What is the silence ?

ความเงียบงันคือสิ่งที่กลุ่ม LGBT ที่เปิดเผยตัวแล้ว ต้องทลายมันลงเพื่อให้ความหวังแก่คนที่ยังไม่เปิดเผยตัว มันมีความหมายที่แต่ละคนจะตีความ ยังมี LGBT อีกหลายล้านคนทั่วโลกที่ไม่สามารถเปิดเผยตัวได้ เพราะอยู่ในสังคมที่ค่านิยม วัฒนธรรมที่ยังไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ เป็นอัตลักษณ์ที่ไม่ใช่สิ่งที่ใครกำหนดบังคับได้ เช่นเดียวกับเชื้อชาติ ความเชื่อทางศาสนา ซึ่งค่านิยมที่ไม่ยอมรับความหลากหลายทางเพศมีผลกดดันทำให้ LGBT เองคิดว่าตัวเองผิดปกติ และไม่ยอมรับตัวเอง

ซึ่งการกดดันเริ่มตั้งแต่ระดับครอบครัว ในสังคมที่เคร่งศาสนา อย่างเช่นตะวันออกกลางหรือแอฟริกาบางประเทศ การเป็น LGBT คือความผิดทางกฎหมาย บางประเทศถึงโทษตาย แม้แต่ประเทศเพื่อนบ้านของเรา การเป็นเกย์ก็เป็นความผิด อย่างมาเลเซีย ที่ยังบังคับใช้กฎหมาย Sodomy Law หรือการร่วมเพศทางทวารหนักเป็นความผิด (ในประเทศไทยเคยใช้ แต่ยกเลิกเมื่อปี .. 2499) หรือในบรูไน ที่จะออกกฎหมายอิงกับกฎหมายชารีอะห์ หากใครเป็น LGBT จะต้องมีโทษถูกปาหินจนตาย แต่สุดท้ายบรูไนก็ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายนี้ได้เพราะเกิดกระแส โลกล้อมประเทศที่เหล่าคนดังออกมาปลุกระดมไม่เห็นด้วย อาทิ จอร์จ คลูนี่ย์ หรือเอเลน ดีเจเนอรัส ไปจนถึงการสร้างกระแสบอยคอตสินค้าและบริการที่เป็นกิจการของบรูไน

ในแอฟริกา บางประเทศเริ่มมีการยอมรับกลุ่ม LGBT มากขึ้น แต่หลายประเทศการเป็น LGBT ก็ยังผิดกฎหมาย  อย่างล่าสุดคือประเทศอูกันดาที่จะกำหนดโทษตายสำหรับ LGBT  หรือในหลายประเทศ แม้เป็นโทษจำคุกไม่ถึงโทษตาย แต่การ ‘พิสูจน์ความเป็นเกย์  คือการล่วงละเมิดศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ด้วยการใช้วิธีที่เรียกว่า Anal Exam หรือการตรวจทวารหนักเพื่อพิสูจน์ บางพื้นที่การเป็น LGBT ก็ไม่มีความปลอดภัยในชีวิต ที่ขึ้นชื่อที่สุดที่เป็นข่าวตลอด 3-4 ปีที่ผ่านมาคือแคว้นเชชเนียซึ่งแยกออกมาจากสหภาพโซเวียต ที่เป็นสถานที่ที่ถูกเรียกว่า gay purge มีการจับตัวเกย์ไปซ้อมทรมาน 

กลไกบังคับ ซึ่งหมายถึงกฎหมายเหล่านี้ ทำให้กลุ่ม LGBT ไม่กล้าเปิดเผยตัวเพราะกลัวอันตราย หรือในบางพื้นที่ไม่ถึงกับเป็นกฎหมาย แต่เป็นค่านิยมที่ไม่ยอมรับ LGBT อย่างเช่นฝั่งเอเชียตะวันออก ในประเทศจีน ถือว่า ลูกชายคือสมบัติของครอบครัว เป็นผู้สืบสกุล ดังนั้นครอบครัวจะไม่ยอมรับการเป็นเกย์ และบังคับให้เข้าสู่การบำบัดเกย์หรือ conversion therapy ที่ทำร้ายร่างกายและจิตใจของผู้ถูกบำบัด เช่นการให้ดูรูปเซ็กซี่ของคนเพศเดียวกันเพื่อเร้าอารมณ์แล้วช็อตไฟฟ้าจนเกิดความกลัวฝังหัวว่าจะถูกลงโทษถ้ามีอารมณ์กับคนเพศเดียวกัน ซึ่งเมื่อสิทธิมนุษยชนก้าวหน้าขึ้น บางประเทศก็ประกาศให้การบำบัดเกย์เป็นเรื่องผิดกฎหมาย เช่นในเยอรมนี หรือบางรัฐของสหรัฐอเมริกา

ปรเมศวร์ ตั้งสถาพร คนรุ่นใหม่ที่รณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ ได้อธิบายถึงความเงียบงันไว้ว่าการปกปิดไม่เปิดเผยอัตลักษณ์ ทำให้บางคนรู้สึกว่าตัวเองอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย แต่ความเงียบงันนั้นอีกมุมหนึ่งก็ไม่ใช่ความปลอดภัยเสมอไป เพราะความไม่กล้าพูด เมื่อประสบปัญหาทำให้คนที่ต้องเงียบงันไม่สามารถสื่อสารถึงสังคมให้ช่วยเหลือเขาได้ ยกตัวอย่างก็เหมือนกับกรณีการล่วงละเมิดทางเพศในครอบครัว ลูกสาวที่ถูกพ่อ เครือญาติ ล่วงละเมิดทางเพศ ก็มีความอับอายไม่กล้าพูดปัญหา แล้วก็ถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำเล่า เราอาจเห็นผู้หญิงที่ลุกขึ้นมาสู้เพื่อปกป้องตัวเองบ้าง แต่มันก็มีโอกาสที่จะมีอีกหลายบ้านที่เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น เหยื่อก็ต้องทนไปเพราะความอับอาย”

