ต้นปีแบบนี้ ไม่ว่าใครๆ ก็ยังอยู่ในควันหลงของบรรยากาศแห่งการเฉลิมฉลอง ผู้เขียนเชื่อว่าหลายคนย่อมตั้งความหวังว่าปีใหม่ย่อมสดใสไฉไลกว่าเก่า พร้อมกับร่างปณิธานปีใหม่ที่ส่วนใหญ่ก็คงไม่พ้น ปีใหม่แล้วจะเริ่มออกกำลังกาย กินอาหารเพื่อสุขภาพ หรือนอนให้มากขึ้น บางคนอาจตั้งเป้าว่าจะมองหางานอดิเรกใหม่ หรือใช้ชีวิตให้สนุกสุดเหวี่ยง ส่วนบางรายอาจตั้งเป้าหมายจริงจังว่าจะประหยัดอดออมและหาช่องทางสร้างรายได้เพิ่ม ฯลฯ

แต่ระวังนะครับ อย่าไปเล่าเรื่องปณิธานปีใหม่ให้พวกนักเศรษฐศาสตร์กระแสหลักฟัง เพราะพวกเขาคงจะยักไหล่ แล้วร่ายยาวว่ามนุษย์ที่มีเหตุมีผล หรือเรียกภาษาพวกเขาว่า ‘เศรษฐมนุษย์’ (Homo Economicus) ไม่เห็นต้องรอปีใหม่ถึงจะเริ่มเป็นคนใหม่ เพราะเศรษฐมนุษย์นั้นรู้อยู่แล้วว่าอะไรดีสำหรับตัวเองในระยะยาว และจัดการตัวเองได้ตามเป้าหมายไม่ต่างจากความสมบูรณ์แบบของกลไกตลาด พวกที่ตั้งปณิธานปีใหม่น่ะประหลาด รู้ว่าอะไรดีกับตัวเองกลับไม่ทำวันนี้ กลับมาตั้งเป้าหมายแล้วฝันลมๆ แล้งๆ ว่าตัวเอง (ในอนาคต) จะมาทำให้แทน

พอพูดเสร็จ พวกเขาก็คงหยิบสถิติความล้มเหลวของเราเหล่ามนุษย์ทั่วไปมายิ้มเยาะว่า นี่ไง แค่สัปดาห์แรกของปีผ่านไป คนจำนวน 25 เปอร์เซ็นต์ก็ไปไม่รอดเสียแล้ว แถมพอมาเช็กอีกทีตอนสิ้นปี ก็มีแค่ 8 เปอร์เซ็นต์ที่กัดฟันทำได้ตามที่ตั้งใจไว้ ส่วนพวกที่ถอดใจกลางทาง พอเตรียมขึ้นปีใหม่ สุดท้ายก็เอาปณิธานปีเก่ามารีไซเคิล

ผู้เขียนว่าอย่าไปสนใจพวกนักเศรษฐศาสตร์แบบย่อหน้าด้านบนเลยครับ เรามาคุยกับกับนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมที่มองมนุษย์เป็นมนุษย์จริงๆ ไม่ได้ถอดแบบจากสมการทางคณิตศาสตร์

นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมอธิบายว่า ที่เราส่วนใหญ่ไปไม่ถึงฝั่งฝันตามปณิธานปีใหม่ก็เพราะปัญหาในการควบคุมตัวเอง (Self-control) เนื่องจากสิ่งเร้า ปัจจุบันที่มักจะทำให้เราไขว้เขวจากเป้าหมายระยะยาวที่เราตั้งใจไว้ ทั้งที่รู้อยู่แก่ใจว่าเป้าหมายระยะยาวนั้นดีต่อตัวเองแค่ไหน เช่น ต้องการเลิกบุหรี่ แต่พอเห็นเพื่อนตั้งวงสูบ ก็อดไม่ได้ที่จะเข้าไปขอสูบสักตัวให้หายอยาก หรือกำลังอยู่ในระหว่างลดน้ำหนัก เมื่อเดินกลับจากยิม แต่ดันเดินผ่านร้านหมูปิ้งเจ้าประจำแล้วอดไม่ได้ที่จะซื้อติดมือสักไม้สองไม้

