1

โรซา พาร์กส เป็นหญิงผิวดำ เกิดในรัฐอลาบามา ใช้ชีวิตเหมือนคนดำปกติในช่วงก่อนและหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 คือยอมรับความอยุติธรรมที่เรียกกันว่าการแบ่งแยกอย่างเท่าเทียม คนดำอยู่ส่วนของคนดำ คนขาวอยู่ส่วนของคนขาว ทุกอย่างถูกแบ่งแยก ห้องน้ำแบ่งว่าส่วนไหนของคนขาว ส่วนไหนของคนดำ ร้านอาหารก็กำหนดว่านี่คือร้านของคนขาวกิน หรือร้านของคนผิวสีกิน โรงแรม ที่พัก รวมไปถึงรถเมล์ก็มีการแบ่งที่นั่ง ข้างหน้าเป็นที่นั่งของคนผิวขาว คนดำต้องไปนั่งข้างหลัง

นี่คือกฎหมายสุดอัปยศที่เกิดขึ้นในช่วง ค.ศ.1880 แม้สงครามกลางเมืองจะทำให้อเมริกาแก้รัฐธรรมนูญไม่มีทาสผิวดำอีกต่อไป แต่การกดขี่ผ่านทางกฎหมายได้เกิดขึ้น กฎหมายแบ่งแยกคนดำคนขาวเกิดขึ้น ถูกเรียกว่ากฎหมาย Jim Crow ดูผ่านๆ เหมือนจะเป็นการแยกคนขาวคนดำจากการสุงสิงกัน แต่ลึกๆ แล้ว กฎหมายนี้ให้อำนาจคนขาวมากกว่า เหล่าคนผิวขาวสามารถเข้าห้องน้ำ กินข้าวร้านอาหารของคนดำได้ แต่คนดำไม่มีสิทธิ์ทำแบบนั้นกับสถานที่ซึ่งระบุจัดเตรียมไว้ให้แก่คนผิวขาวโดยเฉพาะ

กรณีรถเมล์กำหนดว่าที่นั่งแถวหน้าเป็นของคนขาวมีสิทธิ์นั่ง ส่วนแถวหลังเป็นของคนดำ ถ้าที่นั่งแถวหน้าเต็ม คนดำต้องลุกสละที่นั่งให้แก่คนขาว กฎหมายนี้ถือว่าการสุงสิงกันระหว่างคนดำกับคนขาวเป็นเรื่องผิดกฎหมาย ดังนั้น ต่อให้แถวรถเมล์นั่งได้ 4 คน แต่ถ้ามีคนขาวมานั่งเพียงคนเดียว คนดำที่เหลือต้องลุกยืนสละที่ให้กับคนขาว แม้จะเสียค่ารถเมล์เท่ากันก็ตาม

สำหรับคำว่า Jim Crow นั้น เป็นตัวละครที่ถูกวาดขึ้นกำเนิดมาเพื่อเหยียดหยามคนดำ พวกคนขาวจะแต่งหน้าสีดำและทำอะไรเปิ่นๆ เพื่อเหยียดว่าคนดำนั้นโง่ ไม่รู้จักอารยธรรมใดๆ ทั้งสิ้น

ความเลวร้ายของกฎหมายนี้ปรากฏในรัฐตอนใต้ของอเมริกา คนขาวก่อตั้งกลุ่มคูคลักซ์แคลนที่แต่งตัวด้วยชุดสีขาว คลั่งสีผิวตัวเอง ออกไล่ล่าฆ่าคนดำ หากคนดำปะปนกับคนผิวขาวหรือดูหมิ่นคนขาว กฎหมายรัฐตอนใต้อนุญาตให้กลุ่มคนขาวสามารถรุมประชาทัณฑ์คนดำได้ทันที

ขอย้ำว่านี่คือการกระทำที่ถูกต้องตามกฎหมาย

แม้มีผู้ยื่นตีความต่อศาลสูงสุดว่า กฎหมายลักษณะนี้ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ให้เสรีภาพแก่ประชาชนทุกคนไม่ว่าจะเพศ อายุ หรือสีผิวใดหรือไม่ แต่ในตอนนั้น ศาลสูงอเมริกากลับตัดสินว่ากฎหมายนี้ชอบด้วยหลักการแบ่งแยกอย่างเท่าเทียมแล้ว

การกดขี่ภายใต้กฎหมายจึงดำรงอยู่อย่างเจ็บปวด

 

