้วจุดไฟเผาอย่างในยุโรปหลังยุคกลาง แต่สิ่งที่ยังคล้ายคลึงคือเหยื่อมักเป็นผู้หญิงโสด หญิงม่าย และคนชรา โดยผู้หญิงกลุ่มนี้มักถูกมองว่า เป็นบุคคลชั้นสองที่มีสถานะต้อยต่ำกว่าคนกลุ่มอื่นในสังคม พวกเธอจึงกลายเป็นเหยื่อของความเชื่อเรื่องโชคลางได้โดยง่าย โดยเฉพาะเมื่อมีคนป่วยหรือตายในหมู่บ้าน เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ หรือผลผลิตทางเกษตรกรรมย่ำแย่

อย่างไรก็ดี ทั้งในประวัติศาตร์การล่าแม่มดทั่วโลกมาจนถึงการรายงานข่าวในศตวรรษที่ 21 ก็ได้พิสูจน์เช่นกันว่า ความเชื่อเรื่องโชคลางนั้นเป็นเพียงหนึ่งในข้ออ้างที่ผู้ก่อเหตุใช้เพื่อปิดบังความจริงเรื่องผลประโยชน์อื่นๆ

อย่างเช่น ในยุโรปนั้นก็มีการคานอำนาจในโบสถ์และศาสนจักรมาเกี่ยวข้อง การล่าแม่มดในอินเดียยุคที่ถูกอังกฤษปกครองก็ถูกใช้เป็นเป็นสัญลักษณ์ในการต่อต้านอำนาจของอังกฤษที่แบนการล่าแม่มด และอินเดียในปัจจุบันเองก็มีเรื่องผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจเป็นตัวแปร หญิงม่ายที่มีเงินเก็บและที่ดินเป็นของตัวเองจึงตกเป็นเป้าของการล่าแม่มดได้โดยง่าย

ที่มา:

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-47053166

https://www.bbc.com/news/world-asia-india-43109339

https://www.washingtonpost.com/news/morning-mix/wp/2014/07/21/thousands-of-women-accused-of-sorcery-tortured-and-executed-in-indian-witch-hunts/?noredirect=on&utm_term=.f5bdf7832b47