“คืนนี้ กูจะเข้าไปจัดการไอ้พวกนี้

“พอพวกแกได้ยินเสียงปืน ก็ยิง รปภ.ของประธานาธิบดีที่อยู่ข้างนอกนั่นซะ”

1

เช้าวันที่ 26 ตุลาคม 1979 พัค จองฮี (Park Chung Hee) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้วัย 61 ปี เดินทางไปเมืองทังจิน (Tangjin) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงโซลไปทางใต้ประมาณ 160 กิโลเมตร เพื่อไปตรวจการก่อสร้างเขื่อนชลประทาน

ชายผู้กุมอำนาจในฐานะผู้นำสูงสุดของเกาหลีใต้มานานกว่า 18 ปี กำลังเผชิญความกดดันจากประชาชนและฝ่ายค้าน ที่ประท้วงขับไล่การครองอำนาจยาวนาน ใช้กำปั้นเหล็กปราบปรามผู้เห็นต่าง

เพราะดูแลตัวเองเป็นอย่างดี เจ้าของความสูง 163 เซนติเมตร จึงมีรูปร่างสันทัด ไม่ดูเตี้ย เจ้าตัวยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาตำแหน่งประธานาธิบดีต่อไป โดยไม่สนใจเสียงคัดค้าน เขากุมอำนาจ และยึดมันมาได้จากการรัฐประหาร และเขียนกฎหมายแก้รัฐธรรมนูญให้ตัวเองแต่งตั้งผู้แทนราษฎร และการันตีว่า ถ้าลงเลือกตั้งก็จะชนะ ซึ่งพัค จองฮีก็ทำสำเร็จมาแล้ว 5 ครั้งด้วยกัน

ในเช้าวันนั้น สิ่งหนึ่งที่คนเกาหลีไม่อาจรู้ได้เลยก็คือ นี่จะเป็นครั้งสุดท้ายที่พัค จองฮีปรากฏตัวให้เห็นต่อหน้าสาธารณชน 

ที่จริงมันจะเป็นเช้าสุดท้ายในชีวิตบุรุษเหล็กคนนี้ด้วย

เมื่อเสร็จงานสร้างเขื่อน พัค จองฮีเดินทางกลับมายังทำเนียบสีน้ำเงิน (Blue House) ที่พำนักและที่ทำงานของประธานาธิบดี จากนั้นเมื่อเวลาเดินมาถึง 6 โมงเย็น พัค จองฮีออกไปกินข้าวเย็นร่วมกับผู้ใกล้ชิดในบริเวณทำเนียบ ใกล้กับหน่วยข่าวกรองกลางเกาหลีใต้ (Korean Central Intelligence Agency: KCIA)

นอกจากประธานาธิบดีพัค จองฮีแล้ว แขกวันนั้นยังมี คิม แจคยู (Kim Jae Kyu) วัย 53 ปี ผู้อำนวยการ KCIA อดีตนายพลที่พัค จองฮีเลือกมากับมือและไว้ใจที่สุด ส่วนอีกรายคือ ชา จีชอล (Cha Ji-chul) หัวหน้าบอดี้การ์ดประจำตัวที่กำลังจรัสแสง รวมถึงหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี คิม แควอน (Kim Kaewon)

นอกจากทั้ง 4 คนแล้วก็มีนักร้องหญิง 2 คน ที่มาร่วมขับกล่อมบรรเลงแขกระดับสูง นั่นก็คือ ชิม ซูบง (Shim Soo-bong) วัย 24 ปี และชิน แจซูน (Shin Jae-soon) วัย 22 ปี นักศึกษาเอกการละครที่คัดเลือกจากหน่วยข่าวกรอง ตรวจประวัติ เพื่อความแน่ใจว่าจะไม่ใช่ฝ่ายต่อต้านรัฐบาล

ระหว่างการรับประทานอาหารและฟังการขับกล่อม บทสนทนาบนโต๊ะอาหารกลับดุเดือดเลือดพล่านอย่างมาก

ประธานาธิบดีพัค จองฮีไม่พอใจผู้อำนวยการข่าวกรอง ซึ่งแม้อายุน้อยกว่า แต่เป็นเพื่อนร่วมรุ่นโรงเรียนนายร้อยเกาหลีด้วยกัน บุรุษเหล็กด่ากราดสหายสนิทที่ควบคุมสถานการณ์ประท้วงซึ่งเกิดขึ้นทั่วประเทศไม่ได้

