โลกร้อนเป็นเรื่องของทุกคน

ฉันกำลังกำปากกาไฮไลต์และค่อยๆ ขีดประโยคที่คิดว่าอยากจะกลับมาอ่านภายหลัง เมื่อจบบทแรกก็พบว่าตัวเองขีดไฮไลต์ไปเกือบหนึ่งในสามของตัวหนังสือในบทนั้น

แค่บทแรกบทเดียวก็ทำเอาคนอ่านแบบฉันหน้าสั่นไปหมด คำพูดของเด็กสาวที่ขณะนั้นอายุเพียง 15 ปี ทำให้ผู้ใหญ่อย่างเราต้องกลับมาคิดทบทวนว่าได้เคยเพิกเฉยและกำลังทำร้ายโลกที่วัยรุ่นอย่างพวกเขากำลังจะเติบโต และยังต้องอาศัยอยู่อีกนานกว่าพวกเรามากเพียงใด

หนังสือคุณได้ยินฉันไหมแบ่งเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่รวบรวมสุนทรพจน์เกี่ยวกับการเรียกร้องเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศของ เกรต้า ธุนเบิร์ก ส่วนที่สองคืองานเขียนจากครอบครัวของเธอ เป็นเรื่องของเธอกับน้องสาว ที่มีอิทธิพลต่อวิธีคิดและการมองโลกของพ่อแม่ โดยเฉพาะในเรื่องสภาพภูมิอากาศ และเกี่ยวกับการวินิจฉัยโรคของพวกเธอ

…..

เกรต้า ธุนเบิร์ก เด็กสาวชาวสวีเดน ปัจจุบันอายุ 17 ปี เธอเริ่มหยุดเรียนและนั่งประท้วงอยู่ด้านนอกของรัฐสภาสวีเดน เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลจริงจังกับการแก้ปัญหาวิกฤติโลกร้อนตอนอายุเพียง 15 ปี จากการดูภาพยนตร์เกี่ยวกับขยะในทะเล ที่ทำให้เธอร้องไห้ตลอดเรื่อง

เธอได้รับเลือกให้เป็นบุคคลแห่งปีของนิตยสาร TIME และยังมีชื่อเข้าชิงรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพที่มีอายุน้อยที่สุด ทั้งยังเป็นต้นแบบให้เด็กนักเรียนอีกหลายล้านคนทั่วโลกออกมาประท้วงเพื่อโลกของเรา

ฉันเคยอ่านเรื่องราวเกี่ยวกับเกรต้ามาก่อนหน้าจากข่าวต่างๆ และได้กลับมาทำความรู้จักกับเธออีกครั้งผ่านหนังสือเล่มนี้ ในขณะที่ค่อยๆ อ่านสุนทรพจน์ของเกรต้า ฉันนึกขึ้นได้ว่าเรื่องการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่มีผลต่ออุณหภูมิที่สูงขึ้นเป็นเรื่องที่ฉันได้ยินมามากกว่า 20 ปี และประเด็นภาวะโลกร้อนเคยได้รับความสนใจในระดับสากลอย่างล้นหลามอีกครั้งหนึ่งในปี 2006 กับภาพยนตร์เรื่อง An Inconvenient Turth และอีกครั้ง เมื่อเด็กมัธยมฯ ชาวสวีดิช อายุ 15 ปีหยุดเรียนออกมาเรียกร้องเรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศหน้ารัฐสภาสวีเดนในปี 2018 

หลายครั้งที่เราเห็นการประท้วง ส่วนใหญ่มักเกิดจากความคับแค้นใจที่ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชีวิตของพวกเขาเหล่านั้น เราเห็นการเรียกร้องของกลุ่มอาชีพที่ได้รับค่าจ้างอย่างไม่เป็นธรรม เช่นกลุ่มแรงงาน หรือเกษตรกรที่ถูกเอารัดเอาเปรียบ  sex workers ที่ถูกลดทอนความเป็นอาชีพและความเป็นมนุษย์ ทั้งยังมีการเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมกันทางเพศ และการเรียกร้องให้หยุดสร้างเขื่อน เหมือง หรือรุกล้ำที่ดิน ฯลฯ แต่เรื่องสิ่งแวดล้อมกลับเป็นเรื่องที่ยังได้รับการพูดถึงไม่มากพอ ทั้งๆ ที่หากมองกันอย่างตรงไปตรงมา เรื่องวิกฤติสภาพภูมิอากาศคือเรื่องที่ทุกคนจะต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

แต่คุณอาจคิดว่าไกลตัว คุณอาจไม่สนใจที่อากาศร้อนขึ้นทุกปีเพราะคุณมีเงินติดเครื่องปรับอากาศที่บ้าน คุณไม่สนใจฝุ่นควัน เพราะคุณมีเงินซื้อเครื่องกรองอากาศ คุณไม่สนใจน้ำท่วมเพราะคุณมีเงินซื้อรถขับ แม้พอฝนตกรถจะติดไม่เคลื่อนที่สามชั่วโมงก็ตาม

