วัคซีนป้องกันโควิด-19 จากบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด (Sinovac Biotech Co.,Ltd.) ที่รัฐบาลไทยไว้วางใจ เพิ่งได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ในวันนี้ (23 กุมภาพันธ์ 2564) อย่างฉิวเฉียด ก่อนที่ล็อตแรก 2 แสนโดส จะเดินทางมาถึงในเช้าวันพรุ่งนี้ ซึ่งพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี จะเป็นผู้รับมอบด้วยตัวเอง กว่า 2 แสนโดส และตามแผนจะต้องฉีดให้กับบุคลากรทางการแพทย์ในพื้นที่ที่มีการระบาดหนักอย่าง ‘สมุทรสาคร’ เป็นอันดับต้นๆ
แม้ทีมแพทย์ในศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) จะการันตีความปลอดภัยของวัคซีนชนิดนี้ แต่หากมองภาพให้กว้างกว่านั้น วัคซีนจากซิโนแวคยังคงถูกตั้งคำถามจากคนทั่วโลกถึงผลการทดลองที่คลุมเครือ และความ ‘ไม่มั่นใจ’ ในประสิทธิภาพของวัคซีนชนิดนี้ว่า หากฉีดแล้วจะป้องกันโรค ป้องกันอาการได้เพียงพอหรือไม่ จึงยังทำให้คนไทยจำนวนมากรู้สึก ‘ไม่พร้อม’ ที่จะฉีดวัคซีนชนิดนี้เข้าสู่ร่างกาย
เพื่อต้อนรับการมาถึงของวัคซีนซิโนแวค The Momentum ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับวัคซีนดังกล่าว ตั้งแต่การถูกส่งจากจีนไปยังหลายประเทศ ผลการทดสอบประสิทธิภาพแบบภาพรวม รวมถึงความคิดเห็นของคนในวงการแพทย์และตัวของบริษัทผู้ผลิตวัคซีน
ประชาคมโลกยังคงตั้งคำถามกับซิโนแวค
เดิมที ‘ซิโนแวค’ มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘โคโรนาแวค’ แต่ทั่วโลกนิยมเรียกว่าซิโนแวคมากกว่า เนื่องจากทำให้นึกภาพออกว่าเป็นวัคซีนจากบริษัทไหนหรือเป็นวัคซีนสัญชาติใด และพัฒนาวัคซีนด้วยการนำอนุภาคไวรัสที่ตายแล้ว มากระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกาย แตกต่างจากการใช้บางส่วนของรหัสพันธุกรรมไวรัสแบบ ไฟเซอร์-ไบออนเทค (Pfizer-BioNtech) ของบริษัทเวชภัณฑ์สัญชาติสหรัฐฯ-เยอรมัน หรือโมเดอร์นา (Moderna) ของบริษัทวัคซีนอังกฤษ-สวีเดน ซึ่งเป็นชนิด mRNA
ซิโนแวคได้รับการอนุมัติทะเบียนจากประเทศจีนเมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2021 และได้รับอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินในหลายประเทศ อาทิ บราซิล ชิลี โคลัมเบีย อาเซอร์ไบจาน อินโดนีเซีย ลาว เม็กซิโก ตุรกี และอุรุกวัย โดยกลุ่มประเทศดังกล่าวได้ฉีดวัคซีนซิโนแวคให้กับประชาชนของตัวเองแล้วกว่า 2 ล้านโดส และยังไม่พบรายงานอาการแพ้หรืออาการที่ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง
