วันอาทิตย์ที่ 24 นี้ หากจะพูดว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุดวันหนึ่งในช่วงหลายปีนี้ก็คงไม่ผิดนัก นั่นก็เพราะเป็นวันที่ชาวไทยจะได้มีส่วนกำหนดอนาคตของประเทศชาติเองหลังจากรอมานานแสนนาน

   แต่ยิ่งการเลือกตั้งครั้งนี้สำคัญเท่าไร การตัดสินใจว่าจะออกเสียงให้ผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคนไหนหรือพรรคไหนก็ยิ่งยากขึ้นเป็นเงาตามตัว จึงไม่แปลกที่หลายคนก็ยังเลือกไม่ได้หรือสองจิตสองใจจนถึงโค้งสุดท้าย

  แต่ท้ายที่สุด เมื่อเข้าคูหาและถือใบลงคะแนนในมือแล้ว เราก็ต้องตัดสินใจอยู่ดี

  เพื่อเป็นการต้อนรับวันเลือกตั้ง สัปดาห์นี้ เราจะไปดูสำนวนที่เกี่ยวกับการตัดสินใจไม่ได้ ทั้งสำนวนที่หมายถึง ลังเลเลือกไม่ถูก และสำนวนที่พูดถึงสถานการณ์เมื่อเราต้องตัดสินใจแล้ว

ยังตัดสินใจเลือกไม่ได้

be of two minds

สำนวนนี้เทียบกับภาษาไทยก็คือ สองจิตสองใจ ใช้ในกรณีที่เราเลือกไม่ถูกระหว่างตัวเลือกสองอย่าง เช่น เลือกไม่ถูกว่าจะลงคะแนนเสียงให้พรรค ก. หรือ พรรค ข. เป็นต้น ในกรณีแบบนี้ เราก็อาจพูดว่า I am of two minds about whether to cast my vote for Party A or Party B. สำนวนนี้หากเป็นฝั่งอังกฤษก็จะพูดว่า be in two minds

on the horns of a dilemma

คำว่า dilemma นี้ หมายถึงสถานการณ์ที่เราต้องเลือกระหว่างทางเลือกสองทาง แต่ไม่ได้น่าเลือกเลยสักทาง ทำนองว่าเลือกอันไหนไปก็มีข้อเสีย ดังนั้น สำนวนนี้จึงหมายถึง ตกอยู่ในสถานการณ์ที่เราจำใจต้องเลือกสักทาง แม้รู้ว่าเลือกทางไหนก็ไม่ดี ตัวอย่างเช่น My parents were not on speaking terms, so I was put on the horns of a dilemma when I was asked to choose who to spend my birthday with. หมายถึง พ่อแม่ไม่คุยกันอยู่ เลยลำบากใจมากเมื่อต้องเลือกว่าจะฉลองวันเกิดกับใคร

torn (between A and B)

สำนวนนี้ไม่ได้แปลว่ามีอะไรฉีกขาดจริงๆ เป็นการเปรียบเปรยว่าความคิดของเราถูกยื้อยุดกันไปคนละทางจนเหมือนฉีกขาดออกจากกัน ฝั่งหนึ่งไปทางหนึ่ง แต่อีกฝั่งหนึ่งดันไปอีกทาง อยากจะเลือกทั้งคู่แต่เลือกได้แค่อย่างเดียว ตัวอย่างเช่น วันนี้ใช้โควตาแคลอรี่ประจำวันเกือบหมดแล้ว เหลือพอให้กินได้แค่เค้กหรือไอติมอย่างใดอย่างหนึ่ง แต่บังเอิญว่าอยากกินทั้งคู่ รักพี่เสียดายน้อง ตัดสินใจไม่ได้เสียที แบบนี้ก็อาจจะบอกว่า I’m so torn. คือ เลือกไม่ได้จริงๆ

on the fence

สำนวนนี้ให้ภาพว่านั่งอยู่บนรั้ว ไม่ลงมาฝั่งใดฝั่งหนึ่ง มีความหมายหลักๆ ว่า ยังไม่ตัดสินใจ อาจเป็นเพราะเลือกไม่ได้เช่นเดียวกับสำนวนอื่นๆ ที่ผ่านมา ตัวอย่างเช่น หากมีเพื่อนชวนเราไปปาร์ตี้ แต่เรายังตัดสินใจไม่ได้ว่าจะไปหรือไม่ไป ก็อาจจะพูดว่า I’m still on the fence about whether to go to the party. หรืออาจจะเพราะเราจงใจยังไม่เลือกฝั่ง เช่น The CEO has been sitting on the fence about the issue. แบบนี้ก็จะหมายถึงว่า ซีอีโอยังยักแย่ยักยั่น ไม่แสดงท่าทีหรือตัดสินใจต่อประเด็นปัญหา

spoilt for choice

สำนวนนี้ใช้ฝั่งอังกฤษมากกว่าฝั่งอเมริกา มีความหมายว่าเลือกไม่ถูกคล้ายสำนวนอื่น แต่ต่างตรงที่ไม่ได้เลือกไม่ถูกเพราะอยากได้หรือไม่อยากได้ทั้งสองฝั่ง แต่เลือกไม่ถูกเพราะมีทางเลือกมากจนตาลายและตัดสินใจไม่ได้นั่นเอง ส่วนใหญ่แล้วใช้ในเชิงเปรียบเปรยเฉยๆ แปลว่า มีให้เลือกมากมาย ไม่ได้แปลว่าเลือกไม่ได้จริงๆ ตัวอย่างเช่น Our vast array of products will leave you spoilt for choice. หมายถึง เรามีสินค้าละลานตามากเสียจนคุณอาจเลือกไม่ถูกเลยทีเดียว

