เราต่างคุ้นเคยกับประโยค ‘บ้านคือวิมานของเรา’ ที่เปรียบที่อยู่อาศัยของมนุษย์เข้ากับที่อยู่ของทวยเทพ ว่าสะท้อนภาพครอบครัวในอุดมคติอันแสนอบอุ่นสุขสันต์ แต่ภาพดังกล่าวนั้นแสนห่างไกลจากครอบครัวในหนังสยองขวัญแห่งปีอย่าง Hereditary เสียเหลือเกิน

หนังพาคนดูไปติดตามชะตากรรมของครอบครัวของแอนนี่ (โทนี คอลเล็ตต์) หลังแม่วัยชรานิสัยพิลึกของเธอที่มีความสัมพันธ์บาดหมางกันมาตลอดได้เสียชีวิตลง ไม่นานนัก เหตุการณ์ประหลาดชวนหลอนก็บังเกิดขึ้นกับครอบครัวของเธอ และค่อยๆ ทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น แอนนี่ต้องประคับประคองจิตใจของตัวเองกับครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นสตีฟ ผู้เป็นสามี (แกเบรียล เบิร์น) ปีเตอร์ ลูกชายคนโต (อเล็กซ์ วูล์ฟฟ์) และชาร์ลี (มิลลี แชปิโร) ลูกสาวผู้แปลกแยกที่ติดยายมากกว่าคนอื่น ในขณะที่ความลับดำมืดของครอบครัวเริ่มผุดพรายขึ้นมาคุกคาม

ผลงานหนังยาวเรื่องแรกของ แอรี แอสเตอร์ (Ari Aster) เรื่องนี้ชวนให้นึกถึงหนังสยองขวัญยุคหลังๆ อย่าง The Witch (2015), It Comes At Night (2017) หรือ Get Out (2017) ที่ต่างประสบความสำเร็จในการสร้างความสะพรึงได้อย่างชาญฉลาดและไม่พึ่งพาอยู่แต่กับจังหวะตุ้งแช่แบบที่หนังสยองขวัญกระแสหลักชอบทำ เช่นนี้ความสยองของหนังจึงขยับขยายจากเรื่องของผีหรือพลังเหนือธรรมชาติ ไปสู่ปริมณฑลอื่นๆ ได้อย่างแนบเนียน แม้ในหนังจะมีผีหรือไม่มีก็ตาม

ความน่ากลัวของ Hereditary จึงไปอยู่กับสถานการณ์กดดันที่คาดเดาไม่ได้มากกว่าจะเป็นเรื่องลี้ลับ รวมไปถึงความสยองขวัญที่เกิดขึ้นกับร่างกายอย่างภาพนกหัวขาด มดขึ้นศพ หรือการทุ่มหน้ากระแทกโต๊ะจนเลือดโชก แอสเตอร์ทำให้แทบทุกฉากของหนังคลุ้งเคล้าไปด้วยมวลสารของความชั่วร้าย ผ่านการคุมจังหวะการเล่าเรื่องที่แม่นยำ การจัดองค์ประกอบภาพที่เล่นกับการย่อ-ขยายส่วน ภาพตื้น-ลึก และการเล่นกับแสง-เงาได้อย่างน่าพรั่นพรึง เหนือสิ่งอื่นใด หนังเผยให้เห็นความสยดสยองของสิ่งที่เราคุ้นเคยดีที่เรียกว่า ‘ครอบครัว’ จนอาจเหมาะสมกว่าหากเปรียบครอบครัวในหนังเรื่องนี้เสียใหม่ว่า ‘บ้านคือนรกของเรา’

(ต่อจากนี้มีเปิดเผยเนื้อหาภาพยนตร์)

ขณะที่หนังเรื่อง The Witch เล่าถึงครอบครัวที่ผลักให้คนกลายเป็นปีศาจ Hereditary นั้นว่าด้วยปีศาจที่สิงสู่อยู่ในสถาบันครอบครัวอยู่แล้ว และถูกส่งต่อไปเรื่อยๆ ไม่ต่างจากที่ชื่อหนังบอก

แรกเริ่มหนังทำให้เราเชื่อไปว่าปีศาจที่ว่าคือความไม่สมประกอบบางอย่าง ดังที่แอนนี่เล่าในฉากหนึ่งว่าแม่เธอป่วยเป็นโรคบุคลิกแตกแยก (DID – Dissociative Identity Disorder) พ่อเป็นโรคซึมเศร้า พี่ชายเป็นโรคจิตเภทที่แขวนคอตายไปนานแล้ว ส่วนตัวเธอเองก็ง่อนแง่นอยู่บนเส้นแบ่งความบ้า-ไม่บ้ามาตลอดชีวิต

