ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลายคนคงเคยได้ยินข่าวคราวการแบนบริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่จากชาติตะวันตกในประเทศจีน โดยเฉพาะแบรนด์เครื่องแต่งกายสัญชาติสวีเดน H&M รวมถึงเครื่องแต่งกายและอุปกรณ์กีฬา Nike และแบรนด์สินค้าอื่นๆ ด้วยสาเหตุจากการที่ผู้บริหารบริษัทแสดงความกังวลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมฝ้ายจีนในเขตปกครองตนเองซินเจียง ที่อาจใช้แรงงานทาสชาวอุยกูร์ทำงานให้บริษัทในจีนโดยไม่เต็มใจ โดยบริษัทชาติตะวันตกที่ออกมาแสดงความกังวลยืนยันว่าตนจะไม่ใช้ฝ้ายจากซินเจียง
การขยับในเวลาใกล้กันของแบรนด์เครื่องแต่งกายจำนวนมาก ส่งผลให้ข้อมูลของบริษัทชาติตะวันตกที่ต่อต้านการใช้ฝ้ายจากซินเจียงถูกลบหายไปจากระบบอินเทอร์เน็ตที่ใช้ในประเทศจีน ส่วนแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ทั้ง Alibaba, JD.com, Tmall ต้องนำสินค้าของแบรนด์ H&M กับ Nike ออกจากระบบทั้งหมด โดยแบรนด์ที่รัฐบาลจีนต่อต้านมากที่สุดตอนนี้หนีไม่พ้น H&M เพราะคำดังกล่าวทั้งภาษาจีนและภาษาอังกฤษถูกลบออกจากระบบอินเทอร์เน็ตและเว็บไซต์ต่างๆ ส่งผลให้ประชาชนและบริษัทที่อยู่ในประเทศจีนเข้าถึงข้อมูลและสินค้าของ H&M ได้ยากขึ้น
ขณะเดียวกัน คนดังในวงการบันเทิงจีนต่างพากันออกมาแบน H&M และ Nike อย่างต่อเนื่อง มีคนดังกว่า 30 คน ประกาศยกเลิกสัญญาการเป็นพรีเซนเตอร์หรือแบรนด์แอมบาสเดอร์กับบริษัทชาติตะวันตกเป็นจำนวนมาก จนเกิดการฟ้องร้องเรื่องค่าเสียหายตามมาหลายกรณี ส่วนสื่อหลายสำนักในจีนได้ออกโรงปกป้องชื่อเสียงของประเทศด้วยการประณามแบรนด์แฟชั่น อาทิ สถานีโทรทัศน์ CGTN เล่าถึงการเก็บฝ้ายในซินเจียงที่ใช้เครื่องจักรไม่ใช่แรงงานทาสตามที่ H&M กล่าวอ้าง ส่วนสถานีโทรทัศน์ CCTV โจมตี H&M ว่าพยายามรับบทเป็นฮีโร่แต่กลับไม่รู้เรื่องรู้ราวถึงความจริงที่เกิดขึ้น และ H&M จะต้องชดใช้ต่อความผิดพลาดครั้งนี้
นักวิชาการ คนในวงการสื่อ และนักประวัติศาสตร์ที่อาศัยอยู่นอกประเทศจีน วิเคราะห์ข้อพิพาทระหว่างรัฐบาลปักกิ่งกับแบรนด์แฟชั่นต่างประเทศ โดยเฉพาะเหตุผลที่ทำให้รัฐบาลต่อต้าน H&M มากกว่าแบรนด์อื่นอย่างเห็นได้ชัด อาจมีปมขัดแย้งนอกเหนือจากการที่ผู้บริหารแบรนด์ H&M เคยแถลงการณ์ว่า “ไม่สนับสนุนการใช้ฝ้ายจากเขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์”
อีกหนึ่งประเด็นที่ว่าคือข่าวฉาวเมื่อปี 2015 กุ้ย หมินไห่ (Gui Minhai) ชายชาวสวีเดน-ฮ่องกง หุ้นส่วนร้านหนังสือในเขตบริหารพิเศษฮ่องกงที่มักขายหนังสือต้องห้ามหรือหนังสือที่มีเนื้อหาวิจารณ์การทำงานของรัฐบาล วิจารณ์ประธานาธิบดี สี จิ้นผิง (Xi Jinping) และหนังสือที่มีเนื้อหาต่อต้านพรรคคอมมิสนิสต์จีน อยู่ๆ เขากลับหายตัวไประหว่างอยู่ในประเทศไทย จนกระทั่งในปีถัดมาพบว่าเขาถูกเจ้าหน้าที่จีนพาตัวไปยังประเทศจีน ก่อนปล่อยตัวเขาในปี 2017
หลังจากกุ้ย หมินไห่ปรากฏตัวต่อหน้าสาธารณชน เขากลับหายตัวอีกครั้งในเดือนมกราคม 2018 ขณะกำลังเดินทางออกจากประเทศสวีเดนกลับมายังประเทศจีน ก่อนผลลัพธ์จะเหมือนเดิมอีกครั้ง เพราะกุ้ย หมินไห่ถูกรัฐบาลจีนควบคุมตัวเพื่อไปขึ้นศาล โดยศาลในจีนพิพากษาว่าเขามีความผิดฐานจารกรรมข้อมูลเพื่อส่งให้กับรัฐบาลต่างประเทศ ถือเป็นความผิดร้ายแรงที่จะต้องรับโทษจำคุก 10 ปี
เหตุการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ความสัมพันธ์ระหว่างสวีเดนและจีนอยู่ในความตึงเครียด จนกระทั่งแบรนด์แฟชั่นสัญชาติสวีเดนออกมากล่าวถึงการใช้แรงงานผิดกฎหมายในซินเจียงอุยกูร์ ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหองระแหงของทั้งสองชาติ