“พวกมันประท้วงได้ เพราะเจ้าหน้าที่ของแกไร้ความสามารถ”

คิม แจคยูขอเวลาไปทำธุระส่วนตัว เขาขึ้นบันไดไปยังห้องทำงาน แล้วเอาปืนสั้นเหน็บไว้ที่เอว โดยเจ้าตัวได้บอกกับลูกน้องตัวเองก่อนกลับเข้าไปร่วมกินข้าวกับเจ้านายว่า “คืนนี้ กูจะเข้าไปจัดการไอ้พวกนี้ พอพวกแกได้ยินเสียงปืนก็ยิง รปภ.ของประธานาธิบดีที่อยู่ข้างนอกนั่นซะ”

แต่ยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น

ในเวลา 19.00 น. คิม แจคยูชี้แจงว่า การปราบปรามผู้ประท้วงด้วยความรุนแรงนั้น จะทำให้สถานการณ์ลุกลาม “เขาเป็นแค่ประชาชนที่โกรธแค้น ไม่ใช่พวกที่มีการจัดตั้งจากฝ่ายตรงข้าม อันเป็นข้ออ้างที่รัฐบาลใช้กล่าวหาประชาชนที่เกลียดรัฐบาล”

“ถ้าเราใช้ความรุนแรงไป อาจทำให้เกิดการลุกฮือทั้งประเทศได้”

ประธานาธิบดีพัค จองฮีตอบกลับอย่างฉุนเฉียวว่า ถ้าสถานการณ์เลวร้าย เขาจะสั่งให้ยิงผู้ประท้วงเพื่อควบคุมสถานการณ์ แม้จะผิดกฎหมายมีโทษถึงประหารชีวิต แต่ใครจะกล้าดำเนินคดีชายที่อยู่ในอำนาจมาเกือบ 20 ปีล่ะ

ขณะนั้นเอง ชา จีชอลเห็นด้วยกับประธานาธิบดี โดยยกตัวอย่างว่า “รัฐบาลเขมรแดงสังหารคนไป 5 ล้านราย ยังอยู่ในอำนาจได้ ท่านแค่จัดการฆ่าคนเกาหลีไปเพียง 1-2 ล้านราย จะมีอะไรต้องกังวลเชียว”

สิ่งนี้ทำให้คิม แจคยูเดือดอย่างมาก ช่วงที่ผ่านมาดูเหมือนประธานาธิบดีจะลดความไว้ใจต่อตัวเขา แล้วไปเพิ่มความชมชอบชา จีชอลมากขึ้นกว่าเดิม

การโต้แย้งเป็นไปอย่างดุเดือด ระหว่างคิม แจคยูที่พยายามโน้มน้าวประธานาธิบดีให้ยอมรับความจริงว่า สถานการณ์ขณะนี้มีคนประท้วงเพราะไม่ชอบพัค จองฮีมาก กระนั้นผู้เป็นนายก็ไม่เห็นด้วย ยิ่งผสมโรงกับตัวชา จีชอล ที่เน้นย้ำให้ใช้ความรุนแรงจัดการปัญหาม็อบ ยิ่งทำให้ทุกอย่างเลวร้ายมากกว่าเดิม

เมื่อถึงเวลา 19.40 น. คิม แจคยูขอตัวออกไปข้างนอกอีกรอบ แล้วตระเตรียมกับลูกน้องคู่ใจ

5 นาทีผ่านไป ผู้อำนวยการหน่วยข่าวกรอง KCIA นั่งลงที่โต๊ะอาหาร ก่อนจะลุกยืนขึ้น แล้วควักปืนจ่อหัวชา จีชอล และจะตะโกนใส่ประธานาธิบดีพัค จองฮีว่า

“ท่านไปเอาไอ้หนอนเน่านี่มาเป็นที่ปรึกษาได้ไงวะ”

หลังจากนั้นเสียงปืนก็ดังขึ้น กระสุนพุ่งเข้าข้อมือขวาของชา จีชอล หลังจากนั้นคิม แจคยูนปากกระบอกปืนใส่ประธานาธิบดีพัค จองฮี ที่พูดออกมาว่า “นั่นแกจะทำอะไรนะ” 