2

โรซา พาร์กสใช้ชีวิตภายใต้กฎหมายอัปยศนี้ เธอทำงานรับจ้างเย็บปะผ้าในแผนกเสื้อผ้าของห้างแห่งหนึ่ง ภายหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุด สังคมอเมริกาเปลี่ยนไปมาก กลุ่มคนดำรวมตัวก่อตั้งสมาคมเรียกร้องความเท่าเทียมของพลเมืองผิวสี โรซา พาร์กสเข้าร่วมอย่างจริงจังหลายครั้ง เพราะคนดำแทบทุกคนในรัฐตอนใต้รู้ดีว่า กฎหมาย Jim Crow นั้นเลวร้ายแค่ไหน

รถเมล์เป็นยานพาหนะหลักของคนดำในการใช้เดินทางไปทำงาน คนขับรถเมล์ได้รับมอบอำนาจตามกฎหมายจากตำรวจให้สามารถบังคับสั่งผู้โดยสารต้องทำตามกฎหมายแบ่งแยกอย่างเท่าเทียม หลายครั้งคนขับรถเมล์จะแกล้งโดยสั่งให้คนดำซึ่งต้องมาจ่ายค่าโดยสารที่ประตูหน้า ลงจากรถให้ไปขึ้นประตูหลัง ระหว่างที่คนดำเดินลง คนขับรถเมล์ผิวขาวก็จะแกล้งขับรถออกไปทันที ทิ้งผู้โดยสารคนดำไว้ที่นั่น

โรซา พาร์กสเคยเจอเหตุการณ์นี้มาแล้ว โดยคนขับรถเมล์ผิวขาวที่ชื่อว่า เจมส์ เบลก เขาได้ไล่เธอลงจากประตูหน้าหลังจ่ายค่าโดยสารไปแล้ว โดยสั่งให้ไปขึ้นประตูหลัง ระหว่างที่โรซา พาร์กสลงจากรถเพื่อทำตามคำสั่ง รถเมล์ก็ได้ขับทิ้งเธอไป 

ในวันที่ 1 ธันวาคม 1955 โรซา พาร์กสเลิกจากการทำงานที่ห้าง เธอได้ขึ้นรถเมล์ที่มีเจมส์ เบลกเป็นคนขับ ซึ่งเคยแกล้งเธอเมื่อ 12 ปีก่อน วันนั้นพาร์กสขึ้นรถมาตามปกติ ไม่มีเหตุการณ์กลั่นแกล้งกัน เนื่องจากตอนนั้นคือช่วงเลิกงาน คนขึ้นรถเยอะมาก โดยที่นั่งแถวหน้า 10 แถวแรกสงวนที่ไว้สำหรับคนขาวมีคนนั่งหมดแล้ว แน่นอนก็คือพวกผิวขาวทั้งหมด ส่วนที่นั่งแถวหลัง 10 แถวก็มีคนดำนั่งหมด บางคนก็ยืน 

ในจังหวะนั้นรถเมล์ได้จอดรับคนขาวคนหนึ่งขึ้นรถ ตอนนี้เองเบลกได้ใช้อำนาจบอกให้คนดำ 4 คนแถวหลังที่นั่งคนขาวลุกยืนเพื่อให้คนขาว 1 คนนั่งตามกฎหมาย ทีแรกทั้ง 4 คนนิ่งเฉย เบลกจึงย้ำว่าต้องลุก ทำให้คนดำทั้ง 3 คนลุก

แต่คนดำอีกคนหนึ่งปฏิเสธจะลุกยืน เธอตอบไปว่า “ไม่” แม้เบลกจะข่มขู่ว่าเธอกำลังทำผิดกฎหมาย แต่เธอก็ยังคงยืนกรานตอบว่าไม่ดังเดิม พยานในรถบัสยืนยันว่า หญิงผิวดำจ้องตาโชเฟอร์ผิวขาวอย่างไม่เกรงกลัว ดวงตาแน่วแน่ คำพูดมั่นคง ในเมื่อจ่ายค่ารถเมล์เท่ากัน ทำไมต้องสละที่นั่งให้คนขาวด้วยล่ะ

นี่คือสิ่งที่โรซา พาร์กสทำ เธอไม่ลุกสละที่นั่งให้แก่คนขาว ทำให้เบลกต้องลงจากรถไปโทรศัพท์เพื่อตามตำรวจมาจับกุมเธอไปยังโรงพัก เพื่อนๆ ต่างช่วยกันประกันตัวเธอมาในวงเงิน 100 ดอลลาร์ฯ เมื่อขึ้นศาล โรซา พาร์กสถูกปรับเป็นเงิน 10 เหรียญฯ ข้อหาฝ่าฝืนกฎหมาย Jim Crow และต้องเสียค่าธรรมเนียมศาลอีก 4 เหรียญฯ ด้วย

