“ปรัชญาเป็นดั่งความคิดแห่งโลกที่จะไม่ปรากฏจนกระทั่งความเป็นจริงทั้งหลายสิ้นสุดกระบวนการก่อรูปที่ดำเนินมา (…) เมื่อปรัชญาระบายสีเทาลงบนสีเทา รูปแบบชีวิตหนึ่งกลายใกล้ความชรา สีเทาอันเป็นตัวแทนของการไม่อาจย้อนคืนกลับสู่ความเยาว์วัย ที่ทำได้เพียงแค่เรียนรู้ นกเค้าแห่งมิเนอร์ว่าสยายปีกบินไปในยามที่เงามืดแผ่ขยายครอบคลุมรัตติกาล” ข้อความอันโด่งดังของเฮเกล (G. W. F. Hegel) นี้น่าจะพอปรับใช้กับความรักความสัมพันธ์ของใครหลายคน ที่จะรู้ว่ามีอยู่ก็เมื่อมันจบสิ้นหรือผ่านพ้นไปแล้วได้ด้วยเช่นกัน

ประเด็นที่เราจะพูดคุยข้างหน้าเป็นตำนานความสัมพันธ์ระหว่างโซเรน เคียร์เคกอร์ด (Søren Kierkegaard) กับเรจิเนอ โอลเซน (Regine Olsen) ปราชญ์ผู้โด่งดังกับผู้หญิงที่ไม่เพียงเป็นคู่หมั้นหมาย แต่ยังเป็นเทพีศิลป์ (Muse) ผู้เป็นแรงบันดาลใจและส่งผลเปลี่ยนแปลงต่อตัวตน-ความคิดของเขาอย่างมากมายภายหลังความรักสิ้นสุด

โซเรน เคียร์เคกอร์ด นักเทววิทยาชาวเดนมาร์ก ผู้ได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งปรัชญาอัตถิภาวนิยม (Existentialism)

เริ่มต้น ณ จุดสิ้นสุด

เคียร์เคกอร์ดพบกับเรจิเนอ โอลเซนครั้งแรกเมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม ปี 1837 ภายในงานเลี้ยงซึ่งจัดขึ้นในบ้านของสุภาพสตรีคนหนึ่ง ขณะนั้นเขายังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยในวัย 24 ส่วนเธอเพิ่งมีอายุได้เพียง 15 ปี จากนั้นเขาก็เฝ้าติดตามเธอเรื่อยมา แอบลอบมองเธอขณะอยู่ในร้านขนม ระหว่างเส้นทางเดินไปกลับโรงเรียนสอนดนตรี

เรจิเนอ โอลเซน อดีตคู่หมั้นที่ส่งอิทธิพลความคิดต่อเคียร์เคกอร์ดอย่างมากมาย

เขาได้เขียนลงไปในบันทึกหน้าหนึ่งลงวันที่ 11 สิงหาคม 1838 เกือบหนึ่งปีถัดมาว่า “เรจิเนอ เธอคือราชินีผู้ปกครองใจฉัน ซ่อนอยู่ในส่วนลึกของความลับในอก ในความเต็มล้นของชีวิต-ความนึกคิด ไกลห่างจากกันราวสรวงสวรรค์และนรก—ดั่งเทพีที่ไม่มีใครรู้จัก โอ ฉันจะเชื่อในกวีทั้งหลายได้ใช่ไหม ยามที่พวกเขากล่าวว่า ครั้งแรกที่คนเราแลเห็นสิ่งที่เรารัก เราจะคิดว่าได้พบเจอเธอมาก่อน ความรักก็เป็นเช่นความรู้ที่คือการระลึกได้ ความรักในปัจเจกหนึ่งๆ มักจะมีคำทำนาย รูปแบบ ตำนาน และกระทั่งคัมภีร์ภาคพันธสัญญาเก่าของมันเอง ทุกที่ทุกแห่ง บนใบหน้าของหญิงสาวทุกคน ฉันเห็นรูปเค้าความงามของเธออยู่ในนั้น”