เช่นเดียวกับ LGBT ถ้าเขาถูกกระทำความรุนแรง ทั้งการใช้วาจา การประทุษร้ายร่างกาย การถูกตีตรา การถูกเลือกปฏิบัติ แต่เมื่อเขาเลือกจะต้องปกปิดตัวเอง เขาก็ไม่สามารถสื่อสารให้สังคมรู้ได้ว่าเขากำลังไม่ได้รับความเป็นธรรม การทลายความเงียบงันในความหมายหนึ่งคือความกล้าที่จะลุกขึ้นมาสู้เพื่อตัวเอง สู้เพื่อดำรงคุณค่าของอัตลักษณ์ตัวเอง สู้เพื่อให้สังคมมองข้ามกรอบเพศ มองในมิติเดียวคือความเป็นมนุษย์ ให้สังคมฉุกคิดว่า บางเรื่องเราควรแบ่งแยกหรือกระทำต่อเพื่อนมนุษย์หรือเปล่า ด้วยคำสั้นๆ ว่า ถ้าเป็นฉันโดนกระทำแบบนั้นบ้างล่ะ ก็จะเกิดความเข้าอกเข้าใจกันมากขึ้น

ปรเมศวร์ ตั้งสถาพร คนรุ่นใหม่ที่รณรงค์ความเท่าเทียมทางเพศ

A Price to Pay

ปรเมศวร์ไม่ได้มองการทลายความเงียบงันในมุมของปัจเจกเท่านั้น แต่มองว่า สังคมรอบข้างต้องยอมรับ เอื้อต่อการให้ LGBT มีสิทธิมีเสียงด้วย

ความเงียบงันที่เกิดขึ้นอีกอย่างหนึ่งที่น่าคิดคือ ทุกวันนี้สังคมเราเพิกเฉยต่อเสียงของ LGBT หรือไม่ อย่างในประเทศไทย คุณมองว่าการเป็น LGBT เป็นสิ่งที่คนรับรู้ว่ามีตัวตน ยอมรับการเปิดเผยอัตลักษณ์ได้ระดับหนึ่ง แต่จริงๆ แล้ว เราไม่พูดกันถึงปัญหาการไม่ยอมรับลึกๆ หรือเปล่า บางคนเปิดเผยได้แต่ก็ยังถูกความรุนแรงเชิงโครงสร้างกดทับ ความรุนแรงเชิงโครงสร้างคือสิ่งที่เราเชื่อกันว่ามันเป็นความจริงที่สังคมต้องยึดถือ แต่มันกลับไม่ยุติธรรม มันทรมานกับผู้ต้องแบกรับ อย่างคุณจะลุกขึ้นมาพูดว่าคุณเป็น LGBT  คุณก็ถูกชุดความเชื่อแบบสองขั้ว (binary) ตัดสิน หรือจัดการตั้งแต่ในชั้นครอบครัว นั่นแหละราคาแรกที่ต้องจ่าย”

“หลายสังคมยังยึดความคิดแบบสองขั้ว ในเรื่องเพศคือชายต้องคู่กับหญิง ทั้งชายและหญิงมีสิ่งที่เรียกว่า เพศสภาพ (gender) หรือบทบาทที่สังคมกำหนดสำหรับแต่ละเพศ  มากำกับบทบาทหน้าที่ เพศสภาพถูกสอนตั้งแต่เด็ก เช่นเป็นชายต้องนุ่งกางเกง ต้องเล่นโลดโผน ต้องชอบอะไรที่เป็นพวกของเล่นแนวอาวุธยุทโธปกรณ์  เพศหญิงต้องเรียบร้อย เล่นตุ๊กตา ทำงานเป็นแม่บ้าน แต่พอเป็น LGBT มันถูกผลักออกจากความเป็นสองขั้ว กลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่สังคมพยายามทำความเข้าใจและหาบทบาท หรืออย่างที่เรียกว่าหากล่องให้อยู่โดยสังคมเอาการแสดงออกทางเพศวิถี (sexuality)  หรือรสนิยมทางเพศ (sexual orientation) มาจัดให้ LGBT ต้องอยู่กล่องไหนสักกล่องระหว่างกล่องชายหรือกล่องหญิง ในหลายๆ ครอบครัว เขาก็ไม่ยอมรับถ้าลูกหลานแสดงออกทางเพศอย่างไม่ตรงเพศกำเนิด”

“หลายครอบครัวอาจยอมรับได้แต่อยู่ในภาวะจำใจ มันก็เกิดความไม่สนิทใจกัน อย่างลูกที่เป็นเกย์ก็ถูกห้ามพาแฟนเข้าบ้าน หรือเป็นอะไรก็เป็นไปแต่ไม่ต้องไปพูดกับคนอื่น เรามักจะได้ยินการยอมรับอย่างมีเงื่อนไขว่าเป็นอะไรก็ได้แต่ขอให้เป็นคนดีหรือ เป็นอะไรก็ได้แต่ต้องประสบความสำเร็จในชีวิต เลี้ยงตัวเองได้ตอนแก่เฒ่า เพราะพอไม่มีคู่สมรสต่างเพศ ก็ไม่มีลูก แล้ววันหนึ่งถ้านอนเป็นผักอยู่บนเตียงใครจะมาเลี้ยงดูวาทกรรมเหล่านี้กดดัน LGBT  มาก ไม่ใช่คำรุนแรงเลยแต่ความหมายมันกดดันรุนแรงสำหรับหลายๆ คน ให้กลัวบั้นปลายของชีวิตถ้ายังจะเป็น LGBT นี่ยังไม่พูดถึงกลุ่มที่ครอบครัวไม่ยอมรับ ทำร้ายลูกจนต้องหนีออกจากบ้านไปอยู่ข้างถนน ไปค้าบริการทางเพศหรือไปติดยาเสพติด”    

