ภายใต้การบังคับใช้ ‘กฎหมายฉบับใหม่ว่าด้วยความมั่นคง’ ที่รัฐบาลปักกิ่งผลักดันให้ใช้งานเพื่อควบคุมการประท้วงของมวลชนในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2020 เปิดโอกาสให้เจ้าหน้าที่รัฐสามารถจับกุมผู้มีส่วนร่วมในการประท้วงได้จำนวนมาก ทั้งนักเคลื่อนไหวทางการเมือง นักเรียนนักศึกษา นักธุรกิจ นักข่าว และนักการเมืองฝ่ายค้าน จนทำให้เกิดการลี้ภัยจำนวนมากในช่วงเพียงไม่กี่ปี โดยประชาชนชาวฮ่องกงที่โดนจับส่วนใหญ่มักทำผิดในข้อหาคล้ายกันคือ ‘ยุยงปลุกปั่นให้เกิดความแตกแยก’ หรือ ‘เป็นภัยต่อความมั่นคง’ และ ‘เอื้อประโยชน์ให้ต่างชาติเข้าแทรกแซงการเมือง’
ขณะที่รัฐบาลฮ่องกงภายใต้การนำของ แคร์รี แลม (Carrie Lam) ร่วมกับรัฐบาลปักกิ่งจากจีนแผ่นดินใหญ่ ยังคงเร่งปราบปรามชาวฮ่องกงที่เรียกร้องประชาธิปไตย รัฐบาลปักกิ่งได้เตรียมวางแผนด้านการศึกษาในฮ่องกงใหม่ทั้งหมด เร่งปลูกฝังความรักชาติรักความเป็นจีนให้กับเยาวชนฮ่องกงเพื่อตัดไฟการลุกฮือแต่ต้นลม
นี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่จีนพยายามแทรกแซงการศึกษาฮ่องกง
หลายปีที่ก่อนหน้านี้ ก่อนที่จะมีกฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ รัฐบาลฮ่องกงมีความตั้งใจจะปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะด้านสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ เห็นได้ชัดจากการเตรียมใช้ ‘แผนหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติปี 2012’ จากการแนะนำของรัฐบาลปักกิ่ง เพื่อเสริมสร้างความสามัคคีเป็นหนึ่งเดียวกัน
ใจความสำคัญของหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติปี 2021 มุ่งเน้นความคิดชาตินิยม รักในความเป็นจีน ปลูกฝังความคิดให้เด็กๆ เติบโตขึ้นพร้อมกับความรู้สึกสำนึกรักบ้านเกิด และสนับสนุนนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์ เพราะรัฐบาลเห็นว่า หลักสูตรการศึกษาที่เสรีนิยมเกินไป หล่อหลอมให้เยาวชนฮ่องกงมีความคิดแบบหัวรุนแรง
ไม่นานหลังรัฐบาลวางแผนจะปฏิรูปการศึกษา โจชัว หว่อง (Joshua Wong) กับเพื่อนๆ ที่มีอุดมการณ์เดียวกันรวมตัวตั้งกลุ่ม สกอลาริซึม (Scholarism) เดินประท้วงและทำใบปลิวรวมเหตุผลว่า ทำไมพวกเขาจึงไม่เห็นด้วยกับหลักสูตรการศึกษาที่กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนใหม่ยกแผง