นี่คือการทำผิดกฎหมาย แต่โรซา พาร์กสได้ก่อกำเนิดประกายไฟขึ้นมาอย่างทันที นั่นคือการประท้วงเพื่อบอกคนทั้งประเทศและทั้งโลกว่า นี่คือกฎหมายสุดอัปยศ ที่ไม่มีค่าให้ต้องเคารพปฏิบัติตาม

 

3

อย่างที่บอกว่าโรซา พาร์กสทำงานให้กับสมาคมของคนดำที่เรียกร้องความก้าวหน้าและสิทธิพลเมือง เดิมทีนั้น เหล่าทนายความและนักกิจกรรมคนดำต่างรู้ดีว่า ไม่วันใดก็วันหนึ่ง การไม่ลุกยืนให้คนขาวนั่งบนรถเมล์จะนำไปสู่การประท้วงเรียกร้องครั้งใหญ่ พวกเขาวางตัวโรซา พาร์กส ซึ่งตอนนั้นอายุ 42 ปี ไม่เคยทำอะไรผิดกฎหมาย มีภาพลักษณ์พลเมืองดี ไม่สร้างความหวาดกลัวให้คนขาว นั่นทำให้พวกเขาเตรียมตัวจุดการประท้วง แค่ยังไม่กำหนดวันเท่านั้น จนเมื่อพาร์กสตัดสินใจไม่ลุกให้คนขาวนั่งจริงๆ สมาคมคนดำต่างก็ยังไม่ได้คาดการณ์และล่วงรู้มาก่อน ดีที่มีการเตรียมงานไว้บ้าง เหตุการณ์ของพาร์กจึงกระพือปรากฏในหนังสือพิมพ์คนดำกระจายไปทั่วประเทศ ทำให้นักกิจกรรมผิวดำทั้งหลายเดินทางมาร่วมสนับสนุนพาร์ก ฝั่งทนายความก็ทำเรื่องต่อสู้ในชั้นศาลยืนยันว่า โรซา พาร์กสไม่ได้ทำอะไรผิด แต่เป็นเหยื่อของโครงสร้างการกดขี่ พวกเขาได้นำคดีนี้ขึ้นสู่ศาลสูงสุดพิจารณาอีกครั้งด้วย

ด้านนักกิจกรรมทางการเมืองทั้งหลายก็ออกโครงการประท้วงไม่ขึ้นรถเมล์ทันที คนดำจะเดินไปทำงาน ไม่ว่าจะใกล้ไกลแค่ไหน วันที่พาร์กสขึ้นศาลนั้น มีคนดำจำนวนมากแห่ร่วมให้กำลังใจ ในวันรุ่งขึ้น 6 ธันวาคม 1955 การประท้วงก็เริ่มขึ้น คนดำจำนวนกว่า 5,000 คนรวมตัวกันเดินไปทำงาน ระหว่างทางก็จะมีแท็กซี่คนดำมาจอดคอย หากใครเดินไม่ไหวก็ให้มาขึ้นแท็กซี่ โดยจะเสียค่าใช้จ่ายเท่ากับตั๋วรถเมล์เท่านั้น

เหตุการณ์ครั้งนี้กลายเป็นข่าวใหญ่สะเทือนสังคมอเมริกา เหล่าคนขาวคลั่งต่างไม่พอใจการกระทำครั้งนี้มาก พวกเขาก่อกวนทุกวิถีทางเพื่อไม่ให้การประท้วงอย่างสันตินี้ดำเนินต่อไปได้ ทั้งข่มขู่แท็กซี่คนดำว่าห้ามจอดรถรับ ทั้งข่มขู่การเดินไปทำงานถึงขั้นจับกุม ซึ่งทำให้โรซา พาร์กส โดนจับหลังทำการประท้วงในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 1956 แต่การประท้วงก็ยังดำเนินต่อไป หญิงสาวได้กล่าวไว้หลังโดนจับกุมว่า

“เราถูกปฏิบัติเหมือนเป็นพลเมืองชั้นสอง”

 