“ในระดับสังคม ความเป็น LGBT ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองหนักกว่าคนอื่น เพราะหลายองค์กร หลายหน่วยงานก็ยังมีอคติ ตีตราว่ากลุ่มนี้มั่วเซ็กซ์ ทำให้เกิดการเสียภาพลักษณ์องค์กรได้ ไม่อยากให้ได้เลื่อนชั้นขึ้นตำแหน่งใหญ่ๆ หรือมองว่า LGBT มีพฤติกรรมตลกไม่น่าให้เกียรติ  มีอารมณ์รุนแรงไม่เหมาะที่จะทำงานที่ต้องตัดสินใจเรื่องสำคัญเพราะเอาอารมณ์เป็นที่ตั้ง ในพื้นที่ที่มีความเป็นชายสูง อย่างวงการทหาร ตำรวจ หรือวงการเกี่ยวกับกระบวนการยุติธรรม การเปิดเผยตัวไม่ใช่แค่กระทบต่อหน้าที่การงาน แต่เสี่ยงต่อการถูกกลุ่ม บ้าคลั่งความเป็นชายสุดโต่งทำร้ายเอาได้ง่ายๆ ทั้งทางกาย หรือวาจา”

ข่าวกอสซิปที่ทำให้เกิดการเชียร์ การจับคู่ของดาราชายคนหนึ่งและอีกหนึ่งหนุ่มไฮไซ

“ในวงการบันเทิงหนังละคร ความเป็นเพศสภาพตรงกับเพศกำเนิด (cisgender) ก็มีอิทธิพลสูงมาก ในไทย คุณเคยเห็นดาราชายระดับพระเอกคนไหนที่กล้ายอมรับแบบพูดออกมาจากปากตัวเองเลยไหมว่าตัวเองเป็นเกย์ ไม่มีหรอก เพราะเมื่อไรที่เขาแสดงตัว ราคาเขาจะตกทันที เผลอๆ กำลังรุ่งๆ ดับไปเลย กระทั่งซีรีย์วาย ก็ต้องการให้ดาราชายเล่นไม่เอาเกย์” 

“ผมเห็นข่าวกอสซิปเรื่องพระเอกหน้าใหม่รายหนึ่งที่ถูกสื่อตั้งคำถาม ถูกแฟนคลับตามจับจ้องว่า เป็นเกย์หรือเปล่า เพราะเห็นการโพสต์ภาพลงโซเชียลมีเดียของเขามักจะมีเพื่อนผู้ชายอีกคนหนึ่ง ซึ่งก็ดูแล้วเป็นคู่จิ้นในฝันของสาววายได้เลย แฟนคลับก็เอาไปจิ้น สื่อก็อยากรู้จนสุดท้ายเขาต้องออกมาอธิบายว่า ‘แค่เพื่อน เสื้อแลกกันใส่ได้’”

“การกดดันใครให้เป็นอย่างใจสังคมจินตนาการ สมมติว่าได้ตามใจต้องการแล้ว รู้แล้วจบ ปัญหาคือ เขาจ่ายชีวิตส่วนตัวของเขาออกไปแล้ว แล้วถ้าผลที่ได้กลับมากลายเป็นผลร้าย ไม่มีใครจ้างให้เขาทำงานที่เขารักอีก ถามว่าจะมีใครรับผิดชอบชีวิตเขาต่อจากนั้นไหม”

“เรามักจะใช้สำนวนการเปิดเผยตัวตนว่า ‘coming out of the closet’ ความหมายโดยนัย closet มันคือพื้นที่ปลอดภัยของคนที่ไม่เปิดเผยตัว แต่กับคนที่มีมูลค่าทางสังคมอย่างดารา การพยายามเรียกร้องให้เขาออกจากตู้เสื้อผ้าที่เขาเคยอยู่อย่างปลอดภัย มันเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลหรือเปล่า คิดดูว่า ตู้เสื้อผ้ามันอยู่ในบ้านนะ ปราการด่านแรกที่เขาจะออกมาก็คือคนในครอบครัวจะต้องรับทราบก่อน แล้วจะมีผลอย่างไรก็เป็นเรื่องในครอบครัวเขา”

“แต่การที่สื่อมวลชน แฟนคลับพยายามดึงดันให้ดาราสักคนเปิดตัว  มันเหมือนกับเอาตู้เสื้อผ้าที่เขาซ่อนอยู่เนี่ยมาเปิดกลางที่สาธารณะเลย ซึ่งในตู้นั้นอาจมีรสนิยมอะไรซ่อนอยู่อีกที่เขายังพอประนีประนอมกับครอบครัวได้ แต่สังคม คนนอกจะเข้าใจ ยอมรับเขาได้ไหม