เสียงปืนดังสนั่น 3 นัด กระสุนพุ่งเข้าสู่หน้าอกบุรุษเหล็กแห่งเกาหลีใต้ ทำลายกระดูกสันหลัง ก่อนกระหน่ำยิงเข้าที่หูขวาและหัว

เมื่อเสียงปืนดังขึ้น ลูกน้องของคิม แจคยูก็ใช้ปืนสั้น และปืนกลเอ็ม 16 รัวใส่ทีมรักษาความปลอดภัยของประธานาธิบดี ซึ่งนั่งรอในห้องครัว สุดท้ายก็ตาย 4 ราย เจ็บ 1 ราย

ระหว่างนั้นชา จีชอลที่เจ็บสาหัส แต่ยังไม่ตาย พยายามตะเกียกตะกายไปห้องน้ำ พร้อมตะโกนขอความช่วยเหลือ แต่ไม่มีลูกน้องมาช่วย เพราะโดนฆ่าไปแล้ว ทำให้เขาโดนยิงที่ท้อง จนเสียชีวิต

ขณะนั้นคิม แควอน หัวหน้าคณะทำงานประธานาธิบดีรีบวิ่งหนีออกจากห้อง ส่วนสองนักร้องสาวเสี้ยววินาทีหลังตั้งสติได้ ก็ถามพัค จองฮี จองฮีว่า

“ไหวไหมคะ ท่าน”

“ยังไหว”

และนั่นคือประโยคสุดท้ายของชายที่อยู่ในอำนาจมานานกว่า 18 ปี 

2

คิม แจคยูเป็นคนบ้านเดียวกับประธานาธิบดีพัค จองฮี ได้รับการเลื่อนขั้นจากทหาร เข้าสู่เส้นทางการเมือง ก่อนมาคุมหน่วยข่าวกรองในปี 1976 ด้วยแรงส่งจากบุรุษเหล็ก

กระนั้นหลักฐานในช่วงหลังๆ ชี้ว่า แม้คิม แจคยูจะภักดีกับพัค จองฮี แต่เขาแสดงความกังวลใจหลายครั้ง ต่อการขยายอำนาจของเจ้านายจนกลายเป็นเผด็จการ

พัค จองฮีสร้างฐานอำนาจของตัวเอง เช่นเอานายร้อยกลุ่มหนึ่งมาสาบานตนว่า จะจงรักภักดีกับเขา ไม่ใช่รัฐธรรมนูญเกาหลี โดยหนึ่งในทหารกลุ่มนี้มีชายที่ชื่อว่า ชุน ดูวาน (Chun doo-Hwan) ซึ่งจะเป็นผู้นำการสอบสวนการลอบสังหาร และผ่านไปไม่กี่เดือน เจ้าตัวจะยึดอำนาจและตั้งตนเป็นเผด็จการทหารของเกาหลีคนต่อไป

ในปี 1971 เมื่อพัค จองฮีจะลงเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 3 คิม แจคยูขอร้องผู้เป็นนายว่า ครั้งนี้ควรเป็นครั้งสุดท้าย และโน้มน้าวให้พัค จองฮีปฏิรูปการเมือง เพื่อให้เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น

แต่ผู้บังคับบัญชาที่เขาจงรักภักดี ไม่เห็นด้วย 

ยิ่งเจอแรงกดดันทางการเมืองมากมาย ความเห็นต่างของนายกับลูกสมุนสอพลอ มันสะสมขึ้นเรื่อยๆ จนนำไปสู่เหตุการณ์ลอบสังหารในที่สุด

คิมให้การถึงแรงจูงใจในการก่อเหตุสะเทือนขวัญนี้ ในการพิจารณาคดีของศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาเพื่อดำเนินคดีเขาว่า “ผมทำเพื่อปกป้องประชาธิปไตยเกาหลี”

น่าเสียดายหัวใจเศร้า ไม่มีใครเชื่อเขาเลย

3

คิม แควอน หัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี หนีจากจุดเกิดเหตุได้ทัน แล้วรีบไปหลบ เมื่อหัวหน้าหน่วยข่าวกรอง ออกจากจุดเกิดเหตุ เขาก็รีบประคองร่างประธานาธิบดีพัค จองฮีที่บาดเจ็บสาหัส เพื่อพาตัวไปโรงพยาบาล โดยเน้นย้ำกับแพทย์ว่า ให้รักษาชายคนนี้ให้ได้ ไม่ว่าจะต้องใช้อะไร ซึ่งคิม แจคยูไม่ได้บอกว่า ผู้บาดเจ็บคนนี้คือประธานาธิบดีเกาหลีใต้