4

แท้จริงแล้ว ก่อนที่โรซา พาร์กสจะตัดสินใจไม่ลุกยืนให้คนขาวนั่ง มีวัยรุ่นหญิงผิวดำเคยทำมาก่อน โดยครั้งที่โด่งดังคือเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 1955 หรือ 9 เดือนก่อนเหตุการณ์ของพาร์กส ทางนางสาวคลอเดตต์ โคลวิน วัย 15 ปี ได้ขึ้นรถเมล์กับเพื่อนโรงเรียนเพื่อเดินทางไปโบสถ์ที่มาร์ติน ลูเธอร์คิง จูเนียร์จะปราศรัย ระหว่างนั้นมีวัยรุ่นหญิงผิวขาวขึ้นมาบนรถเมล์ ซึ่งที่นั่งคนขาวเต็มหมดแล้ว คนขับผิวขาวได้บอกให้นักเรียนผิวดำลุกยืน ทุกคนทำตามยกเว้นโคลวิน ซึ่งเห็นว่ามันใกล้จะถึงที่หมายแล้ว แถมอีกอย่างคนผิวขาวที่ต้องลุกก็ไม่ใช่เด็กหรือคนแก่ แต่คือวัยรุ่นเหมือนเธอ จ่ายค่าโดยสารเท่ากัน ทำไมต้องลุกด้วย

เมื่อเธอไม่ลุก คนขับรถได้เรียกตำรวจมาลากเธอลงจากรถใส่กุญแจมือ พูดจาข่มขู่คุกคาม แล้วยัดเธอเข้าห้องขังเสมือนอาชญากร ทั้งที่เธอเป็นเยาวชน และไม่ได้ทำความผิดไปฆ่าใคร เด็กหญิงถึงกับร้องไห้ออกมาในห้องขัง เธอยืนยันว่าการกระทำบนรถเมล์นั้นถูกต้องตามรัฐธรรมนูญทุกอย่าง เธอมีสิทธิ์ที่จะนั่งไม่ต้องลุกให้ใคร แต่ก็ถูกเจ้าหน้าที่จับกุมอย่างป่าเถื่อน

3 ชั่วโมงผ่านไป เพื่อนโรงเรียนไปแจ้งแม่ของโคลวินให้มาประกันตัว คืนนั้นคนดำต่างช่วยกันเฝ้ายามรอบบ้านเธอ พ่อของโคลวินนั่งหน้าบ้าน วางปืนไว้บนตักเพื่อป้องกันพวกคูคลักซ์แคลนจะบุกมาเผาบ้านและฆ่าเธอ ดีที่ไม่มีสิ่งเลวร้ายเกิดขึ้น

นักกิจกรรมและนักกฎหมายคนดำต่างรู้เรื่องของโคลวิน แต่เพราะความเป็นวัยรุ่นทำให้พวกเขาลังเลจะชูเธอเป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ แถมอีกไม่นานเธอก็ตั้งท้อง นั่นทำให้หลายฝ่ายกลัวว่า หากเอาเธอเป็นตัวชูโรง คนจะสนใจการท้องของเธอมากกว่าการประท้วงบอยคอตรถเมล์ นี่ทำให้เรื่องราวของโคลวินไม่ได้รับการพูดถึง แต่ทุกคนไปสนใจโรซา พาร์กส หญิงวัยกลางคน พูดจานิ่มๆ ท่าทางอัธยาศัยดี โคลวินบอกว่าเธอก็รู้จักพาร์กสจากที่โบสถ์ และรู้ว่าหญิงสาวคนนี้เป็นคนดี ภาพลักษณ์เหมาะกับการชูโรงประท้วงเรียกร้องสิทธิพลเมืองอย่างแท้จริง

การประท้วงบอยคอตรถเมล์นี้มีคนเข้าร่วมหลักหมื่น ทำให้ยอดคนขึ้นรถเมล์น้อยลง รายได้หาย แต่ต้นทุนของการประท้วงก็มีความเสี่ยงอย่างมาก เดือนกว่าๆ หลังพาร์กสเริ่มออกเดินไปทำงาน เธอก็โดนไล่ออก ไม่นับว่ายังถูกขู่ฆ่ามากมาย บ้านนักกฎหมายและนักกิจกรรมคนดำก็โดนปาระเบิด แถมการเดินขบวนประท้วงก็ไม่ค่อยเป็นข่าวในสื่อมวลชนมากนัก คนอเมริกันจำนวนมากในตอนนั้น (โดยเฉพาะคนขาว) ไม่ค่อยรู้จักเหตุการณ์นี้

แต่จิตใจแห่งนักต่อสู้ได้หล่อหลอมให้ต้องเดินหน้า การเดินขบวนประท้วงไม่ขึ้นรถเมล์ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องถึง 381 วัน จนกระทั่งศาลสูงสุด (ซึ่งมีผู้พิพากษาหัวก้าวหน้าอยู่เกินครึ่ง) ตัดสินว่ากฎหมาย Jim Crow นั้นผิดรัฐธรรมนูญ ทำให้การประท้วงยุติลง แน่นอนว่าการต่อสู้ยังไม่สิ้นสุด เพราะคนดำยังต้องต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองอย่างยาวนาน ชัยชนะครั้งนี้ทำให้คนขาวที่คลั่งผิวข่มขู่พาร์กสอย่างหนัก จนทำให้เธอและครอบครัวต้องย้ายออกจากรัฐไปอยู่ที่อื่นตลอดกาล

