หากพูดถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ชื่อบริษัทเวชภัณฑ์ที่ถูกพูดถึงมากที่สุดในสื่อต่างประเทศคงหนีไม่พ้น ไฟเซอร์-ไบโอเอ็นเทค (Pfizer-BioNtech) จากการพัฒนาร่วมกันของบริษัทสัญชาติสหรัฐฯ และเยอรมนี บางคนอาจนึกถึง แอสตราเซเนกา (AstraZeneca) ของบริษัทผลิตวัคซีนจากอังกฤษ-สวีเดน หรือโมเดอร์นา (Moderna) จากบริษัทเทคโนโลยีชีวภาพสหรัฐฯ ส่วนรัฐบาลไทยน่าจะนึกถึงวัคซีน ‘ซีโนแวค’ (Sinovac) ของจีนเป็นอันดับต้นๆ

วัคซีนจากบริษัท Sinovac มีชื่อเรียกอย่างเป็นทางการว่า ‘CoronaVac’ แต่ทั่วโลกยังคงเรียกว่า Sinovac เนื่องจากทำให้นึกภาพออกง่ายกว่าว่าเป็นวัคซีนจากบริษัทไหนและมีสัญชาติใด โดยรัฐบาลปักกิ่งได้อนุมัติให้ใช้วัคซีนกับบุคลากรทางการแพทย์ และผู้ป่วยกรณีฉุกเฉินตั้งแต่เดือนตุลาคม 2020 ทว่าผลทดลองในระยะที่ 3 จากหลายประเทศระบุคล้ายกันว่า วัคซีน Sinovac มีประสิทธิภาพในระดับ ‘ปานกลาง’ เท่านั้น

บราซิลเป็นอีกหนึ่งประเทศที่สั่งซื้อวัคซีน Sinovac ตั้งแต่แรกเริ่ม ทว่าในเดือนพฤศจิกายน 2020 กระทรวงสาธารณสุขบราซิลออกแถลงการณ์ระงับการใช้วัคซีนดังกล่าว เนื่องจากพบผลข้างเคียงรุนแรงในการใช้ระยะแรกเมื่อวันที่ 29 ตุลาคม 2020 และมีผู้เข้าร่วมทดลองวัคซีนคนหนึ่งเสียชีวิต แต่ ดิมาส โควาส ผู้อำนวยการสถาบัน Instituto Butantan ในเมืองเซาเปาลูที่ดูแลเรื่องนี้กล่าวว่า “ผู้เสียชีวิต ‘ไม่น่า’ เกี่ยวข้องกับวัคซีน” ก่อนจะอนุมัติให้ใช้วัคซีนดังกล่าวต่อไปอีกครั้งในระยะที่ 2 และ 3

ข่าวคราวล่าสุดเกี่ยวกับวัคซีน Sinovac ค่อนข้างน่าตกใจ เมื่อสำนักข่าว Reuters รายงานว่าผลทดสอบวัคซีนระยะ 3 ในประเทศบราซิล มีประสิทธิภาพน้อยกว่า 60% แตกต่างจาก Bloomberg ที่ก่อนหน้านี้ระบุไว้ว่า ประสิทธิภาพอยู่ที่ 78% ในกรณีที่ผู้ติดเชื้อโควิด-19 ยังไม่ได้อยู่ในระยะโคม่า แต่ไม่ระบุตัวเลขแน่ชัด แตกต่างจากผลของบริษัท Pfizer-BioNtech ที่ระบุประสิทธิภาพของวัคซีน รวมถึงเพศและอายุของผู้ได้รับวัคซีนอย่างครบถ้วน

หลังจากตัวเลขของประเทศบราซิลยังไม่ได้รับการรับรอง ในที่สุดวันที่ 13 มกราคม 2021 ผลออกมาอีกครั้ง ประสิทธิภาพของวัคซีนอยู่ที่ 50% เท่านั้น (แต่ไม่ได้ระบุตัวเลขชัดเจนเหมือนเคย)

