บางครั้งคำถามก็สำคัญกว่าคำตอบ เช่นเดียวกับความสงสัยเล็กๆ ในห้วงความคิดของสองพี่น้องนามสกุล ‘ใจดี’ ที่นำไปสู่การหาคำตอบผ่านการทดลองบนห้วงอวกาศ
วันที่ 13 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เป็นวันที่ข้อสงสัยของพวกเธอที่ส่งผ่านโครงการ Asian Try Zero-G 2018 เสนอเรื่องราวให้ทดลองในอวกาศ ก็ได้รับคลี่คลายผ่านการทดลองจริงบนสถานีอวกาศนานาชาติ ผ่านการทดลองของ โนริชิเงะ คะไน มนุษย์อวกาศชาวญี่ปุ่น
ในตอนนั้นไอเดีย-ศวัสมน ใจดี ผู้เป็นพี่สาว ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 โรงเรียนศรีบุณยานนท์ และไอซี-วริศา ใจดี ศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 4 โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน
ทั้งสองได้รับประสบการณ์สุดพิเศษ นอกจากไอเดียของพวกเธอจะได้รับการทดลองแล้ว พวกเธอยังมีโอกาสเดินทางไปรับชมการถ่ายทอดสดผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น และเข้ากิจกรรมหลักสูตรฝึกมนุษย์อวกาศระยะสั้น 1 วัน ร่วมกับเยาวชน 4 ประเทศที่ผ่านการคัดเลือก
ตอนนี้ ไอเดียกำลังจะขึ้นปีที่หนึ่งคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และไอซีเลื่อนชั้นขึ้นมาในมัธยมศึกษาปีที่ 5
The Momentum ชวนสองสาวมานั่งพูดคุยเรื่องความสนใจในวิทยาศาสตร์ เพื่อทำความรู้จักพวกเธอกันมากขึ้น
ทั้งคู่เริ่มสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์และอวกาศกันเมื่อไร
ไอเดีย: ตอนเด็กๆ เราชอบอ่านการ์ตูนวิทยาศาสตร์ พอโตมาก็ชอบดูหนังฝรั่งที่เกี่ยวกับอวกาศกันค่ะ อย่างพวก Interstellar, Martian Guardians of the Galaxy ภาพมันสวยดี แล้วเราไม่เคยเห็นมาก่อน ตอนดูมีบางฉากที่เกิดความสงสัยแล้วก็ตั้งคำถาม เพราะมันมีทั้งเรื่องจริงและเรื่องที่เป็นจินตนาการ จึงเป็นจุดเริ่มต้นให้เราอยากเรียนรู้เรื่องอวกาศ
แล้วทำไมถึงสนใจส่งโครงงานเข้าร่วมโครงการ Asian Try Zero-G
ไอเดีย: จริงๆ ก่อนหน้าที่จะส่ง Asian Try Zero-G หนูเคยส่งโครงการ Space Seed กับเพื่อนตอนอยู่ม.3 มันเป็นโครงการที่ทดลองปลูกถั่วอะซูกิ (Adzuki Beans) ทำการทดลองในตัวแปรต่างกัน คือบนโลกเรามีแรงโน้มถ่วง และบนอวกาศ ภายใต้ เงื่อนไขเดียวกัน คือปลูกในที่มืด ในห้องแอร์ อุณหภูมิเดิมตลอด เราก็ส่งผลการทดลองไปให้เขา หลังจากนั้น JAXA ก็จะส่งจดหมายข่าวมา มีการบอกเรื่องการแข่งขันเข้ามาเรื่อยๆ จนมาถึง Asian Try Zero-G
ไอซี: ที่เราส่งโครงการนี้เราส่งกันสามปี ปีแรกเราส่งเป็นระบายสีน้ำคู่กัน ปีที่สองส่งคนละอัน แล้วก็ไม่ได้ทั้งคู่ ปีที่สามก็เลยมาคู่กันอีกรอบดีกว่าแล้วก็ได้ไป (หัวเราะ)
ช่วยเล่าโครงงานที่ส่งเข้าไปให้นักบินอวกาศทำการทดลองในโครงการ Asian Try Zero-G ว่าเป็นอย่างไร