จากนั้นมาเขาก็กลายเป็นเพื่อนต่างวัย เป็นแขกที่แวะเวียนไปเยี่ยมเยียนเธอที่บ้านอยู่บ่อยๆ เขาได้บันทึกเหตุการณ์สำคัญในวันที่ 8 กันยายน ปี 1940 เอาไว้ว่า “ผมตระเตรียมการตัดสินใจในทุกเรื่องตั้งแต่ก้าวเดินออกจากบ้าน เราเจอกันตรงถนนหน้าบ้านเธอ เธอบอกว่า ไม่มีใครอยู่ตอนนี้ ผมหาญกล้าที่จะเข้าใจว่านี่เป็นคำเชิญชวนและเป็นโอกาสที่ผมต้องการ ผมก้าวเข้าไปข้างในพร้อมกับเธอ แล้วเราก็ยืนอยู่เพียงลำพังในห้องรับแขก ผมขอให้เธอเล่นเปียโนให้ผมฟังเหมือนเช่นครั้งก่อนๆ แต่ดูเหมือนจะไม่ประสบผลสำเร็จ จากนั้นผมก็ปิดสมุดโน้ตเพลงอย่างรุนแรง แล้วโยนมันใส่เปียโน ก่อนจะพูดว่า ‘ผมจะไปสนดนตรีทำไม เธอต่างหากเล่าที่ผมเฝ้าตามหามาสองปีแล้ว’ แต่เธอกลับเงียบเฉย…”

แต่ผ่านพ้นไปสองวัน เคียร์เคกอร์ดได้อ้อนวอนต่อบิดาของเธอ การหมั้นหมายระหว่างทั้งสองจึงเกิดขึ้นในวันที่ 10 กันยายน ปี 1840 แต่แทนที่เขาจะมีสุข เขากลับเป็นทุกข์และขื่นขมอยู่ลึกๆ ภายใน เหมือนดังที่เขาได้บันทึกอารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นไว้ว่า “ในใจผม ผมคิดว่าตัวเองได้ตัดสินใจพลาดอย่างร้ายกาจ (…) แล้วผมก็ทนทุกข์ทรมานเกินบรรยายนับจากนั้น”

ชัดเจนว่าพิธีแต่งงานที่ควรชัดเจนแน่นอนกลับถูกเลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด การไปมาหาสู่กันระหว่างเขากับเธอเหลือเพียงแค่จดหมายโต้ตอบ ด้วยข้ออ้างที่ว่าฝ่ายชายต้องทุ่มเทให้กับการสอบวิทยานิพนธ์และงานศึกษาด้านเทววิทยาที่ได้น้อมนำเขาไปสู่ความสนใจทางด้านศาสนา

จนที่สุดเหตุการณ์ที่ไม่มีใครคาดคิดก็เกิดขึ้น เมื่อวันที่ 12 สิงหาคม ปี 1841 หรือเกือบ 1 ปีของการหมั้นหมาย เคียร์เคกอร์ดได้ส่งแหวนหมั้นพร้อมด้วยจดหมายให้เรจิเนอ โอลเซน โดยเนื้อความในจดหมายเขียนว่า “โปรดลืมชายผู้เขียนจดหมายฉบับนี้ โปรดให้อภัยชายที่เขาอาจเป็นใครสักคน แต่ไม่ใช่ใครที่ทำให้หญิงสาวผู้หนึ่งมีความสุข” เธอไม่ยอมรับการถอนหมั้น สิ่งที่เธอทำคือเดินทางไปพบเขาในทันที แต่ไม่มีใครอยู่ที่ห้อง การหมั้นหมายยังคงยืดยื้อไปนานหลายเดือน จนในที่สุดเขาก็ยอมพบเธอ

เขาได้บันทึกเหตุการณ์ในครั้งนั้นเอาไว้ว่า “ผมไปพบและพูดกับเธอ เธอถามผมว่า จะแต่งงานกับฉันไหม? ผมตอบ อืม อีกสักสิบปีข้างหน้ากระมัง ยามเมื่อได้ใช้ชีวิตอย่างสุดเหวี่ยงแล้ว ผมถึงจะอยากมีสาวน้อยสักคนคอยชุบชูให้รู้สึกกระชุ่มกระชวย เธอพูดว่า โปรดยกโทษให้ฉัน ในสิ่งที่ฉันเคยได้ทำไป ผมตอบว่า ผมจะน่าจะสวดภาวนาให้คุณยกโทษให้มากกว่า เธอบอกว่า ได้โปรดจูบฉัน แล้วผมก็ทำตามนั้น โดยปราศจากอารมณ์ความรู้สึกใดๆ พระเจ้าช่วย!…”

เขาแสดงตนเป็นคนกักขฬะเพื่อให้เธอตัดใจจากเขาโดยง่าย สองสัปดาห์ถัดจากนั้นเขาก็ออกเดินทางไปยังกรุงเบอร์ลิน และเริ่มต้นเขียนงานชิ้นสำคัญที่มีชื่อว่า Either/Or ผลงานที่มีความยาวร่วม 700 หน้า ซึ่งเกือบทั้งหมดเกี่ยวโยงหรือเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ที่พังทลายของเขา

Either/Or ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ที่มีต้นฉบับยาวร่วม 700 หน้า ใช้เวลา 11 เดือนในการเขียนขึ้นมา

ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง Either/Or คือผลงานเล่มสำคัญของเคียร์เคกอร์ดที่ว่ากันว่าใช้เวลา 11 เดือนในการเขียน (พร้อมๆ กับทำวิทยานิพนธ์ของเขา) แต่กว่าจะได้รับการตีพิมพ์ออกมาก็ต้องใช้เวลาเกือบสองปี

Either/Or จัดพิมพ์ครั้งแรกในปี 1843 โดยใช้นามแฝง วิคเตอร์ เอเรมิทา (Victor Eremita) ผู้กล่าวอ้างว่าเป็นคนค้นพบต้นฉบับทั้งหมดในลิ้นชักลับของโต๊ะเขียนหนังสือที่ซื้อมาจากร้านขายของเก่า และเมื่อได้อ่าน เอเรมิทาจึงได้ตัดสินใจนำออกมาตีพิมพ์

ข้อเขียนใน Either/Or เป็นผลงานที่เอเรมิทาเรียกว่าเป็น “งานประพันธ์หลังมรณกรรม เอกสารที่ถูกค้นพบ เอกสารที่สาปสูญ ฯลฯ” และเขาก็ได้ถือสิทธิ์ขาดในการจัดเรียงลำดับผลงานเหล่านั้นใหม่ โดยเขาเชื่อว่าต้นฉบับนี้น่าจะเป็นงานของผู้ประพันธ์ 2 คนที่เขาเรียกว่า A และ B และเขาก็ได้จัดแบ่งหนังสือออกเป็น 2 ภาค ภาคแรกชื่อ Either และภาคสองชื่อ Or

ในมุมมองของเอเรมิทา A เป็นคนที่มีมุมมองทางสุนทรียศาสตร์ซึ่งแตกต่างหลากหลายจนยากจะจัดประเภทหมวดหมู่ ในขณะที่ B นั้นมีระบบระเบียบและชุดความคิดที่สอดคล้องกว่า A ซึ่งไม่ว่าลำดับการเขียนก่อนหลังของทั้งสองจะเป็นอย่างไร แต่เมื่อผลงานของ A และ B ถูกอ่าน ตัวตนของผู้ประพันธ์ผลงานก็จะไม่สำคัญเท่ากับความคิดความรู้สึกที่ปะทะโต้ตอบกันในความจดจำได้ของผู้อ่าน ซึ่งนับว่าเป็นแนวคิดที่แปลกล้ำและทำให้ Either/Or กลายเป็นวรรณกรรมที่สร้างความตื่นตะลึงใจแก่ผู้อ่านอย่างมากมาย และด้วยเพราะความมหึมาของมัน ปัจุบันจึงได้มีการนำเอาบางบทบางตอนมาพิมพ์แยก อาทิเช่น The Seducer’s Diary หรือ Diapsalmata

The Seducer’s Diary หรือ Diary of a Seducer ฉบับที่จัดพิมพ์ออกมาโดยสำนักพิมพ์เพนกวิน

เป็นที่ทราบกันว่าผลงานชิ้นนี้ประกอบขึ้นจากประสบการณ์และความคิดในภายหลังจากการถอนหมั้น ซึ่งแม้จะเป็นเรื่องของละคร ดนตรี สุนทรียศาสตร์ หากในหลายบทตอนก็เกี่ยวโยงกับความยอกย้อนของชีวิตสมรส ดังข้อความที่โด่งดังในบท Diapsalmata ที่ว่า

“ถ้าท่านแต่งงาน ท่านจะเสียใจ ถ้าท่านไม่แต่งงาน ท่านก็จะเสียใจ ถ้าท่านแต่งงาน หรือท่านไม่แต่งงาน ท่านก็จะเสียใจ ไม่ว่าท่านจะแต่งงาน หรือท่านไม่แต่งงาน ท่านก็จะเสียใจอยู่ดี หัวเราะให้กับความบ้าคลั่งของโลก ท่านจะเสียใจ ร้องไห้ให้กับมัน ท่านก็จะเสียใจ ถ้าท่านหัวเราะให้กับความบ้าของโลก หรือร้องไห้ให้กับมัน ท่านก็จะเสียใจ ไม่ว่าท่านจะหัวเราะให้กับความบ้าคลั่งของโลก หรือร้องไห้ให้กับมันท่านก็จะเสียใจอยู่ดี เชื่อใจสตรี ท่านจะเสียใจ ไม่เชื่อใจหล่อน ท่านก็จะเสียใจ เชื่อใจในสตรี หรือไม่เชื่อใจหล่อน ท่านก็เสียใจ ไม่ว่าท่านจะเชื่อใจสตรี หรือไม่เชื่อใจหล่อน ท่านก็จะเสียใจอยู่ดี ผูกคอตาย ท่านจะเสียใจ ไม่ผูกคอตาย ท่านก็จะเสียใจ ผูกคอตาย หรือไม่ผูกคอตาย ท่านก็จะเสียใจ ไม่ว่าท่านจะผูกคอตาย หรือไม่ผูกคอตาย ท่านก็จะเสียใจอยู่ดี สุภาพบุรุษทั้งหลาย นี่เป็นผลรวมของปรัชญาที่เป็นจริง”