คุณอาจคิดว่าทำงานเก็บเงินเยอะๆ เพื่อซื้อความสะดวกสบายแล้วหนีปัญหาทั้งหมดเสียจะง่ายกว่า

แต่คุณคิดผิด

เพราะการเพิกเฉยต่อวิกฤติภูมิอากาศวันนี้ อาจทำให้คุณไม่มีโอกาสใช้เงินที่คุณแสวงหามาในอีก 20 ปีข้างหน้าก็ได้ ลูกหลานของคุณยิ่งแล้วใหญ่ เพราะมันอาจไม่มีโลกที่มนุษย์สามารถอาศัยได้สำหรับพวกเขาอีกต่อไปแล้ว

คุณรู้ไหมว่าเราอยู่ท่ามกลางการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่หก และอัตราการสูญพันธุ์ครั้งนี้เร็วกว่าอัตราที่ถือว่าปกติถึง 10,000 เท่า โดยสิ่งมีชีวิตถึง 200 สายพันธุ์กำลังสูญพันธุ์ไปในทุกๆ วัน

ฉันก็เพิ่งรู้ และยังพบว่าตัวเองไม่รู้อะไรอีกมากเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน แม่ของเกรต้าก็ได้กล่าวถึงประเด็นนี้หนังสือ ว่านั่นไม่ใช่เรื่องน่าอายเพราะเราต่างก็ขาดความรู้พื้นฐานที่จำเป็นเพื่อเข้าใจการเปลี่ยนแปลงที่เป็นผลมาจากชีวิตของเรา

ผู้มีอำนาจหรือรัฐบาลก็ไม่เคยทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ใหญ่พอที่เราตระหนักและตระหนก แม้แต่ในประเทศที่เหมือนจะอำนวยสิทธิขั้นพื้นฐานให้ประชาชนอย่างเต็มที่อย่างสวีเดนก็ตาม

ขอบคุณหนังสือเล่มนี้ที่ทำให้ฉันเริ่มตระหนก

คุณอาจคิดว่า ฉันประหยัดพลังงานแล้วไง ฉันแยกขยะอย่างจริงจัง ฉันลดการใช้บรรจุภัณฑ์แบบครั้งเดียว ฉันเลือกเดินในระยะทางที่พอจะทำได้แทนการเรียกแท็กซี่ แล้วฉันต้องทำอะไรอีก?

การดำเนินชีวิตแบบรักษ์โลกยังเป็นส่ิงที่เราไม่ควรละเลยในระดับบุคคล แต่มันจะมีประสิทธิภาพมากกว่า ถ้าบริษัทและผู้มีอำนาจตัดสินใจเหล่านั้นลงมือจัดการเรื่องสภาพภูมิอากาศอย่างจริงจังและกล้าหาญ

นี่คือสิ่งที่เกรต้าเฝ้าบอก

หากคุณได้อ่านสุนทรพจน์ของเด็กสาวคนนี้ คุณจะพบว่าข้อเรียกร้องของเธอมีเพียงอย่างเดียวเท่านั้นทำตามความตกลงปารีสและรายงานของไอพีซีซีเธอขอให้ผู้มีอำนาจให้คำมั่นว่าจะทำทุกอย่างในขอบเขตอำนาจเพื่อผลักดันธุรกิจหรือรัฐบาลของตัวเองให้สร้างโลกที่ร้อนขึ้นไม่ถึง 1.5 องศาเซลเซียส

เด็กเกินไปที่จะทำสิ่งนี้?

หลายคนอาจคิดว่านี่ไม่ใช่เรื่องของเด็กๆ อย่างเธอและนักเรียนหลายคนที่กำลังออกมาเรียกร้อง พวกเขาบอกว่าเธอควรอยู่ในโรงเรียน หรือไม่ก็ตั้งใจเรียนเพื่อโตขึ้นจะได้เป็นนักวิทยาศาสตร์ และแก้ไขวิกฤตินี้ แต่เธอยืนยันว่าวิธีแก้ไขมีอยู่แล้ว แต่ไม่มีใครใส่จะทำมันอย่างจริงจัง

ฉันจะเรียนเพื่ออนาคตไปทำไม ทั้งที่อีกไม่นานจะไม่มีอนาคตอีกต่อไปแล้ว ในเมื่อไม่มีใครทำอะไรเลยสักอย่างเพื่อปกป้องอนาคตที่ว่า

มีคนบอกว่ามีความหวังในเด็กอย่างพวกเราแต่เกรต้าไม่ได้ชื่นชอบคำพูดเหล่านั้น เธอโต้กลับว่าอาจไม่มีเวลาเติบโตพอจะรับผิดชอบเรื่องนี้เมื่อถึงวัยที่มีอำนาจทำได้ เพราะภายในปี 2020 นี้ กราฟการปล่อยก๊าซต้องดิ่งลงแล้ว

