“พ่อของลูก อาจอยู่ในรถไฟขบวนนั้น”
1
เสียงโทรศัพท์ดังตอน 9 โมงเช้า ของวันศุกร์ที่ 28 กุมภาพันธ์ 1975 ลอเรนซ์ มาร์กส์ (Laurence Marks) รับสายแจ้งเหตุการณ์ใหญ่ ซึ่งจะเปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล
ขณะนั้นเขากำลังนอนอยู่ที่แฟลตเล็กๆ ทางตอนเหนือของลอนดอน ประเทศอังกฤษ ในยุคที่โทรศัพท์มือถือยังไม่ถือกำเนิด เขายกหูโทรศัพท์บ้าน ก่อนจะพบว่าปลายสายคือหัวหน้า
“เกิดเหตุร้ายแรงที่สถานีรถไฟใต้ดินมัวร์เกต เอ็งรีบไปที่นั่น แล้วหาว่ามันเกิดอะไรขึ้น”
มาร์กส์ วัย 25 ปี เป็นนักข่าวใหม่ถอดด้าม รีบเดินทางไปจุดเกิดเหตุทันที ที่นั่นกองทัพนักข่าวนับร้อยชีวิต ออกันเต็มปากทางลงสถานีรถไฟใต้ดินมัวร์เกต ท่ามกลางเจ้าหน้าที่ซึ่งระดมกำลังเข้าไปข้างใน ทางสื่อถูกกันให้อยู่ข้างนอก โดยมีตำรวจแถลงข่าวชี้แจง
“ช่วงเวลา 08.46 น. วันนี้เกิดเหตุใหญ่ เมื่อรถไฟใต้ดินพุ่งชนกำแพงอุโมงค์จนตกราง โดยตู้ 3 ขบวนแรกซัดเข้ากับกำแพงอย่างจัง ห้องคนขับโดนอัดแหลกเสยชนกับหลังคาอุโมงค์ เราเชื่อว่าน่าจะมีประชาชนราว 40 คนติดอยู่ในนั้น”
มันกลายเป็นข่าวใหญ่ที่สร้างความตกตะลึงให้กับสังคมอังกฤษ รถไฟใต้ดิน การเดินทางระบบขนส่งสาธารณะที่ร้อยโยงคนทั่วลอนดอน บัดนี้กลับประสบอุบัติเหตุ และมีประชาชนติดค้างอยู่ในนั้น เป็นจำนวนมาก
มาร์กส์วิ่งวุ่นระหว่างสถานีรถไฟกับโรงพยาบาลใกล้เคียง เพื่อสัมภาษณ์คนเจ็บ หลังเที่ยง เขาเริ่มโทรศัพท์ส่งข่าว
เบื้องล่างลึกลงไปกว่า 18 เมตร ที่อุโมงค์สถานีรถไฟมัวร์เกต ร่างมนุษย์กว่า 42 ชีวิตถูกพรากไป เจ้าหน้าที่กำลังลำเลียงศพและค้นหาคนเจ็บซึ่งพุ่งไปกว่า 74 รายแล้ว
สภาพตู้ขบวนที่ชนกับกำแพงอุโมงค์นั้นน่ากลัวมาก โบกี้แรกมีความยาว 16 เมตร ถูกอัดจนยุ่ยยับ เหลือความยาวของขบวนแค่ 6.1 เมตร ส่วนขบวนที่ 2 ก็อัดกับขบวนแรกจนแหลกไม่เหลือชิ้นดี เศษของซากที่เคยเป็นรถไฟ เละเทะ อย่างน่าสะพรึง
นักข่าวที่ลงไปทำข่าวได้เปิดเผยต่อผู้ชมเมื่อได้เห็นซากรถไฟมรณะนี้ว่า
“มีแต่เศษชิ้นส่วนกระจุยกระจาย และเหล็กก็บิดเบี้ยวอย่างน่าหวาดผวา”
ผู้บาดเจ็บบอกว่า ก่อนเกิดเหตุรถไฟเข้าไปในอุโมงค์ แล้วเสี้ยววินาทีนั้นก็เกิดเสียงดังสนั่นขึ้นมา เสียงเหล็กถูกบดขยี้ กระจกหน้าต่างแตก
“ไม่มีใครกรีดร้อง เพราะมันไวมาก เพียงแค่ชั่วลมหายใจเข้าเท่านั้น ทุกอย่างก็จบลง”