ตลอดเวลาที่ผ่านมา ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคถูกตั้งคำถามอยู่บ่อยครั้ง ผลทดสอบวัคซีนเฟส 3 ในหลายประเทศยังคงผันผวน สำนักข่าว Bloomberg รายงานว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนซิโนแวคในบราซิลอยู่ที่ 78% ในกรณีผู้ป่วยที่ไม่มีอาการรุนแรง วันที่ 13 มกราคมที่ผ่านมา มีรายงานว่าประสิทธิภาพของวัคซีนมีแค่ 50.4% เท่านั้น สำหรับการติดเชื้อแบบแสดงอาการ (symptomatic infections) ส่วนการใช้งานแบบฉุกเฉินที่อินโดนีเซีย ก็มีรายงานออกมาว่าอยู่ที่ 65% แตกต่างจากตัวเลขในประเทศตุรกีที่มีตัวเลขอยู่ที่ 91% และทั้งหมดไม่ได้มีรายงานตัวเลข เพศ และอายุของผู้ได้รับวัคซีนที่ชัดเจน
ทั้งนี้ ซิโนแวคยืนยันว่า แม้ผลการทดลองจากอาสาสมัครในบราซิลจะพบว่าซิโนแวคมีประสิทธิภาพในประชากรอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 12,396 ราย อยู่ที่ 50.65% แต่ก็ช่วยยับยั้งการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล และยับยั้งการเสียชีวิตได้เต็ม 100% ทำให้ลดจำนวนผู้ป่วยที่ต้องรับการรักษาทางการแพทย์ (Medical Treatment) ได้มากถึง 83.7% และถูกนำไปเปรียบเทียบกับประสิทธิภาพของวัคซีนจากบริษัทอื่นที่ถูกใช้ในหลายพื้นที่ ก่อนจะได้ข้อสรุปอย่างไม่เป็นทางการว่า ประสิทธิภาพที่ไม่เท่ากันในแต่ละประเทศมีส่วนมาจากผลกระทบของไวรัสกลายพันธุ์ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่มีการระบาดของไวรัสกลายพันธุ์มากกว่าที่อื่น เช่น สหราชอาณาจักร แอฟริกาใต้ และบราซิล
หลังเกิดการตั้งคำถามกับเปอร์เซ็นต์ที่ไม่แน่นอน สำนักข่าวซินหัว สื่อทางการประเทศจีน ออกข่าวการแถลงการณ์ของ บริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค เมื่อวันที่ 24 มกราคมที่ผ่านมา ระบุว่า วัคซีนของบริษัทจะออกฤทธิ์กว้าง (broad-spectrum) สามารถป้องกันโควิด-19 ได้หลายสายพันธุ์ อิ่น เว่ยตง (Yinc Wei-Dong) ประธานและซีอีโอบริษัทฯ กล่าวว่า ไม่แปลกที่ผลการทดลองในแต่ละประเทศจะมีความแตกต่างกัน เพราะในแต่ละพื้นที่มีปัจจัยที่แตกต่างกันหลายประการ และคำตอบของเขายังคงคลุมเครือในสายตาใครหลายคน
หลายประเทศในเอเชียได้รับซิโนแวคแล้ว
ในสงครามการแย่งชิงวัคซีนซิโนแวค ซึ่งเป็นหนึ่งในวัคซีนที่สามารถผลิตและจัดส่งได้ในเวลาไม่นานนัก และไม่ได้เป็นที่นิยมเท่ากับวัคซีนจาก ‘ไฟเซอร์’ และ ‘แอสตร้าเซเนก้า’ ทำให้หลายประเทศที่ตกขบวน ไม่สามารถจัดซื้อวัคซีนจากตะวันตกได้ทัน หันมาให้ความสนใจวัคซีนจากจีน รวมถึงไทยด้วย
ปัจจุบัน มีราว 17 ประเทศทั่วโลกที่สั่งวัคซีนจากซิโนแวค นอกจากจีน ประเทศผู้ผลิตแล้ว ยังมีประเทศอื่น อาทิ บราซิล อินโดนีเซีย เม็กซิโก ฮ่องกง โคลอมเบีย สิงคโปร์ มาเลเซีย แต่ที่เริ่มใช้งานเป็นวงกว้างแล้ว มีเพียง อินโดนีเซีย ตุรกี ชิลี และอาเซอร์ไบจาน รวมถึง ‘ฮ่องกง’
