เกษียณไปแล้วจะอยู่ที่ไหนดี
เชื่อว่า การตามหา ‘บ้านหลังสุดท้าย’ ที่เราจะใช้ชีวิตอย่างสุขสบายใจ คงกลายเป็นหนึ่งในลิสต์การวางแผนชีวิตหลังเกษียณอายุของใครหลายคน โดยเฉพาะในวันที่โลกกำลังเผชิญวิกฤตสังคมสูงวัย (Aging Society) สะท้อนจากการที่องค์การอนามัยโลก (World Health Organization: WHO) เผยข้อมูลว่า ภายในปี 2030 ประชากร 1 ใน 6 ของโลกจะมีอายุ 60 ปีขึ้นไป โดยเพิ่มขึ้นถึง 1,400 ล้านคน จากตัวเลขในปี 2020 คือ 1,000 ล้านคน
นอกเหนือจากคำตอบสุดคลาสสิกอย่างบ้านพักคนชรา ทางเลือกหนึ่งที่กำลังเติบโตในฐานะทั้งในฐานะโครงการของรัฐ และธุรกิจสุดน่าจับตามองในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาคือ หมู่บ้านคนสูงวัย (Retirement Community) ที่นำแนวคิด Co-housing หรือชุมชนที่เน้นความเข้มแข็ง ใกล้ชิด และสร้างปฏิสัมพันธ์ภายในคอมมูนิตี้ เข้ามาประยุกต์ผสมผสานสภาพแวดล้อมสำหรับคนชรา เพื่อตอบโจทย์ความต้องการสำหรับผู้ที่ต้องการใช้ชีวิต หรือทำกิจกรรมร่วมกับผู้อื่นแบบไม่เหงาเดียวดายอีกต่อไป
The Momentum อยากชวนทุกคนออกสำรวจหมู่บ้านผู้สูงวัย 6 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ญี่ปุ่น อิตาลี ฟินแลนด์ สวีเดน ออสเตรเลีย และไทย เพื่อร่วมกันถอดบทเรียน หาคำตอบ และออกแบบชีวิตที่อยากเป็นหลังเกษียณนับจากนี้ไปพร้อมกัน
1. ญี่ปุ่น
จากประชากรทั้งหมดกว่า 124.4 ล้านคน มีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 35.6
อ้างอิงข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (United Nations: UN) ในปี 2024 ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีผู้สูงอายุเป็นอันดับ 1 ของเอเชียและอันดับต้นๆ ของโลก คิดเป็น 35.6% ของจำนวนทั้งหมด อย่างไรก็ตามในภาพรวม ญี่ปุ่นมีรากฐานเข้มแข็งในด้านสวัสดิการสำหรับคนชรา สะท้อนจากงบประมาณสำหรับผู้สูงอายุทั้งหมดคิดเป็น 21.5% ของ GDP
ปกติแล้วผู้สูงอายุในญี่ปุ่นมักนิยมอาศัยอยู่กับครอบครัว สืบเนื่องจากโครงสร้างสังคมแบบเอเชียที่สั่งสมค่านิยมว่า ลูกต้องดูแลพ่อแม่ในยามแก่เฒ่า บ้านพักชราจึงไม่ใช่สถานที่ที่นิยมเหมือนกับหลายประเทศในโลกตะวันตก ทว่าปัญหาที่ตามมาคือ ผู้สูงอายุจำนวนมากถูกปล่อยปละละเลย บ้างถูกทิ้งให้อยู่ในโรงพยาบาล หรือไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี ทำให้ในช่วงหลังทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา บริการด้านคนชราต้องขยายขอบเขตด้านอื่นๆ โดยเฉพาะการให้บริการที่พักพิง
หนึ่งในตัวอย่างหมู่บ้านคนชราที่น่าสนใจคือ โครงการ Share Kanazawa ตั้งอยู่เมืองคานาซาวะ ที่เกิดขึ้นจากแผนพัฒนาพื้นที่รกร้าง ตามไอเดียของ เรียวเซ โอยะ (Ryosei Oya) ผู้อำนวยการกลุ่ม Bussi-En องค์กรเพื่อสังคมเพื่อเป็นที่พักพิงสำหรับคนชราและผู้บกพร่องทางการใช้ชีวิต
