“Le cœur a ses raisons, que la raison ne connaît point. 

On le sent en mille choses. C’est le cœur qui sent Dieu, et non la raison. 

 Voilà ce que c’est que la foi parfaite, Dieu sensible au cœur.”

หัวใจนั้นมีเหตุผลที่เหตุผลไม่อาจล่วงรู้ เรารู้สึกได้ในนับพันสิ่งอย่าง 

หัวใจเป็นสิ่งที่ทำให้เรารู้จักพระเจ้า ไม่ใช่เหตุผล เป็นศรัทธา เรารู้สึกถึงพระเจ้าผ่านหัวใจ ใช่เหตุผล

Blaise Pascal

แม้ความรู้ในความรักจะถูกนำเสนอผ่านตำรับตำรามากมาย แต่การเรียนรู้เรื่องรักจะเกิดได้ก็ต่อเมื่อเราได้รักใครสักคนจริงๆ ความรู้ในความรักจึงมักถูกมองว่าเป็นความรู้ในเชิงปฏิบัติมากกว่าทฤษฎี หรือเข้าทำนอง “สิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น สิบตาเห็นไม่เท่ามือคลำ” หากสำหรับผู้มีรักแล้ว ความรักไม่เคยเป็นปรากฏการณ์ธรรมดาสามัญ ทว่าเป็นเหตุการณ์ยิ่งใหญ่ที่ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อชีวิต และหลายครั้งก็มีความยุ่งยากเกิดติดตามมา ซึ่งปัญหาสลับซับซ้อนนี้ก็มักจะมีเหตุผลและคำอธิบายแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล

เหมือนดังเรื่องสั้น What We Talk About When We Talk About Love ของเรย์มอนด์ คาร์เวอร์ (Raymond Carver) ที่แสดงให้เราเห็นว่า มันเป็นเรื่องยากสำหรับใครสักจะพูดว่า ได้ รู้จัก ความรัก เพราะความรักที่เราคิดว่า รู้ อาจเป็นเพียง ความทรงจำ ที่เรามีเกี่ยวกับมัน 

กระทั่งความรุนแรงและทารุณจากความสัมพันธ์ในสายตาของบุคคลภายนอกอาจกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งของความรักสำหรับบางคู่ เช่นกรณีของเทอรี่ตัวละครหญิงที่ถูกอดีตคนรักลากไปกับพื้นขณะที่ปากของเขายังตะโกนว่า “ฉันรักเธอ ฉันรักเธอ ฉันรักเธอ อีเลว” ซึ่งไม่ว่าใครจะว่ายังไงเทอรี่ก็ยังปักใจเชื่อว่าชายคนนี้รักเธอ

การไม่อาจตัดสินแทนผู้อื่นนี้ก็ทำให้เราพูดได้ด้วยว่า ในความรัก เราทั้งหลายต่างก็เป็นนักทฤษฎี ด้วยเพราะสิ่งที่เรารู้ก็เป็นเพียงแค่กรอบอธิบายหนึ่งของความรัก มันอาจช่วยให้เราเข้าใจในบางสิ่งบางอย่างแต่ก็ไม่ใช่คำตอบครอบจักรวาล และนี่ก็เป็นที่มาของบทความชุดที่กำลังจะมีต่อมาอีกนับจากนี้ นั่นคือ ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี หรือ In Theories ที่พยายามทำความเข้าใจสิ่งที่เรียกว่า ‘รัก’ และ ‘ความรัก’  ผ่านการศึกษาตัวบทวรรณกรรม ตำรับตำราตั้งแต่ยุคโบราณนานมา สู่ยุคแห่งศาสนา ผ่านยุคสมัยใหม่เรื่อยมาจนโลกปัจจุบันที่มีทฤษฎีความรักใหม่ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย โดยผู้เขียนย่อมไม่ลืมว่าในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา มีผลงานในภาคภาษาไทยอย่างน้อย 2 เรื่องที่เปิดประเด็นและมุมมองในเรื่องที่เกี่ยวกับความรักได้อย่างน่าสนใจ 

