1

บราซิลถือเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อโควิดในระดับที่สูงจนน่าตกใจมาก แถมตัวเลขยังคงทะยานไม่หยุด ไม่มีแนวโน้มลดลงเหมือนประเทศอื่นๆ มีคนเสียชีวิตจากโรคนี้ 3 แสนกว่าคนแล้ว โดยเฉลี่ยใน 1 ชั่วโมง จะมีคนบราซิลตายจากโควิด125 คน แถมในรอบ 14 วันที่ผ่านมา ยอดผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น 8 เปอร์เซ็นต์ในระดับหลักสิบล้านกว่าคน แถมไม่มีใครรู้ว่าหลังจากนี้ตัวเลขจะมากกว่าเดิมหรือไม่ 

นี่จึงเป็นวิกฤติที่หนักหน่วงอย่างมากสำหรับบราซิล ยิ่งอัตราการฉีดวัคซีนโควิดที่ไม่ได้สูงมากหากเทียบกับประเทศมหาอำนาจอื่นๆ เพราะมีประชากรเพียง 1.9 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการฉีดวัคซีนนี้ พอยิ่งฉีดน้อย ตัวเลขผู้ติดเชื้อจึงยิ่งพุ่งสูงขึ้น

ความล้มเหลวในการจัดการโควิดจะไปชี้นิ้วโทษใครอื่นก็ไม่ได้นอกจากตัวรัฐบาลเอง ที่ดันประมาท ‘ดูเบา’ การแพร่ระบาดของโรคนี้จนไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที ไม่นับว่าประธานาธิบดี ฌาอีร์ โบลโซนารู ซึ่งเคยติดโควิดมาแล้ว แต่พอรักษาจนหายก็ยังดูเหมือนจะไม่สนใจจะแก้ปัญหาอย่างจริงจัง แถมยังไปเชื่อทฤษฎีสมคบคิดอีกสารพัด ดังนั้นจึงไม่แปลกว่าทำไมโบลโซนารูเองจะมีความสนิทสนมเข้ากันได้กับอดีตประธานาธิบดี โดนัลด์ ทรัมป์ แห่งอเมริกา นั่นก็เพราะทั้งสองมีแนวคิดขวาจัด แถมเชื่อเรื่องโกหกเกี่ยวกับโควิดเหมือนกันด้วย 

โชคดีที่ว่าคนอเมริกันใช้สิทธิเลือกตั้งล้มทรัมป์สำเร็จ ส่วนคนบราซิลยังต้องอยู่กับโบลโซนารูไปจนถึงปีหน้าถึงจะได้เลือกตั้งใหม่ 

การบริหารจัดการโควิดที่ไร้ประสิทธิภาพนี้เองจึงทำให้คนในประเทศวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลอย่างกว้างขวางจนเกิดเรื่องแปลกประหลาดขึ้น นั่นคือการ ‘กลับลำ’ เปลี่ยนนโยบายของบราซิลจากการอิงอเมริกากลับไปหาจีน โยงเข้ากับเรื่องวัคซีนและการประมูลคัดเลือกผู้ลงทุนระบบการสื่อสารเครือข่ายโทรศัพท์มือถือแบบไร้สายรุ่นที่ 5 หรือระบบ 5G ขึ้นในประเทศ หากมองผ่านๆ ดูเหมือนทั้งสองเรื่องจะไม่เกี่ยวข้องกันแม้แต่น้อย แต่ในโลกยุคโควิดนี้ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกันหมด

2

เริ่มแรกต้องขออธิบายก่อนว่า รัฐบาลของโบลโซนารูนั้นสนิทสนมกับอเมริกาโดยเฉพาะในช่วงทรัมป์เป็นประธานาธิบดี ตอนนั้นมีคำสั่ง ‘แบน’ การใช้งานบริษัทโทรคมนาคมอย่างหัวเว่ยซึ่งเป็นของจีน เพียงเพราะทรัมป์กล่าวหาว่าหัวเว่ยใช้เทคโนโลยีการสื่อสารสอดแนมประเทศตะวันตก เป็นเครือข่ายที่ไม่ปลอดภัย ดังนั้นรัฐบาลพันธมิตรกับอเมริกาจึงไม่ควรใช้งานบริษัทนี้นำไปสู่การปะทะแข่งขันจับกุม สร้างปัญหาให้กับหัวเว่ยเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าโบลโซนารูก็ร่วมหัวจมท้ายกับทรัมป์ด้วย เขาสั่งห้ามหัวเว่ยเข้าประมูล 5G ในบราซิลเด็ดขาด แถมยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลจีนอย่างเต็มที่ด้วย