Share Kanazawa มีลักษณะเหมือนกับ Co-housing ทั่วไป เป็นชุมชนที่มีพื้นที่กว้างราว 3.6 หมื่นตารางเมตร มีห้องพัก 32 ห้อง และพื้นที่ส่วนกลางให้ทำกิจกรรมหลากหลาย เช่น พื้นที่เล่นดนตรี อ่านหนังสือ ห้องกินข้าว ห้องเรียน สนามกีฬา หรือซูเปอร์มาร์เก็ตขนาดย่อม ให้จับจ่ายใช้สอยสินค้าที่ชุมชนผลิตขึ้นเอง ขณะที่ยังประกอบด้วยสาธารณูปโภคอย่างห้องซักผ้า ออนเซ็น หรือโรงอาหารที่ได้รับงบประมาณอุดหนุนจากรัฐบาล
เรียวเซย โอยะ (Ryosei Oya) ผู้อำนวยการกลุ่ม Bussi-En องค์กรเพื่อสังคมที่ดูแล Share Kanazawa เปิดเผยผ่าน The Japan Times ว่า เริ่มแรกเขาไม่ได้ตั้งใจจะรับคนชราต่างพื้นที่ แต่สถานที่แห่งนี้มีความเฉพาะตัว ทำให้มีผู้คนหลากหลายเข้ามาอาศัยอยู่ ขณะที่บทความยังทิ้งท้ายให้สถานที่แห่งนี้เป็นต้นแบบการพัฒนาพื้นที่รกร้างเพื่อนำมาต่อยอด นอกเหนือจากการเป็นชุมชนของผู้สูงอายุ หลังรัฐบาลเผยข้อมูลในปี 2014 ว่า ญี่ปุ่นยังเต็มไปด้วยบ้านร้างมากกว่า 8.2 ล้านหลัง สืบเนื่องจากภาวะประชากรลดลง
2. อิตาลี
จากประชากรทั้งหมดกว่า 59.5 ล้านคน มีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 31.4%
อิตาลีเป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงอายุมากที่สุดในทวีปยุโรป หนึ่งในเหตุผลสำคัญคืออัตราการเกิดน้อยกว่าการตาย และประชาชนมีอายุยืนยาวขึ้น ความโชคดีอย่างหนึ่งของคนชราในอิตาลีคือการมีสวัสดิการจากรัฐที่เข้มแข็ง เช่น เงินบำนาญ ระบบประกันสุขภาพฟรี และเงินอุดหนุนมูลค่า 1,380 ยูโร (ประมาณ 4.9 หมื่นบาท) ต่อเดือนสำหรับคนชราอายุ 80 ปีขึ้นไปที่อยู่ในภาวะยากไร้ ซึ่งงบประมาณที่ใช้มีมูลค่าสูงถึง 15% ของ GDP และอาจเพิ่มขึ้น 17% ในปี 2042
เนื่องจากสวัสดิการสังคมของอิตาลีที่ได้รับการกล่าวขานว่า ‘ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง’ ทำให้ที่พักอาศัยสำหรับคนชราในอิตาลีแพร่หลายเป็นพิเศษ โดยโครงการที่โด่งดังคือ Vivere Over หมู่บ้านผู้สูงอายุ ทางเลือกหนึ่งสำหรับครอบครัวที่ไม่มีเวลาดูแลคนชราในบ้าน พร้อมด้วยพื้นที่ส่วนกลาง และบริการช่วยเหลือทางการแพทย์ในหลายพื้นที่ เช่น
1. Villa Lina ตั้งอยู่ในแคว้นเวโรนา มีอะพาร์ตเมนต์ทั้งหมด 12 แห่ง และบ้านพักในบ้านอีก 10 แห่ง พร้อมสิ่งอำนวยความสะดวก และชมรมสำหรับทำกิจกรรม ราคาทั้งสิ้น 490 ยูโร (ประมาณ 1.7 หมื่นบาท) ต่อสัปดาห์ รวมอาหารครบทุกมื้อฟรี
2. Fonte Lurentina ตั้งอยู่ในกรุงโรม ห่างใจกลางเมือง 13 กิโลเมตร การเดินทางสะดวก มีอะพาร์ตเมนต์ 52 ห้อง และบ้านพักในบ้านอีก 12 ห้อง ราคาทั้งสิ้น 472 ยูโร (ประมาณ 1.6 หมื่นบาท) ต่อสัปดาห์ พร้อมอาหารทุกมื้อฟรี