หากลองถอดองค์ประกอบสยองขวัญต่างๆ ทิ้งไป เราอาจได้หนังดราม่าที่ว่าด้วยครอบครัวหนึ่งที่พังยับเยินไม่มีชิ้นดี ถูกโศกนาฏกรรมประดังประเดเข้าใส่จนสุดท้ายตายกัน(เกือบ)ยกบ้าน สิ่งที่แอนนี่พอจะทำได้เพื่อไม่ให้สติแตกระหว่างนั้นคือการมุ่งมั่นอยู่กับงานสร้างแบบจำลอง ที่ส่วนใหญ่ล้วนเป็นการจำลองฉากจากชีวิตของเธอทั้งสิ้น ความโยงใยของการส่งต่อหรือการผลิตซ้ำจึงมีทั้งการผลิตซ้ำพ่อแม่ออกมาใหม่เป็นลูก และการผลิตซ้ำภาพสถานการณ์ที่บ้านให้กลายเป็นฉากในบ้านจำลองที่ดูสมบูรณ์พร้อม บ้านจำลองของแอนนี่จึงจุนเจือภาพครอบครัวในอุดมคติที่เธอหวังว่าจะมี

จนเมื่อชีวิตจริงเริ่มไหลลงเหวจากการจากไปของแม่จนมาถึงการตายอันแสนโหดร้ายของชาร์ลีนี่เอง ที่การสร้างบ้านจำลองไม่อาจสร้างภาพครอบครัวสมบูรณ์แบบให้เธอได้อีกต่อไป และจำต้องถูกพังทิ้งไม่ต่างจากครอบครัวพังๆ ของเธอ

ในแง่นี้ การเล่นกับระดับของบ้านจริง-บ้านจำลองจึงสร้างความน่ากลัวอีกขั้นให้กับหนัง ตั้งแต่ในฉากแรกที่กล้องซูมเข้าหาบ้านจำลอง (ที่ตั้งอยู่ในบ้านจริง) ก่อนที่มันจะค่อยๆ กลายมาเป็นฉากของบ้านจริง หรือการเล่นกับไฟเปิด-ปิดที่สลับฉากกลางวันไปสู่กลางคืนอย่างรวดเร็ว

แน่นอนหนังไม่ได้บอกอย่างตรงไปตรงมาว่าเรื่องทั้งหมดเกิดในบ้านจำลอง แต่ตั้งคำถามว่าสิ่งเกิดขึ้นในหนังเป็นผลจากการชักใยของนักสร้างแบบจำลองบางคน หรือถูกกำกับควบคุมด้วยโครงสร้างใดหรือไม่ ซึ่งหนังก็ค่อยๆ เปิดเผยว่าคนที่ชักใยความฉิบหายในชีวิตครอบครัวนี้ไม่ใช่ใครอื่น นอกจากตัวยาย หรือแม่ของแอนนี่นั่นเอง

หนังเฉลยอย่างน่าตื่นตะลึงในตอนท้ายว่าโศกนาฏกรรมทั้งปวงในหนังนั้นเกิดขึ้นอย่างเหมาะเจาะตามแผนการของยายผู้นับถือลัทธิประหลาด ที่จะให้ราชาแห่งนรกเพม่อนมาจุติสิงสู่อยู่ในกายหยาบของหลานชาย ความลับของยายจึงกลายมาเป็นพลังดำมืดที่ครอบทับชีวิตคนในครอบครัวได้อย่างน่าสยดสยอง ในแง่นี้ความลับของคนในครอบครัวจึงเป็น ‘ตัวร้าย’ ที่น่ากลัวที่สุดของเรื่อง

หากค่านิยมของครอบครัวในอุดมคติคือการอยู่ร่วมกันอย่างกลมเกลียวไร้ความลับ ความลับใดที่สมาชิกมีในชีวิตจริงสามารถเข้ามาสั่นคลอนสถาบันครอบครัวได้เสมอ เพราะการอยู่กันเป็นหน่วยครอบครัวนั้นหมายถึงทางเลือกใดก็ตามที่ปัจเจกบุคคลเลือกย่อมส่งผลถึงสมาชิกคนอื่นในครอบครัวอย่างไม่อาจเลี่ยง