ปรเมศวร์ย้ำว่า การเปิดตัวสำหรับหลายคนมีราคาที่ต้องจ่ายและมันแพง เพราะไม่ได้จ่ายในรูปของตัวเงินแต่จ่ายเป็นชีวิตด้วยซ้ำอย่างคำว่า love win เป็นคำในอุดมคติที่เรามักจะใช้แสดงชัยชนะเวลาเรียกร้องสิทธิการสมรสเพศเดียวกันถูกกฎหมายได้ แต่พอเราเรียกร้องได้สิทธิแล้ว คำถามคือความรักชนะ แล้วเราชนะด้วยหรือในไต้หวัน ได้กฎหมายสมรสเพศเดียวกันชาติแรกของเอเชีย แต่ได้มาอาทิตย์เดียวก็มีข่าวว่าที่ไปจดทะเบียนกันบางคู่ก็ต้องหย่า เพราะพ่อแม่รับไม่ได้ เขาถือวัฒนธรรมแบบจีน หรือไม่ก็กลายเป็นว่าพอบางคนเปิดตัวแต่งงานกับเพศเดียวกันไป คนรอบๆ ตัวบางคนก็ไม่ยอมรับ เขาก็เกิดความทุกข์และอาจคิดเสียด้วยซ้ำว่าตอนนั้นไม่น่าจะไปทำตามกระแสเลย 

“ผมไม่ได้ต่อต้านกฎหมายสมรสเพศเดียวกัน ผมสนับสนุนด้วยซ้ำให้แก้ ปพพ.1448 ให้เปลี่ยนเป็นบุคคลสมรสกันได้แทนชายหญิง แล้วก็ไปแก้กฎหมายตัวอื่นตามให้บังคับใช้โดยอนุโลม เพื่อสิทธิเท่าเทียมของคู่รัก LGBT แต่ความที่ LGBT ยังถูกผลักออกจากขั้วความเป็นปกติในวิธีคิดแบบสองขั้ว กลายเป็นว่า LGBT จะจดทะเบียนสมรสมันก็ต้องคิดถึงผลกระทบด้านลบที่มาจากครอบครัวหรือสังคมด้วย ซึ่งปัจจัยของแต่ละคู่ไม่เหมือนกัน”    

“การที่คุณจะเป็น LGBT แล้วได้รับการยอมรับ วิธีที่ง่ายที่สุดคือคุณต้องมีต้นทุนทางสังคมที่สูงพอ อาจด้วยฐานะที่อยู่ในระดับชนชั้นบนหรือเรียกว่าเป็นไฮโซ การเป็นผู้มีอำนาจ หรือมีอิทธิพลทางสังคม ที่ใครๆ อยากเข้าหาเพราะหวังพึ่งพา หวังผลประโยชน์ได้ กระทั่งการพิสูจน์ตัวเองจนเป็นที่ยอมรับได้ อย่างนักร้องหรือพิธีกรบางคนก็สามารถเปิดเผยตัวว่า เป็น LGBT ได้ เพราะความสามารถเขาเป็นที่ประจักษ์และชื่นชม แต่คนที่ใช้ความสามารถจนไปถึงจุดนั้นได้มีกี่คน มันต้องพยายามมากกว่าชายหญิง และต้องพยายามแค่ไหน ถึงเมื่อไรกันล่ะที่จะมาถึงจุดที่คนยอมรับความสามารถโดยมองข้ามเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศไปแล้ว

Lost My Dignity

การเปิดเผยตัวเป็น LGBT มีอีกราคาหนึ่งที่ต้องจ่ายคือการสูญเสียศักดิ์ศรีซึ่งจะขอเล่าถึงเกย์หนุ่มรายหนึ่งที่ไม่ขอเปิดเผยตัว เขาขอให้เรียกเขาด้วยชื่อพื้นๆ ว่า ‘เอเอเป็นเกย์ธรรมดาๆ ที่ไม่ได้มีชีวิตที่มีสีสันฉูดฉาด แต่งตัวแรง ไม่ใช่เกย์พิมพ์นิยมที่เล่นกล้ามและชอบโชว์สรีระเพื่อดึงดูดทางเพศ เอคือคนๆ หนึ่งที่ใครๆ ก็เดินสวนเขาไปตามท้องถนนได้โดยไม่ให้ความสนใจ เขาก็แค่พนักงานบริษัทที่ทำงานตามหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุดในแต่ละวัน        

เอก็แค่คนที่คิดว่า เขาอยากใช้ชีวิตตามปกติ เขามีคนรักและไม่คิดว่าเป็นเรื่องเสียหายกับการที่เขาจะโพสต์รูปคู่คนรักลงในโซเชียลเน็ตเวิร์คต่างๆ ในอิริยาบถปกติธรรมดา เช่น กินข้าวด้วยกัน เดินห้างกัน ร้องคาราโอเกะกัน มีโพสต์แซวกันบ้าง บริษัทที่เขาทำงานก็ไม่ได้เอาเรื่องเพศวิถีมาเป็นเงื่อนไขอะไรกับการทำงาน แต่ปัญหาอยู่ที่เพื่อนร่วมงาน

ผมก็ไม่ได้เที่ยวบอกใครต่อใครว่าผมเป็นเกย์นะเอเล่าแต่ความที่เราใช้เฟซบุ๊ก ใช้อินสตาแกรม ก็มีเพื่อนร่วมงานแอดมาเป็นเพื่อนบ้าง คนพวกนี้ก็สังเกตรูปที่ผมโพสต์ แล้วก็เอาไปลือๆ กัน วันนึงก็มีคนมาถามว่าคนในรูปที่ถ่ายด้วยกันบ่อยๆ แฟนน้องเอเหรอผมก็ไม่คิดว่าผมต้องปกปิดอะไรนะ ผมว่าเวลาเรารักใครสักคนถ้าเราซ่อนเขาจนไร้ตัวตนมันไม่ให้เกียรติทั้งตัวเราและตัวเขา ผมก็แค่พยักหน้ารับ แค่นั้นแหละ คำถามตามมาเยอะ ( หัวเราะ ) เจอกันที่ไหน คบกันเมื่อไร แล้วก็มีปฏิกิริยาประเภทไม่ควรทำให้เห็น เช่นมาพูดว่าว่าแล้วไหมล่ะหรือถามว่ารู้ตัวเป็นเกย์ตั้งแต่เมื่อไร’ ‘เอเป็นรุกหรือเป็นรับซึ่งมันละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวเกินไป คนถามก็เป็นผู้หญิง แต่ไม่ว่าเพศไหนก็ไม่ควรจะมาสนใจบทบาทบนเตียงของใครไหม ผมยังไม่ถามเขาเลยว่าพี่ชอบท่าเซ็กซ์แบบไหน พี่เคยมีเซกซ์หวือหวาที่สุดอย่างไร