3. Aris ตั้งอยู่ในย่านกรุงโรม มีห้องเดี่ยวทั้งหมด 64 และห้องพักสำหรับ 2 คน 8 ห้อง รวมพื้นที่ส่วนกลาง สระว่ายน้ำ พื้นที่ปาร์ตี้บาร์บีคิว สวนขนาดใหญ่ ราคาทั้งหมด 549 ยูโร (ประมาณ 1.9 หมื่นบาท) ต่อสัปดาห์ พร้อมอาหารฟรีทุกมื้อ
3. ฟินแลนด์
จากประชากรทั้งหมดกว่า 5.6 ล้านคน มีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 30.3
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีสัดส่วนประชากรผู้สูงอายุสูงเป็นลำดับต้นๆ ของโลกและยุโรป อีกทั้งยังเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุเพิ่มขึ้นรวดเร็วมากที่สุดในยุโรป และกลุ่มประเทศองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD)
ด้วยความเป็นประเทศกลุ่มนอร์ดิกที่มีสวัสดิการทางสังคมแข็งแรง ส่งผลให้ฟินแลนด์มีระบบสวัสดิการผู้สูงอายุเป็นรูปธรรม ทั้งในระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ ได้แก่ นโยบายอุดหนุนที่พักอาศัย การดูแลสุขภาพ การอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน เช่น การเดินทางไปข้างนอก
นอกจากนี้รัฐบาลฟินแลนด์ยังมีแผนรับมือกลุ่มผู้สูงอายุคือ National Plan on Ageing for 2030 โดยเนื้อหาส่วนหนึ่งคือ การขยายขีดความสามารถในการทำงานของผู้สูงอายุ, การเตรียมความพร้อมรับมือชีวิตหลังเกษียณในกลุ่มวัยกลางคน (Middle Age), กฎหมายการป้องกันการเลือกปฏิบัติ (Discrimination) ต่อคนชราในการทำงาน
อันที่จริงแล้ว ฟินแลนด์เป็นประเทศที่เต็มไปด้วยที่พักอาศัยสำหรับคนชรา โดยมีตัวอย่างที่น่าสนใจ เช่น โครงการ Aedifica ที่อยู่ในรูปแบบการให้บริการชุมชน (Service Community) โดยหัวใจสำคัญคือ การนำกลุ่มผู้สูงอายุและเยาวชน เข้ามาอยู่อาศัยและทำกิจกรรมร่วมกัน
โครงการนี้มีชุมชนทั้งหมด 8 แห่งทั่วประเทศ หนึ่งในนั้นคือ Satamatie Service Community ตั้งอยู่เมืองโอลู ที่มีกำหนดการเปิดให้บริการปลายปี 2024 ในอดีตเคยเป็นอาคารโกดังเก่า แต่ภายหลัง ได้รับการพัฒนาให้กลายเป็นพื้นที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุ ประกอบด้วยบ้านพัก 90 แห่ง และอะพาร์ตเมนต์ราว 40 แห่ง
นอกจากนี้โครงการแห่งนี้ยังออกแบบพื้นที่ให้เด็กและคนชราใช้สอยร่วมกัน อีกทั้งยังมีพื้นที่ส่วนกลางอื่นๆ คือ สนามกลางแจ้ง ยิม ซาวน่า พื้นที่กายบำบัด และสถานที่รับเลี้ยงสุนัข รวมถึงการให้บริการด้านอาหาร และการใช้ชีวิตประจำวันอีกด้วย
4. สวีเดน
จากประชากรทั้งหมดกว่า 10.6 ล้านคน มีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 26.1
สวีเดนเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้สูงอายุสูงมาก โดยมีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปี เกิน 20% หรือเป็น ‘สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด’ ตั้งแต่ปี 2023 (ไทยยังเป็น ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ เท่านั้น)