เมื่อถึงช่วงบ่าย มาร์กส์เห็นว่าไม่มีอะไรให้ตามต่อแล้ว ทางการระดมกำลังให้ความช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ตำรวจเคลียร์ทาง รถพยาบาลวิ่งไปทั่ว เขาเห็นว่ามีพี่นักข่าวสานงานต่อ จึงรีบกลับไปส่งข่าวทางโทรศัพท์ แล้วกลับบ้านไปพักสักหน่อย
ขณะกำลังพักเหนื่อยที่ห้อง เสียงโทรศัพท์ก็ดังขึ้น ปลายสายคือแม่เลี้ยง
“พ่อของลูกอาจจะอยู่ในรถไฟขบวนนั้น”
เลือดในกายของมาร์กส์เย็นเฉียบทันที
2
เมื่อวางสาย เขาก็รีบติดต่อกับหน่วยการแพทย์ฉุกเฉิน ถามว่า เบอร์นาร์ด มาร์กส์ (Bernard Marks) ได้เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลจากเหตุรถไฟชนอุโมงค์หรือไม่
เจ้าหน้าที่แจ้งว่า ไม่มีบุคคลชื่อนี้อยู่ในโรงพยาบาลไหนเลย
แม่เลี้ยงให้ข้อมูลมาว่า เช้าวันนั้นเบอร์นาร์ด วัย 68 ปี ไปส่งเธอที่สถานีรถไฟ ก่อนจะขับรถไปจอดที่สถานีรถไฟอีกแห่ง ซึ่งต้องผ่านสถานีมัวร์เกต นั่นมีความเสี่ยงสูงว่าพ่ออาจจะเป็นเหยื่อโศกนาฏกรรมนี้
นักข่าวหนุ่มพยายามค้นหาความจริงในสถานการณ์สุดวุ่นวาย บางทีพ่ออาจไม่ได้อยู่ในรถไฟขบวนนั้น แต่ไม่มีใครติดต่อได้ ไม่รู้ว่าชายชราอยู่ที่ไหน มาร์กส์กลับไปยังจุดเกิดเหตุ เขามุ่งหน้าไปยังที่จอดรถยนต์ใกล้กับสถานีรถไฟ ซึ่งมักจะมีคนนำรถส่วนตัวมาจอดไว้ เพื่อจะโดยสารรถไฟใต้ดิน
หากพ่ออยู่ในขบวนมรณะดังกล่าว พ่อต้องมาจอดรถไว้ที่นี่
มาร์กส์หวังในใจขอให้ไม่พบรถคันนั้น พ่ออาจไปจอดที่อื่นและอาจกำลังทำงานอยู่ พร้อมกับนั่งดูข่าวอยู่ที่ไหนสักที่ด้วยความสลดใจ เหมือนคนอังกฤษทั้งประเทศ
สามทุ่มกว่าคืนนั้น สิ่งที่ชายหนุ่มหวังไม่เป็นความจริง
ณ นาทีดังกล่าวมีรถยนต์สีแดงจอดอยู่เพียงแค่คันเดียว เพียงแค่เห็นมาร์กส์ก็ใจสลาย
นั่นคือ รถของพ่อ
แม้จะยังหวังว่าบิดาสุดที่รักจะรอดชีวิต บางทีพ่ออาจถูกทีมช่วยเหลือนำร่างออกมาจากซากรถไฟ แม้จะบาดเจ็บ แต่ก็ยังหายใจ เขาหวังไว้ขอให้เป็นดังนั้น
มาร์กส์ครุ่นคิด ถึงความเป็นไปได้ จนนอนไม่หลับตลอดทั้งคืน พอถึงตอน 9 โมงเช้า ตำรวจในเครื่องแบบก็มาเคาะประตูห้อง
เมื่อนักข่าวหนุ่มเปิดออกไป
“ผมมีเรื่องจะแจ้งคุณครับ”
เท่านี้เขาก็รู้แล้วว่ามันเกิดอะไรขึ้น ทุกอย่างที่ฝันที่หวังกันมา แหลกสลายยิ่งกว่าซากรถไฟที่ชนเข้ากับอุโมงค์