แม้จะต้องย้ายถิ่นฐาน แต่โรซา พาร์กสใช้ชีวิตหลังการประท้วงเข้าร่วมรณรงค์ทางการเมืองเพื่อคนดำอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งชีวิต ชื่อเสียงของเธอได้รับการเล่าขานในสังคมอเมริกันไม่ว่าจะสีผิวไหน ทุกคนต่างยกย่องกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งการต่อสู้ที่ยิ่งใหญ่ไปทั่วโลก เธอเสียชีวิตด้วยวัย 92 ปี ในวันที่ 24 ตุลาคม 2005 และกลายเป็นอมตะในฐานะตำนานที่ถูกเล่าขานจนถึงทุกวันนี้ 

ด้านตัวโคลวินเอง หลังจากชัยชนะของการประท้วง ก็ย้ายไปอยู่นิวยอร์กทำงานเป็นพยาบาล ใช้ชีวิตปกติ ได้อยู่เห็นความเปลี่ยนแปลงที่ก้าวหน้าของคนดำ แต่ไม่เคยบอกเล่าเรื่องราวของตัวเอง จนมีนักข่าวค้นพบเรื่องราวของเธอ นั่นทำให้โคลวินได้บอกเล่าเรื่องราวแสนภูมิใจให้โลกได้รับรู้

ถึงวันนี้ ความอัปยศทางสีผิวยังมีให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ดังนั้นการต่อสู้จึงต้องดำเนินต่อไป หาใช่ด้วยการร้องขอจากรัฐเบื้องบน แต่ต้องแลกมาด้วยการต่อสู้ที่ยากลำบากกว่าที่คนทั้งสังคมจะมองคนที่เท่ากัน และตระหนักเข้าใจถึงก้นบึ้งแห่งความอยุติธรรมของกฎหมายได้

ด้านเจมส์ เบลก โชเฟอร์ผิวขาวยังคงทำงานของตัวเองปกติ ตอนที่เขาเสียชีวิตในปี 2002 โรซา พาร์กสยังแสดงความเสียใจไม่คิดอาฆาต ตัวเบลกเองบอกว่าเขาไม่มีปัญหาอะไรส่วนตัวกับพาร์กสมาก่อน แค่ทำหน้าที่ของตัวเอง เมื่อกฎหมายเขียนแบบนี้ และพาร์กสกำลังละเมิด เขาก็ต้องทำตามกฎหมาย เรื่องราวของเบลกสะท้อนอะไรหลายอย่างของความไม่เป็นธรรมที่ถูกขับเคลื่อนด้วยคนตัวเล็กตัวน้อย ที่พร้อมจะค้ำจุนระบบเลวร้ายให้คงอยู่ไปได้

ในช่วงระหว่างการเดินประท้วงของโรซา พาร์กส นอกจากเธอจะถูกขู่ฆ่าตกงานแล้ว ยังมีคนพยายามทำลายความชอบธรรมของการประท้วงโดยบอกว่าที่พาร์กสไม่ยืนให้คนขาวนั่ง ก็เพราะว่าเธอเหนื่อยไม่อยากลุกต่างหาก ซึ่งหญิงสาวผู้เป็นตำนานได้ตอบโต้ถึงสาเหตุที่ไม่ลุกขึ้นยืนให้คนขาวนั่งว่า ฉันไม่ได้เหนื่อยกายเลย และไม่ได้เหนื่อยมากไปกว่าการเลิกงานตามปกติของวันทำงาน

“แต่ฉันแค่เหนื่อยที่จะต้องทนอยู่กับเรื่องแบบนี้ต่างหาก”

 

อ้างอิง

https://www.usatoday.com/story/news/nation/2020/12/01/rosa-parks-1955-arrest-led-desegregation-buses/6476115002/

https://www.thehenryford.org/explore/stories-of-innovation/what-if/rosa-parks/

https://www.nytimes.com/2021/02/01/opinion/rosa-parks.html

https://www.womenshistory.org/education-resources/biographies/rosa-parks

https://www.bbc.com/news/stories-43171799

https://www.latimes.com/archives/la-xpm-2002-mar-26-me-blake26-story.html

https://www.npr.org/2009/03/15/101719889/before-rosa-parks-there-was-claudette-colvin

Tags: , , , , ,