เล่มแรก ความรัก ความรู้ ความตาย ของ ธเนศ วงศ์ยานนาวา ที่เผยให้เห็นความเลื่อนไหลของความหมายและวาทกรรมกำกับความรู้เกี่ยวกับความรัก ตั้งแต่การตั้งคำถามถึงความสัมพันธ์ระหว่าง ‘ความรัก’ กับ ‘ความเป็นเหตุผล’ ซึ่งปราชญ์ตั้งแต่ยุคบุพกาลเป็นต้นมาเชื่อว่าเป็นคู่ขัดแย้ง และได้กลายมาเป็นวิชาที่เรารู้จักกันในชื่อ philophy หรือ ‘การรักในความรู้’ หรือการเปลี่ยนผ่านจาก Eros ไปสู่ Agape ที่มาพร้อมกับการแผ่อิทธิพลของคริสต์ศาสนา ที่บ้างก็ว่าเป็น ‘ศาสนาแห่งการตกหลุมรัก’ จนถึงการก่อตัวของรัฐประชาชาติที่เป็นทั้งจุดจบของความรักส่วนบุคคล และจุดเริ่มต้นของความโรแมนติกที่เกิดจากการสละชีพเพื่อชาติ

เล่มถัดมา ทำไมต้องตกหลุมรัก ของ สรวิศ ชัยนาม เป็นผลงานที่นำเสนอผ่านกรอบอธิบายของนักปรัชญาชาวฝรั่งเศส อแล็ง บาดียู (Alain Badiou) ผู้เห็นว่า ความรักที่แท้จริงกำลังตกอยู่ในอันตราย ศัตรูของความรักคือความหลงตัวเอง (narcissism) แนวคิดสุขนิยม (hedonism) ที่ลดทอนความรักให้เป็นเพียงความสะดวกสบาย สำหรับบาดียู ความรักเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ที่ยิ่งใหญ่ (event) ในชีวิตของเรา เป็นความจริงที่สร้างได้จากการตัดสินใจอันหนักแน่น และมีผลเช่นเดียวกับการปฏิวัติที่จะสถาปนาสิ่งที่ไม่เคยเกิดหรือดำรงอยู่ให้เป็นจริงขึ้นมา

บทความชุด ‘ในความรัก เราต่างเป็นนักทฤษฎี’ ที่ทุกท่านจะได้อ่านต่อไปอาจเรียกได้ว่าเป็นการขับขยายมุมมองและสร้างข้อสังเกตเพิ่มเติมส่วนที่งานทั้งสองชิ้นได้เว้นว่างไว้ โดยบทตอนแรกสุดนี้จะพาเราไปทำการวิเคราะห์ความรักผ่านกรอบอธิบายทางด้านสังคมวิทยา

 

สังคมวิทยาของความรัก

ความรักถูกประกาศว่าตายไปแล้วในรอบหลายทศวรรษมานี้ เนื่องมาจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่ขยายตัวอย่างต่อเนื่องนับจากศตวรรษที่ 19 เมื่อความรักถูกโยงเข้ากับโลกอุดมคติที่เกิดจากการแต่งงานและการสร้างครอบครัว ในผลงาน Origin of the Family, Private Property and the State ของฟริดริค เองเกิลส์ (Friedrich Engels) ได้วิพากษ์การสมรสของชนชั้นกระฎุมพีว่าวางอยู่บนประโยชน์มากกว่าความรู้สึกจริงๆ และเห็นว่า ชนชั้นแรงงานที่ไม่มีทรัพย์สินให้ได้มาหรือรักษาเท่านั้นที่จะมีความรักจริง ความตายของความรักในศตวรรษที่ 19 จึงเกี่ยวเนื่องกับการก่อตัวขึ้นของระบบทุนนิยม

