สำนักข่าว The Japan Times รายงานว่า ปี 2016 เป็นปีที่ญี่ปุ่นมีจำนวนประชากรเด็กที่เกิดในปีนี้น้อยกว่า 1 ล้านคนเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ นับตั้งแต่มีการสำรวจข้อมูลประชากรในปี 1899 โดยคาดว่าจำนวนของเด็กแรกเกิดในปีนี้อยู่ที่ประมาณ 980,000-990,000 คน

แม้ว่าจะยังไม่มีการสรุปตัวเลขอย่างเป็นทางการ จนกว่ากระทรวงสาธารณสุข แรงงาน และสวัสดิการของญี่ปุ่น จะเปิดเผยรายงานการเปลี่ยนแปลงประชากรประจำปีในเร็วๆ นี้ แต่ข่าวนี้ก็สะท้อนถึงปัญหาสังคมผู้สูงอายุของญี่ปุ่น ซึ่งมีประชากรเด็กและวัยทำงานลดน้อยลงไปทุกที

นั่นหมายความว่าโอกาสที่ญี่ปุ่นจะฝากความหวังกับการขับเคลื่อนประเทศชาติไว้ที่ ‘เด็ก’ ยิ่งริบหรี่…

สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า นโยบายส่งเสริมของรัฐบาลและสภาพเศรษฐกิจที่เริ่มฟื้นตัว มีส่วนช่วยกระตุ้นให้ภาวะเจริญพันธุ์โดยรวมของญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นเป็น 1.45 ในปี 2015 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังดูห่างไกลจากที่นายกรัฐมนตรี ชินโซ อาเบะ เคยตั้งเป้าไว้ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.80

นอกจากเด็กจะเกิดน้อยลงแล้ว ดูเหมือนว่าญี่ปุ่นต้องเผชิญกับศึกหนัก ไม่ว่าจะเป็นภาวะขาดแคลนแรงงาน สวัสดิการที่ไม่อาจอุ้มชูจำนวนผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นมหาศาล และนโยบายรับแรงงานต่างชาติเองก็ไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควร

ชินโซ อาเบะ พลาดตรงไหน? สังคมไทยมีแนวโน้มจะเจอปัญหาแบบเดียวกันหรือไม่?

The Momentum ได้พูดคุยกับ ร.ศ. ดร. วิพรรณ ประจวบเหมาะ คณบดีวิทยาลัยประชากรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกี่ยวกับประเด็นสังคมผู้สูงอายุในญี่ปุ่น ที่อาจเป็นภาพสะท้อนของสังคมไทยในอนาคต

เราควรเตรียมตัวอย่างไรในยุคที่จะมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก และอะไรคือที่สิ่งที่ต้องทำได้แล้ว?

Photo: commons.wikimedia.org​

อนาคตของญี่ปุ่นอยู่ในกำมือของผู้สูงวัยและหุ่นยนต์?

หากย้อนกลับไปดูนโยบายและมาตรการด้านประชากรของญี่ปุ่น จะพบว่า รัฐบาลได้วางแผนเตรียมรับมือกับการขาดแคลนแรงงานและกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยดึงผู้สูงอายุกลับมาเป็นแรงงานอีกครั้ง และส่งเสริมบทบาทของผู้หญิงมากขึ้นในสังคมการทำงานที่ผู้ชายเป็นใหญ่ ญี่ปุ่นยังขึ้นชื่อเรื่องระบบสวัสดิการและการสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ จึงไม่แปลกที่ผู้คนจะมีอายุยืนยาว และเป็นประเทศแรกที่ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดตั้งแต่ปี 2006 โดยมีประชากรอายุ 65 ปีขึ้นไป มากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด

Photo: nippon.com​

ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นประสบปัญหาภาวะเจริญพันธุ์รวมต่ำมาโดยตลอด (หรือโอกาสที่ผู้หญิงจะมีลูกโดยเฉลี่ย) ตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1946 ญี่ปุ่นเคยมีอัตราการเจริญพันธุ์รวมอยู่ที่ 4.5 และลดลงอย่างต่อเนื่อง ในปี 2005 ภาวะเจริญพันธุ์รวมลดต่ำลงเป็นประวัติการณ์เหลือ 1.26 และมีเด็กเกิดน้อยกว่า 1.1 ล้านคน ส่งผลให้รัฐบาลเร่งออกนโยบายกระตุ้นและส่งเสริมให้ครอบครัวชาวญี่ปุ่นตัดสินใจมีลูกในระยะแรก เช่น มีมาตรการสนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับเลี้ยงดูบุตร การเข้าถึงบริการรับเลี้ยงเด็ก และลดความกดดันจากการแข่งขันทางการศึกษา