คือการจะเปิดตัวมันเป็นเรื่องส่วนบุคคล และไม่ใช่เรื่องที่ต้องประกาศให้สังคมรู้นี่ ผมต้องเอาป้ายแขวนคอไหมว่าผมเป็นเกย์ไม่แลหญิงนะครับผมไม่ใช่ตัวตลกที่ต้องทำอย่างนั้น ผมจะรู้ตัวตอนไหนมันไม่สำคัญ ผมรู้ตัววันที่ผมตกหลุมรักใครสักคน และสำคัญแค่ว่าวันนี้ผมเป็นเพศที่ผมเป็น คุณคิดว่าเกย์ทุกคนต้องการ ‘grand opening’ หรือใครช่วยมาเปิดเผยเหรอ ใครที่คิดแทนว่าเขาต้องการคุณคงมีคำในหัวเรียกคนประเภทนี้อยู่ผมไม่ต้องพูด มันไม่ได้สำคัญเลยเรื่องเปิดตัว เรื่องเพศเป็นเรื่องส่วนตัว เรื่องของความรักของคนสองคน สำคัญว่าเรารักใครและเขารักเรา อยากร่วมชีวิตกับเรา

ปฏิกิริยาต่อมาของคนรอบข้างมันเป็นสิ่งที่เอบอกว่ามันเหมือนแมงวันตอมหน้าน่ะครับ คือต้องมาปัดตลอดเพราะมันรำคาญตา รำคาญใจ อย่างผมก็ไม่ใช่คนตุ้งติ้งอะไร ออกจะอยู่เงียบๆ ด้วยซ้ำ  แต่พอรู้กันว่าผมเป็นเกย์ ก็มาเรียกลูกสาวบ้าง น้องสาวบ้าง บางทีก็อยากตอกกลับว่าสายเลือดผมไม่มีเลือดคุณปน อย่ามานับญาติ หรือบางทีผู้หญิงในออฟฟิศก็มาทำท่ามือหักสะบัดสะบิ้งใส่ เรียกผมว่าตัวเองเอาผมไปพูดถึงกับเพื่อนร่วมงานผู้ชาย ทีนี้พอจะไปอบรมกันต่างจังหวัด มันต้องจับคู่นอนโรงแรม ผู้ชายที่นอนกับผมก็มาทำเป็นพูดว่าอย่าทำอะไรนะกูเสียวตูดคือคุณเหมารวมว่าเกย์ทุกคนต้องอยากได้ผู้ชายว่างั้น มองเกย์เป็นพวกหมกมุ่นทางเพศ 

บางทีก็เล่นกันจนผมไม่โอเค เช่น เดินผ่านก็จับก้นผมกะให้ผมตกใจ ผมนั่งอยู่ก็ทำเป็นจับหน้าอกผม พอบอกว่าไม่พอใจ ก็เถียงกลับว่าคิดมากพี่แหย่เล่น พวกเกย์เขาไม่ถือเนื้อถือตัวกันหรอกคือคุณเหมารวมว่าเกย์ทุกคนพึงพอใจเหรอกับการถูกล่วงละเมิดในร่างกาย หรือคิดว่ามันตลก

ความน่ารำคาญอีกอย่างที่คนเป็นเกย์ต้องเจอคือคำถามแบบไม่รู้จะรู้ไปทำไม อย่างพอคนรอบๆ ตัวผมรู้ว่าผมเป็นเกย์ ก็มีอารมณ์แบบอยากมายุ่งเรื่องส่วนตัว มาถามว่าผู้ชายคนนี้เออยากกินไหม สเปคไหมมาจับผิดว่าผมมองคนไหนเป็นพิเศษไหม หรือไปอ่านข่าวบันเทิงมาแล้วก็มาเที่ยวถามว่าดาราคนนี้เป็นเกย์หรือเปล่ามันคือกรอบความคิดของคนบางกลุ่มแหละที่คิดว่าเป็นเกย์ต้อง ขี้นินทา ขี้มโนว่าคนนี้ต้องเป็นคนนั้นต้องเป็นด้วย แต่ไม่ใช่กับผมไง ผมคิดได้เลยเพราะผมเห็นแล้วว่าขนาดผมไม่ประกาศตัวผมยังเจออะไรมาบ้าง ผมเลยถือว่า มันเป็นเรื่องส่วนบุคคล เขาอยากเปิดเผยเขาก็บอกคุณ บอกสังคมเอง จะไปจับให้เขาเป็นเกย์ทำไม ถ้าเขาไม่ใช่