ไอเดีย: ปีแรกเป็นการระบายสีน้ำ พี่เดียคิด เพราะว่าเราชอบระบายสีน้ำทั้งคู่ พอเวลาว่างเราก็จะชอบนอนแล้วก็วาด แล้วสีมันก็ชอบหยดใส่หน้า ก็เลยคิดว่าถ้าเกิดขึ้นไปอวกาศ สีมันจะไม่หยดหรือเปล่า หรือว่าจะออกมาลักษณะไหน ก็เลยลองส่งประเด็นไป แล้วก็ได้เลย
เราเลยได้เห็นนักบินอวกาศนอนหงายระบายสี แต่ตอนเขาทดลองจริง ได้เห็นเขาระบายสีโดยใช้กาแฟนะคะ เพราะว่าเขาไม่มีสีน้ำ
ไอซี: สลิงกี้คือปีล่าสุด (Asian Try Zero-G 2018) แนวความคิดที่เราเสนอไปให้ทดลอง คือการศึกษาดูการเคลื่อนที่ของวัตถุที่มีน้ำหนักต่างกันภายในสลิงกี้ในสภาพไร้แรงโน้มถ่วงเพื่อเปรียบเทียบกับบนโลก โดยเราจะออกแรงกระทำในลักษณะที่ต่างกันกับสลิงกี้ที่ภายในช่องว่างถูกบรรจุด้วยลูกบอลที่ทำจากวัสดุต่างกันและมีน้ำหนักต่างกัน แต่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเท่ากัน อย่างฟองน้ำ ไม้ พลาสติก และลูกเหล็ก พวกหนูตั้งสมมติฐานว่า ของในสลิงกี้จะไม่ตกลงมา เพราะว่าไม่มีแรงโน้มถ่วง ไม่มีแรงไหนไปกระทำกับมัน แล้วมันก็จะเด้งไปเด้งมาอยู่ในสลิงกี้ อยู่ตรงที่ว่า ส่วนของสลิงกี้จะไปชนมันตรงไหน แล้วมันจะเคลื่อนที่ไปทิศทางตรงในระยะหนึ่ง จนกว่ามันจะชนอะไรที่มีแรงกระทำให้มันไปอีกทาง
ไอเดีย: ความจริงบนสถานีอวกาศ เขาไม่มีของที่หนูจะใช้ในการทดลอง แต่พอเขาสนใจปุ๊ป เขาก็จะมาให้เราส่งไปรษณีย์ไปให้ เนี่ยพวกหนูวิ่งไปซื้อก้อนฟองน้ำที่สำเพ็ง แล้วก็เอามาขีด เขาก็ถ่ายรูปมาให้ดูว่ากำลังจะเดินทางไปอวกาศ แล้วเขาก็เอาไปติดกับจรวดแล้วมันก็ขึ้นไป สักพักนักบินอวกาศก็เอามาให้ดูว่า ลูกบอลจากสำเพ็งเดินทางมาถึงแล้วนะ ซึ่งก็รู้สึกดีมาก
คิดว่าสิ่งที่เราตั้งคำถามอยู่และทดลองในห้วงอวกาศ มันจะสามารถเอาไปต่อยอดได้อย่างไร
ไอเดีย: หนูมองว่า ถ้าเอาไปใช้ประโยชน์ มันจะเป็นเรื่องขนส่งสิ่งของ เวลาย้ายของในสภาพไร้น้ำหนักมันจะง่ายกว่าสภาพปกติ มันไม่มีแรงโน้มถ่วง แรงต้านอากาศ แล้วสลิงกี้มันก็เหมือนท่อถ้าเราส่งสิ่งของในท่อมันอาจจะไหลไปเรื่อยๆ ควบคุมทิศทางได้ง่าย
ไอซี: ปกติมันจะมีท่อนำส่งอยู่แล้ว แต่ของเรามันจะเป็นท่อที่โปร่งกว่า พับเก็บได้ ยืดหดได้ ถ้าพัฒนาก็จะเป็นเทคโนโลยีที่ดี
จากที่ได้ไปเข้าอบรมมนุษย์อวกาศที่ศูนย์อวกาศสึคุบะ ประเทศญี่ปุ่น ประสบการณ์ตรงนั้นเป็นอย่างไร
ไอซี: เขามีกิจกรรมให้ทำเยอะดี ไม่ใช่แค่ไปแถลงข่าวแล้วก็จบ เขาอยากให้เราไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์ด้วย และในกิจกรรมจะมีให้ไปคุยกับประเทศอื่นๆ ที่เขาส่งผลงานมาเหมือนกัน