ชาวฮ่องกงที่ไม่เห็นด้วยกับแผนหลักสูตรการศึกษาแห่งชาติปี 2012 เริ่มเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาเกิดความรู้สึกว่าจีนแผ่นดินใหญ่กับรัฐบาลฮ่องกงที่รับคำสั่งมาอีกที กำลังพยายามเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมและค่านิยมชาวฮ่องกง การประท้วงจึงขยายตัวขึ้นเรื่อยๆ จนผู้ร่วมขบวนไม่ได้จำกัดอยู่แค่นักเรียนนักศึกษาหรือพ่อแม่ผู้ปกครองอีกต่อไป แต่เป็นชาวฮ่องกงที่ต้องการต่อสู้เพื่อธำรงรักษาไว้ในความเป็นฮ่องกง
การประท้วงที่ลุกลามทำให้รัฐบาลปักกิ่งและรัฐบาลฮ่องกงของ เหลียง ชุนอิง (Leung Chun-ying) ต้องถอยร่น ยกเลิกการบังคับใช้แผนหลักสูตรการศึกษาฉบับดังกล่าว แต่การประท้วงยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและเรื่องที่ผู้ชุมนุมเรียกร้องก็เดินไปไกลกว่าด้านการศึกษาเสียแล้ว
2021 ชาวฮ่องกงมีหลักสูตรการศึกษาที่ใหม่กว่า และสอนให้รักความเป็นจีนยิ่งกว่าเก่า
เวลานี้ฮ่องกงอยู่ภายใต้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ปี 2020 ที่มีเนื้อหาสำคัญเกี่ยวกับการจำแนกความผิด 4 ประเภทใหญ่ อาทิ การแบ่งแยกดินแดน การป้องกันไม่ให้ต่างชาติเข้ามาแทรกแซงกิจการภายในฮ่องกง รวมถึงสอดส่องผู้ใด หรือการกระทำใดๆ ที่เป็นอันตรายต่อความมั่นคงของชาติ ซึ่งข้อกฎหมายดังกล่าวจะทำให้ชาวฮ่องกงไม่สามารถแสดงความคิดเห็นทางการเมือง หรือแสดงความคิดเห็นที่แตกต่างจากนโยบายของพรรคคอมมิวนิสต์จีน และทำให้มีชาวฮ่องกงจำนวนมากเข้าข่าย ‘มีความผิด’ ตามข้อกฎหมายดังกล่าว
แกนนำการประท้วงเมื่อปี 2012 หลายคนถูกจับและถูกจองจำอยู่ในคุก นักการเมืองฝ่ายค้านจำนวนมากที่ตัดสินใจลาออกต้องลี้ภัยออกนอกประเทศ การต่อสู้ที่ขาดช่วงทำให้รัฐบาลฮ่องกงของนางแครี แลม ตัดสินใจออกคำสั่งใหม่ด้านการศึกษา ปรับเปลี่ยนหลักสูตรทั้งเนื้อหาและการเรียนการสอน ทั้งประวัติศาสตร์ สังคม ชีววิทยา ไปจนถึงวิชาดนตรี และเพิ่มคำแนะนำแก่ครูผู้สอนเรื่องระเบียบวินัยของเยาวชน
สำนักงานการศึกษา (EDB) ยื่นหนังสือเวียนแก่โรงเรียนจำนวนมาก ข้อมูลในเอกสารเผยภาพกราฟิกนกฮูก ทหารจีน จิตรกรหญิง วิศวกร และเจ้าหน้าที่ตำรวจท้องถิ่นช่วยให้คำแนะนำแก่เด็กๆ เพื่อให้เยาวชนฮ่องกงทำความเข้าใจต่อหน้าที่พลเมืองของตัวเอง ภายใต้บ้านเมืองที่ยังบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงฉบับใหม่ พร้อมให้เหตุผลถึงการปรับหลักสูตรใหม่ว่า ‘เพราะความมั่นคงของชาติไม่ใช่เรื่องที่สามารถถกเถียงหรือประนีประนอมได้’
