สำหรับกลุ่มคน Gen Z ที่เกิดในช่วงปลายยุค 90s  เป็นต้นมา อักษรย่อที่หมายถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ เข้ามามีตัวตนอยู่ในการรับรู้ผ่านอักษร 4 ตัวคือ

‘LGBT’ – เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กชวล ทรานส์เจนเดอร์

ยิ่งอายุมากขึ้น เราก็เริ่มเห็นตัวอักษรใหม่ๆ เป็นส่วนหนึ่งของอักษรย่อชุดนี้ทีละตัวๆ ไม่ว่าจะเป็น ‘Q’ ที่อาจหมายถึงชาวเควียร์ (Queer) หรือผู้ที่ยังอยู่ระหว่างการทำความเข้าใจเพศสภาพของตนเอง (Questioning) ‘I’ ที่หมายถึงผู้มีลักษณะทางกายภาพทางเพศไม่ชัดเจน (Intersex) ‘A’ ผู้ไม่ฝักใฝ่ในเซ็กส์ (Asexual) และ ‘+’ ที่ใช้แทนผู้มีความหลากหลายทางเพศ ที่ตัวอักษรที่ปรากฏในปัจจุบันยังไม่สามารถครอบคลุมถึง

(สำหรับผู้ที่ต้องการศึกษาประวัติศาสตร์และคำนิยามของอักษรแต่ละตัวอย่างละเอียด สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ในบทความ The ABCs of LGBTQIA+ ค้นหาความหมายภายใต้ ‘ความหลากหลาย’ ทางเพศ)

สิ่งที่คนรุ่นใหม่หลายคนอาจไม่เคยรู้มาก่อน คือลำดับตัวอักษรแรกเริ่มนั้นไม่ใช่ ‘LGBT’ แต่เป็น ‘GLBT’ จนกระทั่งช่วงทศวรรษ 1980s ที่เชื้อไวรัส HIV/AIDS เริ่มระบาดในสหรัฐอเมริกา

เมื่อสังคมเหมารวมว่าเกย์เป็น ‘ต้นตอ’ ของโรคเอดส์

ผู้ป่วยเอดส์กลุ่มแรกๆ ถูกค้นพบในทวีปแอฟริกา และในเวลาไม่นาน เชื้อไวรัสซึ่งเป็นที่มาของอาการป่วยก็เริ่มแพร่กระจายสู่ประเทศอื่นๆ ในขณะนั้น ไวรัสเอชไอวี (HIV) เป็นเชื้อโรคใหม่ที่ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดเคยพบมาก่อน และนั่นสร้างความตื่นกลัวเกี่ยวกับการระบาดของโรคนี้แก่สาธารณชนอย่างมาก

โชคไม่ดีที่เหยื่อของความวิตกกังวลนั้นคือชุมชนชาวเกย์ทั่วโลก เนื่องจากผู้ป่วยคนแรกที่ตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี ในสหรัฐฯ เป็นชายรักร่วมเพศชาวซานฟรานซิสโกนามว่า เคน ฮอร์น (Ken Horne) โดยก่อนหน้าที่จะตรวจพบโรค เขามีเพศสัมพันธ์กับโสเภณีชายที่อาบอบนวดแห่งหนึ่งในนิวยอร์ก

แรกเริ่ม แพทย์วินิจฉัยว่าเขาเป็นมะเร็ง แต่ในอีก 6 เดือนต่อมา กลับมีกลุ่มชายรักชายที่ป่วยด้วยอาการแบบเดียวกันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทำให้โรคนี้ถูกเรียกว่า GRID ซึ่งย่อมาจาก Gay-Related Immune Deficiency แปลเป็นภาษาไทยได้ว่า ‘โรคภูมิคุ้มกันบกพร่องที่เกิดขึ้นกับเกย์’ หรือแม้แต่ ‘มะเร็งเกย์’ (Gay Cancer) โดยเชื่อกันว่าพฤติกรรมสำส่อนทางเพศของชุมชนเกย์ คือสาเหตุของโรคร้ายที่ระบาดในสหรัฐฯ หรือแม้กระทั่งว่า พระเจ้ากำลังลงโทษเหล่าคนผิดเพศด้วยวิธีของพระองค์