อายุคาดเฉลี่ย (Life Expectancy) ของคนสวีเดนก็ยังสูงเป็นอันดับต้นๆ ของโลกที่ 83.4 ปี โดยปัจจัยสำคัญคือสุขภาพของประชาชนแข็งแรง และระบบบริการสุขภาพมีคุณภาพสูง พลเมืองสามารถเข้าถึงได้อย่างถ้วนหน้า ส่วนสวัสดิการผู้สูงอายุได้รับการันตีจากรัฐบาลภายใต้กฎหมายบริการสังคม (Social Service Act) ที่มีหน่วยงานท้องถิ่นรับผิดชอบ ซึ่งเงินดูแลทั้งหมดจะมาจากภาษีและเงินอุดหนุนจากรัฐบาล
ประเด็นด้านสวัสดิการที่รัฐบาลสวีเดนให้ความสำคัญมาโดยตลอดคือ การสร้างที่พักอาศัยสำหรับคนชราและผู้พิการภายใต้โครงการ Senior Housing โดยคุณสมบัติของผู้อาศัยเริ่มต้นที่อายุ 55 ปีขึ้นไป มีทั้งโครงการที่สร้างใหม่ หรือการปรับปรุงบ้านที่มีอยู่ให้เหมาะสมกับการพักอาศัยสำหรับคนชรา
ตัวอย่างที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุที่น่าสนใจและโด่งดังในสวีเดนคือ หมู่บ้าน SällBo ซึ่งมาจาก 2 คำว่า Sällskap แปลว่าการอยู่ร่วมกัน และ Bo คือการอาศัย เป็นอะพาร์ตเมนต์ย่านเฮลซิงบอร์ก (Helsingborg) โดยความพิเศษคือ การนำผู้สูงอายุ นักเรียน และผู้ลี้ภัยที่อายุต่ำกว่า 25 ปี มาอาศัยอยู่ด้วยเพื่อแก้ไขปัญหา ‘ความเหงา’ วิกฤตที่ดูธรรมดา แต่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับชาวสวีเดน สะท้อนจากงานวิจัยในปี 2019 ที่เผยว่า คนสวีเดน 59% รู้สึกโดดเดี่ยว และ 1 ใน 3 คิดว่าภาวะดังกล่าวเป็นปัญหาใหญ่
เดิม SällBo ถูกใช้เป็นอาคารที่อยู่อาศัยสำหรับผู้สูงอายุตั้งแต่ช่วงปี 1960 จนกระทั่งเวลาผ่านไปในปี 2015 ยุโรปเผชิญภาวะการหลั่งไหลของผู้อพยพ พื้นที่แห่งนี้จึงค่อยๆ แปรเปลี่ยนสภาพ ให้มารองรับผู้ลี้ภัยด้วย
SällBo เป็นอะพาร์ตเมนต์ขนาดใหญ่ มีห้องทั้งหมด 51 ยูนิต แบ่งเป็น 31 ห้องสำหรับผู้สูงอายุ ส่วนอีก 20 ห้องสำหรับวัยรุ่นที่อายุ 18-25 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นทั้งนักเรียน ผู้อพยพ หรือผู้กำลังขอสถานะลี้ภัย โดยมีพื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ ยิม ห้องโยคะ ห้องครัวส่วนกลาง สตูดิโอผลงานศิลปะ สวนปลูกผัก และห้องเล่นเกม
“เป็นความคิดที่ดีที่พวกเราได้มาอยู่ด้วย แทนที่จะนั่งในแฟลตเล็กๆ แห่งหนึ่ง” กันเนิล เอริกสัน (Gunnel Ericsson) ผู้อาศัยวัย 68 ปี ให้สัมภาษณ์กับ WeForum โดยเธออธิบายว่า เธอรู้สึกเหงาเดียวดาย หลังสามีเสียชีวิต จนไม่ได้คุยกับใคร
สำหรับค่าใช้จ่ายของอะพาร์ตเมนต์แห่งนี้อยู่ที่ 400 ยูโร (ประมาณ 1.4 หมื่นบาท) ต่อสัปดาห์ ภายใต้เงื่อนไขสำคัญคือ ต้องเซ็นสัญญาและมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชน 2 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ โดยที่ผู้เช่าจะได้รับการคัดเลือกผ่านการสัมภาษณ์ ที่จะเน้นให้ความสำคัญเรื่องความหลากหลาย