คงไม่เกินไปนักหากจะกล่าว่า Either/Or เป็นวรรณกรรมชิ้นสำคัญที่กำเนิดขึ้นบนจุดจบความสัมพันธ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นสะพานเชื่อมต่อไปยังผลงานเรื่องยอดเยี่ยมอื่นๆ อาทิเช่น Fear and Trembling (1843) ที่จัดพิมพ์ออกมาในปีเดียวกันกับ Either/Or โดยในปีเดียวกันนั้น เคียร์เคกอร์ดยังมีผลงานตีพิมพ์ออกมาอีก 3 ชิ้นด้วยกัน ได้แก่ Two Upbuilding Discourses, Three Upbuilding Discourses และ Repetition เรียกว่ารักพังครั้งเดียวเขามีผลงานมากถึง 5 ชิ้นภายในปีเดียว

Fear and Trembling ผลงานที่ได้ชื่อว่ามีความสำคัญที่สุดของเคียร์เคกอร์ด ฉบับพิมพ์ครั้งแรก ในปี 1843

รักในความย้อนแย้ง

ภายหลังจากเลิกรากันได้ 1 ปีกับ 6 เดือน เคียร์เคกอร์ดและเรจิเนอ โอลเซนได้พบกันโดยบังเอิญที่โบสถ์แห่งหนึ่ง

เคียร์เคกอร์ดเพิ่งเดินทางกลับจากเบอร์ลินพร้อมด้วยกระเป๋าที่ภายในบรรจุต้นฉบับผลงาน Either/Or เธอมองเห็นเขานั่งอยู่ในมุมที่ไกลห่างจากคนทั้งหลายจึงขยับเข้าไปนั่งข้างๆ

มันเป็นห้วงเวลาระหว่างเก้าถึงสิบโมงเช้า ทั้งคู่ไม่ได้พูดอะไร เรจิเนอ โอลเซนหันไปมองเคียร์เคกอร์ด พยักหน้าหนึ่งครั้ง เหมือนวิงวอนให้เขากลับไปเริ่มความสัมพันธ์ใหม่อีกครั้ง เขายังนิ่งเฉย เธอพยักหน้าอีกหนึ่งครั้ง เขาส่ายหน้า เพื่อปฏิเสธเธอด้วยท่าทีที่อ่อนโยนมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เหมือนบอกว่าเก็บความรักของเขาไว้ในมิตรภาพ

ทั้งคู่ได้พบกันโดยบังเอิญอีกครั้งระหว่างเดินอยู่บนท้องถนน เธอพยักหน้าทักทายเขาแบบเพื่อน หากเขากลับรู้สึกเจ็บปวดและส่ายหน้าก่อนจะเดินผ่านเธอไป

จากจุดเริ่มต้นสู่จุดสิ้นสุดของความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสอง บางคนยังคงมองไม่ออกว่า อะไรคือสิ่งที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เคียร์เคกอร์ดตัดสินใจถอนหมั้น แม้เขาจะย้ำอยู่เสมอว่า ความเศร้าสร้อยเรื้อรังคือสิ่งที่จะทำร้ายเธอเมื่อทั้งคู่ต้องใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน ซึ่งยังไม่ร้ายเท่ากับความคิดที่เขาเห็นว่าฝ่ายหญิงจะพันผูกข้องเกี่ยวจนทำให้ไม่สามารถเขียนหรือคิดอะไรได้อีก แต่ทั้งหมดนี้ก็ยังไม่น่าจะสาเหตุจริงๆ มากเท่ากับศรัทธาความเชื่อที่กลายเป็นหลักคิดสำคัญในปรัชญาของเคียร์เคกอร์ด เฉกเช่นการเซ่นสังเวยอิสซิอัคบุตรของอับราฮิม เคียร์เคกอร์ดเองได้เซ่นสังเวยความรักที่เขามีต่อคนรักให้แก่พระเจ้า

 

อ้างอิง

  • Joakim Garff, Kierkegaard’s Muse : The Mystery of Regine Olsen, translated by Alastair Hannay (New Jersey: Princeton University Press, 2017)
  • Søren Kierkegaard, Seducer’s Diary, translated by Edna H. Hong & Howard V. Hong  (New Jersey: Princeton University Press, 2013)
Tags: , , , ,