หากในมุมมองของคุณเศรษฐกิจของประเทศอยู่ในช่วงขาลง พ่อค้าแม่ขายเงียบเหงา ร้านรวงทยอยปิดตัวเพราะสู้ค่าเช่าไม่ไหว แต่นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังซึ่งไม่มีสายสัมพันธ์กับรัฐบาลบอกว่าเศรษฐกิจดี คุณจะเปลี่ยนความคิดหรือไม่?

ก) เปลี่ยนสิ! ก็เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญเรามันคนเดินถนนจะเอาอะไรไปเถียง
ข) ไม่เปลี่ยน เศรษฐกิจดีบ้านคุณสิ ลองลงจากหอคอยงาช้างมาเดินบนท้องถนนแล้วมองด้วยตาตัวเองบ้าง

หากคุณเลือกตอบแบบหลัง ยินดีด้วยครับ คุณคือคนส่วนใหญ่!

การสำรวจล่าสุดในสหราชอาณาจักรระบุว่า นักเศรษฐศาสตร์ถูกจัดอยู่ในวิชาชีพที่ได้รับความน่าเชื่อถือน้อยที่สุดจากประชาชน โดยสูงกว่านักการเมืองไม่ค่อยเท่าไร อภิจิต บาเนอร์จี (Abhijit Banerjee) เอสเธอร์ ดัฟโล (Esther Duflo) สองนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลปีล่าสุดผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาและการศึกษาผลลัพธ์ของนโยบายทางเศรษฐกิจโดยใช้ข้อมูลเชิงประจักษ์ (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ เศรษฐศาสตร์ขจัดความจน จากภาคทฤษฎีถึงวิธีปฏิบัติโดยกลุ่มนักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล) รับอาสากู้วิกฤตศรัทธาต่อนักเศรษฐศาสตร์ในหนังสือ Good Economics for Hard Times หรือเศรษฐศาสตร์ดีในช่วงเวลายากลำบาก ที่จะตอบทุกปัญหายุ่งยากด้วยกรอบแนวคิดทฤษฎีและงานวิจัยภาคสนาม

ชื่อของทั้งสองเป็นที่รู้จักต่อสาธารณชนจากหนังสือเล่มแรก “เศรษฐศาสตร์ความจน (Poor Economics: A Radical Rethinking of the Way to Fight Global Poverty)” ว่าด้วยการทลายมายาคติต่อคนจนและความยากจน รวมถึงแนวทางการออกแบบนโยบายเพื่อพาคนเหล่านั้นให้หลุดพ้นจากความยากจน สำหรับหนังสือลำดับที่สองเขาและเธอจะพาเราไปสำรวจประเด็นที่กว้างขึ้น ตั้งแต่ผู้ลี้ภัย สงครามการค้า ความไม่เท่าเทียม การเติบโตทางเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ผ่านภาษาที่รุ่มรวยอารมณ์ขัน ตัวอย่างที่จับต้องได้ ผลงานวิจัยที่หนักแน่น และข้อเท็จจริงที่จะทำลาย ‘สมมติฐานผิดๆ’ เพื่อสร้างความเข้าใจใหม่ไปพร้อมกัน

ผู้ลี้ภัยทำให้ค่าแรงในประเทศตกต่ำ

สมมติฐานประการสำคัญที่ทำให้หลายคนรู้สึกไม่ต้อนรับผู้ลี้ภัยคือความหวาดกลัวว่าบุคคลเหล่านั้นจะมาสร้างแรงงานราคาถูกและทำให้ค่าแรงภายในประเทศตกต่ำ โดยใช้หลักอุปสงค์อุปทานง่ายๆ ว่า ความต้องการจ้างแรงงานมีอยู่อย่างจำกัด ผู้ลี้ภัยเดินทางเข้ามาก็ต้องมาหางาน กล่าวคือมีแรงงานจำนวนมากเพิ่มขึ้นในตลาด ซึ่งได้บทสรุปคือค่าแรงจะลดต่ำลงเพราะความต้องการทำงานมากกว่าความต้องการจ้างงาน