เมื่อวันที่ 19 กุมภาพันธ์ 2021 สำนักข่าวซินหัวของรัฐบาลจีน ระบุว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 จำนวน 1 ล้านโดส ถูกส่งไปยังเขตบริหารพิเศษฮ่องกงและจีนตอนใต้เรียบร้อยแล้ว หลังรัฐบาลฮ่องกงอนุมัติให้ใช้งานใน ‘กรณีฉุกเฉิน’ และสำรองวัคซีนทั้งหมด 7.5 ล้านโดส โดยจะเริ่มฉีดให้ประชาชนที่จัดอยู่ในกลุ่มเสี่ยง บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ทำอาชีพขับรถบรรทุกข้ามพรมแดน และประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไปก่อน โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
นางแคร์รี แลม (Carrie Lam) หัวหน้าคณะผู้บริหารฮ่องกง รวมถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล เข้ารับการฉีดวัคซีนซิโนแวคเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชน ก่อนที่จะกระจายวัคซีนไปในหลายโรงพยาบาลและพร้อมฉีดให้ประชาชน
ทว่าฮ่องกงยังคงต้องเจอกับปัญหาใหญ่ เนื่องจากประชาชนจำนวนมากไม่ยอมฉีดวัคซีนที่มาจากจีนแผ่นดินใหญ่ ด้วยเหตุผลเรื่องความไม่ไว้วางใจในประสิทธิภาพ และข้อพิพาททางการเมือง จากการสำรวจความคิดเห็นชาวฮ่องกงโดยมหาวิทยาลัยฮ่องกงพบว่า มีผู้ประสงค์จะฉีดวัคซีนซิโนแวคไม่ถึง 30% โดยส่วนใหญ่ตัดสินใจรอวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค ที่มีกำหนดว่าจะจัดส่งมาในช่วงสิ้นเดือนกุมภาพันธ์
ขณะที่ในฟิลิปปินส์ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้ออกแถลงการณ์รับรองการใช้งานวัคซีนซิโนแวคในกรณีฉุกเฉินแล้ว แม้ขั้นตอนการพิจารณาอนุมัติค่อนข้างใช้เวลายาวนานกว่าปกติหากเทียบกับการอนุมัติให้ใช้วัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค หรือแอสตร้าเซเนก้า (AstraZeneca) เนื่องจากข้อมูลผลการทดสอบในระยะสามของบริษัทซิโนแวคยังไม่ครบถ้วนตามเกณฑ์ที่รัฐบาลฟิลิปปินส์กำหนดไว้
ด้วยความสัมพันธ์อันดีงามและยาวนานระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ แม้รัฐบาลฟิลิปปินส์จะสั่งซื้อวัคซีนซิโนแวคไปแล้ว 25 ล้านโดส รัฐบาลปักกิ่งยังบริจาคเพิ่มให้อีก 6 แสนโดส และวัคซีนซิโนแวคล็อตแรกจะเดินทางมาถึงฟิลิปปินส์ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2021
รัฐบาลไทยยืนยัน ซิโนแวค ‘ผ่านเกณฑ์’ องค์การอนามัยโลก
เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2021 นายแพทย์ นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติระบุว่า วัคซีนแอสตร้าเซเนก้าและซิโนแวคที่ประเทศไทยจัดหาในระยะแรก เป็นวัคซีนที่ผ่านกระบวนการผลิตอย่างเคร่งครัด ปลอดภัย มีผลการศึกษาประสิทธิภาพที่ชัดเจน และได้รับการรับรอง Emergency Use Listing (EUL) จากองค์การอนามัยโลกเช่นเดียวกับวัคซีนไฟเซอร์-ไบออนเทค เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ด้านศาสตราจารย์นายแพทย์ ยง ภูวรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่มองว่าวัคซีนที่พัฒนาจากเชื้อไวรัสที่ตายแล้วอย่างซิโนแวค มีวิธีการพัฒนาเหมือนกับการทำวัคซีนพิษสุนัขบ้า จึงไม่น่าส่งผลข้างเคียงรุนแรง
วันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2021 อนุทิน ชาญวีรกุล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า บริษัทผู้ผลิตวัคซีนซิโนแวคส่งภาพมายืนยันว่าวัคซีนป้องกันโควิด-19 ล็อตแรกจำนวน 2 แสนโดสสำหรับประเทศไทย พร้อมจะเดินทางมาถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ที่จะถึงนี้ และจะส่งมาอย่างต่อเนื่องจนครบ 2 ล้านโดส ก่อนทิ้งท้ายด้วยแฮชแท็ก #คนไทยต้องปลอดภัย
อนุทินมั่นใจ คนไทยได้ฉีดแน่
พลอากาศเอก ชัยพฤกษ์ ดิษยะศริน ประธานในที่ประชุมคณะผู้ทำแผนฟื้นฟูกิจการ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ระบุว่า บริษัทฯ พร้อมปฏิบัติภารกิจสำคัญนี้ ตู้คอนเทนเนอร์ควบคุมอุณหภูมิสามารถขนส่งสินค้าที่ต้องใช้อุณหภูมิ -20 ถึง 20 องศาเซลเซียส โดยวัคซีนซิโนแวคจะเดินทางด้วยเครื่องบินขนส่งสินค้าแอร์บัส A350-900 เที่ยวบินที่ TG 675 ปักกิ่ง-กรุงเทพฯ ออกเดินทางในวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2021 06.50 น. ตามเวลาท้องถิ่น ถึงกรุงเทพฯ ประมาณ 11.00 น. ณ คลังสินค้า การบินไทย ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ
มีรายงานว่า เจ้าหน้าที่รัฐระดับสูงหลายรายจะมารอรับมอบวัคซีนด้วยตัวเอง หนึ่งในนั้นมี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเข้ารับมอบด้วย นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า นายกฯ แสดงความต้องการจะฉีดวัคซีนเป็นคนแรกเพื่อสร้างความมั่นใจแก่ประชาชน ก่อนอนุทินจะปฏิเสธและระบุว่า ไม่เคยพูดว่านายกฯ จะฉีดวัคซีนซิโนแวค เนื่องจากคุณสมบัติของผู้ที่ฉีดวัคซีนจะต้องมีอายุระหว่าง 18-59 ปี ขณะที่พลเอกประยุทธ์มีอายุ 66 ปี
คาดว่าวัคซีนซิโนแวคในไทยจะพร้อมฉีดเข็มแรกวันที่ 28 กุมภาพันธ์ หรือวันที่ 1 มีนาคมนี้ ที่โรงพยาบาลราชวิถี และพร้อมรับประชาชนที่เข้าฉีดวัคซีนได้วันละ 500 คน ก่อนกรมการแพทย์จะประสานงานโรงพยาบาลในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัดอีก 12 แห่ง เพื่อให้สำนักงานเขตสุขภาพบริหารจัดการส่งวัคซีนไปตามโรงพยาบาลแต่ละพื้นที่ โดยประชาชนที่ต้องการฉีดวัคซีนต้องลงทะเบียนออนไลน์ผ่านไลน์ ‘หมอพร้อม’ ก่อนทีมแพทย์จะประเมินแล้วนัดหมายวันเวลาเพื่อฉีดวัคซีน
จนถึงตอนนี้ สิ่งที่น่าสนใจก็คือ วัคซีนซิโนแวคยังคงมีความแตกต่างจากวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของเจ้าอื่นๆ อาทิ ไฟเซอร์-ไบออนเทค, โมเดอร์นา และแอสตร้าเซเนก้า เนื่องจากวัคซีนเหล่านี้ส่งข้อมูลการทดลองระยะที่สามลงในวารสารทางการแพทย์เพื่อให้แพทย์ทั่วโลกร่วมตรวจสอบเรียบร้อยแล้ว เว้นเพียงแต่ซิโนแวคที่ยังมีข้อมูลไม่ครบถ้วน
อ้างอิง
https://themomentum.co/all-about-sinovac-vaccine/
Tags: Report, The Momentum, วัคซีน, Sinovac, ซิโนแวค