แม้ภายหลังข้อสันนิษฐานที่เต็มไปด้วยอคตินี้จะโดนตีตกไป ด้วยข้อมูลทางวิทยาศาสตร์จากการศึกษาวิจัยเพิ่มเติม แต่ความเกลียดชังที่เกิดขึ้นจากการบิดเบือนข้อมูลและให้ร้ายไม่ถูกล้มล้างให้หายไปด้วย ผู้คนยังคงละเลยและหันหลังให้กับชุมชนผู้ป่วยเกย์ ทำให้พวกเขาจำต้องดูแลและระวังหลังให้กันและกันเอง

ทว่าหนึ่งในกลุ่มคนจำนวนน้อยนิดที่ยังคงยืนหยัดจะอยู่เคียงข้างผู้ป่วยเอดส์ชายรักชายที่ถูกสังคมรังเกียจในยุค 1980s-1990s ก็หนีไม่พ้นชุมชนหญิงรักหญิงที่รู้ซึ้งถึงรสชาติความเจ็บปวดของการลบเลือนและกีดกัน โดยมีพื้นฐานร่วมคือความเกลียดชังทางเพศ

บทบาทของเลสเบี้ยนที่ยืนหยัดเพื่อเพื่อนเกย์

แม้ LGBTQ+ จะเป็นสัญลักษณ์ของการโอบรับความหลากหลายทุกรูปแบบ แต่อย่างที่รู้กันดีว่า ความเกลียดชังผู้หญิงนั้นดำรงอยู่แม้แต่ภายในชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศด้วยกันเอง

เมื่อเทียบกับพื้นที่ที่มีไว้สำหรับเกย์โดยเฉพาะแล้ว เลสเบี้ยนที่มีชีวิตอยู่ในช่วงก่อนปี 2000 นั้นแทบไม่มีพื้นที่ปลอดภัย ที่จะเข้าสังคม สังสรรค์ และสร้างเครือข่ายชาวหญิงรักหญิงด้วยกันเองได้อย่างเปิดเผยเลย ในช่วงครึ่งหลังของศตวรรษที่ 20 มีบาร์เกย์และพื้นที่ส่วนรวมสำหรับเกย์ผุดขึ้นและซุกซ่อนอยู่ในแทบทุกเมือง แต่แน่นอนว่าพื้นที่เหล่านี้ไม่ได้เปิดรับผู้หญิงให้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่ง

วิกฤตเอดส์ระบาดในสหรัฐฯ คือจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้เกย์และเลสเบี้ยนอเมริกันเริ่มหันมาต่อสู้เป็นน้ำหนึ่งเดียวกันมากขึ้น จากที่แทบไม่มีใครมองเห็นตัวตน ชาวหญิงรักหญิงก็เริ่มถูกโอบรับโดยกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ

ในขณะที่ประชากรเกย์เริ่มล้มป่วยและเสียชีวิตไปทีละน้อย เลสเบี้ยนซึ่งเป็นประชากรกลุ่มที่ไม่ได้รับผลกระทบจากโรคเอดส์ที่กำลังระบาดเท่าไรนัก จึงก้าวเข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการสนับสนุนผู้ป่วยโรคเอดส์

ส่วนหนึ่งจัดตั้งกลุ่มพยาบาลอาสาสมัครสำหรับดูแลผู้ป่วยเอดส์โดยเฉพาะ เนื่องจากมีสถานประกอบการและบุคลากรทางการแพทย์จำนวนมากที่ไม่เต็มใจต้อนรับผู้ป่วยเอดส์ในชุมชนเกย์

