เชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านน่าจะเคยผ่านตาตัวเลขจำนวนเงินสำหรับชนชั้นกลางในเมืองที่ต้องมีเพื่อรองรับการใช้ชีวิตหลังเกษียณ ตัวเลขมีตั้งแต่ราว 4 ล้านบาท ไปจนถึงมากกว่า 10 ล้านบาท สำหรับรองรับการใช้จ่าย โดยสมมติว่าไม่มีรายได้จากแหล่งอื่น

เห็นตัวเลขนี้แล้ว หลายคนคงมีปฏิกิริยาต่างกันไป บางคนปล่อยผ่าน เพราะเชื่อว่าเป็นเรื่องของอนาคตอีกยาวไกล บางคนสงสัยว่าตัวเลขดังกล่าวน่าเชื่อถือหรือไม่ ทำไมถึงมากขนาดนั้น และคนอีกจำนวนหนึ่งอาจเริ่มฉุกคิดและเริ่มเก็บออมมากขึ้น เพื่อให้มีเงินพอใช้จ่ายหลังเกษียณอายุจากการทำงาน

สำหรับผู้ที่สงสัยว่าตัวเลขเงินออมหลายล้านข้างต้นสมเหตุสมผลแค่ไหน สามารถลองคำนวณง่ายๆ โดยไม่ต้องใช้ทฤษฎีการเงินที่ซับซ้อนใดๆ ทั้งสิ้น โดยสมมติว่าหลังเกษียณ เราจะใช้เงินเดือนละประมาณ 20,000 บาท และมีอายุไปอีกประมาณ 15 ปี ดังนั้น เงินที่ต้องมีทั้งหมดคือ 20,000 x 12 x 15 นั่นก็เท่ากับ 3,600,000 บาท

 

การหาเงินให้ได้มากเป็นเรื่องไม่ง่าย แต่ที่ยากไม่แพ้กันคือการนำเงินที่หามาได้นั้นมาเก็บออมสำหรับใช้จ่ายในยามชรา และสิ่งที่ยากยิ่งกว่าคือการออมอย่างถูกวิธีและเหมาะสมกับตนเอง

ปัญหาการออมเงินไม่เพียงพอ รวมถึงการออมที่อาจไม่ถูกวิธี ซึ่งทำให้มีเงินไม่เพียงพอสำหรับใช้จ่ายในยามชรา เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นแล้วในหลายประเทศทั่วโลก แต่หลายประเทศก็ปรับตัว โดยภาครัฐเริ่มมีบทบาทในการส่งเสริมการออมของประชาชนมากขึ้น

แต่แน่นอนว่าการ ‘กระตุ้นการออม’ ไม่ใช่เรื่องที่ทำได้ง่าย และก็ใช่ว่าภาครัฐของทุกประเทศจะอยากทำ เมื่อเทียบกับการ ‘กระตุ้นเศรษฐกิจ’ ผ่านการ ‘กระตุ้นการบริโภค’ ที่เราได้ยินได้เห็นผ่านสื่ออยู่บ่อยครั้ง

การกระตุ้นการออมที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐมักทำในสองรูปแบบ รูปแบบแรกคือรูปแบบที่เราคุ้นเคยกันดี โดยมีการให้สิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจให้คนออมเงินมากขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับเงินออมหรือเงินลงทุนเพื่อการเกษียณอายุ ในกรณีของประเทศไทยคือเงินที่จ่ายสะสมในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (provident fund) เงินที่ซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (retirement mutual fund) ตลอดจนเงินที่ซื้อประกันชีวิตที่มีการคุ้มครองหรือจ่ายผลประโยชน์ระยะยาว

 

​นอกจากการสนับสนุนการออมในรูปแบบของการให้สิทธิประโยชน์ที่หลายประเทศดำเนินการอยู่แล้ว ช่วงไม่กี่ปีมานี้ ภาครัฐของหลายประเทศเริ่มนำงานศึกษาทางด้านจิตวิทยาการออมมาปรับใช้กับการออกแบบกลไกเพื่อกระตุ้นการออมของประชาชน กลไกดังกล่าวมีดังนี้

‘กลไกการให้เข้าร่วมในระบบการออมโดยอัตโนมัติ’ (automatic enrollment) เกิดจากแนวคิดที่ว่า แทนที่จะให้แต่ละบุคคลเป็นผู้เลือกว่าจะทำการออมเงินเพื่อการเกษียณอายุหรือไม่ ภาครัฐหรือแม้กระทั่งภาคเอกชนในหลายประเทศ กำหนดให้คนวัยทำงานที่มีสวัสดิการสำหรับการออมเพื่อเกษียณเข้าร่วมสวัสดิการดังกล่าวโดยอัตโนมัติ (แม้ว่าเป็นสวัสดิการภาคสมัครใจก็ตาม) แต่ถ้าผู้ใดพิจารณาแล้วไม่อยากเข้าร่วม ก็สามารถถอนตัว (opt-out) จากสวัสดิการดังกล่าวได้

​การใช้แนวคิดนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จอย่างยิ่ง ผลจากการวิจัยของชโลโม เบนาร์ตซี (Shlomo Benartzi) และ ริชาร์ด เทเลอร์ (Richard Thaler) พบว่าอัตราของการถอนตัว (opt-out rate) อยู่ที่ประมาณ 10% เท่านั้น และผลจากการวิจัยของบริจิตต์ ซี. มาเดรียน (Brigitte C. Madrian) และเดนนิส เอฟ. เช (Dennis F. Shea) พบว่า enrollment เริ่มต้นอยู่ในอัตราที่สูงถึง 90% และเมื่อผ่านไป 36 เดือน ตัวเลขดังกล่าวสูงขึ้นไปถึงกว่า 98% เลยทีเดียว ซึ่งสูงกว่ากรณีที่ไม่มีกลไก automatic enrollment เป็นอย่างมาก