เมื่อถามว่าแล้วจัดการปัญหาอย่างไร เอส่ายหัวหน่าย บอกแค่ว่ามันยากครับ เพราะคือมันเหมือนวิธีคิดคนไทยนะว่า ตราบใดยังไม่ทำกันถึงเลือดตกยางออกหรือฟกช้ำดำเขียวนี่ เขาตีเป็นเรื่องล้อเล่นหมด ไม่ตลกด้วยกลายเป็นใจแคบ  แล้วเขาคงมีวิธีคิดว่าเกย์นี่เป็นเพศที่ต้องตลก แบบเวลาแหย่ทีต้องว้าย! ดังๆ แล้วหลุดสาวแตก เขามีกรอบคิดว่าเกย์นี่ต้องอยากทำอะไรแบบผู้หญิงๆ อย่างงานเลี้ยงออฟฟิศ จะให้ผมแต่งหญิงไปเต้นเป็นหางเครื่อง  ผมไม่เอา ก็มาว่าผมคิดอะไรเยอะ ทำไมเป็นเกย์ไม่ชอบแต่งหญิงเต้นๆ ล่ะ บางทีก็อยากตวาดให้เหมือนกันว่ากูเป็นผู้ชาย แต่กูชอบผู้ชาย

จะไปบอกหัวหน้าก็คิดว่าคงเคลียร์กันแค่ว่าพี่เขาล้อเล่น แล้วสุดท้ายก็เอาผมไปด่าลับหลังว่าเรื่องเยอะ ผมว่ามันน่าอายด้วยที่เรื่องแบบนี้มันต้องไปฟ้องผู้ใหญ่ ทั้งที่โตๆ กันแล้วควรรู้จักการให้เกียรติ ผมขี้เกียจมีปัญหาก็ทนๆ เอาบ้าง ใครที่ผมไม่โอเคหนักๆ ผมก็ไม่คุยเลย บางทีผมก็คิดนะว่าไม่ยุติธรรม ที่หลายองค์กรตื่นตัวเรื่องการล่วงละเมิดทางเพศกับผู้หญิง แต่พอเรามีเพศกำเนิดเป็นชายแล้ว เขาคิดว่าเป็นเรื่องที่ยอมๆ กันได้ไม่สลักสำคัญอะไร ผู้ชายทนได้ไม่สึกไม่หรอ” 

การแต่งงานของคู่รักเพศเดียวกันในไต้หวัน

‘ราคาที่เอต้องจ่ายกับการที่ใครๆ รู้ว่าเขาเป็นเกย์ คือการถูกปฏิบัติอย่างไม่ให้เกียรติ สำหรับกรณีของเอ ปรเมศวร์มองว่ามันคือปัญหาเรื่องการเมืองทางเพศ ในสังคมบรรทัดฐานรักสองเพศหรือ heteronormativity แต่ละเพศก็เรียกร้องสิทธิและการเคารพซึ่งกันและกัน ผู้หญิงก็เรียกร้องความเท่าเทียมชาย เช่น การจ่ายค่าแรง ความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน การยอมรับศักยภาพว่าทำงานได้ดีกว่าแม่บ้าน ผู้ชายเองหลังๆ ก็มีกระแสบุรุษนิยมขึ้นมาเรียกร้องสิทธิของตัวเอง ซึ่งมันเริ่มพูดกันมากตอนสงครามเวียดนามว่า ทำไมผู้ชายต้องเป็นเพศที่ถูกส่งไปเสี่ยงกับอันตราย ทำไมผู้ชายเป็นเพศที่ต้องถูกสังคมกำกับไม่ให้แสดงอารมณ์อ่อนไหวได้บ้าง คือมีการเรียกร้องให้ยอมรับคุณค่าของมนุษย์โดยไม่มีเงื่อนไขใดๆกำกับ

ในกลุ่ม LGBT ก็เช่นกัน เราก็ต้องการการยอมรับและให้เกียรติในเพศของเรา ไม่ใช่เอาเราไปโยนไว้ในกล่องเพศแบบสองขั้ว แบบเอาเกย์ไปโยนในกล่องเพศหญิงเพราะชอบผู้ชาย เอาทอมไปโยนในกล่องเพศชายเพราะชอบผู้หญิง แล้วเพศวิถีมันหลากหลาย พวกรักสองเพศหรือ bisexual หรือรักที่ตัวคนโดยไม่เกี่ยวกับเพศ ที่เขาเรียกว่า pan sexual คุณจะโยนเขาไปไว้ในกล่องไหนล่ะ หรือกระทั่งคนที่ประกาศตัวเองว่าไม่นิยามเพศ’ ( non-binary ) ที่เขารณรงค์ให้ใช้สรรพนามว่า they แทน he หรือ she คุณเอาเขาไปโยนเข้ากล่องไหนล่ะ จะให้ความเคารพกันคนที่ถูกโยนเข้ากล่องเพศก็ต้องเต็มใจด้วย 

มันก็กลับมาที่แนวคิดของไอดาฮอตปีนี้ breaking the silence คือเราถูกเอากรอบเพศมาตัดสิน  แล้วเราก็ถูกปฏิบัติอย่างที่เราไม่ต้องการ การทลายความเงียบคือการตะโกนต่อสังคมในเบื้องต้นเลยยังไม่ต้องถึงชั้นนโยบายว่า  ปฏิบัติต่อกันอย่างให้เกียรติในความเป็นมนุษย์ด้วย  เอาใจเขาใส่ใจเราในการทำอะไรกับใคร ไม่ใช่เอาเพศวิถีหรือรสนิยมทางเพศมาคิดว่าเขาต้องชอบการปฏิบัติกับเขาแบบนี้ๆ คนเรามีความหลากหลายอย่าเหมารวม” 