แต่นโยบายการกระตุ้นก็ยังไม่ใช่วิธีการแก้ปัญหาในระยะยาว

ร.ศ. ดร. วิพรรณ ประจวบเหมาะ  กล่าวว่า “ถ้าดูสถานการณ์ในประเทศอื่นที่มีอัตราการเกิดลดลง เช่น ยุโรปหรือที่อื่นๆ จะเห็นได้ว่าแทบไม่มีประเทศไหนประสบความสำเร็จในการที่จะกระตุ้นให้อัตราการเกิดกลับมาใหม่ เพราะเวลาเปลี่ยน คนเปลี่ยนรสนิยม เปลี่ยนทัศนคติไปแล้ว แต่เดิมคนอาจจะอยากมีลูกเอาไว้ช่วยดูแลตอนแก่ หรือช่วยทำการเกษตร แล้วสังคมอุตสาหกรรมมันไม่ได้ต้องการแรงงานเยอะๆ อีกต่อไปแล้ว

“คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น มีทางเลือกในชีวิตมากขึ้น ผู้หญิงรุ่นใหม่อาจจะไม่อยากแต่งงาน ไม่อยากมีลูก เพราะว่าต้องรับบทบาทหนักในบ้าน ทั้งต้องดูแลครอบครัวตัวเอง ครอบครัวของสามี ต้องอยู่กับแม่สามี อย่างนี้เป็นต้น ผู้หญิงที่มีการศึกษาเพิ่มขึ้น มีโอกาสก้าวหน้าในชีวิตมากขึ้น ก็จะไม่ค่อยอยากมีลูก

“คนญี่ปุ่นก็ทำงานหนักมากนะ ทั้งผู้หญิงและผู้ชาย เพราะฉะนั้น ระหว่างชีวิตที่ทำงานหรือการมีลูก เขาอาจจะเลือกชีวิตการทำงานที่มีความก้าวหน้ามากกว่าก็ได้ ถือเป็นอีกปัจจัย ไม่ว่าสวัสดิการต่างๆ มันจะค่อนข้างดีก็ตาม แต่พอคนเปลี่ยนไปแล้ว ก็เปลี่ยนกลับมายาก”

Photo: Flickr/creative commons​

ย้อนมองสังคมไทย: สังคมสูงวัย แรงงานไม่มีคุณภาพ และไม่มีเงินออม?

กลับมาที่ประเทศไทย จากการคาดการณ์โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ระบุว่าอีก 2 ปีข้างหน้านี้ จะมีจำนวนประชากรเด็กเท่ากับผู้สูงอายุ และในปี 2040 ประเทศไทยจะกลายเป็นสังคมที่มีผู้สูงอายุมากถึงร้อยละ 32.1 ไม่ต่างจากสังคมญี่ปุ่นในวันนี้

ร.ศ. ดร. วิพรรณ บอกกับ The Momentum ว่า สังคมไทยจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว แต่สถานการณ์จะน่ากังวลกว่าญี่ปุ่นหลายเท่า

“ญี่ปุ่นเขาได้เปรียบกว่าไทย ถึงจะมีเด็กเกิดน้อยลงเหมือนกัน แต่เขาลงทุนในคุณภาพของเด็กอย่างเต็มที่ ช่วงที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นโตแบบก้าวกระโดด เพราะว่าคนเขามีคุณภาพสูงมาก ในขณะที่ไทย เรามีอัตราการเกิดน้อยลงในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา แต่เราลงทุนในการพัฒนาคนน้อยไป ประเทศเราไปเน้นแรงงานถูก

“แต่ประเทศพัฒนา อย่างเช่น ญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน เน้นคุณภาพของคน ส่วนเราเพิ่งขยายการศึกษาเมื่อไม่นานมานี้ แต่ลงทุนการศึกษามันใช้เวลานานมาก นั่นคือปัญหา เพราะตอนนี้ เราเริ่มประสบปัญหาแรงงานลดลงแล้ว และไม่ได้มีคุณภาพด้วย ในที่สุด แรงงานเหล่านี้ก็จะต้องดูแลทั้งครอบครัว เด็ก และดูแลคนในวัยสูงอายุไปพร้อมๆ กันด้วย ซึ่งก็ไม่รู้ว่าถ้าเป็นแบบนี้ จะไหวแค่ไหน เพราะว่าสัดส่วนของเด็กและวัยแรงงานก็จะลดน้อยลงด้วย จากที่เคยมีวัยแรงงานเข้ามาช่วยแบกรับ หรือทำการผลิตต่างๆ ก็จะทำได้น้อยลง