โรงเรียนอนุบาลทั้งรัฐและเอกชนจะต้องปลูกฝังความรู้เกี่ยวกับประเทศจีนให้มากขึ้น เพิ่มเนื้อหาวิชาประวัติศาสตร์จีน วัฒนธรรมจีน และการศึกษาด้านศีลธรรม เพื่อสร้างอัตลักษณ์ของเด็กๆ ในฐานะชาวจีน เด็กชาวฮ่องกงที่มีอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป จะได้รับเนื้อหาทางวิชาการฉบับปรับปรุงใหม่ เพื่อให้เด็กๆ เข้าใจพัฒนาการของประเทศ ความสำคัญของความมั่นคงในชาติ เรียนรู้เรื่องธงชาติ เพลงชาติ และสัญลักษณ์ประจำชาติ
เยาวชนฮ่องกงในระดับประถมศึกษา จะได้ทราบถึงความสำคัญของสถาบันต่างๆ ที่มีส่วนขับเคลื่อนประเทศจีน เช่น กองทัพและพรรคคอมมิวนิสต์จีน ท่ามกลางข่าวลือหนาหูว่ารัฐบาลฮ่องกงยังไม่สามารถบังคับให้โรงเรียนนานาชาติ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมของ EDB ใช้หลักสูตรการเรียนการสอนใหม่เหมือนกับโรงเรียนรัฐและเอกชนทั่วเขตบริหารพิเศษฮ่องกงได้
รัฐบาลมองว่าโรงเรียนคือสถานที่ที่มีบทบาทสำคัญในการรักษาความเป็นหนึ่งเดียว นอกจากหลักสูตรใหม่ยังมีคำสั่งลบหนังสือและเอกสารประกอบการเรียนที่เข้าข่ายขัดต่อความมั่นคงของชาติ และคำเตือน ‘หากพบว่าพนักงานกระทำการใดๆ ที่ถือว่าดูหมิ่นประเทศชาติ ทางโรงเรียนจะต้องตักเตือนหรือให้คำแนะนำที่เหมาะสม’ ส่งผลให้ชาวฮ่องกงเริ่มวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอีกครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียน ผู้ปกครอง และอาจารย์ผู้สอน เมื่อคำว่า ‘ประเทศชาติ’ ในเอกสารหมายถึงประเทศจีนไม่ใช่ฮ่องกง เนื่องจากไม่ว่าเวลาจะผ่านมากี่สิบปี รัฐบาลปักกิ่งไม่เคยยอมรับว่าฮ่องกงเป็นประเทศสักครั้ง
หนึ่งในที่ปรึกษาคนสนิทของ แครี แลม กล่าวถึงการปรับเปลี่ยนโครงสร้างครั้งใหญ่ว่า “ปัญหาที่พบในเวลานี้คือคนหนุ่มสาวทั้งรุ่นต่อต้านจีน แล้วแบบนี้หนึ่งประเทศสองระบบจะเดินหน้าต่อได้อย่างไร หากคนรุ่นใหม่ในยุคสมัยหนึ่งเกลียดตัวตนของตัวเอง” ส่วน แครี แลม เคยแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการศึกษาฮ่องกงว่า เธอทนไม่ได้ที่เห็นกลุ่มการเมืองพยายามแทรกแซงไปตามโรงเรียน ชักจูงเยาวชนฮ่องกงเพื่อสร้างความปั่นป่วนทางการเมือง รัฐบาลจะต้องหาแนวทางปฏิบัติที่จะปกป้องนักเรียนของเรา
การปฏิรูปการศึกษาอาจเป็น ‘ฟางเส้นสุดท้าย’ ของผู้ไม่ประสงค์ย้ายถิ่นฐาน
แม้นักวิชาการหลายคนจะมองว่าการเปลี่ยนระบบการศึกษาครั้งใหม่ของรัฐบาลฮ่องกง อาจไม่สามารถปลุกให้มวลชนลุกขึ้นมาต่อต้านได้อย่างปี 2012 เนื่องจากแกนนำและนักการเมืองหลายคนถูกรัฐควบคุมตัวไว้แล้ว ทว่าเรื่องของการย้ายถิ่นฐานที่ชาวฮ่องกงจำนวนมากยังคงยึดมั่นที่จะปักหลักสู้ต่อเพื่อให้ได้มาซึ่งประชาธิปไตย หลักสูตรการศึกษาจากรัฐก็มีส่วนทำให้คนที่ยอมอยู่ต่อ เปลี่ยนใจย้ายถิ่นฐานตามคำเชิญของสหราชอาณาจักรมากขึ้น