ประเทศอินโดนีเซียเป็นที่แรกของโลก (นอกจากจีน) ที่รับรองวัคซีน Sinovac และอนุมัติใช้กับประชาชนกรณีฉุกเฉินเนื่องจากเกิดการระบาดหนัก ในการใช้ระยะ 3 พบว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพอยู่ที่ 65% เท่านั้น ใกล้เคียงกับผลที่บราซิล แต่ตัวเลขของสองประเทศค่อนข้างห่างกับประเทศตุรกี ที่ระบุว่าวัคซีนดังกล่าวมีประสิทธิภาพมากถึง 91%

หากประสิทธิภาพของวัคซีน Sinovac อยู่ระหว่าง 60-70% จริง อาจสร้างความกังวลให้กับหลายประเทศที่ตัดสินใจซื้อวัคซีนจากบริษัทดังกล่าว ท่ามกลางเสียงค้านของนักระบาดวิทยาจีนที่ระบุว่า Sinovac พัฒนาวัคซีนด้วยการเอาอนุภาคไวรัสที่ตายแล้วมากระตุ้นให้เกิดภูมิคุ้มกันในร่างกายมนุษย์ แตกต่างจากการใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนของไวรัสแบบบริษัท Pfizer-BioNtech หรือ Moderna ถึงจะมีเปอร์เซ็นต์สร้างภูมิคุ้มกันสูงไม่เท่ากับวัคซีนของ Pfizer-BioNtech แต่จะส่งผลข้างเคียงในระยะยาวที่น้อยกว่า

อีกประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับ Sinovac เกิดขึ้นในประเทศกัมพูชา เมื่อนายกรัฐมนตรี ฮุน เซน (Hun Sen) กล่าวว่ารัฐบาลกำลังจัดหาวัคซีนชุดแรกจำนวน 1 ล้านโดส จากทั้งหมด 26 ล้านโดส มาฉีดให้ประชาชนแบบไม่เสียค่าใช้จ่าย และต้องเป็นวัคซีนชนิดเดียวกับที่ประเทศพัฒนาแล้วสั่งให้ประชาชนของตัวเอง ยืนยันสั่งซื้อวัคซีนต้านโควิด-19 ที่รับรองโดย WHO และ COVAX เท่านั้น ก่อนทิ้งท้ายว่า “กัมพูชาไม่ใช่ถังขยะ ไม่ใช่สถานที่ทดลองวัคซีน ชาวกัมพูชาจะไม่ยอมเป็นหนูทดลองวัคซีน”

โครงการ COVAX ที่ ฮุน เซน ไว้วางใจคืออะไร?

โครงการ COVAX (COVID-19 Vaccine Global Access Facility) เกิดขึ้นจากความร่วมมือของพันธมิตรด้านนวัตกรรมรับมือโรคระบาด (CEPI) กับองค์กรวัคซีนกาวี (Gavi) และองค์การอนามัยโลก (WHO) เพื่อพัฒนาวัคซีนต้านโควิด-19 ที่สามารถมั่นใจในประสิทธิภาพ ก่อนแจกจ่ายไปยังทั่วโลกอย่างเท่าเทียม ซึ่งการร่วมมือกันขององค์กรชั้นนำด้านวัคซีนและโรคระบาด ทำให้โครงการ COVAX กลายเป็นเสาหลักสำคัญที่ทำให้หลายประเทศวางใจที่จะสั่งวัคซีนจาก COVAX มากกว่าบริษัทที่ผลิตวัคซีนโดยตรง

ไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ภายหลังนายกรัฐมนตรีกัมพูชาสร้างความมั่นใจให้ประชาชน สำนักข่าวต่างประเทศ Nikkei Asia พาดหัวข่าวใหญ่ “กัมพูชาปฏิเสธที่จะรับวัคซีน Sinovac จากจีน” โดยอ้างอิงจากแถลงการณ์ของ ฮุน เซน ส่วน The Khmer Times รายงานว่าเอกอัครราชทูตจีนประจำประเทศกัมพูชาติดต่อกับรัฐบาลพนมเปญเพื่อเสนอวัคซีนจากจีน แต่ยังไม่ได้รับการตอบกลับ ทำให้ทางโฆษกกระทรวงสาธารณสุขของรัฐบาลพนมเปญต้องออกมาชี้แจงว่า กัมพูชาไม่ได้ปฏิเสธวัคซีนจีน แต่กัมพูชาแค่จะซื้อวัคซีนที่ได้รับการรับรองจาก WHO เท่านั้น ท่าทีที่ไม่ได้ตอบรับหรือปฏิเสธชัดเจนทำให้หลายคนคาดเดาว่า กัมพูชาอาจรู้สึกเกรงใจประเทศที่มีความสัมพันธ์อันดีมายาวนานอย่างจีนอยู่ไม่น้อยเลย แต่ก็ไม่ต้องการเสี่ยงใช้วัคซีนจากจีนเช่นกัน