อย่างไรก็ดี เมื่อการเมืองโลกเปลี่ยนทิศทางง่ายเหมือนใบไม้ไหว พอทรัมป์ตกกระป๋อง และรัฐบาลใหม่ของอเมริกาซึ่งมีโจ ไบเดน เป็นประธานาธิบดีได้วิจารณ์บราซิลในการจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างหนักหน่วง ทำให้บราซิลจำต้องหันไปหาพันธมิตรอื่น และในช่วงที่วัคซีนจากชาติตะวันตกถูกกักไว้ใช้กับคนในประเทศก่อน แถมตัวเลขผู้ติดเชื้อในบราซิลก็สูงจนน่ากลัวมากๆ หากรัฐบาลไม่ทำอะไรสักอย่าง คนจะต้องออกมารุมประท้วงไม่พอใจอย่างแน่นอน

ดังนั้น ทางโบลโซนารูจึงส่งรัฐมนตรีด้านการสื่อสารโทรคมนาคมเดินทางไปพบผู้บริหารหัวเว่ยที่จีนเพื่อขอให้ช่วยเหลือเรื่องวัคซีน ซึ่งพอคุยกันจบแล้ว ปรากฏว่าในเวลาต่อมา คำสั่งห้ามหัวเว่ยเข้าประมูล 5G ได้ถูกยกเลิกไป ทำให้สามารถกลับเข้ามาร่วมวงประมูลได้ทันที จังหวะพร้อมๆ กับการที่บริษัทซิโนแวคของจีนได้จัดส่งวัคซีนมาให้กับบราซิล ซึ่งจะเดินทางมาถึงในอีกไม่กี่อาทิตย์ต่อจากนี้ ส่วนการประมูล 5G นั้น เดิมทีจะต้องเริ่มในช่วงมีนาคมแต่ถูกเลื่อนออกไปก่อน เพราะโควิดยังแพร่ระบาดหนักอยู่ แต่ก็คาดว่าคนบราซิลจะได้ใช้ 5G กันจริงๆ ในมิถุนายนปีหน้า

แน่นอนว่าการกระทำของบราซิลยิ่งทำให้จีนรุกเข้ามามีบทบาทในอเมริกาใต้มากขึ้น โดยใช้วัคซีนเป็น ‘ใบเบิกทาง’ ซึ่งเอาเข้าจริงๆ แล้ว อเมริกาเองก็ใช้วิธีการใกล้เคียงกับจีนเช่นกัน โดยใช้วัคซีนของตัวเองส่งไปให้เม็กซิโกเพื่อให้คนได้ฉีดกันมากขึ้น แลกกับผลประโยชน์นั่นก็คือ เม็กซิโกต้องควบคุมชายแดนในอเมริกากลางให้เข้มงวดมากกว่าเดิม เพื่อไม่ให้คนลักลอบเข้ามาเพื่อเดินทางเข้าสู่พรมแดนอเมริกาได้

แต่ขณะที่อเมริกาส่งวัคซีนให้กับเม็กซิโก ทางจีนเองกลับ ‘เล่นใหญ่’ กว่า เพราะได้ใช้วัคซีนเป็นใบเบิกทางการทูตกระจายวัคซีนป้องกันโควิดไปแล้วกว่า 25 ประเทศทั่วโลก และกำลังดำเนินการส่งไปเพิ่มอีก 11 ประเทศ ราว 500 ล้านโดส ถ้าไปดูตารางการส่งวัคซีน จะพบว่าประเทศในอเมริกาใต้เกือบทั้งหมด โดยเฉพาะประเทศใหญ่ๆ อย่างอาร์เจนตินา บราซิล และชิลี ล้วนได้รับวัคซีนจากจีนหมดแล้ว

หากถามว่าทำไมจีนถึงต้องเดินเกมรุกขนาดนี้ นั่นก็เพราะภาพลักษณ์ของจีนกับโควิดเป็นปัญหาอย่างมาก อย่าลืมว่าจุดกำเนิดของโรคระบาดครั้งนี้เกิดขึ้นที่จีน จนทำให้หลายประเทศมีภาพด้านลบต่อจีนมาก ซึ่งมันยังไปสะเทือนส่งผลต่อคนเอเชียในประเทศต่างๆ ที่ถูกคุกคามเหยียดผิว ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บเสียชีวิต ก็เพราะมีการปลุกปั่นจากในประเทศต่างๆ ว่าคนเอเชียเหล่านี้ทำให้โควิดแพร่ระบาด ทั้งที่ไม่เกี่ยวข้องอะไรเลย

ทางจีนเองนั้นก็เล็งเห็นปัญหาด้านนี้ พวกเขาจึงให้ทูต ผู้บริหารบริษัทยา และผู้มีอำนาจทางการเงินทั้งหลาย เร่งสร้างภาพลักษณ์แก่ประเทศตัวเองให้ดีขึ้น และจะมีอะไรดีไปกว่าการส่งออกวัคซีนที่คิดค้นโดยบริษัทจีนเองเพื่อออกไปช่วยประชาชนในประเทศกำลังพัฒนาที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิดกันเล่า ยิ่งอเมริกา ‘กั๊ก’ วัคซีน ประเทศมหาอำนาจต่างไม่อยากส่งออกวัคซีน เพราะอยากใช้กับคนในประเทศตัวเองก่อน นี่จึงเป็น ‘โอกาสทอง’ ที่จะได้แก้ตัวเปลี่ยนภาพลักษณ์ในสายตาชาวโลก แถมยังได้ขยายอิทธิพลมหาอำนาจของตัวเองออกไปยังประเทศต่างๆ ด้วย