รัฐบาลอังกฤษเตรียมออกวีซ่าแบบใหม่ให้แก่ชาวฮ่องกงกว่า 5.4 ล้านคน คิดเป็น 70% ของจำนวนประชากร ได้มีสิทธิเข้ามาอาศัยอยู่ในอังกฤษพร้อมกับโอกาสที่ทำให้พวกเขาสามารถรับสถานะเป็นพลเมืองอังกฤษภายหลัง (ประมาณ 6 ปี) โดยวีซ่าดังกล่าวมีชื่อว่า Hong Kong British National (Overseas) ซึ่งข้อเสนอดังกล่าวยังครอบคลุมถึงผู้ถือหนังสือเดินทางสัญชาติบริติชโพ้นทะเล British National (Overseas) หรือ BNO ตั้งแต่ก่อนที่อังกฤษจะคืนฮ่องกงให้กับจีนเมื่อปี 1997 อีก 2.9 ล้านคน ที่ผู้ถือหนังสือเดินทางดังกล่าวไม่สามารถใช้ BNO ยื่นขอเข้าประเทศจีนได้อีกแล้วจากการประกาศของรัฐบาลปักกิ่งเมื่อวันที่ 31 มกราคม 2021
เดิมทีอังกฤษคาดการณ์ว่าจะมีชาวฮ่องกงประมาณ 3 แสนคน ให้ความสนใจเตรียมอพยพเข้ามาในประเทศ เนื่องจากชาวฮ่องกงอีกมากยังติดขัดหลายเรื่องทั้ง ภาษา การปรับตัวทางวัฒนธรรม การเงิน และการมีแรงใจต่อสู้กับรัฐบาลฮ่องกงและรัฐบาลปักกิ่ง แต่การเปลี่ยนแปลงด้านการศึกษาอย่างฉับพลัน อาจทำให้ชาวฮ่องกงที่มีลูกหลาน รวมถึงคนในระบบการศึกษา เริ่มเปลี่ยนใจเดินทางออกนอกเขตบริหารพิเศษมากขึ้น
ในปี 2019 ช่วงปลายของรัฐบาล เหลียง ชุนอิง เกิดการประท้วงใหญ่ทั่วฮ่องกง เขาเปิดตัวแคมเปญที่ถูกวิจารณ์มากที่สุดครั้งหนึ่ง ด้วยการให้เจ้าหน้าที่รัฐหรือผู้ที่เห็นด้วยกับรัฐบาลถ่ายภาพครูอาจารย์ที่เข้าร่วมชุมนุมแล้วโพสต์ลงเฟซบุ๊ก หรือหาเฟซบุ๊กของบุคลากรการศึกษาคนนั้นให้เจอ แล้วโพสต์ภาพที่ถ่ายได้ เพื่อให้สถานศึกษาตามตัวเจอและไล่ออก การปรับระบบการเรียนการสอนอีกครั้งในยุคของ แครี แลม อาจสร้างความกังวลต่อบุคคลกรการศึกษาไม่น้อย เนื่องจากกลัวการล่าแม่มดเหมือนอย่างปี 2019
เลสเตอร์ ชุม (Lester Shum) อดีตนักการเมืองฝ่ายค้านที่ปัจจุบันกลายเป็นผู้ลี้ภัย กล่าวถึงแรงกระเพื่อมบางอย่างในสังคมฮ่องกงว่า “การอพยพกำลังจะเกิดขึ้นแล้ว โดยเฉพาะครอบครัวที่มีลูกเล็ก ไม่ใช่เรื่องแปลกที่ผู้ปกครองจะกังวลต่ออนาคตของลูกหลาน เมื่อสถานศึกษาจะมีส่วนทำให้เด็กรุ่นถัดไปไม่ได้พบกับอนาคตที่สดใสในฮ่องกง และเพื่อป้องกันไม่ให้สิ่งนั้นเกิดขึ้น พวกเขาก็ต้องไปจากที่นี่”
อ้างอิง
https://edition.cnn.com/2021/02/05/asia/hong-kong-national-security-education-intl-hnk/index.html
https://themomentum.co/joshua-wong-hong-kong/
https://www.nytimes.com/2021/02/05/world/asia/hong-kong-national-security-children.html
Tags: Politics, The Momentum, Global Affairs, โจชัว หว่อง, ฮ่องกง, จีน, ชาตินิยม, Hong Kong, ปฏิรูปการศึกษา, การเมือง, China