พนักงานประจำที่ได้รับค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือนหรือที่เรียกสั้นๆ ว่า ‘มนุษย์เงินเดือน’ นั้น มีข้อกำหนดเรื่องอายุในการทำงานอย่างชัดเจน ในภาคเอกชนของไทยมักมีการกำหนดอายุที่ต้องเกษียณจากการทำงานไว้ที่ 55 ปี หรือบางแห่งกำหนดที่ 60 ปี ส่วนข้าราชการไทยโดยส่วนใหญ่กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 60 ปี

ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่ยังสนุกกับการทำงาน บางทีเราก็อาจทำงานจนลืมไปว่า วันหนึ่งเราจะต้องหยุดหรือลดการทำงานด้วยวัยที่มากขึ้นและด้วยสังขารที่เปลี่ยนไป ซึ่งตอนที่เรายังเป็นหนุ่มสาว เราอาจจะไม่ได้คิดถึงเรื่องเหล่านี้มากนัก

แต่ถ้าเราเป็นมนุษย์เงินเดือนที่เหนื่อยหน่ายกับการทำงาน ไม่ว่าจะเป็นผลมาจากตัวงานหรือสภาพแวดล้อม บางทีเราก็อยากจะเกษียณจากการทำงานให้เร็ว เพื่อที่จะได้ใช้เวลาที่เหลืออยู่ไปทำสิ่งที่ตัวเองต้องการ แต่ใครจะเกษียณจากการทำงานได้เร็วขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขในการใช้ชีวิตของแต่ละบุคคล

ก่อนที่จะไปดูว่าจะเกษียณอายุเมื่อไรดี เราลองไปดูกันก่อนว่าประเทศอื่นๆ มีเกณฑ์อายุเกษียณจากการทำงานอยู่ที่อายุเท่าไหร่บ้าง ในกรณีของประเทศไทยที่มีอายุเกษียณที่ 55 ถึง 60 ปี ซึ่งบางคนอาจคิดว่าเป็นระยะเวลาของการทำงานที่ยาวนาน แต่เอาเข้าจริงแล้วประเทศไทยอาจจะเป็นหนึ่งในประเทศที่มนุษย์เงินเดือนเกษียณเร็วก็ได้

จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ประเทศตัวอย่างเกือบ 30 ประเทศที่ประกอบด้วยประเทศในยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีเพียงไม่กี่ประเทศเท่านั้นที่อายุเกษียณอยู่ในระดับต่ำกว่า 60 ปี และไม่มีประเทศใดเลยที่อายุเกษียณอยู่ต่ำกว่า 55 ปี หนำซ้ำประเทศในยุโรปบางประเทศ เช่น ประเทศในแถบสแกนดิเนเวีย อย่างฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ มีการเกษียณอายุจากการทำงานที่ 65-67 ปี อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียนของไทย การเกษียณอายุที่ 60 ปีก็ยังถือว่าอยู่ในระดับเดียวกับอีกหลายประเทศ

สำหรับกลุ่มคนที่รู้สึกสนุกกับงานที่ทำอยู่นั้น จะเห็นได้ว่า ระยะเวลาที่คนไทยได้ทำงานอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสั้นเมื่อเปรียบเทียบกับหลายๆ ประเทศ ยิ่งหากเราทำงานในองค์กรที่กำหนดอายุเกษียณไว้ที่ 55 ปี นั่นหมายความว่าเราใช้เวลาและศักยภาพของเราในการทำงานน้อยกว่าผู้คนในบางประเทศถึงประมาณ 10 ปีเลยทีเดียว

แต่สำหรับกลุ่มคนที่เหนื่อยหน่ายกับการทำงานและอยากเกษียณหรือเลิกทำงานโดยเร็ว ก็จะเห็นว่า ท่านเป็นผู้ที่โชคดีแล้วที่ทำงานอยู่ในประเทศไทย เพราะหากต้องไปทำงานที่ประเทศอื่นๆ เช่นนอร์เวย์ กว่าที่จะได้เกษียณอายุจากการทำงานคงต้องรอจนถึงอายุ 67 ปี และประเทศที่มีอายุเกษียณแบบเป็นทางการสูงที่สุดคือประเทศอิสราเอล ที่มีการกำหนดไว้ที่ 68 ปี และในอนาคตมีการประมาณการว่าอายุเกษียณของผู้คนทั่วโลกจะเพิ่มสูงขึ้น