5. ออสเตรเลีย
จากประชากรทั้งหมดกว่า 26.5 ล้านคน มีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 23.1
แม้ออสเตรเลียไม่ใช่ประเทศอันดับต้นที่เผชิญวิกฤตผู้สูงอายุอย่างจริงจัง แต่สถานการณ์ถือว่าน่าจับตามองในบรรดากลุ่มประเทศโอเชียเนีย โดยข้อมูลจาก TIME ในปี 2023 เผยว่า จำนวนผู้สูงอายุ 60 ปีในออสเตรเลียอาจเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่าในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่องบประมาณด้านสวัสดิการคนชรา เพิ่มจาก 8% เป็น 15% ของ GDP ประเทศ
สำหรับในประเด็นด้านสวัสดิการ แม้ออสเตรเลียเป็นประเทศที่ไม่ได้กำหนดอายุเกษียณอย่างเป็นทางการ หากแต่เงื่อนไขในการได้เงินบำนาญคือต้องมีอายุ 67 ปีขึ้นไป ขณะที่เงื่อนไขของรัฐบาลในการได้รับบริการดูแลผู้สูงอายุ จำกัดไว้ที่ผู้มีอายุ 65 ปีขึ้นไป ยกเว้นชาวอะบอริจินหรือชนพื้นเมืองในช่องแคบทอร์เรส (Torres Strait) ที่อายุ 50 ปีขึ้นไป โดยรายละเอียดสวัสดิการบางส่วน ได้แก่ การดูแลในการใช้ชีวิตประจำวัน และบริการหมู่บ้านเกษียณอายุหลากหลายประเภท แต่ผู้เช่าต้องออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ภาพ: RetireAustralia
หนึ่งในโปรเจกต์หมู่บ้านผู้สูงอายุคือ โครงการ RetireAustralia ประกอบด้วยชุมชนมากกว่า 29 แห่งทั่วประเทศ ได้แก่ รัฐนิวเซาท์เวลส์ รัฐควีนส์แลนด์ และรัฐเซาท์ออสเตรเลีย เช่น
1. โครงการ Queens Park Retirement Village หมู่บ้านผู้สูงอายุที่ประกอบบ้านและอะพาร์ตเมนต์ โดยมีลักษณะเด่นคือ การออกแบบที่คำนึงถึงการใช้ชีวิตของคนชรา มีทีมรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง และพื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ สระว่ายน้ำ ห้องสมุด ร้านทำผม ห้องรับประทานอาหาร พื้นที่พักผ่อน พื้นที่สันทนาการ ราคาซื้อของอะพาร์ตเมนต์อยู่ที่ 6.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 22 ล้านบาท) ขณะที่บ้านราคา 8.25 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28 ล้านบาท)
2. โครงการ Green Tarragindi Retirement Village หมู่บ้านผู้สูงอายุใจกลางเมือง สภาพแวดล้อมแบบเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีหน่วยรักษาความปลอดภัยตลอด 24 ชั่วโมง มีพื้นที่ส่วนกลางให้ผู้สูงอายุร่วมทำกิจกรรม มีราคาระหว่าง 8 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 28 ล้านบาท) ถึงมากกว่า 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 35 ล้านบาท)