“ตอนตี 4 ที่ผ่านมา เรานำร่างพ่อคุณออกจากขบวนรถไฟตู้ที่ 2 ได้แล้ว และอยากให้คุณไปที่ห้องเก็บศพของเมืองลอนดอน เพื่อยืนยันตัวตนเขานะครับ”
บัดนี้นักข่าวหนุ่ม เปลี่ยนบทบาทจากสื่อรายงานข่าว กลายเป็นครอบครัวเหยื่อ เป็นผู้สูญเสีย เมื่อไปที่ห้องเก็บศพ มีคนจำนวนมากร้องไห้คร่ำครวญ แพทย์ผ่าศพและเจ้าหน้าที่ปรากฏตัวขึ้น พร้อมบอร์ดรายชื่อ
เมื่อเอ่ยนามเบอร์นาร์ด มาร์กส์ก็เดินเข้าไปในห้อง และพบร่างไร้ลมหายใจของพ่อสุดที่รัก
“แทบไม่มีรอยฟกช้ำอะไรเลย”
จากการชันสูตรของหมอ พบว่าชายชราวัยเฉียด 70 ปี มีรอยฟกช้ำที่สมองบริเวณท้ายทอย เขาถูกเหวี่ยงกระเด็นออกจากขบวน กระแทกหน้าต่าง กองกับพื้น แล้วตายทันที
ชายหนุ่มฝังร่างพ่อ จัดงานศพในครอบครัว แม้จะอยู่ในอาการโศกเศร้า แต่เขาไม่ลืมว่าตัวเองคือนักข่าว หลังจัดแจงทุกอย่างเสร็จสิ้น มาร์กส์ก็ไปสัมภาษณ์เจ้าหน้าที่ ทีมกู้ภัย ครอบครัวคนตาย ผู้รอดชีวิต พยานในเหตุการณ์นี้
ทุกคนที่เขาไปคุย ต่างยินดีจะเปิดปากเล่าเรื่อง เพราะทั้งเห็นใจและเข้าใจในมาร์กส์ เขาคือผู้สูญเสีย และไม่มีอะไรดีกว่าการเล่าเรื่องให้คนหัวอกเดียวกันฟังอย่างหมดเปลือก เช่นเดียวกับเจ้าหน้าที่ซึ่งเลี่ยงจะไม่คุยกับผู้ที่พ่อตายจากเหตุการณ์นี้ได้ยาก
นั่นทำให้ข้อมูลและข่าวของมาร์กส์มีความเข้มข้น ลึกและเข้าถึงใจประชาชนเป็นอย่างยิ่ง
5 วันหลังเกิดเหตุ เลขานุการของบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ The Sunday Times สื่อยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ โทร.หามาร์กส์ “นายอยากให้คุณเป็นหัวหน้าทีมในการขุดคุ้ยสาเหตุของโศกนาฏกรรมนี้”
มาร์กส์รับงาน เขาลงมือสืบค้น เพื่อคำถามเดียวและต้องการคำตอบสั้นๆ ว่า สาเหตุใดที่ทำให้รถไฟชนกับอุโมงค์จนทำให้พ่อของเขาตาย
3
เมื่อลงมือทำข่าวสืบสวนสอบสวน มาร์กส์ก็ค้นพบว่า ที่จริงพ่อของเขาจะต้องเดินทางไปจอดรถที่สถานีรถไฟอีกแห่ง แต่เนื่องจากที่จอดเต็ม ทำให้ต้องไปจอดตรงลานของสถานีรถไฟใต้ดินมัวร์เกตแทน
“หากมีที่จอดรถว่างอีกแค่คันเดียว พ่อก็คงไม่ตาย”
พลันที่นักข่าวหนุ่มลงมือสืบค้น ข้อมูลก็ปรากฏ และมันก็สร้างความตกตะลึงให้กับตัวเขาและสังคมอังกฤษอย่างมาก เพราะโศกนาฏกรรมที่มีคนเสียชีวิต 42 ราย รวมถึงคนขับรถขบวนดังกล่าว ต่างเต็มไปด้วยคำถาม เพราะไม่มีอะไรบกพร่องที่ทำให้เกิดเหตุนี้ขึ้นได้เลย