ทางด้านประเทศผู้ผลิตอย่างจีนแผ่นดินใหญ่ สำนักข่าว Bloomberg รายงานความเคลื่อนไหวของรัฐบาลปักกิ่ง ว่ารัฐบาลจีนได้อนุมัติให้สั่งซื้อวัคซีน จาก Pfizer-BioNtech จำนวน 100 ล้านโดส ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2020 พร้อมจ่ายเงินให้กับบริษัทผู้ผลิต 300 ล้านดอลลาร์ฯ สำหรับ 50 ล้านโดสแรก เพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอถึงสิ้นปี 2021 จนทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ไปทั่ว หากวัคซีนที่บริษัทในประเทศผลิตได้มีประสิทธิภาพตามมาตรฐาน แล้วเหตุใดจึงต้องทุ่มเงินมหาศาลสั่งซื้อวัคซีนจากต่างประเทศ?

แม้วัคซีน Sinovac ยังคงสร้างคำถามคาใจหลายข้อให้กับผู้ใช้และผู้ที่จะใช้วัคซีนในเร็วๆ นี้ทั่วโลก ทว่ารัฐบาลไทยได้อนุมัติเตรียมใช้วัคซีน Sinovac กับประชาชน หลังจากเมื่อวันที่ 5 มกราคมที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีมีมติให้จัดหาวัคซีนจาก Sinovac รวม 2 ล้านโดส โดยก่อนหน้านั้น ช่วงปลายปี 2020 ที่ผ่านมา เครือซีพีเพิ่งจะทุ่มเงินกว่า 1.54 หมื่นล้านบาท เข้าถือหุ้น 15% ของบริษัท Sinovac

ท่ามกลางข่าวลือที่ไม่ได้รับการยืนยันแน่ชัดว่า ก่อนหน้าที่รัฐบาลไทยจะยุติข้อตกลงกับ Sinovac นั้น บริษัท Pfizer-BioNtech เคยเสนอขายวัคซีน 13 ล้านโดส แต่รัฐบาลปฏิเสธด้วยเหตุผลว่าราคาสูงเกินไป ก่อนจะตกลงปลงใจกับ Sinovac ควบคู่กับการเตรียมผลิตวัคซีนป้องกันโควิด-19 อีก 26 ล้านโดส โดยใช้สูตรและเทคโนโลยีของบริษัท AstraZeneca และมหาวิทยาลัยออกซฟอร์ด ภายใต้บริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ (Siam Bioscience)

ในเดือนกุมภาพันธ์ 2020 วัคซีนชุดแรกของ Sinovac จำนวน 2 แสนโดส จะเดินทางมาถึงประเทศไทย ก่อนจะทยอยนำเข้าเรื่อยๆ จนถึง 2 ล้านโดส และเริ่มฉีดให้ประชาชนไทยในเดือนเมษายน

อ้างอิง

https://thediplomat.com/2020/12/is-cambodia-really-turning-its-back-on-chinese-vaccines/

https://asia.nikkei.com/Spotlight/Coronavirus/Cambodia-shuns-China-s-Sinovac-vaccine-in-favor-of-COVAX-shots

https://mgronline.com/around/detail/9630000131676

https://www.bloomberg.com/news/articles/2020-12-16/china-secures-100-million-doses-of-biontech-shot-to-boost-supply

https://www.bloomberg.com/news/articles/2021-01-07/sinovac-covid-shot-78-effective-in-brazil-trial-folha-reports

https://finance.yahoo.com/news/china-secures-100m-doses-pfizer-074155989.html

Tags: , , , , , , , , , , ,