แต่ไม่สำเร็จพัค จองฮีตายลงเสียก่อน

เมื่อกองทัพและคณะรัฐมนตรีก็ทราบเรื่อง พวกเขาประชุมกันอย่างเร่งด่วน และประกาศกฎอัยการศึกในทันที กำหนดเคอร์ฟิว ห้ามทำกิจกรรมทางการเมือง โดยให้นายพลควบคุมสถานการณ์ มีการนำทหารตรวจตราในเมืองหลวง รถถังวิ่งเต็มถนน

เช้าวันนั้นคนเกาหลีตื่นมาด้วยความช็อก เมื่อมีการออกแถลงการณ์การเสียชีวิตของประธานาธิบดี ส่วนผู้ก่อเหตุนั้น หลังจากยิงเสร็จ เขาพยายามติดต่อไปยังนายพลและผู้ใกล้ชิดพัค จองฮี แต่สุดท้ายไม่ถึง 4 ชั่วโมง คิม แจคยูมือสังหารก็ถูกจับกุมตัวได้ในที่สุด

แม้จะมีคนเชื่อว่า การลั่นไกนั้น เป็นไปเพราะอารมณ์ชั่ววูบ แต่ก็มีผู้เถียงว่า มันมีการวางแผนเตรียมกับทีมงานมาก่อน บางทีคิม แจคยูอยากเป็นประธานาธิบดี แต่ไม่อาจรวบรวมพรรคพวกได้ จึงโดนจับเสียก่อน

ไม่ทันที่คนเกาหลีจะรู้อะไร ชุน ดูวานก็ทำการรัฐประหารยึดอำนาจล้มรัฐบาล แล้วสั่งดำเนินคดีกับคิม แจคยู พร้อมลูกน้องทั้งหมด

วันที่ 24 พฤษภาคม 1980 คิม แจคยู ถูกประหารชีวิตด้วยการแขวนคอ สร้างความเสียใจให้กับครอบครัวอย่างมาก น้องสาวของเขาเผยกับสื่อหลังผ่านไปหลายสิบปีว่า

“ฉันเพิ่งไปเยี่ยมเขาก่อนหน้านี้เพียง 1 วัน พี่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะถูกประหารชีวิต”

และตอนพบกันนั้น น้องสาวของคิม แจคยูได้สวดมนต์ขอให้อีกฝ่ายรอดจากโทษแขวนคอ แต่อดีตหัวหน้าหน่วยข่าวกรองบอกว่า อย่าทำ “ไม่ต้องสวดให้พี่ สวดให้แก่ลูกๆ ของท่านพัค จองฮีที่ตอนนี้กลายเป็นเด็กกำพร้าแล้ว”

การกวาดล้างผู้ลอบสังหารเป็นไปอย่างดุเดือด แม้กระทั่งคิม แควอน อดีตหัวหน้าคณะทำงานของประธานาธิบดี ยังถูกจับกุม เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนกับฆาตกร และโดนโทษประหารชีวิต แต่โชคดีได้ลดโทษ จนพ้นคุกในปี 1982

สองนักร้องสาวในวันนั้น ไม่โดนดำเนินคดีอะไร ชิม ซูบง เก็บตัวเงียบ ถูกสั่งห้ามออกโทรทัศน์ จนถึงกลางยุค 80s ก่อนจะออกอัลบั้มเพลงหลายชิ้นในเวลาต่อมา ส่วน ชิน แจซูน เรียนหนังสือจนจบ จากนั้นได้ย้ายประเทศไปสหรัฐอเมริกา ก่อนเขียนหนังสือเล่าเหตุการณ์วันนั้น

ความตายของพัค จองฮีเป็นเรื่องน่าสะเทือนใจ แต่คนเกาหลีในเวลานั้น ไม่ไยดี แม้จะอยู่ใต้เผด็จการคนต่อมา แต่ทุกคนรู้ว่าบุรุษเหล็กที่ถูกลอบฆ่า ใช้ความรุนแรงเพื่อปราบปรามผู้เห็นต่างมากมาย จนไม่อาจให้อภัยได้