ยกเว้นเพียงอันเดียว ก็คือคนขับรถไฟขบวนนี้
เพราะเมื่อเจ้าหน้าที่ตรวจสอบเช็กว่า สาเหตุของการชนกับอุโมงค์เป็นเพราะความบกพร่องของเครื่องยนต์หรือระบบเดินทางหรือไม่ ผลที่ได้กลับเจอว่า รถไฟขบวนนี้ปกติทุกอย่าง ระบบการเดินทางของรถไฟใต้ดินตอนเกิดเหตุก็ไม่มีปัญหา ทุกอย่างดำเนินไปได้อย่างราบรื่น
แล้วอะไรที่ทำให้รถหลุดจากรางพุ่งซัดกับกำแพงอุโมงค์ได้
เมื่อทางการดูหลักฐานทุกอย่าง สอบปากคำพยาน มีคนให้การว่า รถไฟแล่นจากสถานีก่อน พุ่งเข้าสถานีมัวร์เกตด้วยความเร็วสูงมาก และจังหวะที่พุ่งชนก็ไม่มีการเบรกแม้แต่น้อย ทั้งที่อุปกรณ์นี้ก็ทำงานปกติ หากเบาคันเร่งและเบรกก็จะหยุดโศกนาฏกรรมนี้ได้
แต่คนขับขบวนนี้กลับไม่ทำ
ไม่ใช่เพราะรถไฟมีปัญหา แต่ผู้ควบคุมรถเพิกเฉยอย่างน่าสงสัย
พยานเล่าว่า เสี้ยววินาทีก่อนจะเกิดเหตุ คนขับรถขบวนนี้กลับนั่งนิ่ง แล้วขับผ่านสถานีไปอย่างน่าประหลาดใจ
มาร์กส์ยกหูโทรศัพท์เพื่อคุยกับภรรยาของโชเฟอร์รถไฟขบวนมรณะนี้ เมื่อเขาได้คุยกับเธอ หญิงสาวก็พูดออกมาว่า “บางทีเขาอาจตั้งใจฆ่าตัวตาย”
และนั่นทำให้เรื่องราวของ เลสลี เนลสัน (Leslie Nelson) วัย 56 ปี คนขับรถไฟขบวนหายนะ ปรากฏขึ้น
4
เช้าวันนั้นเนลสันกำเงินสด 300 ปอนด์ เพื่อเตรียมจะซื้อรถให้กับลูกสาว เขาถึงที่ทำงานตอน 06.10 น. ไม่กินข้าวเช้า อันเป็นปกติที่เจ้าตัวมักดื่มชากับเพื่อนร่วมงานแทน
เมื่อเพื่อนถามว่าอยากได้น้ำตาลสักช้อนไหม โชเฟอร์รถไฟสายมรณะปฏิเสธ ก่อนพูดมาว่า “ผมดื่มง่าย เดี๋ยวเลิกงานก็จะจัดอีกสักถ้วย”
แท้จริงแล้วเนลสันไม่มีเพื่อนสนิทในที่ทำงาน เขาเป็นคนเงียบๆ แต่หัวหน้าและเพื่อนร่วมงานต่างมองว่า ชายคนนี้ปฏิบัติหน้าที่ขับรถไฟด้วยความเข้มแข็งตั้งใจ ไม่มีวี่แววอะไรน่าผิดสังเกตก่อนจะเกิดเรื่อง ทุกคนยืนยันว่าเนลสันรักงานนี้มาก นับตั้งแต่ทำงานเขาขาดงานลาป่วยไปแค่ 2 ครั้งเท่านั้น
แถมก่อนหน้านี้ เจ้าตัวก็ขับรถไฟผ่านสถานีมัวร์เกตมานับร้อยครั้ง ไม่เคยเกิดอุบัติเหตุแม้แต่ครั้งเดียว
ขณะกำลังจะขับรถไฟออกไป เจ้าตัวได้โบกมือทักทายกับเพื่อนร่วมงาน ไม่น่าเชื่อว่ามันจะเป็นช่วงเวลาสุดท้ายก่อนเสียชีวิต
ระหว่างนั้นพนักงานดูแลความปลอดภัยของรถไฟชวนเนลสันคุยว่า เดี๋ยวคืนนี้จะไปตั้งแคมป์หน่อย
“ผมไม่ชอบนอนแคมป์ในอากาศแบบนี้ ถ้าจะไปเที่ยวก็ขอไปนอนโรงแรมดีกว่า”