ในกรณีของ Hereditary ราคาค่างวดของความลับไปไกลกว่าการทำให้ช็อกหรือเสียใจ แต่มันคือการบูชายัญชีวิตคนในครอบครัวเพื่อสนองตอบต่อทางเลือกเผด็จการของยาย ที่ไม่ใช่แค่เลือกให้กับตัวเธอคนเดียว แต่เลือกให้กับคนทั้งครอบครัว

ความลับของยายจึงเป็นคำสาปที่ถูกส่งต่อมาถึงสมาชิกคนอื่นโดยไม่อาจปฏิเสธหรือต่อรองได้ ไม่ต่างจากสารพันธุกรรม หรือความผิดปกติทางจิตใจ กล่าวให้สุดทาง การเกิดขึ้นมาบนโลกก็ดูเหมือนจะไม่ใช่อะไรเลยนอกไปจากการน้อมรับทั้งสารพันธุกรรม ความผิดปกติ และคำสาปที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่ส่งมาให้ ชีวิตของแอนนี่จึงเป็นเพียงเพื่อการได้มีลูกชายให้เพม่อนได้สิง ชีวิตแสนสั้นของชาร์ลีก็เพื่อเป็นร่างชั่วคราวของเพม่อน ส่วนชีวิตของปีเตอร์นั้นแม้จะเกิดมาโดยแม่ไม่ต้องการแต่ก็มีจุดประสงค์เพื่อเป็นร่างสมบูรณ์ให้เพม่อนนั่นเอง

ชีวิตที่พวกเขามีจึงเป็นชีวิตที่ช้ำชอกจากการมีชีวิตอยู่ เนื่องจากการดำเนินของชีวิตเป็นไปเพื่อตอบสนองเป้าประสงค์ของยายเท่านั้น เมื่อหนังเดินเรื่องมาถึงจุดที่ชาร์ลีตาย ตัวละครในครอบครัวนี้ต่างก็ร่วงดิ่งลงสู่ความสิ้นหวัง ในขณะที่แอนนี่ใกล้จะสติแตกอยู่รอมร่อ ปีเตอร์รู้สึกผิดบาปกับการทำให้น้องตายและเจ็บปวดที่แม่ไม่ต้องการ ส่วนสตีฟที่ดูเหมือนจะคุมสติได้ดีที่สุดก็ล้มเหลวในฐานะพ่อและผัว

การมีชีวิตอยู่สำหรับพวกเขาคือความเจ็บปวดที่ต้องคอยแบกชีวิตพังๆ เดินหน้าเป็นหน่วยครอบครัวต่อไป เพราะถูกค้ำคอด้วยศีลธรรมและค่านิยมของการมีครอบครัวที่ดี ทั้งๆ ที่ความเป็นครอบครัวของพวกเขานั้นได้แหลกสลายลงไปแล้ว

หลังจากที่หนังทยอยฆ่าตัวละครผู้เป็นสมาชิกของครอบครัวไปจนถึงตอนจบ แผนการของยายบรรลุผล และชาร์ลี/เพม่อนในร่างปีเตอร์ได้รับราชาภิเษก บรรยากาศกดดันและเฮี้ยนคลั่งที่หนังดำเนินมาตลอดทั้งเรื่องก็เปลี่ยนไปเป็นบรรยากาศของการเฉลิมฉลองแทน จนจะบอกว่ามันเป็นตอนจบที่มีความสุข (happy ending) ก็ไม่ผิดนัก เพราะหนังมอบการปลดปล่อยทางอารมณ์ให้กับคนดูในที่สุด หลังผ่านความสยองมาตลอดทั้งเรื่อง ตัวละครที่ทนทุกข์ทรมานต่างได้รับการปลดปล่อยไปสู่ความตาย ในขณะที่อีกคนได้รับการยกย่องเยี่ยงราชา

ในแง่นี้ Hereditary จึงเป็นหนังสยองขวัญที่มองความตายได้น่าสนใจเหลือเกิน ด้วยเพราะความตายไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแบบที่หนังสยองขวัญเรื่องอื่นนำเสนอ หากเป็นเสมือนทางรอดหรือทางออกจากความทรมานเสียมากกว่า ในขณะที่การมีชีวิตอยู่หรือการพยายามอยู่รอดให้ได้ในโลกจำลองที่เราถูกชักใยต่างหากที่น่าหวาดผวา ด้วยเหตุนี้เราจึงเชียร์ให้ตัวละครตายๆ ไปเสียมากกว่าเชียร์ให้สู้กับภูติผีได้สำเร็จ

เพราะจุดจบที่เรียกว่าความตาย อาจไม่ได้น่าสะพรึงเท่ากับชีวิตที่ทำการส่งต่อไปไม่ยอมจบ

Tags: , , ,