นอกจากเรื่องความอยากหรือไม่อยากทำงาน ปัจจัยที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน (หรืออาจมากกว่า) คือเรื่องความจำเป็นในการทำงานเพื่อเลี้ยงชีพ ซี่ง ณ จุดเริ่มต้นของชีวิตการทำงาน เราอาจทำงานเพื่อเลี้ยงชีพตัวเราในปัจจุบันเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านไป การทำงานของเราคงต้องทำเพื่อเลี้ยงชีพตัวเราในอนาคต (เพื่อให้มีเงินใช้หลังเกษียณ) และเพื่อดูแลสมาชิกในครอบครัวอีกด้วย

ในเบื้องต้น หากพิจารณาแค่การเลี้ยงดูตัวเอง (ทั้งในปัจจุบันและอนาคต) อาจพอคำนวณได้ว่า เราต้องมีเงินเท่าใด ถึงจะเพียงพอต่อการใช้จ่ายหลังเกษียณ และเราสามารถลองคำนวณเบื้องต้นด้วยตัวเองได้ โดยคำนวณส่วนต่างของอายุบั้นปลาย (อายุที่คาดว่าจะเสียชีวิต) กับอายุที่คาดว่าจะเกษียณและคูณด้วยค่าใช้จ่ายที่คาดว่าจะใช้ต่อเดือน (หากต้องการตัวเลขที่แม่นยำ อาจต้องใช้โปรแกรม Retirement calculator ช่วยในการคำนวณ หรือใส่ตัวแปรอื่นเพิ่มเข้าไปได้) ซึ่งจะได้ผลการคำนวณแบบง่ายๆ ดังตาราง

สมมติฐาน: คาดว่าจะมีอายุถึง 75 ปี และยังไม่ได้รวมผลกระทบจากเงินเฟ้อและอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน

เมื่อเห็นตารางนี้แล้ว เราน่าจะพอประมาณการได้ว่า นับจากปัจจุบันเรายังต้องทำงานอีกกี่ปี เพื่อให้มีเงินเพียงพอใช้จ่ายหลังการเกษียณอายุ ยกตัวอย่างเช่น หากต้องการเกษียณอายุจากการทำงานที่อายุ 50 ปี และต้องการจะใช้เงินเดือนละ 30,000 บาทไปทุกเดือนโดยที่ไม่มีรายได้จากทางอื่น จะต้องมีเงินเก็บเพื่อใช้จ่ายอย่างน้อยที่สุด 9 ล้านบาท ซึ่งเมื่อพิจารณาตารางข้างต้นนี้แล้ว บางคนอาจพบว่าตนเองมีความพร้อมที่จะเกษียณอายุตั้งแต่อายุยังไม่มาก หรือบางคนอาจต้องทำงานยาวนานกว่าที่คาดไว้แต่แรกก็ได้ อย่างไรก็ตาม ตารางนี้ใช้สมมติฐานหลายอย่างในการทำ เช่น คาดว่าจะมีอายุถึง 75 ปี (ใกล้เคียงกับอายุเฉลี่ยของประชากรไทย) ซึ่งหากมีชีวิตยืนยาวกว่านี้ การสะสมเงินเพื่อการเกษียณแค่ตามตารางอาจไม่เพียงพอ นอกจากนี้มูลค่าของเงินที่แสดงยังไม่ได้รวมผลของเงินเฟ้อเข้ามา ซึ่งหมายถึงมูลค่าของเงิน 30,000 บาทในอนาคตจะน้อยกว่ามูลค่าของเงินในปัจจุบัน ซึ่งเป็นผลหลักมาจากราคาสินค้าที่แพงขึ้น แต่ตารางนี้ก็ได้แสดงถึงตัวเลขขั้นต่ำที่ต้องมี และจะเป็นการดีมากหากเราเตรียมเงินเอาไว้ให้มากกว่าขั้นต่ำ

ไม่ว่าจะทำงานด้วยความรัก ด้วยความจำเป็น หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่า “งานเลี้ยงย่อมมีวันเลิกรา การทำงานย่อมมีวันสิ้นสุด” และเมื่อถึงวันนั้น เราควรต้องมีความพร้อมที่จะดูแลตัวเองและใช้ชีวิตหลังเกษียณได้อย่างมีความสุข

Tags: , , ,