กฎอัยการศึกที่ถูกประกาศหลังการลอบสังหาร ใช้เวลาอีก 2 ปีกว่าจะยกเลิกสำเร็จ ระหว่างนั้นมีการล้อมปราบสังหารประชาชนเป็นจำนวนมาก กว่าเกาหลีใต้จะมีประชาธิปไตยจนถึงทุกวันนี้ หลายศพหลายหยาดน้ำตาเกิดขึ้นมากมาย

พวกเขาต้องเสียสละตัวเองด้วยชีวิต กว่าจะให้คนรุ่นหลังได้สัมผัสเสรีภาพ

4

วันที่ 3 ธันวาคม ยุน ซอกยอล (Yoon Seok-yeol) ประธานาธิบดีเกาหลีใต้ กลับประกาศกฎอัยการศึก เป็นครั้งแรกในรอบ 45 ปี สร้างความแตกตื่นให้กับประชาชนเกาหลีอย่างมาก

นักการเมืองรายหนึ่งย้อนความหลังว่า การประกาศกฎอัยการศึกครั้งก่อนในปี 1979 สร้างความหวาดกลัวให้คนในชาติมาก เพราะเห็นทหารถือปืนเต็มถนน ประกาศเคอร์ฟิว ห้ามออกจากบ้าน

“ผมกลัวมากว่า หากออกบ้านไปแล้ว จะโดนทหารยิงตาย”

กระนั้นกฎอัยการศึกของยุน แตกต่างจากการประกาศครั้งล่าสุดเมื่อหลายสิบปีก่อน เพราะมันมีอายุเพียง 155 นาที เมื่อสภาผู้แทนราษฎรร่วมใจกันลงมติยกเลิก นับเป็นพัฒนาการสำคัญของเกาหลีใต้ พวกเขามาไกลเกินกว่าจะอยู่ในวงจรรัฐประหาร ยึดอำนาจอันบ้าคลั่ง ไม่เหมือนเมื่อปี 1979 อีกต่อไปแล้ว

สังคมก้าวหน้ากว่าเดิม รวมถึงปริศนาแรงจูงใจในวันนั้นก็ได้รับการตรวจสอบใหม่ แม้จะยังไปไม่ถึงไหนก็ตาม

น้องสาวของคิม แจคยู มือลั่นไกฆ่า วิงวอนขอให้มีการไต่สวน เพื่อจะได้พิจารณาคดีกันใหม่ ในศาลที่มีความยุติธรรม ไม่ใช่ศาลที่พวกเผด็จการทหารตั้งมา

“พี่ของฉันไม่ได้ฆ่าพัค จองฮีเพื่ออยากเป็นประธานาธิบดี หรือเป็นกบฏต่อประเทศ ดังนั้นเราจึงควรมีการรื้อฟื้นคดีนี้มาใหม่”

เพื่อจะได้รู้ความจริงที่ครบถ้วนมากกว่าเดิม

“อย่างน้อยเราก็จะได้รู้มุมมองความจริงของพี่ฉัน ข้อมูลตรงนี้ควรได้รับการเปิดเผย แต่เขากลับถูกประหารชีวิตไปเสียก่อน”

เพราะบางทีน้องสาวของคิม แจคยูบอกกับสื่อกึ่งอ้อนวอนว่า การทบทวนเหตุการณ์นี้ใหม่ ด้วยความยุติธรรมที่ไม่ถูกบิดเบือน เราอาจจะได้รู้สักทีว่า

“เพราะอะไร เขาถึงลงมือทำแบบนั้น”

ข้อมูลอ้างอิง

https://www.courthousenews.com/family-of-south-korean-dictators-assassin-seek-treason-acquittal/

https://www.koreaherald.com/view.php?ud=20241204050110

https://www.chosun.com/english/national-en/2008/09/05/CJBVVHP5NAZVXIFCKO6XYARXU4/

https://thediplomat.com/2022/10/will-vladimir-putin-share-the-fate-of-south-koreas-park-chung-hee/

http://news.bbc.co.uk/onthisday/hi/dates/stories/october/26/newsid_2478000/2478353.stm

https://www.koreatimes.co.kr/www/nation/2024/12/719_75100.html

https://www.nytimes.com/1979/10/27/archives/president-park-is-slain-in-korea-by-intelligence-chief-seoul-says.html

https://time.com/archive/6846240/south-korea-assassination-in-seoul/

https://abcnews.go.com/International/wireStory/history-martial-law-south-korea-press-photographs-116440424

Tags: , , , ,