ไอเดีย: มีดู Live สดคล้ายๆ กับ Skype คุยกับนักบินอวกาศ แต่ว่ามันต้องผ่านห้องบังคับการที่ศูนย์อวกาศเมืองสึคุบะ (Tsukuba Space Center) เราก็เลยคุยผ่านสัญญาณมืออะไรอย่างนี้แทน ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่ดี เพราะคิดมาตลอดว่า อยากคุยกับนักบินอวกาศ แต่ไม่เคยคิดว่าจะได้คุยกับคนที่อยู่บนอวกาศจริงๆ ก็รู้สึกตื่นเต้นมาก และก็ได้เข้าร่วม EVA TRAINING ให้ทดลองเหมือนเป็นนักบินอวกาศจริงๆ
คือที่ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีการวางแผนดีมาก เขาจะซักซ้อมหลายๆ ที ก่อนจะส่งนักบินขึ้นไปก็ต้องซ้อมทีหนึ่งก่อน ก็จะมีใบเขียนมาให้คนนี้ทำหน้าที่อะไร ต้องทำอย่างไรบ้าง ก็ได้ฝึกใส่ชุดนักบิน แล้วก็ใส่เครื่องที่เป็น Walkie Talkie แล้วก็ทำภารกิจ
คิดว่าทำไมคนเราต้องสนใจเรื่องวิทยาศาสตร์ และอวกาศ
ไอซี: มันเหมือนเป็นสิ่งที่อธิบายเกี่ยวกับชีวิตของคนเรา เช่น มนุษย์เกิดขึ้นมาได้อย่างไร เราก็ใช้วิทยาศาสตร์มาเป็นตัวอธิบาย แล้วเรื่องอวกาศมันก็ยิ่งใกล้ตัวเรามากขึ้นทุกทีในเวลาที่เทคโนโลยีพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ เพราะว่าวันหนึ่ง ไม่แน่เราอาจจะต้องขึ้นไปอยู่อวกาศก็ได้ แล้วในอวกาศก็อาจจะมีสิ่งชีวิตอื่นที่เหมือนมนุษย์ วิทยาศาสตร์ก็คือชีวิตเรานี่ล่ะ เราก็เจอมันอยู่ทุกวัน
ไอเดีย: หนูเพิ่งมารู้ว่า คุณโนริชิเงะ คะไน คนที่ทำการทดลองให้พวกหนู เขาเป็นหมอผ่าตัด หนูก็เลยรู้สึกว่า ถ้าหนูเป็นหมอ หนูก็ยังไปทำงานสายอวกาศได้นะ คิดว่ามันใกล้ตัวมากๆ เพราะว่าการที่คนจะไปอยู่อวกาศก็ไม่ใช่ว่าเขาจะสุขภาพดีตลอดทุกวัน ยิ่งแย่ลงด้วยเพราะว่าเส้นเลือดมันจะมีสภาพแตกต่างไปจากสภาพพื้นโลก เพราะอยากนั้นก็เลยคิดว่า เขาน่าจะต้องการหมอที่บนนั้นเหมือนกัน เพราะการอยู่บนอวกาศก็เหมือนกับการอยู่บนพื้นโลกเนี่ยแหละ เหมือนข่าวถ้ำหลวงที่เขาให้ผ้าห่มอวกาศให้เด็กไปใช้ อาหารซึ่งใช้เทคโนโลยีอวกาศเยอะมาก ซึ่งมันใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด บนพื้นโลกก็ได้ใช้ เพราะงั้นบนอวกาศก็ยิ่งต้องเตรียมตัวเลย
คิดอย่างไรที่คนภายนอกอาจมองว่า คนที่สนใจเรื่องวิทยาศาสตร์จะเป็นคน “เนิร์ด”
ไอเดีย: หนูคิดว่าอิมเมจของคำว่าเนิร์ดมันโอเคนะ พูดว่าไงดี หนูเคยกูเกิ้ลเพราะเคยโดนเพื่อนเรียก ก็เลยเจอเขาใช้คำว่า Passion มีความชอบอะไรสักอย่างที่มากๆ แล้วมุ่งไปทางนั้นแบบเต็มที่ คนอื่นที่ไม่เข้าใจก็อาจจะมองว่าเขาแปลกๆ แต่สุดท้ายหนูว่าคนที่มี passion มันคือคนที่มีจุดมุ่งหมายเป็นของตัวเอง แล้วก็มีจุดยืนเป็นของตัวเองโดยที่ไม่แคร์ว่าสังคมจะมองว่าอย่างไร แค่เขาไม่ทำร้ายสังคม
ไอซี: หนูก็เคยโดนเพื่อนเรียกเหมือนพี่เดียเลย แต่เราไม่คิดว่าเป็นคำต่อว่า เราคิดว่าหมายถึงเรียนเก่งเหรอ แบบชมเราเหรอ เพราะส่วนมากเพื่อนจะบอกก็เพราะเราใส่แว่น เราเรียนเก่ง รู้เยอะ ความจริงเปล่าเลยเอามาจากหนัง (หัวเราะ)