นี่คือประโยคสุดท้ายที่เขาพูดก่อนตาย
เมื่อรถไฟมุ่งหน้าเข้าสู่สถานีมัวร์เกต พยานเผยว่า พวกเขารู้สึกว่ารถวิ่งเร็วขึ้นมากและไวเกินไป เพียงชั่วขณะวินาทีที่รู้สึกตัว ไม่ทันจะท้วงเถียงอะไร เสียงดังสนั่นก็ตามมา
ประชาชนที่เห็นรถไฟวิ่งด้วยความเร็วสูงก่อนพุ่งชนกำแพง ยืนยันว่า เนลสันนั่งขับรถอย่างปกติ ไม่เคลื่อนไหวอะไรเลย
4 วันหลังเกิดเหตุ เจ้าหน้าที่นำศพเนลสันออกมาได้สำเร็จ ทางการพบกระเป๋าที่ใส่เงินสดซึ่งเตรียมจะซื้อรถให้ลูกสาว และเอกสารที่คนขับรถไฟต้องมีติดตัว
เมื่อชันสูตรศพ เจ้าหน้าที่ก็พบเรื่องสุดช็อก นั่นก็คือเนลสันดื่มเหล้าไปเยอะมาก ขณะขับรถ สร้างความแปลกใจให้กับเพื่อนร่วมงานอย่างมาก
“เราไม่รู้เลยว่า เขาเมา ไม่มีใครได้กลิ่นแอลกอฮอล์จากตัวเขาเลยด้วยซ้ำ”
เมื่อตรวจบริเวณมือและข้อศอกก็ยืนยันในสิ่งที่พยานย้ำว่า “ก่อนที่จะชนกับกำแพง เขาไม่แม้แต่จะยกมือขึ้นบังหน้าตัวเอง ตามสัญชาตญาณเลยด้วยซ้ำ”
การสันนิษฐานในตอนแรกคิดว่า เนลสันอาจกำลังเหม่อ คิดว่าเลิกงานก็จะไปซื้อรถให้ลูกสาว นั่นทำให้เขาไม่ทันได้เบาความเร็ว และเพราะเมาทำให้มีปฏิกิริยาตอบสนองช้ามาก กว่าจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร ชายวัย 56 ปีก็อยู่ในอาการตกตะลึง ช็อกเหมือนเป็นอัมพาต นั่นทำให้เขายกมือมาบังหน้า หรือป้องกันตัวเองไม่ทัน
จนนำไปสู่โศกนาฏกรรมนี้ในที่สุด
อย่างไรก็ดีทฤษฎีนี้ไม่มีหลักฐานยืนยันอย่างแน่ชัด เช่นเดียวกับว่าเขาอาจตั้งใจฆ่าตัวตาย แต่เจ้าตัวกลับไม่ทิ้งจดหมายลาตายไว้เลย แถมก่อนออกบ้าน หรือพฤติกรรมช่วงที่ผ่านมา ก็ไม่ได้เป็นในทางส่อว่าจะก่อเหตุนี้เลย
นั่นทำให้เหตุการณ์นี้ เต็มไปด้วยปริศนา ไม่มีใครรู้ว่า ทำไมเนลสันถึงเร่งความเร็วจนพุ่งชนอุโมงค์
“ตอนเขาขับผ่านสถานีอื่นๆ ก็เบรกหยุดได้ตามปกติ แต่พอถึงมัวร์เกต เขากลับไม่ทำแบบนั้น” ไม่มีใครไขข้อสงสัยนี้ได้จนถึงปัจจุบัน
5
ทุกวันนี้โศกนาฏกรรมดังกล่าวยังคงเป็นปริศนา แม้มาร์กส์จะลงมือทำข่าวชิ้นนี้ เพื่อหาความจริงทุกอย่าง แต่ก็ไม่พบคำตอบที่คลี่คลายได้เลยว่า ทำไมเนลสันถึงต้องกินเหล้าก่อนขับรถไฟในวันนั้น แถมยังเร่งความเร็วและไม่คิดแม้แต่จะเบรกรถไฟ ก่อนชนอุโมงค์