ตามรายงานของไอพีซีซี มนุษย์เหลือเวลาประมาณสิบปีก่อนที่เราจะจุดชนวนปฏิกิริยาลูกโซ่เหนือการควบคุมของมนุษย์ที่ไม่อาจย้อนคืน นั่นคือลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงอย่างต่ำ 50 เปอร์เซ็นต์ให้ได้ภายในปี 2030 

นั่นแปลว่าทุกอย่างอาจสายเกินไปถ้าไม่เริ่มตอนนี้

เราอยู่ในโลกที่แปลกประหลาด ที่เด็กๆ ต้องสละการศึกษาของตัวเองมาปกป้องอนาคตของพวกเขาไม่ให้ถูกทำลาย 

ที่ที่คนซึ่งมีส่วนในการก่อวิกฤตินี้น้อยที่สุดกลับเป็นคนที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

ที่ที่นักการเมืองบอกว่าการปกป้องโลกมีราคาแพงเกินไป ขณะที่ใช้เงินหลายล้านล้านยูโรอุดหนุนพลังงานฟอสซิล

ที่ที่บางคนดูจะห่วงเรื่องการไปโรงเรียนของเด็กบางคนมากกว่าอนาคตของมนุษยชาติ

เกรต้าบอกว่าเธอและเยาวชนที่ออกมาคือกลุ่มที่ต้องเผชิญกับผลร้ายเหล่านี้มากที่สุดแต่กลับไม่ได้รับอนุญาตให้โหวตด้วยซ้ำ ไม่ได้อยู่ในฐานะที่จะตัดสินใจเรื่องธุรกิจ การเมือง วิศวกรรม สื่อ การศึกษา หรือวิทยาศาสตร์ 

คุณต้องฟังเรา เราที่โหวตไม่ได้” 

และนี่เป็นอีกครั้งที่ทำให้ฉันรู้สึกว่าทำไมต้องฟัง เมื่อมีเยาวชนออกมาเรียกร้อง

ไฟกำลังไหมบ้านของเรา

เมื่ออ่านหนังสือเล่มนี้จบแล้ว ฉันยอมรับว่าการต้องใช้ชีวิตแบบปล่อยก๊าซเป็นศูนย์นั้นเป็นเรื่องยาก คุณต้องหยุดบิน คุณต้องไม่ขับรถ คุณต้องหยุดกินเนื้อสัตว์ แต่ประโยคหนึ่งขอเกรต้าทำให้ฉันได้ฉุกคิด 

ทุกคนเคยชินกับความคิดที่ว่าทุกสิ่งควรปรับตัวเข้ากับความต้องการของตัวเอง”  

และเมื่อคิดว่าการหยุดบิน กับการต้องใช้ชีวิตอยู่โดยจะมีอุณหภูมิสูงขึ้นสี่องศา อะไรดูจะเป็นไปได้มากกว่ากัน 

ลองนึกภาพอากาศเดือนเมษายนในเมืองไทยที่อุณหภูมิ 44 องศาเซียลเซียสสิ นั่นอาจทำให้เราต้องกลับมาคิดว่า เราเรียกร้องกันแทบตายเพื่อให้ได้มีสังคมอยากที่เราอยากได้ สังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน สังคมที่เรามีสิทธิเสรีภาพในการแสดงออก สังคมที่มีรัฐสวัสดิการที่ดี แต่เราอาจลืมไปว่าเรายังต้องการสังคมที่มีอากาศบริสุทธิ์หายใจ สังคมที่น้ำไม่ท่วมทุกปี หรือเราอยากอยู่ในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอันไม่อาจควบคุมได้อีกแล้ว

หากถามว่าเราต้องตระหนกหรือจัดการกับวิกฤติสภาพภูมิอากาศขนาดไหน นั่นก็คือทำให้เหมือนว่าไฟกำลังไหมบ้านของเราเพราะคุณคงไม่แค่นั่งลงแล้วพูดคุยว่าจะสร้างบ้านใหม่ให้ดีอย่างไร แต่คุณจะต้องแน่ใจว่าทุกคนออกจากบ้านหมดแล้ว และโทรแจ้งหน่วยดับเพลิง คุณต้องแตกตื่นในระดับนี้ 

นั่นคือสิ่งที่เกรต้าบอก

Fact Box

  • คุณได้ยินฉันไหม’ เขียน: เกรต้า ธุนเบิร์ก ร่วมกับ มาเลน่า แอร์นแมน, สแวนเต้ ธุนเบิร์ก และบีเอต้า แอร์นแมน แปล: จินดารัตน์ ธรรมรงวุทย์ สำนักพิมพ์: Amarin How-To
Tags: , ,