How to Break the Silence

เมื่อถามปรเมศวร์ว่า แล้วเราจะทลายความเงียบงันตามแนวคิดของวันไอดาฮอตปีนี้อย่างไร เขานิ่งไปก่อนจะตอบว่ามีสองอย่าง คือการศึกษาและประชาธิปไตยครับ การศึกษานี่คือรากฐานสำคัญรากฐานแรกเลยที่ต้องให้ความรู้และสร้างความเข้าอกเข้าใจว่าควรปฏิบัติตัวต่อเพื่อนเพศไหนอย่างไร อย่างในอังกฤษก็มีประเด็นที่วิพากษ์ถกเถียงกันอยู่เรื่องควรให้เด็กมีความเข้าใจต่อความหลากหลายทางเพศเมื่ออายุเท่าไร คือการสอนเรื่อง sex and relationship ซึ่งมันก็มีโรงเรียนที่อยู่ในย่านที่มุสลิมย้ายไปตั้งถิ่นฐานเยอะ ผู้ปกครองก็ต่อต้านบอกว่าเรื่องเพศไม่ใช่เรื่องที่ต้องสอน แต่เด็กจะเรียนรู้บทบาทที่เหมาะสมได้เอง แต่ใครนิยามคำว่าเหมาะสม เพราะคำนี้มันมีค่านิยม จารีต วัฒนธรรม กำกับวิธีคิดอยู่

ถ้าเราให้ความรู้ความเข้าใจตั้งแต่เด็กยังเล็ก ว่าเพศมีความหลากหลาย ให้เข้าใจทั้งเด็กที่มีการแสดงออกไม่ตรงเพศกำเนิด เข้าใจทั้งครอบครัวที่เป็นผู้ปกครองเพศเดียวกัน ทำให้เด็กเข้าใจว่าเรื่องพวกนี้เป็นเรื่องปกติ สอนวิธีการวางตัวที่เหมาะสมกับเพื่อนที่เพศไม่เหมือนกับตัวเอง ให้เกียรติเพื่อนในสิ่งที่เพื่อนหรือผู้ปกครองของเพื่อนเป็น มันก็เป็นความหวังว่าเด็กที่โตไปเป็นผู้ใหญ่รุ่นใหม่ในวันหน้า เขาจะสลายเรื่องกรอบเพศ มองมันเป็นเรื่องไม่สลักสำคัญเท่าคุณค่าของความเป็นมนุษย์ รู้จัก ยอมรับ และเข้าอกเข้าใจกันอย่างที่มีการรณรงค์เรื่อง empathy communication มากขึ้นในทุกวันนี้ 

ผมว่ามันจะส่งผลดีไม่ใช่แค่ต่อ LGBT แต่จะส่งผลดีต่อชายหญิงด้วย เพราะชายหญิงก็ถูกกรอบของเพศสภาพกดทับอยู่ ก็จะได้แก้ปัญหาของเขาด้วย  การสอนให้เคารพในเรื่องเพศตั้งแต่เด็ก มันจะส่งผลไปถึงเรื่องเซกส์ด้วยที่สามารถสอนกันได้แบบไม่ใช่เรื่องลี้ลับอับอายให้ไปลองผิดลองถูกเอง และสอนให้รู้จักความยินยอมพร้อมใจ ไม่ใช่การล่อลวงหรือการบังคับ ไปจนถึงสอนได้ถึงวุฒิภาวะและความรับผิดชอบต่อตัวเองในการมีเพศสัมพันธ์

ซีรีส์วายที่ได้รับความนิยมในสังคมไทย

การให้ความรู้ความเข้าใจไม่ใช่แค่ในห้องเรียน มันมีสิ่งที่เรียกว่า soft power คือสิ่งที่มีอำนาจโน้มน้าวให้คล้อยตามอย่างไม่ยัดเยียด เช่น เนื้อหาในสื่อมวลชน หนัง ละคร สื่อบันเทิง ของเหล่านี้นำมาสร้างความเข้าใจอันดีเรื่องเพศได้ทั้งหมด ทำให้เรื่องความเป็น LGBT ดูเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่ใช่ตัวตลก ตัวละครที่ต้องผิดหวังในรัก หรือตัวละครที่มีจิตใจผิดปกติ อย่างขณะนี้ในประเทศไทยมีความนิยมในนิยายวายค่อนข้างมาก หรือกระทั่งซีรีส์วาย เราก็อาจสอดแทรกความรู้ความเข้าใจเรื่องการเป็น LGBT เข้าไป ไม่ใช่จับเอาแค่ประเด็นโรมานซ์ รักใสๆ งอนๆ ซนๆ น่ารักๆ ใส่กัน ไม่อย่างนั้นมันจะน่าเสียดายที่เป็นนิยายหรือซีรีส์แนว pan sexual รักเพราะเธอเป็นเธอ รักได้แต่คนนี้เท่านั้น รักโดยไม่สนใจมิติเรื่องเพศสภาพ เสียโอกาสในการทำความเข้าใจและหาแนวร่วมสนับสนุน LGBT จากผู้เสพสื่อแนวนี้

อันดับต่อมาคือประชาธิปไตย หัวใจของประชาธิปไตยคือความเท่าเทียม เคารพทุกเสียง เมื่อเรามองสังคม มองคนอย่างสลายกรอบเพศได้แล้ว ไม่มีการเหยียดว่า หญิงเก่งน้อยกว่าชาย เป็น LGBT มันดูผิดเพศไม่ควรทำงานใหญ่ เราจะตัดสินคนด้วยคุณค่าของสิ่งที่เขาทำ และในชั้นการกำหนดนโยบาย จะมีบทบาทของความหลากหลายทางเพศมากขึ้น ทุกเพศได้พูดปัญหาของตัวเอง มีคนรับฟังอย่างเข้าอกเข้าใจ ถกกันด้วยเหตุผลและหลักฐานอย่างรอบด้านกว้างขวาง ไม่เอาชุดความคิดหรือค่านิยมไหนมาเป็นกรอบก่อน ทีนี้การกำหนดกฎหมายหรือนโยบายอะไรต่างๆ ก็จะออกมาในเชิงที่เสียงส่วนมากยอมรับ เหมาะสมต่อผู้ถูกบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายทุกกลุ่ม