3. โครงการ Bramblewood Retirement Village หมู่บ้านผู้สูงอายุที่ประกอบด้วยบ้าน 60 หลัง พร้อมด้วยระบบรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ผู้ซื้อสามารถเลี้ยงสัตว์ได้ มีพื้นที่ส่วนกลาง ได้แก่ พื้นที่สันทนาการ สระว่ายน้ำ ห้องสมุด และศูนย์ให้บริการชุมชน โดยแบ่งระดับตามขนาดพื้นที่และประเภทการใช้สอย เช่น อะพาร์ตเมนต์หรือห้องพัก 1-2 ห้องนอน ระหว่าง 2 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 6 ล้านบาท) ถึง 6.5 แสนดอลลาร์สหรัฐฯ (ประมาณ 22 ล้านบาท)
6. ไทย
จากประชากรทั้งหมดกว่า 65.0 ล้านคน มีประชากรอายุเกิน 60 ปี คิดเป็น 20.9
จากข้อมูลของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ในปี 2567 ไทยจะมีจำนวนผู้สูงอายุทั้งหมด 13.6 ล้านคน จากจำนวนประชากรทั้งหมด 65 ล้านคน คิดเป็น 20.9% ถือเป็น ‘สังคมสูงวัยอย่างสมบูรณ์’ คือมีประชากรอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 20% โดยองค์การอนามัยโลกคาดว่า ไทยจะเป็น ‘สังคมสูงวัยขั้นสุดยอด’ คือมีประชากรอายุเกิน 65 ปี มากกว่า 20% ภายในทศวรรษหน้า
เวลาที่พูดถึงที่อยู่อาศัยสำหรับคนวัยเกษียณ เรามักจะนึกถึง ‘บ้านพักคนชรา’ ของภาครัฐ แต่อันที่จริงแล้ว กระแสหมู่บ้านผู้สูงวัยกำลังเป็นที่นิยมและเติบโตขึ้นมากขึ้นในไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ภายใต้เทรนด์ธุรกิจเกี่ยวกับคนสูงวัย (Silver Economy) จนกลายเป็นธุรกิจสำหรับหมู่บ้านจัดสรรหลายแห่ง
1. จิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ (Jin Wellbeing County) โครงการคอนโดมิเนียมผู้สูงวัยของเครือโรงพยาบาลธนบุรี จำนวน 7 ชั้น 5 อาคาร ขนาด 494 ยูนิต ตั้งอยู่ในจังหวัดปทุมธานี และเตรียมขยายไปยัง 5 พื้นที่หัวเมืองหลัก ได้แก่ เชียงใหม่ เชียงราย เขาใหญ่ สมุย และภูเก็ต
จุดเด่นสำคัญจิณณ์ เวลบีอิ้ง เคาน์ตี้ คือ มีพื้นที่ส่วนกลาง การทำกิจกรรมร่วมกับเพื่อนผู้สูงอายุทั้งในและนอกสถานที่ บริการตรวจสุขภาพ รวมถึงมีโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยติดเตียง พร้อมใช้เทคโนโลยีติดตามความเป็นอยู่ของคนไข้ ขณะที่ในกรณีที่มีผู้เสียชีวิต โครงการจะช่วยดูแลขั้นตอนการจัดพิธีศพทั้งหมด โดยราคาขายอยู่ที่ระหว่าง 4.3-6.9 ล้านบาท
2. ศุภวัฒนาลัย (Supalai Wellness Valley) โครงการบ้านผู้สูงอายุ ตั้งอยู่ที่อำเภอแก่งคอย จังหวัดสระบุรี โดยเฟสแรกของโครงการประกอบด้วยบ้าน 65 หลัง จากทั้งโครงการคือ 144 หลัง