​ประเทศสหรัฐอเมริกาบรรจุแนวคิดดังกล่าวไว้ในกฎหมาย The Pension Protection Act (2006) โดยนำข้อดีของ automatic enrollment มาประยุกต์ใช้ รวมถึงประเทศอังกฤษ อิตาลี ชิลี และนิวซีแลนด์ ก็มีการนำกลไก automatic enrollment มาใช้ในการออมเพื่อเกษียณเช่นกัน

 

อีกกลไกหนึ่งเสริมสร้างการออมโดยมุ่งเน้นการจัดสรรการลงทุนในเงินออมของแต่ละบุคคลให้มีความเหมาะสมกับตนเองมากขึ้น กลไกดังกล่าวมีชื่อว่า ‘กลไกการเลือกแบบแผนการลงทุนที่เหมาะสมโดยอัตโนมัติ’ (automatic investment) กลไกนี้เกิดขึ้นเนื่องจากการที่คนจำนวนไม่น้อยตัดสินใจแล้วว่าจะออมเงินส่วนหนึ่งไว้ใช้ในยามเกษียณ (ในอีก 20-30 ปีข้างหน้า) แต่กลับเลือกแผนการลงทุนสำหรับเงินออมดังกล่าวที่มีความเสี่ยงต่ำกว่าที่ควรจะเป็น ส่งผลให้ได้รับผลตอบแทนต่ำไปด้วย เช่น เลือกนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลระยะสั้นหรือฝากเงินกับธนาคาร ซึ่งจะได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนประมาณ 1-3% ต่อปี แต่ถ้าหากเงินลงทุนดังกล่าวถูกจัดสรรอย่างเหมาะสม ยอมรับความเสี่ยงเพิ่มขึ้นเพื่อแลกกับผลตอบแทนในระยะยาว เงินก้อนเดียวกันนี้จะมีโอกาสได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนเพิ่มขึ้นเป็น 4-7% ต่อปี

แต่เนื่องจากการจัดสรรเงินลงทุนเป็นเรื่องที่ต้องใช้ความรู้และใช้เวลาในการติดตาม ซึ่งคนจำนวนไม่น้อยอาจไม่มีเวลาและความรู้ด้านการลงทุนที่มากพอ อีกทั้งนิยมออมเงินในสินทรัพย์ความเสี่ยงต่ำ หลายประเทศจึงจัดตั้งนโยบายการลงทุนที่ชื่อว่า target date fund โดยทางเลือกการลงทุนที่มีนโยบายแบบนี้ จะนำเงินไปกระจายลงทุนในสินทรัพย์หรือตราสารต่างๆ ที่เหมาะสมตามช่วงอายุ โดยถือหลักที่ว่าคนอายุน้อยรับความเสี่ยงได้มากกว่าคนอายุเยอะ โดยที่ target date fund จะกำหนด target retirement date ไว้ และจะปรับสัดส่วนการลงทุนโดยอัตโนมัติตามช่วงอายุ โดยผู้ออมเงินที่เลือกการลงทุนตามนโยบายดังกล่าวไม่ต้องทำอะไร

ในสหรัฐอเมริกา The Pension Protection Act (2006) ระบุว่าหากผู้ออมเงินไม่ได้ตัดสินใจเลือกว่าจะเลือกนโยบายการลงทุนแบบใดสำหรับเงินออมของตน เงินออมจะถูกเลือกให้ลงทุนในนโยบายที่เป็น default policy โดยอัตโนมัติ ซึ่งนโยบายการลงทุนแบบ target date เป็นหนึ่งในทางเลือกของ default policy ดังกล่าว

นโนบายการลงทุนในรูปแบบนี้ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากในหลายประเทศ สำหรับประเทศไทย ทางเลือกของการออมเพื่อการเกษียณอายุแบบ target date หรือบางครั้งเรียกว่า life-cycle investment ถูกนำมาเป็นตัวเลือกหนึ่งของกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) ที่มีให้สมาชิกเลือกได้ สำหรับภาคเอกชนของไทยก็เริ่มมีทางเลือกแบบ target date ในกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบางกองทุนแล้ว

 

จากตัวอย่างข้างต้น จะเห็นได้ว่าหลายประเทศเริ่มให้ความสนใจที่จะมีกลไกการกระตุ้นการออมโดยภาครัฐมากขึ้น ซึ่งต่างจากเมื่อหลายสิบปีก่อนที่ภาครัฐมักจะมีบทบาทในการกระตุ้นการใช้จ่าย (มักใช้คำว่ากระตุ้นเศรษฐกิจ) แต่ความยากของการกระตุ้นการออมอยู่ที่ว่าผลประโยชน์ที่ประชาชนจะได้รับนั้นเป็นผลประโยชน์ระยะยาวอีกสิบหรือหลายสิบปีข้างหน้า ขณะที่การกระตุ้นการบริโภคเป็นผลประโยชน์ที่เห็นผลทันที และคนจำนวนไม่น้อยก็ชอบผลของการกระตุ้นการบริโภค

การกระตุ้นการออมจึงเป็นสิ่งที่ท้าทายผู้กำหนดนโยบายว่าจะทำให้เห็นเป็นรูปธรรมได้มากเพียงใดและรวดเร็วแค่ไหน

 

ภาพประกอบ: Jaruwat Normrubporn

Tags: , , , , , , , ,