ความรักโรแมนติก (Romantic Love) กับระบบทุนนิยมจึงเป็นเหมือนสิ่งที่อยู่ตรงกันข้าม เมื่อมองว่าความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักนั้นอยู่เหนือปัจจัยด้านเศรษฐกิจที่ก็ชัดเจนว่า ความสัมพันธ์ภายใต้ระบบทุนนิยมนั้นมีผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นรากฐานที่ทำให้เราสามารถเปลี่ยนคู่เจรจาทางการค้าได้ตลอดเวลา ในขณะที่ความรักแบบโรแมนติกจะเหมือนพันธสัญญาระหว่างคนสองคนที่จะมีผลผูกพันกันไปจนกว่าความตายจะมาพรากไป

ทว่า Consuming the Romantic Utopia (1997) ของอีวา อิลลูซ (Eva Illouz) กลับชี้ให้เราเห็นว่า ความรักโรแมนติกมีส่วนอย่างมากในการทำให้ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมขยายตัวออกไปในช่วงยี่สิบห้าปีแรกของศตวรรษที่ 20

เมื่อธีมของความรักได้ถูกผสานเข้ากับสินค้าและการบริการผ่านวิถีชีวิตแบบชนชั้นกลาง ซึ่งค่อยๆ ขยับขยายและเติบโตขึ้นเรื่อยๆ การแต่งงานอันเป็นภาพของความรักในโลกอุดมคติจากศตวรรษที่ 19 ซึ่งช่วยให้ขายสินค้าตกแต่งบ้านและเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้ปรับเปลี่ยนเป็นความสุขที่อยู่นอกบ้าน เป็นการขายสินค้าที่เป็นเครื่องชูรสชีวิตแต่งงานอันน่าเบื่อหน่าย และเป็นจุดเริ่มต้นของความเฟื่องฟูในสินค้าแสดงอัตตา (ego-expressive) จำพวกน้ำหอม เครื่องประดับ น้ำหอมและเครื่องประทินผิวต่างๆ 

นิตยสาร Saturday Evening Post ที่ได้รับความนิยมในหมู่ชนชั้นกลางชาวอเมริกันมากที่สุดฉบับหนึ่งซึ่งนอกจากมีเรื่องสั้นบันเทิงอารมณ์แล้วยังเต็มไปด้วยหน้าโฆษณาสินค้าในครัวเรือนต่างๆ อีกมากมาย

เป็นที่น่าสังเกตว่านิตยสารที่ชนชั้นกลางอ่านในช่วงแรกนั้นจะเต็มไปด้วยหน้าโฆษณาสินค้าที่ใช้ภายในครัวเรือน และมีเพียงน้อยมากสำหรับโฆษณาสินค้าแสดงอัตตา ในขณะที่นิตยสารสำหรับชนชั้นล่างที่มีหน้าโฆษณาน้อยกว่ามาก แต่กลับเป็นโฆษณาสินค้าแสดงอัตตาเกือบทั้งหมด 

อาจเป็นไปได้ว่าชนชั้นล่างที่นิยมชมชอบการดูหนังนั้น ปรารถนาจะเห็นใบหน้าของตัวเองมีรัศมีทอออกมาเหมือนเช่นดาราที่พวกเขาชื่นชอบ ที่เครื่องสำอางนั้นถือเป็นหนึ่งในประดิษฐกรรมสำคัญที่กำหนดความสำเร็จของธุรกิจภาพยนตร์ในยุคแรกเริ่ม ซึ่งกลายเป็นว่าต้องจนถึงทศวรรษที่ 1930 ไปแล้ว นิตยสารของชนชั้นกลางจึงได้เริ่มปรากฏโฆษณาสินค้าแสดงอัตตา ที่เริ่มยอมรับว่า การตกแต่งและประดับร่างกายเพื่อคนที่เรารักหรือรักเราก็กลายเป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับความรักในต้นศตวรรษที่ 20 

เกรตา การ์โบ (Greta Garbo) ในภาพยนตร์ Flesh and the Devil (1926) ดาราชาวสวีดิชผู้โด่งดังในยุคหนังเงียบ ที่ว่ากันว่าเป็นหนึ่งในนักแสดงที่อีโรติกที่สุดคนหนึ่งในยุคนั้น