ความเข้าใจดังกล่าวอ่านดูเข้าที แต่ความจริงแล้วผิดถนัด เพราะผู้ลี้ภัยไม่ได้เพิ่มอุปทานในตลาดแรงงานเท่านั้น แต่ยังเพิ่มอุปสงค์ด้วย เพราะอย่าลืมว่าพวกเขาและเธอต่างก็ต้องกินต้องใช้ เมื่อทำงานได้เงินก็นำมาจับจ่ายใช้สอยสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ ขึ้นในชุมชน สอดคล้องกับการศึกษาเรื่องผู้อพยพกับค่าแรงหลายชิ้นที่พบข้อสรุปว่าการเข้ามาอยู่ในสังคมของผู้ลี้ภัยไม่กระทบต่อค่าแรงภายในประเทศ

อีกสมมติฐานที่สำคัญของแรงงานผู้อพยพคือ คนเหล่านั้นลักลอบเข้าไปยังประเทศที่เจริญกว่าเพราะต้องการฉวยผลประโยชน์จากค่าแรงที่สูงกว่า เช่น แรงงานไทยที่ค่าแรงขั้นต่ำ 300 บาทต่อวันลักลอบไปทำงานในเกาหลีใต้ซึ่งมีค่าแรงขั้นต่ำราว 1,600 บาทต่อวัน มีการทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มควบคุม (randomized controlled trial) ที่ให้ข้อมูลการทำงานในต่างประเทศ หรือกระทั่งการให้เงินประกันหากเดินทางไปแล้วไม่มีงานทำ กลับพบว่าแรงจูงใจดังกล่าวมีผลลัพธ์ค่อนข้างต่ำในสภาพแวดล้อมปกติที่สามารถหางานทำได้ เนื่องจากแรงงานเหล่านั้นรู้สึกปลอดภัยมากกว่าที่จะอยู่ใกล้บ้าน และมีความสุขกว่าที่จะได้อยู่ใกล้ชิดครอบครัว แม้ว่าจะได้ค่าแรงต่ำกว่าก็ตาม

ข้อค้นพบดังกล่าวอาจนำไปสู่ข้อสรุปที่ว่า ผู้ลี้ภัยหรือแรงงานที่อพยพไปต่างประเทศมี ‘ความจำเป็น’ ที่ต้องกระทำไม่ว่าจะเป็นความไม่สงบในประเทศ หรือไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ และประเทศปลายทางก็ควรเปิดรับเพราะแรงงานเหล่านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าแรงหรือการจ้างงานภายในประเทศตามที่หลายคนตั้งสมมติฐานไว้

การค้าระหว่างประเทศสร้างแต่ผลดีไม่มีข้อเสีย

ทฤษฎีว่าด้วยการค้าระหว่างประเทศที่นำพามาซึ่งความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจเป็นที่รู้จักกันในชื่อทฤษฎีความได้เปรียบโดยเปรียบเทียบ (Comparative Advantage) กล่าวคือ ประเทศหนึ่งๆ ควรผลิตสินค้าที่ตนเองผลิตได้โดยการใช้ต้นทุนต่ำที่สุดแล้วนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกันเพื่อสร้างประสิทธิภาพสูงสุดและเพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าในราคาที่ต่ำที่สุด ตัวอย่างเช่น 

หมู่บ้าน ก. สามารถผลิตหมูด้วยต้นทุนกิโลกรัมละ 30 บาท ต้นทุนการผลิตข้าวกิโลกรัมละ 25 บาท ส่วนหมู่บ้าน ข. สามารถผลิตหมู่ด้วยต้นทุนกิโลกรัมละ 40 บาท แต่มีต้นทุนการผลิตข้าวกิโลกรัมละ 15 บาท หมู่บ้าน ก. จึงควรผลิตหมูส่วนหมู่บ้าน ข. ควรผลิตข้าวแล้วนำมาซื้อขายแลกเปลี่ยนกัน ประชากรในโลกสมมติของทั้งสองหมู่บ้านจะมีหมูและข้าวกินในต้นทุน 30 บาท และ 15 บาทตามลำดับ