ญี่ปุ่นเขาได้เปรียบกว่าไทย ถึงจะมีเด็กเกิดน้อยลงเหมือนกัน
แต่เขาลงทุนในคุณภาพของเด็กอย่างเต็มที่ ช่วงที่เศรษฐกิจของญี่ปุ่นโตแบบก้าวกระโดด เพราะว่าคนเขามีคุณภาพสูงมาก ในขณะที่ไทย เรามีอัตราการเกิดน้อยลงในช่วง 40-50 ปีที่ผ่านมา แต่เราลงทุนในการพัฒนาคนน้อยไป ประเทศเราไปเน้นแรงงานถูก

จะดึงผู้สูงอายุไทยกลับมาเป็นแรงงาน ต้องวางแผนกันยาวๆ

แม้ว่าภาครัฐจะเริ่มหารือเรื่องการยืดอายุเกษียณ แต่ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง และคนส่วนใหญ่ยังมองว่าผู้สูงอายุเป็นภาระ

การเดินตามนโยบายของญี่ปุ่นที่ส่งเสริมให้ผู้สูงอายุทำงานต่อ และเปิดโอกาสให้ผู้หญิงมีทางเลือกประกอบอาชีพอย่างเท่าเทียมกับเพศชายคือทางออกจริงไหม?

ร.ศ. ดร. วิพรรณ ชี้ว่า เรื่องนี้ต้องมีระบบสวัสดิการที่ดีมารองรับ และเปลี่ยนระบบการทำงานใหม่ เพื่อไม่ปิดกั้นโอกาสของคนรุ่นต่อๆ ไปเช่นกัน

“ถ้าอยากให้ผู้หญิงทำงานอย่างต่อเนื่อง ไม่หลุดจากตลาดแรงงาน ก็ต้องมีระบบสวัสดิการที่ดีมารองรับ เช่น ไปทำงานแล้วใครจะดูแลเด็ก ผู้สูงอายุตอนกลางวัน

“แม้ว่ารัฐบาลจะเริ่มพูดถึงการจ้างงานผู้สูงอายุแล้ว แต่มันต้องชัดเจนพอสมควร ต้องมีแรงจูงใจให้ภาคเอกชนเห็นว่า ขณะนี้สัดส่วนของแรงงานกำลังลดลง บางคนยังไม่ตระหนักถึงเรื่องนี้เลย อายุ 45 ก็เชิญออกแล้ว บอกว่าผลิตภาพต่ำ ทั้งที่งานวิชาชีพบางอย่างมันทำได้นาน

“แต่เราต้องคิดใหม่ พอถึงช่วงวัยหนึ่ง คนทำงานอาจจะต้องมีการอบรมเพิ่มเติม เปลี่ยนประเภทงานให้ทำ สมมติว่าเขาไม่ไหวแล้ว ก็เปลี่ยนไปทำงานประเภทอื่นไหม เช่น เป็นที่ปรึกษา ทำงานพาร์ตไทม์ เงินเดือนอาจจะไม่เท่าเดิม แต่ยังรองรับค่าใช้จ่าย

“ส่วนคนที่มองว่าไปเอาแรงงานข้ามชาติได้ ก็อาจจะทำได้ในช่วงแรกๆ แต่ในอีก 20 ปีข้างหน้า ประเทศเพื่อนบ้านเราทั้งหมดจะเป็นสังคมสูงวัยเช่นกัน เขาก็จะประสบปัญหาเดียวกับเรา แต่ผู้สูงอายุของเราจะเยอะมาก

“ตอนนี้เรามีผู้สูงอายุ 11 ล้านคน อีก 20 ปีข้างหน้า ก็จะเพิ่มเป็นประมาณ 20 ล้านคน แค่จำนวนก็หนักหนาสาหัสแล้ว

“ที่น่าห่วงก็คือ ของเราจะน่ากลัวกว่าญี่ปุ่นในแง่ที่ว่าสัดส่วนของผู้สูงอายุในช่วงวัย 80 ปีขึ้นไป จะเพิ่มขึ้นอย่างเร็วด้วย ถ้าพูดตรงๆ ก็เป็นวัยไม้ใกล้ฝั่ง อาจจะทำงานได้ไม่เต็มที่ สุขภาพมีปัญหา การเงินก็อาจจะต้องพึ่งพามากขึ้น ซึ่งถ้ากลุ่มนี้เพิ่มขึ้นเยอะแล้วไม่มีระบบอะไรรองรับ ก็จะเป็นปัญหาใหญ่”

Photo: commons.wikimedia.org​

สิ่งที่ควรทำในวันนี้: รัฐต้องแก้ปัญหาเชิงรุก คนรุ่นใหม่ต้องวางแผนทั้งชีวิต

ขณะที่ญี่ปุ่นมุ่งไปทางการพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ ระบบอัตโนมัติ และปัญญาประดิษฐ์ เพื่อรับมือกับสังคมผู้สูงอายุในวันหน้า

แล้วทางออกที่เหมาะกับสังคมไทยในวันนี้คืออะไร?