ในทำนองเดียวกันกับการเดตที่เริ่มต้นขึ้นในสังคมของคนใช้แรงงานก่อน ด้วยก่อนหน้านั้นพื้นที่สำหรับการพบปะกันของคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางมักจะเป็นบ้านของฝ่ายหญิง หรือเรียกได้ว่าเป็นพื้นที่ส่วนตัวมากกว่าที่สาธารณะ ซึ่งเป้าหมายของการเดตของผู้ใช้แรงงานที่ใช้เวลาว่างจากหน้าที่การงานมาพลอดรักกันนั้นก็ไม่ได้เพื่อสานต่อไปสู่การแต่งงาน กิจกรรมนี้ถูกมองไร้วัฒนธรรม หรือไม่มีความโรแมนติกแต่อย่างใด 

อย่างไรก็ตามเมื่อการนัดพบในที่สาธารณะเป็นที่ยอมรับในคนหนุ่มสาวชนชั้นกลางแล้ว การเดทที่ถือว่าเป็นกิจกรรมโรแมนติกสำหรับพวกเขาก็ได้นำพาคู่รักทั้งหลายออกไปใช้จ่ายและบริโภคที่มากขึ้น จนสามารถพูดได้ว่า ความรักโรแมนติกมีส่วนสร้างสังคมบริโภคและในทางกลับกันสังคมแห่งการบริโภคนี้ก็ได้ส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อความโรแมนติกของความรักด้วยเช่นกัน

ความรักในยุคแห่งสินค้าเริ่มต้นจากการแบ่งแยกตัวเองออกจากความรักที่เคยอยู่ในกรอบคิดทางศาสนา และกลายมาเป็นความรักแบบฆราวาสนิยม (secularized love) และเป็นเหมือนศิลาฤกษ์ของสังคมทุนนิยม 

ในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ความรักถูกขับขยายผ่านสื่อต่างๆ อย่างมีนัยสำคัญ การมีความรักกลายเป็นเรื่องเดียวกับการมีชีวิตรุ่งโรจน์และเปี่ยมสุข แม้การแต่งงานอาจไม่ใช่คำตอบอีกแล้ว สุดท้ายการบำรุงบำเรอความรักก็ถูกนำไปโยงเข้ากับความต้องการจะบริโภคสินค้าต่างๆ

ผลจากความเปลี่ยนแปลงของความรักสอดคล้องกับคุณสมบัติของสังคมสมัยใหม่ที่ให้คุณค่ากับการเลือกได้ ความรักของคนในโลกยุคใหม่ต้องเป็นความรักชนิดที่เลือกได้ ซึ่งก็นำไปสู่ทางเลือกมากมายไม่สิ้นสุดเพื่อให้ความรักนั้นนำพาชีวิตไปสู่ความสมบูรณ์ แต่กลับกลายเป็นว่า ความรักจริงๆ ที่ไม่ได้สมบูรณ์แบบกลับกลายเป็นเพียงความรักที่จืดจางและแทบจะไม่มีความหมายความสำคัญใดๆ และอาจมองได้ว่า ความเป็นไปได้ที่ไม่สุดในโลกสมัยใหม่นี้ได้กลายเป็นจุดสิ้นสุดของความรักแบบเดิม

 

อ้างอิง

  • Raymond Carver, Collected Stories: Will you Please Be Quiet, Please?, What We Talk About When We Talk About Love, Cathedral, Stories From Furious Seasons, Fire, and Where I’m Calling From, Beginners, Other Stories and Selected Essays, (New York: Library of America, 2009).
  • Byung-Chul Han, Agony of Eros, (Massachusetts: MIT Press, 2017).
  • Eva Illouz, Consuming the Romantic Utopia: Love and the Cultural Contradictions of Capitalism, (ฺBerkley: University of California Press ,1997).
  • Edgar Morin, The Stars, translated by Richard Howard, (Minneapolis: University of Minnesota Press, 2005)
Tags: , , ,