สิ่งที่สำคัญเรื่องหนึ่งคือการประนีประนอม เราแบ่งขั้วทางความคิดของคนเป็นเสรีนิยมกับอนุรักษ์นิยม เสรีนิยมคือการตั้งคำถามกับคุณค่าดั้งเดิมและพยายามปรับเปลี่ยนให้คล้องกับบริบทของกระแสโลกที่เปลี่ยนไป อนุรักษ์นิยมก็คือกลุ่มที่มองว่า คุณค่าดั้งเดิมหลายอย่างก็มีความสำคัญเพื่อธำรงรักษาวินัยหรือความเป็นระเบียบเรียบร้อยของสังคม ถ้าเป็นประชาธิปไตยที่แท้จริงสองขั้วนี้ต้องพูดคุยด้วยเหตุผลกันได้  ไม่ใช่ด่วนตีตราคนเห็นต่างจากชุดความคิดที่ตัวเองยึดถือ พยายามอธิบายว่า ความรุนแรงเชิงโครงสร้างหลายๆ เรื่องมันไม่เป็นธรรมอย่างไร แล้วรื้อถอนมัน เปลี่ยนวิธีคิด ให้คุณค่ากับสิ่งใหม่ที่ทำให้ชีวิตเราดีขึ้น คุณค่าเดิมที่ดีอยู่แล้วเราก็ไม่ใช่ว่าเราต้องละทิ้ง

หลายๆ คนก็มีทั้งความเป็นเสรีนิยมบางเรื่อง และอนุรักษ์นิยมบางเรื่องในตัว แต่ความเป็นประชาธิปไตยคือเราเคารพกัน ดังนั้น ที่สำคัญอย่าด่วนแบ่งแยกคนเห็นต่าง การเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิ LGBT หลายครั้งเป็นการเคลื่อนไหวที่อิงกับกระแสเสรีนิยม จนดูเพิกเฉยที่จะทำความเข้าใจกับกลุ่มอนุรักษ์นิยม หรือกระทั่ง LGBT ที่เคลื่อนไหวเพิกเฉยต่อความคิดของกลุ่มชายหญิง กลายเป็นข้อขัดแย้งที่ไม่จบสิ้น ทั้งที่จริงๆ แล้ว การจะทลายความเงียบงัน ที่สำคัญที่สุดคือเสียงของคนหมู่มากต้องร่วมกันทลายมันลง คุณต้องมีความเข้าใจและเคารพวิธีคิดกัน ถ้าการเคลื่อนไหวเพื่อ LGBT คือกระแสเสรีนิยม ก็ต้องโน้มน้าวให้กลุ่มอนุรักษ์นิยมซึ่งก็มีเป็นจำนวนมากสามารถยอมรับและเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ ไม่ใช่เพียงแค่การเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เราต้องสร้างแนวร่วมที่แข็งแรง ให้ทุกเพศยอมรับ เข้าใจ และช่วยเหลือคนต่างเพศ

มันอาจเป็นเรื่องยากในโลกนี้ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม แม้แต่แนวคิดของไอดาฮอตปีนี้ทลายความเงียบงันก็เหมือนเป็นแนวคิดที่ยึดถือมาจากประเทศที่ยอมรับ LGBT ในระดับมีกฎหมายรับรองสิทธิ จนถึงปกป้องสวัสดิภาพเช่นในสวิตเซอร์แลนด์ที่การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันเป็นความผิด ในหลายพื้นที่ในโลกนี้เรายังทลายความเงียบงันไม่ได้ แต่การลุกขึ้นมาพูด ลุกขึ้นมาวิพากษ์ เคลื่อนไหวต่อสู้ มันก็ดีกว่าไม่ทำอะไรเลยแล้วปล่อยให้มันเป็นความเงียบงันต่อไปเรื่อยๆ อยากให้มองว่า วันนี้เราไม่ได้สู้แค่เพื่อสิทธิของเรา แต่เราสู้เพื่อประชากรรุ่นหลังๆ ในอนาคตจะถูกปลดปล่อยจากความรุนแรงเชิงโครงสร้าง ความไม่เท่าเทียมเรื่องเพศ ให้พวกเขามีชีวิตที่ดีขึ้นได้

ในการเคลื่อนไหววันไอดาฮอตปีนี้ แม้อาจไม่คึกคักเพราะปัญหาการระบาดของไวรัสโควิด-19 แต่ก็หวังว่า ย่างก้าวของการเคลื่อนไหววันไอดาฮอตในแต่ละปี จะเป็นก้าวที่โตขึ้นเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง หรือเป็นกำลังใจหนึ่งสำหรับผู้ที่ยังไม่สามารถเปิดเผยเรื่องเพศวิถีของตัวเองได้ ทำให้สังคมมองข้ามเรื่องเพศมองแค่ความเป็นมนุษย์ที่เท่าเทียมให้ได้ เพื่อเราจะได้สร้างโลกที่วันหนึ่ง กรอบเพศจะไม่ใช่สิ่งที่บีบรัดหรือกดดันทุกคนได้อีกต่อไป   

ภาพ : Nacho Doce, Tyrone Siu/REUTERS  

Tags: , , ,