ตัดสินใจแล้ว!

come down on one side of the fence or the other

สำนวนนี้ให้ภาพเดียวกันกับสำนวน be on the fence เพียงแต่ในที่นี้จำเป็นจะต้องเลือกแล้วว่าจะลงมาอยู่ฝั่งไหนของรั้ว พูดอีกอย่างก็คือ ต้องเลือกฝั่งหรือตัดสินใจเลือกระหว่างตัวเลือกสองอย่าง ตัวอย่างเช่น เพื่อนของเราอาจกำลังลังเลระหว่างสองพรรคการเมือง แต่แน่นอนว่าเพื่อนจะเลือกทั้งสองพรรคพร้อมกันไม่ได้ ก็อาจจะบอกกับเพื่อนว่า You need to come down on one side of the fence or the other. ก็คือ ยังไงแกก็ต้องตัดสินใจ

come down in favor of

สำนวนนี้เหมาะกับการเลือกตั้งมาก เพราะหมายถึง ประกาศตัวว่าสนับสนุนหรือฝักใฝ่ฝ่ายไหน เช่น หากพรรคการเมืองหนึ่งเล่นตัวอมพะนำมานานว่าจะร่วมรัฐบาลกับอีกพรรคหนึ่งไหม  ไม่ยอมเปิดเผยอย่างเป็นทางการเสียที จนวันหนึ่งก็ออกมาประกาศอย่างเป็นทางว่า ยินดีจะร่วมรัฐบาลด้วย ก็อาจจะบอกว่า Party A came down in favor of a coalition with Party B.

commit yourself

กริยา commit ในที่นี้มีความหมายทำนองว่า เอาไปผูกยึดกับสิ่งๆ หนึ่ง สร้างพันธะทางใจว่าจะอุทิศตนให้กับสิ่งๆ นั้น ดังนั้น commit yourself จึงหมายถึง เลือกว่าจะฝักใฝ่ฝ่ายไหน ปฏิญาณว่าจะสนับสนุนข้างไหน เช่น He has so far not committed himself to any of the options. ก็จะหมายความว่า ยังไม่ตัดสินใจว่าจะเลือกทางเลือกไหน

take the plunge

​สำนวนนี้หมายถึง ตัดสินใจทำบางอย่างเสียที หลังจากไตร่ตรองมานาน ปกติแล้วมักใช้กับสิ่งที่คนพูดรู้สึกว่าอันตรายหรือมีความเสี่ยงเกี่ยวข้อง เช่น หากเพื่อนของเราบ่นเลาๆ มานานว่าอยากลาออกจากงานมาเปิดกิจการของตัวเอง แต่ก็กล้าๆ กลัวๆ ไม่ยอมยื่นซองลาออกเสียที แต่อยู่ๆ วันหนึ่งก็เกิดฮึดขึ้นมาแล้วลาออก แบบนี้เราก็อาจบอกว่า She finally took the plunge and quit her job to start her own business.

eleventh-hour decision

สำนวนนี้มีที่มาจากนิทานคติสอนใจในคัมภีร์ไบเบิลเรื่องคนงานในไร่องุ่น ในนิทานเรื่องนี้ คนที่ตกลงมาทำงานที่ไร่องุ่นไม่ได้มาพร้อมกัน บางคนมาตั้งแต่สามโมง แต่บางคนมาตกลงเอาตอน 11 โมง คือเหลืออีกเพียงชั่วโมงเดียวก็จะสิ้นวัน แต่ไม่ว่าจะมาตอนไหนก็ต่างได้ค่าตอบแทนจากนายจ้างเท่ากัน เป็นการเปรียบเปรยว่า ไม่ว่าจะหันมานับถือพระเจ้าช้าแค่ไหน ต่างก็ได้ไปอยู่สวรรค์ทั้งนั้น

สำนวนนี้พูดแบบไทยๆ ก็คือ ตัดสินใจเอานาทีสุดท้าย นั่นเอง ตัวอย่างเช่น หากเราเพิ่งมาเลือกได้ว่าจะเลือกพรรคการเมืองไหนเอาตอนไปยืนหน้าหน่วยเลือกตั้ง แต่พอเลือกเราไปแล้วรู้สึกว่าเลือกผิด ก็อาจพูดว่า I truly regret my eleventh-hour decision. ก็คือ เสียใจที่ตัดสินใจเลือกพรรคนั้นไปตอนนาทีสุดท้าย

 

บรรณานุกรม

American Heritage Dictionary of the English Language

Ayto, John. Oxford Dictionary of English Idioms. OUP: Oxford, 2009.

Brenner, Gail. Webster’s New World American Idiom Handbook. Wiley Publishing: Indianapolis, 2003.

Cambridge Advanced Learners’ Dictionary

Gulland, Daphne M., and Hinds-Howell, David. The Penguin Dictionary of English Idiom. Penguin Books: London, 2002.

Longman Dictionary of Contemporary English

Merriam-Webster Dictionary

Oxford Advanced Learners’ Dictionary

Shorter Oxford English Dictionary

 

Tags: ,