อนาคต ทั้งคู่อยากเป็นอะไร
ไอซี: ไอซีอยากเป็นครู ทำอาชีพอะไรก็ได้ที่ได้สอนเด็ก ได้สอนคนอื่น อาจจะเป็นครูเป็นอาจารย์ เป็นอะไรก็ได้ แต่ก็ยังชอบทางด้านวิทยาศาสตร์ เรื่องอวกาศอยู่
ไอเดีย: หนูเข้าหมอแล้ว แต่หนูคิดว่าถ้ายังสนใจเรื่องอวกาศอยู่เรื่อยๆ เหมือนที่คุณโนริชิเงะเขาเป็นหมอผ่าตัดและก็ยังเป็นนักบินอวกาศอีก ถ้าหนูเก่งพอก็สนใจลองทำงานแบบนี้ดู เพราะงั้น ถ้าพยายามพอ มีเวลามากพอ แข็งแรงพอ ก็อาจจะเป็นนักบินอวกาศที่เป็นหมอด้วย
เด็กรุ่นใหม่สนใจในเรื่องวิทยาศาสตร์ และอวกาศมากขึ้นไหม
ไอเดีย: ก็มีคนสนใจมากขึ้นนะคะ เดี๋ยวนี้ไปที่ไหนจะมีคนสนใจอวกาศมากขึ้น เมื่อก่อนจะไม่ค่อยเจอ ส่วนมากเขาจะเดินหนีเรา (หัวเราะ) เดี๋ยวนี้มันกว้างขึ้นมาก เป็นจักรสาลที่ไม่มีที่สิ้นสุดเลย คงเป็นเพราะว่าช่วงนี้มีเทคโนโลยีที่ทำให้เยาวชนอย่างเราเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศมากขึ้น แค่อินเทอร์เน็ตก็ช่วยได้มากแล้ว มีการคุยว่าตอนนี้มีเทคโนโลยีอวกาศอะไรบ้าง อ่านเรื่องราวอวกาศใน quora ได้ เวลามีคำถามอะไร quora สามารถให้เราถามนักวิจัย หรือว่านักบินอวกาศได้โดยตรง แล้วเขาจะมาตอบเมื่อเขามีเวลา ซึ่งมันทำให้เด็กรู้สึกว่ามันใกล้ตัวเราแค่นี้เอง เพราะงั้นเราก็มีสิทธิ์ที่จะไปถึงความฝันในการเป็นนักบินอวกาศได้ หรือว่าไปทำงานในจุดนั้นได้
ไอซี: รู้สึกว่าช่วงนี้จะมีค่ายวิทยาศาสตร์ ค่ายของสวทช. สสวท. ค่ายของ GISTDA อย่าง GISTDA space camp พวกเวทีด้านอวกาศก็เพิ่มมากขึ้นก็เหมือนเปิดทางให้เด็กๆ ได้เข้ามาใกล้ชิดสัมผัสกับอวกาศ ทำให้มีแนวคิดสร้างสรรค์ ถ้าเกิดเราไปอยู่บนอวกาศมันจะเกิดอะไรขึ้นให้เด็กมาพูดคุยถกกัน ซึ่งเหมือนกับการให้ความรู้อีกด้านหนึ่ง ทำให้เด็กสนใจอวกาศมากขึ้น แล้วรู้สึกว่าไม่ได้ยาก มันเป็นเหมือนกิจกรรมในชีวิตประจำวันเรา ใครๆ ก็สามารถเข้าถึงได้
Fact Box
- JAXA (ย่อมาจากภาษาอังกฤษว่า Japan Aerospace eXploration Agency) คือองค์การวิจัยและพัฒนาการสำรวจอวกาศของญี่ปุ่น โดยก่อตั้งเมื่อปี 2003 ดำเนินการภายใต้สโลแกน คือ “ท้าทายท้องฟ้า บุกเบิกอวกาศ” ภารกิจของ JAXA คือไล่ตามความเป็นไปได้อันไม่มีขีดจำกัด เพื่ออนาคตที่จะได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับอวกาศ
- Asian Try Zero-G 2018 เป็นหนึ่งในโครงการของ JAXA เปิดรับความคิดสร้างสรรค์จากเยาวชนชาวเอเชียเสนอโครงการทดลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง
- ติดตามข้อมูลโครงการ Asian Try Zero-G เพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/JaxaThailand หรือเว็บไซต์ www.nstda.or.th/jaxa-thailand