ร.ศ. ดร. วิพรรณ ย้ำว่า เราไม่ควรจะแก้ปัญหานี้ที่ ‘ปลายเหตุ’ พร้อมชี้แนะว่ารัฐต้องแก้ปัญหาเชิงรุก นั่นคือ ส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เตรียมพร้อมตั้งแต่เนิ่นๆ

“ตอนนี้ หน่วยงานรัฐพุ่งเป้าไปที่คนอายุ 60 หมดเลย คือวิ่งไปตามแก้ที่ปลายเหตุ แต่กลุ่มผู้สูงอายุที่จะเพิ่มในอีก 10-20 ปีข้างหน้า คือคนอายุ 40-50 ปีในตอนนี้ รัฐต้องมาจัดการที่ต้นทาง ต้องแก้ปัญหาในเชิงรุก เตรียมคนรุ่นใหม่ให้พร้อม

“คนเจนวายจะออมเงินยังไงถึงจะพอ เราไม่เหมือนญี่ปุ่นที่มีระบบประกันและมีวินัยด้านการออมเงินนะ เราไม่มีเงินเลย แล้วถ้าไปเจ็บหนักบั้นปลาย จะเอาเงินที่ไหน

“ตอนนี้ญี่ปุ่นก็แย่เหมือนกัน เขามีระบบประกันแบบพรีเมียม แต่หาคนที่จะมาให้บริการไม่ได้ เพราะผู้สูงอายุเขาเยอะมาก เราดูบทเรียนจากญี่ปุ่นมาใช้ในประเทศไทยได้ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเลือกปรับให้เหมาะกับบริบทของเรา สิ่งที่เราต้องทำให้เร็วกว่าญี่ปุ่นก็คือ เราต้องเตรียมคนรุ่นใหม่ให้พึ่งตัวเองให้ได้นานที่สุด ทั้งเศรษฐกิจ สังคม สุขภาพ สิ่งแวดล้อม เงินก็ต้องพอ เรื่องการออมจะเป็นเรื่องใหญ่ เรื่องระบบบำนาญแห่งชาติรัฐต้องคิดไป แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยู่ในระบบบำนาญ เพราะฉะนั้นต้องออมเองให้เป็น

“คนรุ่นใหม่ต้องคิดใหม่ว่าจะต้องทำงานไปยาวนาน คุณต้องฝึกการทำงาน ฝึกการเรียนรู้ตลอดชีวิต มันเป็นเรื่องใหญ่ แล้วก็ต้องมีความรู้เรื่องการเงินพอสมควร ความเสี่ยงมันมีทุกเรื่อง

“ด้านสังคม จะทำยังไงให้ครอบครัวเข้มแข็ง ชุมชนก็สำคัญ คนในเมืองใหญ่จะไม่มีชุมชนเลย ถ้าสูงวัยแล้วจะพึ่งใคร ก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องคิด ส่วนสุขภาพ ซื้อไม่ได้ ต้องออกกำลังกาย ที่สำคัญ คือเรื่องของจิตใจ เราไม่รู้ว่าการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ เพราะฉะนั้น คนต้องมีหลักใจ

“มิติสุดท้ายที่คนสนใจน้อยมากคือ เรื่องของผู้พิทักษ์จัดการทรัพย์สินของผู้สูงอายุ จะทำยังไงไม่ให้ผู้สูงอายุติดเตียง หรือถูกล่อลวง เราต้องมีระบบเข้ามาช่วยจัดการทรัพย์สินให้เขา และต้องเปลี่ยนวิธีคิดว่า ถ้าเราอยู่ร่วมกันหลายวัยแล้วจะให้คุณค่ากันยังไง”

 

ภาพประกอบ: Nisakorn Rittapai


อ้างอิง:
– http://www.japantimes.co.jp/news/2016/12/22/national/japans-newborns-numbered-1-million-first-time-2016/#.WFv696Nh2u1
– http://www.reuters.com/article/us-japan-birth-idUSKBN14B0B5

Tags: , , , , ,