จุดเด่นของหมู่บ้านนี้คือ การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติและใกล้โค้งแม่น้ำป่าสัก ขณะที่สวัสดิการและแพ็กเกจเบื้องต้น ได้แก่ บ้าน 1 หลัง พร้อมเข้าอยู่ โดยมีการออกแบบดีไซน์สภาพแวดล้อมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น พื้นห้องน้ำกันลื่น และปุ่มฉุกเฉิน ขณะที่มีกิจกรรมเน้นปฏิสัมพันธ์ร่วมกับคนในชุมชนจากพื้นที่ส่วนกลาง เช่น ว่ายน้ำ, สอนทำอาหาร เล่นโยคะ กิจกรรมวาดรูป สันทนาการประเภท Walk Rally รวมถึงมีเจ้าหน้าที่พยาบาลรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง โดยสามารถเข้าอยู่ด้วยสัญญาเช่า ใน 2 รูปแบบคือเช่า 30 ปี และเช่าตลอดชีวิต ที่ผู้เช่าต้องมีอายุ 50 ปีขึ้นไป ที่อัตราค่าเช่าจะแตกต่างกันไปตามขนาดและทำเลของห้อง 1.3-1.8 ล้านบาทขึ้นไป
3. Senior Project Complex ‘รามาฯ-ธนารักษ์’ โครงการที่พักอาศัยผู้สูงอายุครบวงจรของภาครัฐ หลังมีมติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบสร้างหมู่บ้านแห่งนี้บนที่ดินราชพัสดุร่วมกับโรงพยาบาลรามาธิบดีในปี 2016 โดยโครงการนี้ตั้งอยู่ย่านบางพลี-สมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ โดยโครงการระยะที่ 1 มีห้องพักทั้งหมด 891 ห้อง หรือคิดเป็นเนื้อที่ 49.66 ตารางเมตรต่อห้อง
ตามเว็บไซต์จากทางการ โครงการรามาฯ-ธนารักษ์ออกแบบที่อยู่อาศัยภายใต้หลักสถาปัตยกรรมเพื่อทุกคน (Universal Architecture) มีการแบ่งโซนพื้นที่เป็น 3 ส่วน คือ โรงพยาบาล บ้านพักคนชรา และคอนโดมิเนียม พร้อมพื้นที่ส่วนกลางและพื้นที่จัดกิจกรรมสำหรับผู้สูงอายุ เช่น สระว่ายน้ำ ฟิตเนส หรืออาคาร Club Hose ฯลฯ
สำหรับวิธีการเข้าพักอาศัยจะต้องเข้าเกณฑ์ดังนี้ 1. ผู้เข้าพักต้องมีอายุ 58 ปีขึ้นไป 2. มีรายได้หลังเกษียณขั้นต่ำเดือนละ 3 หมื่นบาท และ 3. สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ โดยต้องผ่านการคัดกรองสุขภาพ หากผ่านการคัดเลือกแล้ว ผู้ที่ได้รับสิทธิต้องจ่ายค่าห้องพักอยู่ที่ 1.8-3 ล้านบาท
4. วิลลา มีสุข เรสซิเดนท์เซส โครงการที่พักอาศัยสำหรับผู้สูงอายุของมีสุขโซไซตี้ (Meesuk Society) ตั้งอยู่อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ โดยพื้นที่อยู่อาศัยแบ่งออกได้ 2 ประเภทคือ วิลลาส่วนตัวและคอนโดมิเนียม
ที่อยู่อาศัยประเภทวิลล่าส่วนตัวประกอบด้วยบ้าน 17 หลัง มีบริการต่างๆ เช่น พนักงานช่วยเหลือ 24 ชั่วโมง, บริการอาหารเพื่อสุขภาพ, เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย รวมถึงคนทำสวน ซักอบรีด หรือจ่ายตลาด ขณะที่ยังมีบริการทำผม นวดผ่อนคลาย หรือนำเที่ยวอีกดว้ย
ขณะที่คอนโดมิเนียมออกแบบด้วยดีไซน์สำหรับผู้สูงอายุ เช่น มีปุ่มฉุกเฉิน เน้นการระบายอากาศ และมีประตูบานเลื่อน ขณะที่ยังมีพื้นใช้สอยอื่นๆ เช่น ห้องเล่นเกม ห้องอเนกประสงค์ ฟิตเนส หรือลู่วิ่งจ็อกกิง ฯลฯ
สำหรับค่าใช้จ่ายเบื้องต้น วิลล่าส่วนตัวมูลค่า 5.5 ล้านบาท ส่วนคอนโดมิเนียม 3.4 ล้านบาท ยังไม่รวมค่าใช้จ่ายอื่นๆ