ริชาร์ด เธเลอร์ (Richard Thaler) เจ้าของรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์เมื่อปีที่ผ่านมา เขียนอธิบายปัญหาการควบคุมตัวเอง โดยยกเหตุการณ์การทานอาหารเย็นที่บ้าน โดยเธเลอร์หยิบเม็ดมะม่วงหิมพานต์ชามใหญ่มาให้แขกกินเล่นระหว่างรอ แต่อัตราการกินแบบเบรกแตกทำให้ทุกคนเริ่มตระหนักว่า หากกินแบบนี้ต่อไป เมื่ออาหารมื้อใหญ่มาเสิร์ฟก็คงจะกินไม่ลง สุดท้ายเธเลอร์จึงตัดสินใจยกเม็ดมะม่วงหิมพานต์ไปซ่อนก่อนที่ทุกคนจะกินจนหมดชาม

ปัญหาในการควบคุมตนเองของมนุษย์นั้นไม่ใช่เรื่องใหม่ในแวดวงจิตวิทยา มีการศึกษาโด่งดังเมื่อราว 60 ปีก่อนที่ให้เด็กเลือกระหว่างกินขนม (ซึ่งอาจเป็นคุกกี้ โอรีโอ หรือมาร์ชเมลโล่) ทันทีหนึ่งชิ้น หรือนั่งอดทนรออีก 20 นาทีเพื่อจะได้กินสองชิ้น หลายคนคงเดาคำตอบได้ว่าเด็กส่วนใหญ่เลือกกินขนมที่ตั้งอยู่ตรงหน้า แต่กว่าแนวคิดเรื่องการควบคุมตนเองจะเข้าสู่เศรษฐศาสตร์ก็ใช้เวลาร่วม 30 ปี

แล้วเราจะจัดการเรื่องนี้อย่างไรดี ?

ดีน คาร์แลน (Dean Karlan) อาจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม และเอียน ไอเรส (Ian Ayres) อาจารย์ด้านกฎหมาย จากมหาวิทยาลัยเยล มีคำตอบครับ ทั้งสองท่านเป็นผู้ร่วมก่อตั้งเว็บไซต์ stickK.com โดยนำความสำเร็จในการลดน้ำหนักของอาจารย์คาร์แลนมาอยู่ในรูปแบบแพลตฟอร์มสัญญาที่มีข้อผูกมัด (Commitment Contract) โดยที่ผ่านมา เว็บไซต์ดังกล่าวมีผู้ใช้มาเขียนเป้าหมายเกือบ 400,000 ครั้ง ช่วยให้คนออกกำลังกายมากขึ้นกว่า 900,000 ครั้ง และลดปริมาณการสูบบุหรี่ลงถึง 22 ล้านมวน โดยใช้สี่ขั้นตอนง่ายๆ คือ

1. ตั้งเป้าหมาย

เป้าหมายยอดนิยมของเว็บไซต์ stickK.com คือลดน้ำหนัก ออกกำลังกาย หรือเลิกบุหรี่ แต่แพลตฟอร์มก็มีฟังก์ชันสนับสนุนให้เราตั้งเป้าหมายเอง ซึ่งแบ่งเป็นสองลักษณะ ได้แก่ ข้อผูกมัดระยะยาว ซึ่งเหมาะกับการเริ่มนิสัยใหม่ เช่น ออกกำลังกายเป็นประจำ และข้อผูกมัดแบบครั้งเดียว ซึ่งเหมาะกับเหตุการณ์สำคัญแต่อาจเกิดไม่บ่อยครั้งนัก เช่น ตรวจสุขภาพทุกปี

ผู้เขียนขอทำตัวเป็นหนูทดลอง (ที่จริงจัง) ตั้งเป้าหมายลดน้ำหนักจาก 83.5 กิโลกรัมให้เหลือ 80 กิโลกรัมภายใน 12 สัปดาห์ ซึ่ง stickK ก็ค่อนข้างอารี โดยปรับเป้าหมายให้เป็นรายสัปดาห์แบบอัตโนมัติ และบังคับให้เรารายงานผลทุกสัปดาห์ว่าทำได้ตามเป้าหรือไม่ ส่วนถ้าทำไม่ได้จะเป็นอย่างไร อ่านต่อได้ในข้อสองเลยครับ