ทฤษฎีดังกล่าวฟังดูเข้าทีและเป็นที่ยอมรับกันมาเนิ่นนาน จึงไม่น่าแปลกใจที่นักเศรษฐศาสตร์จะสมาทานแนวคิดการค้าเสรี และรู้สึกอกสั่นขวัญหายเมื่อทราบว่าประธานาธิบดีทรัมป์จะ ‘ปลุกผี’ นโยบายกำแพงภาษีมาสู้รบปรบมือกับประเทศจีน โดยคาดว่านโยบายดังกล่าวจะทำลายเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาจนพังพินาศ

แต่ในความเป็นจริง เศรษฐกิจในอเมริกากลับดีวันดีคืน ชวนให้เราทบทวนว่าการค้าระหว่างประเทศ ‘ดี’ อย่างที่ทฤษฎีทำนายไว้จริงหรือไม่ ซึ่งการศึกษาในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นไม่ง่าย เพราะความสัมพันธ์ทางการค้าไม่ได้ประกอบจากสองหมู่บ้านและมีสินค้าเพียงสองชนิดดังในแบบจำลอง

ผลปรากฏว่าการค้าเสรีระหว่างประเทศกลับส่งผลดีต่อเศรษฐกิจก็จริง แต่เป็นสัดส่วนไม่สูงมากนัก ในทางกลับกันนโยบายดังกล่าวสร้างผลกระทบเศรษฐกิจของประเทศที่เสียเปรียบกว่าอย่างมาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมสู้กับต้นทุนของต่างชาติไม่ไหวจนต้องลอยแพแรงงานและปิดตัวลง โจทย์ของรัฐบาลคือการดูแลแรงงานในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมที่ปิดตัวลงไปยังอุตสาหกรรมที่เติบโตจากการค้าเสรี การศึกษาพบว่านโยบายดังกล่าวคุ้มค่าและคุ้มทุนอย่างยิ่ง แต่มักถูกมองข้ามโดยนักการเมือง 

นโยบายแจกเงินจะทำให้คนจนขี้เกียจ การเก็บภาษีอัตราสูงลิบจะทำให้คนรวยไม่อยากทำงาน

นโยบายโอนจ่ายเงินให้คนจนเป็นหนึ่งในนโยบายยอดนิยมในหลากหลายประเทศ อาทิ บราซิล ชิลี โคลัมเบีย และเม็กซิโก โดยบางโครงการดำเนินการมาต่อเนื่องยาวนานกว่า 20 ปี เป้าหมายหลักของโครงการลักษณะดังกล่าวคือมอบเงินจำนวนหนึ่งเพื่อฉุดดึงคนจนให้หลุดพ้นจากความยากจนตามแนวคิดที่ว่าคนจนต่างรู้ตนเองดีว่าจะนำเงินไปใช้อย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด อีกทั้งการมอบสิ่งของนอกจากจะไม่ตรงกับความต้องการของผู้รับแล้วยังเกิดการคอร์รัปชันได้ง่าย

มายาคติสำคัญของนโยบายโอนเงินให้คนจนคือนโยบายดังกล่าวจะทำให้คนจนขี้เกียจและเคยตัวจากการได้รับการช่วยเหลือจากรัฐโดยไม่ต้องทำอะไร กล่าวคือเป็นการทำลายแรงจูงใจให้คนเหล่านั้นออกไปหางานทำ แต่การศึกษาหลายต่อหลายชิ้นกลับพบว่าสมมติฐานเหล่านั้นผิดถนัด เพราะต่อให้คนจนได้รับเงินโอนในปริมาณที่พอเลี้ยงชีพได้ก็ไม่ทำให้ชั่วโมงในการทำงานลดลงแต่อย่างใด