“ผมจำพวกเธอได้ อยู่ๆ โรงพยาบาลก็เต็มไปด้วยอาสาสมัครเลสเบี้ยน พวกเธอเดินเข้าออกห้องนั้นห้องนี้เพื่อช่วยเหลือเพื่อนของผมที่กำลังป่วยใกล้ตาย

“ผมไม่เคยลืมความรู้สึกซาบซึ้งที่เกิดขึ้นในใจ เพราะที่ผ่านมา เราชาวเกย์ก็ไม่ได้ใจดีกับเลสเบี้ยนสักเท่าไรนัก เรามักจะล้อเลียนว่าพวกเธอ ‘ตีฉิ่ง’ หรือไม่ก็ล้อพวกทอมหัวไก่ที่เราเจอในบาร์ แต่แล้วพวกเธอกลับอยู่ตรงนั้นกับเราไม่ไปไหน”

จอน (นามสมมติ) เกย์ชาวซานฟรานซิสโกกล่าวถึงเหตุการณ์เอชไอวีระบาด ซึ่งเกิดขึ้นหลังจากเขาออกมายอมรับว่าเป็นเกย์ได้ไม่นากนัก

ภาพ: iNews

นอกจากนี้ ในช่วงที่ธนาคารเลือดหลายแห่งต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนเลือด หลังจากแบนกลุ่มชายรักชายไม่ให้บริจาคเลือด กลุ่มคนที่รวมกลุ่มกันเข้ามาช่วยบริจาคและรณรงค์ให้ผู้คนตระหนักถึงความสำคัญของการบริจาคเลือด ก็ยังเป็นคนกลุ่มเดิม คือชุมชนเลสเบี้ยนและกลุ่มหญิงรักหญิงที่ยังคงเต็มใจที่จะให้และช่วยเหลือเพื่อนเกย์ต่อไป

หนึ่งในนั้นคือ กลุ่มบลัดซิสเตอร์ส (Blood Sisters) ที่ก่อตั้งขึ้นในซานดิเอโก งานหลักของพวกเธอคือการจัดการข้อมูลและทำบัญชี เพื่อให้มั่นใจว่ามีการบริจาคเลือดเพียงพอกับความต้องการของผู้ป่วยเอดส์และผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผ่านทางธนาคารเลือดซานดิเอโก หนึ่งในไม่กี่คลังเลือดที่เปิดโอกาสให้ผู้บริจาคแจ้งเจตจำนงได้ ว่าต้องการให้เลือดของตนถูกส่งไปช่วยเหลือผู้ป่วยกลุ่มใด

ภาพ: Gay Community News (GCN)

ด้วยเหตุนี้ ผู้คนจึงยึดวิธีการเรียงตัวอักษรย่อที่หมายถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ โดยเริ่มต้นจาก L ก่อน เพื่อเป็นการให้เกียรติและแสดงความขอบคุณต่อการสนับสนุนครั้งสำคัญที่เคยเกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ LGBTQ+

 

อ้างอิง

Garg, T. (2021). “The Real Reason Why L in LGBTQ+ Comes First” ED Times. https://edtimes.in/the-real-reason-why-l-in-lgbtq-comes-first/

Lister, K. “The lesbian ‘blood sisters’ who cared for gay men when doctors were too scared to” iNews. https://inews.co.uk/opinion/comment/the-lesbian-blood-sisters-who-helped-save-gay-mens-lives-235100 

The Foreword. “The ‘L’ In LGBT, And Why Order Matters”. https://theforeword.org/832/editorials/the-l-in-lgbt-and-why-order-matters/

Andriote, J.-M. (1999). Victory Deferred: How AIDS Changed Gay Life in America. Chicago, Ilinois: University of Chicago Press.

ภาวิน มาลัยวงศ์. (2021). “กาลครั้งหนึ่ง เมื่อคนเข้าใจผิดคิดว่า HIV หรือ AIDS เป็นมะเร็งเกย์” a day. https://adaymagazine.com/gay-related-immune-deficiency/

 

Tags: , , , , ,