2. วางเดิมพัน

แพลตฟอร์ม stickK เขียนเป็นอักษรตัวหนาว่า หากวางเดิมพันเป็นตัวเงินนั้น จะทำให้มีโอกาสสำเร็จตามเป้าหมายเพิ่มขึ้นถึงสามเท่า ซึ่งเจ้า stickK ก็มีออปชันที่แสบมาก คือสามารถเลือกได้ว่า ถ้าเราทำไม่ได้ตามเป้าหมายรายสัปดาห์ ระบบจะทำการตัดบัตรเดบิตหรือเครดิตแบบอัตโนมัติไปยังเพื่อนหรือคนที่เราไม่ชอบขี้หน้า หรือองค์กรการกุศลที่ stickK จะทำการสุ่มให้ แต่ที่เจ็บปวดที่สุดคือ การบริจาคให้กับองค์กรการกุศลที่เราเกลียด เช่น ถ้าเรารำคาญ NGOs รักป่ารักษ์โลก stickK ก็มีลิสต์องค์กรต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอังกฤษและอเมริกา สำหรับแฟนคลับฟุตบอล ก็มีทางเลือกในการบริจาคให้กับสโมสรคู่อาฆาต ทั้งอาร์เซนอล เชลซี แมนยู และลิเวอร์พูล และที่ขาดไม่ได้คือองค์กรระดมทุนเพื่อสนับสนุนพรรคการเมือง ซึ่งปัจจุบันมีแค่พรรคการเมืองในอังกฤษและอเมริกาเท่านั้น

มาถึงขั้นตอนนี้ ผมกำบัตรเดบิตในมือแน่นก่อนจะกรอกรายละเอียดลงไป โดยตั้งเป้าว่าถ้าทำไม่ได้ผมจะบริจาคเงิน 5 ดอลลาร์ต่อสัปดาห์ให้พรรคริพับลิกัน หรือคุณทรัมป์นั่นเอง (ม่ายยยยยย!!!) หลังจากได้รับ SMS จากระบบ ก็ถึงเวลาเข้าสู่ขั้นตอนต่อไป

3. เลือกกรรมการ

อ๊ะ อ๊ะ อย่าคิดว่าความแสบของ stickK หมดแค่ตั้งเป้าหมายและตัดบัตรเครดิตอัตโนมัติ เพราะอีกฟังก์ชันของแพลตฟอร์มนี่คือการเลือกกรรมการให้มาตัดสินว่า รายงานที่เราส่งรายสัปดาห์นั้นเป็นไปตามเป้าหรือไม่ ซึ่งแนะนำว่าควรเป็นคนใกล้ชิดที่พร้อมจะกระทืบซ้ำลงโทษจริงหากเราทำไม่ได้ เพราะจะช่วยสร้างแรงบันดาลใจและความกลัวเสียสตางค์ให้องค์กรที่เราเหม็นขี้หน้าเป็นอย่างสูง ซึ่งขั้นตอนนี้ ผมก็แต่งตั้งให้ภรรยาเป็นกรรมการครับ (ฮือ) ซึ่งการมีกรรมการจะทำให้อัตราสำเร็จเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า แต่หากใครยังไม่พร้อม ก็สามารถเป็นกรรมการตรวจสอบตัวเองได้นะครับ

4. หากองเชียร์

สุดท้ายท้ายสุด คือการเชิญกองเชียร์ที่จะได้รับอีเมลความคืบหน้าแต่ละสัปดาห์ของเรา พร้อมกับฟังก์ชันในการโพสต์ให้กำลังใจ ซึ่งในความเห็นของผม ท่าทางกองเชียร์จะกลายเป็นกองแซะเสียมากกว่า (ฮา)

ความน่ากลัวอีกหนึ่งอย่างของ stickK คือ ตั้งเป้าหมายแล้ว ยกเลิกไม่ได้นะครับ!  ดังนั้นก่อนกระทำการอันใด ควรคิดให้รอบคอบก่อนคลิก Next ใครลองเอาไปใช้แล้วได้ผลอย่างไรบ้าง อย่าลืมมาเล่าสู่กันฟังนะครับ ส่วนผมขอตัวไปออกกำลังกายก่อน เพราะหัวเด็ดตีนขาด ผมก็ไม่อยากเสียเงินให้ทรัมป์

 

เอกสารประกอบการเขียน:

Misbehaving: The Making of Behavioral Economics บท Self-Control 1975-88 หน้า 85

The Only Way to Keep Your Resolutions

Behavioral Economics of New Year’s Resolutions

Tags: , , , ,