ประเด็นต่อมาที่มีการถกเถียงอย่างกว้างขวางคือ เราควรกำหนดเงื่อนไขในการได้รับเงินโอนคนจนหรือไม่ เช่น ต้องมีอัตราการการเข้าเรียนของเด็กๆ ในบ้านไม่ต่ำกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ทารกจะต้องได้รับวัคซีนครบถ้วน หรือจะต้องไม่นำเงินดังกล่าวไปซื้อสุราหรือบุหรี่ หากมองโดยผิวเผินการกำหนดเงื่อนไขดังกล่าวย่อมดีกว่าไม่มี แต่ข้อเท็จจริงที่พบคือการติดตามตรวจสอบว่าผู้เข้าร่วมโครงการปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือไม่สร้างความยุ่งยากและต้นทุนมูลค่ามหาศาล ในขณะที่ผลลัพธ์ของโครงการแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย ที่สำคัญ การตั้งเงื่อนไขมากมายอาจนำไปสู่การกีดกันคนที่จนที่สุดในหมู่คนจนไม่ให้เข้าถึงเงินช่วยเหลืออีกด้วย

อีกหนึ่งนโยบายซึ่งเป็น ‘มุมกลับ’ ของการแจกเงินคนจนคือการเก็บภาษีคนรวย ตามทฤษฎีจะคาดการณ์ว่าการเก็บภาษีคนรวยในอัตราที่สูง เช่น 70 เปอร์เซ็นต์ของเงินได้ จะทำให้ผู้มีรายได้สูงทำงานน้อยลง แต่การศึกษาพบว่าอัตราภาษีที่สูงลิบนั้นไม่ได้ทำให้เราอยากทำงานน้อยลงเพื่อรับเงินเดือนน้อยลงแต่อย่างใด เพราะต่อให้รายได้จะเพิ่มขึ้นไม่มากแต่มันก็ยังนับว่าเพิ่มขึ้นอยู่ดี และให้คำอธิบายเพิ่มเติมว่าแรงจูงใจในการก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งงานที่สูงไม่ได้มีแต่เรื่องเงินเท่านั้น แต่มันคือ ‘สถานะทางสังคม’ ซึ่งเป็นมิติในแง่ความสุขทางใจซึ่งเศรษฐศาสตร์กระแสหลักอาจไม่ได้นำมาพิจารณา

นี่คือ 3 เรื่องเล่าสั้นๆ ที่ผมหยิบยกมาจาก Good Economics for Hard Times ซึ่งไม่ต่างจากการ ‘อัปเดท’ ความเชื่อและความเข้าใจในสารพัดประเด็นที่เกี่ยวโยงกับเศรษฐศาสตร์ สร้างข้อโต้แย้งผ่านการรวบรวมบทสรุปจากงานวิจัยที่ทันสมัยและวิธีการศึกษาที่ก้าวหน้า และแสดงให้เห็นว่า ‘เศรษฐศาสตร์’ ยังมีบทบาทสำคัญในการแก้ไขปัญหาใหญ่ยักษ์ที่ทั่วโลกกำลังเผชิญอยู่ในปัจจุบัน เพียงแต่เราต้องก้าวให้ผ่านสมมติฐานที่เต็มไปด้วยอคติด้วยหลักฐานเชิงประจักษ์และเป็นวิทยาศาสตร์

หลายคนอาจมีคำถามในใจว่าหากไม่ใช่นักเศรษฐศาสตร์ คุณควรอ่านหนังสือเล่มนี้หรือไม่? 

ผู้เขียนขอหยิบยกประโยคหนึ่งในบทสรุปของนักเศรษฐศาสตร์ทั้งสองท่านว่า “เศรษฐศาสตร์ เป็นศาสตร์ที่สำคัญเกินกว่าที่จะปล่อยให้เฉพาะนักเศรษฐศาสตร์ศึกษา (Economics is too important to be left to the economists)”

Tags: ,