ประเทศคู่พิพาทจีนอย่างสหรัฐอเมริกาก็มีแบรนด์จำนวนมากที่ได้รับผลกระทบ ทั้ง Nike, Adidas, Tommy Hilfiger, Converse และ New Balance รวมถึงแบรนด์แฟชั่นไฮเอนด์สัญชาติอังกฤษอย่าง Burberry ส่งผลรัฐบาลวอชิงตันก็ไม่ได้นิ่งนอนใจกับสิ่งที่เกิดขึ้น เจน ซากี (Jen Psaki) โฆษกทำเนียบขาว ออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2021 ใจความสำคัญของแถลงการณ์ครั้งนี้คือการยืนยันว่าสหรัฐฯ ต้องการเรียกร้องให้ประชาคมโลกต่อต้านการกระทำของจีน กรณีการใช้โซเชียลมีเดียเป็นอาวุธโจมตีบริษัทต่างประเทศที่ดำเนินธุรกิจในประเทศจีนอย่างถูกต้อง
เจน ซากี ย้ำว่าสหรัฐฯ ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการทั่วโลกได้รับการคุ้มครองภายใต้สิทธิมนุษยชน มีความเคารพต่อกัน ภายใต้กติกาที่ยุติธรรม ตามข้อตกลงพื้นฐานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) และองค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (โออีซีดี) เรื่องการต่อต้านการใช้แรงงานทาส
ก่อนหน้านี้สหรัฐฯ และสหภาพยุโรป (อียู) คว่ำบาตรเจ้าหน้าที่ระดับสูง 4 คน ของพรรคคอมมิวนิสต์ ด้วยประเด็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนในเขตซินเจียง ส่งผลให้รัฐบาลปักกิ่งโต้ตอบด้วยการประกาศขึ้นบัญชีดำพลเมืองอังกฤษ 9 คน จากหลากหลายอาชีพ ทั้งนักวิชาการ นักกฎหมาย และสมาชิกสภาสามัญอังกฤษ มาตรการดังกล่าวครอบคลุมถึงสมาชิกในครอบครัวด้วย นอกจากบุคคล รัฐบาลปักกิ่งยังคว่ำบาตรองค์กรอิสระ หน่วยงานด้านสิทธิมนุษยชนอังกฤษอีก 4 แห่ง คณะกรรมาธิการด้านสิทธิมนุษยชนของพรรคอนุรักษนิยมอังกฤษ และองค์กรอิสระด้านอุยกูร์ สาขาลอนดอน
มาตรการคว่ำบาตรส่งผลให้บุคคลและครอบครัวไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศจีน เขตบริหารพิเศษฮ่องกง และมาเก๊า และไม่สามารถทำธุรกิจร่วมกับชาวจีนและหน่วยงานของจีนได้อีกต่อไป ส่วนเหตุผลที่รัฐบาลปักกิ่งระบุว่าจำต้องขึ้นบัญชีดำบุคคลเหล่านี้เป็นเพราะ ‘เผยแพร่ข้อมูลเท็จ’ ที่เกี่ยวข้องกับรัฐบาลและเขตซินเจียงอุยกูร์
ทั่วโลกต่างวิพากษ์วิจารณ์ความโหดเหี้ยมที่รัฐบาลปักกิ่งกระทำต่อชนกลุ่มน้อยอุยกูร์ ย้อนกลับไปยังปี 2018 องค์การสหประชาชาติเคยร้องขอให้คนขององค์การเข้าไปสำรวจในเขตที่รัฐบาลปักกิ่งเรียกว่า ‘โรงเรียนปรับทัศนคติมุสลิมอุยกูร์’ ณ เขตปกครองตนเองซินเจียงอุยกูร์ เนื่องจากกังวลกับข่าวลือเรื่องการใช้ความรุนแรง ลิดรอนเสรีภาพ และกดขี่ทางเชื้อชาติ ทว่ากลับถูกรัฐบาลปักกิ่งปฏิเสธ
คำบอกเล่าของชาวอุยกูร์ที่เคยอยู่ในโรงเรียนปรับทัศนคติมุสลิมอุยกูร์ ยืนยันว่าสถานที่แห่งนั้นไม่ได้เป็นโรงเรียนดังที่รัฐนำเสนอ แต่เป็น ‘ค่ายกักกัน’ ที่ยัดคนกว่า 1 ล้านคน ให้อยู่ในพื้นที่แคบๆ บังคับให้ผู้หญิงชาวอุยกูร์และชนกลุ่มน้อยชาวมุสลิมต้องทำหมัน ส่วนผู้ชายกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย เร่งทำงานให้กับบริษัทในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ ที่จับมือกับรัฐบาลปักกิ่ง ซึ่งจีนปฏิเสธหนักแน่นว่าไม่ได้ละเมิดสิทธิมนุษยชนใคร และให้ชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีกับชาวอุยกูร์
ที่มา
– https://twitter.com/SCMPNews/status/1375412213255598082
– https://www.bbc.com/news/world-asia-china-56519411
Tags: Report, China, The Momentum, Global Affairs, แฟชั่น, อุยกูร์, Uighur, ฝ้าย, ซินเจียงอุยกูร์