ทั่วโลกเริ่มตื่นตัวในการสร้างที่อยู่อาศัยสำหรับคนวัยเกษียณกันมากขึ้น ด้านหนึ่งเพื่อตอบโจทย์ความต้องการขั้นพื้นฐานหรือไลฟ์สไตล์ที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย เช่น การดูแลสุขภาพ การใช้ชีวิต การเข้าสังคม ขณะที่อีกด้านก็เพื่อตอบสนองบริบทของสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัย โดยเฉพาะภาวะที่ผู้สูงอายุอยู่คนเดียวมากขึ้น
แต่ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่า หมู่บ้านผู้สูงอายุเหล่านี้ไม่ว่าจะสร้างโดยภาครัฐหรือเอกชน ก็ยังมีจำนวนที่จำกัด ขณะที่เรื่องสำคัญไปไม่น้อยกว่ากันคือ ตัวผู้สูงอายุหรือครอบครัวเอง ก็ต้องมี ‘ทุน’ ประมาณหนึ่งจึงจะเข้าถึงได้ นับเป็นโจทย์ใหญ่ที่จะต้องมาหาคำตอบร่วมกันว่า แล้วคนไม่มีทุนเพียงพอจะเข้าถึงหมู่บ้านเช่นนี้ ผู้ที่เกี่ยวข้องจะดูแลพวกเขาอย่างไร
เพราะ ‘สังคมสูงวัย’ ไม่ใช่อดีต แต่เป็นเรื่องของปัจจุบันและอนาคต
ไม่ควรมีใครที่ต้องถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
อ้างอิง
https://biz.chosun.com/en/en-retail/2025/02/23/TMBBIVKDGNDADHINLWMG3ZGKDE/
https://dsignsomething.com/2015/04/11/co-housing-project-คืออะไร-ดีต่อการอยู่อ
https://www.kedglobal.com/real-estate/newsView/ked202203210001
https://mainichi.jp/english/articles/20241225/p2a/00m/0na/002000c
https://www.tandfonline.com/doi/full/10.1080/03003930.2021.1877664#d1e746
https://www.infofinland.fi/en/family/elderly
https://www.age-platform.eu/barometer-2023/finland/
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/corporates/2711407
https://www.jinwellbeing.com/living-with-our-services/
https://time.com/6306685/australia-population-aging/
https://www.accc.gov.au/consumers/specific-products-and-activities/retirement-villages
https://www.health.gov.au/topics/aged-care/about-aged-care
https://www.amarintv.com/news/social/230883
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/corporates_leadership/2711407
https://www.thansettakij.com/business/511371
https://mgronline.com/onlinesection/detail/9660000084263
https://www.supalaiwellnessvalley.com/
https://www.dadasset.com/terms-condition
https://www.thairath.co.th/money/business_marketing/corporates_leadership/2711407
https://www.weforum.org/stories/2020/03/sweden-loneliness-housing-generations-elderly-youth/
https://sweden.se/life/society/elderly-care-in-sweden
Tags: ผู้สูงอายุ, อิตาลี, ออสเตรเลีย, สวีเดน, ไทย, ญี่ปุ่น, Retirement Village, Aging Society, หมู่บ้านผู้สูงอายุ, สังคมผู้สูงอายุ, ฟินแลนด์