มาร์กส์เพียรหาความจริงมานาน จนวันหนึ่งการแบกรับภาระนี้มาหลายสิบปีก็ส่งผล เขาปวดร้าว และไม่สนุกกับการทำงานเป็นนักข่าวอีกต่อไป ในที่สุดจึงละวางอาชีพสื่อมวลชน แล้วไปทำงานในวงการโทรทัศน์แทน โดยทำรายการตลก เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดตรงนี้ เพียงหวังว่ามันจะช่วยบรรเทาบาดแผลไปได้บ้างก็ยังดี
กระนั้นก็ตาม ทุกปี ทุกการรำลึกถึง มาร์กส์ยังยินดีที่จะถูกเชิญไปออกสื่อ ให้นักข่าวสัมภาษณ์ เขาเล่าทุกอย่าง รวมถึงเรื่องพ่อและเรื่องของเนลสันซ้ำแล้วซ้ำเล่า เพื่อหวังว่าจะมีคนนำเสนอหลักฐานใหม่เพื่อให้เขาได้พบคำตอบที่ต้องการสักที
แต่สุดท้ายไม่มีใครสามารถสรุปได้ว่า อะไรเป็นสาเหตุให้เกิดโศกนาฏกรรมนี้ขึ้น
50 ปีผ่านไป มาร์กส์ยังคงหวังและคิดถึงการทำข่าวนี้ไปชั่วชีวิต มันเป็นทั้งบาดแผลและความทรงจำ งานเขียนของเขาตีแผ่ความจริงหลายเรื่อง เล่ามุมมองของทีมกู้ภัย เจ้าหน้าที่ ผู้รอดตาย ครอบครัวผู้เสียชีวิต และเรื่องราวของเบอร์นาร์ด พ่อของเขา
กระนั้นในเสี้ยวลึกของมาร์กส์ในวัยชรา คนที่เขาสัมภาษณ์ล้วนตายจากไปเกือบหมด อดีตนักข่าวรายนี้ก็ยังแอบคิดและแอบฝัน อยากให้รถไฟขบวนนี้จอดที่มัวร์เกตตามปกติ ประตูเปิดออก พ่อของเขาและคนอื่นๆ ได้ลงจากรถอย่างปกติ เพื่อไปทำงาน ไปใช้ชีวิต และเนลสันได้ไปซื้อรถให้ลูกสาวหลังเลิกงาน
แล้วก็จะไม่มีโทรศัพท์จากหัวหน้าดังขึ้นมา บอกให้เขาไปที่นั่นเพื่อทำข่าว
แต่เรื่องจริงไม่เป็นเช่นนั้น
สุดท้ายนี้มาร์กส์ย้ำว่าปริศนาเรื่องนี้จะยังคงอยู่ และหากอยากได้คำตอบของบทสรุปที่สมบูรณ์ของเรื่องนี้ เราก็คงต้องขุดคุ้ยเจาะลึกตัวตนของเนลสันต่อไป
“เขาคือผู้เดียวที่ตอบคำถามเรื่องนี้ได้ รถไฟไม่มีปัญหา ระบบเบรกทำงานปกติ ผมไม่อาจสรุปอะไรได้ในเหตุการณ์นี้เลย นอกจากชี้ว่าทุกอย่างเกิดขึ้น เพราะชายคนนี้เท่านั้น”
และนั่นทำให้คำถามของคำตอบนี้ จะยังคงเป็นปริศนาอยู่ต่อไป ไม่ว่าจะผ่านไปอีกปี
บทสรุปของโศกนาฏกรรมนี้ ก็จะยังอยู่ในเงามืดตลอดกาล
ข้อมูลอ้างอิง
https://www.mirror.co.uk/news/uk-news/moorgate-tube-crash-horror-moment-34638291
http://news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/february/28/newsid_2515000/2515033.stm
https://www.railmagazine.com/trains/heritage/moorgatethe-unresolved-tragedy?p=2
Tags: อุบัติเหตุ, โศกนาฏกรรม, Haunted History, รถไฟ, อังกฤษ