นับเป็นการรุกคืบครั้งสำคัญของจีนเลยทีเดียว

3

ผู้เชี่ยวชาญขยายภาพว่า เอาเข้าจริง นอกจากจีนเองที่ได้ประโยชน์เรื่องนี้แล้ว ตัวรัฐบาลบราซิลเองก็ใช้จีนเป็นเครื่องมือในการต่อสู้ทางการเมืองและแก้ตัวให้กับความผิดพลาดของตัวเองเช่นกัน เพราะทางบริษัทหัวเว่ยนั้นได้มาลงทุนทำธุรกิจโทรคมนาคมในบราซิล 20 กว่าปีแล้ว และการที่รัฐบาลโบลโซนารูประกาศแบนหัวเว่ยตามทรัมป์นั้น ได้ก่อความผิดพลาดในเชิงนโยบาย เพราะดันไปสร้างความแตกแยกให้คนในประเทศอย่างมาก เพราะแม้หัวเว่ยเองจะครองความเป็นเจ้าตลาดในธุรกิจโทรคมนาคมของบราซิล มีส่วนร่วมในการลงทุนเครือข่าย 3G และ 4G มาโดยตลอด หรือการที่โทรศัพท์มือถือยี่ห้อวีโวจะใช้เครือข่ายของหัวเว่ยเป็นหลักก็ตาม แต่ก็ยังมีคู่แข่งอย่างโนเกียจากฟินแลนด์และอิริกสันจากสวีเดนอยู่ด้วย การที่รัฐบาลไปแบนหัวเว่ยจึงสุ่มเสี่ยงที่โนเกียและอิริกสันกลายเป็นผู้เล่นใหญ่ 2 บริษัทในตลาดโทรคมนามคมบราซิลเสี่ยงต่อการผูกขาดเป็นอย่างมาก แทนที่จะปล่อยให้มีการแข่งกันอย่างดุเดือด 3 บริษัทดังเดิม 

เมื่อเกิดความผิดพลาดก็ต้องเร่งแก้ไข ซึ่งวิธีการแก้ไขของรัฐบาลบราซิลนั้นไม่ได้ทื่อๆ บื้อๆ เหมือนผู้นำบางประเทศ แต่กลับมีชั้นเชิงอย่างน่าสนใจ โดยในช่วงแบนหัวเว่ยนั้น รัฐบาลเองก็ไปด่าบริษัทนี้ไว้เยอะ การจะมาคืนดีกันก็ต้องมีความแพรวพราวกันหน่อย โดยรัฐบาลบราซิลใช้วิธีบอกว่า แม้จะอนุญาตให้หัวเว่ยกลับมาร่วมประมูล 5G ได้ แต่ก็ยืนยันว่ารัฐบาลจะสร้างโครงข่าย 5G ส่วนตัวเพื่อใช้กันในหมู่ข้ารัฐการหน่วยงานรัฐแยกขาดจากผู้ให้บริการสาธารณะทั่วไป โดยไม่มีอุปกรณ์ของหัวเว่ยประกอบด้วย 

จุดนี้ในทางการเมืองก็เหมือนยังไว้เชิงว่า จะดำเนินการตามนโยบายป้องกันความลับของรัฐไม่ให้ตกไปอยู่ในโครงข่ายของบริษัทที่ถูกตราหน้ามาก่อนหน้านี้ว่าชอบจารกรรมข้อมูล

นั่นจึงทำให้รัฐบาลยังพอยืนยันว่าจะทำตามนโยบายที่เคยด่าหัวเว่ยไว้อยู่ (บ้าง) ก็ตาม

ทั้งนี้ การลงทุนให้กับภาครัฐที่ห้ามหัวเว่ยเข้าไปยุ่งด้วยนั้นมีมูลค่าไม่มากเพียง 180 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เท่านั้น การที่หัวเว่ยไม่ได้เข้าร่วมก็ถือว่าไม่ได้ ‘ตกขบวน’ ขุมทรัพย์มหาศาลเท่าใดนัก เพราะเอาเข้าจริง หากชนะการประมูล 5G พวกเขาจะการันตีรายได้ถึง 1.8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เลยทีเดียว

พูดง่ายๆ ว่า ก็แค่ยอมเสีย 180 ล้านเพื่อไปลุ้นรายได้หลักหมื่นล้าน แถมยังหาทางลงให้กับรัฐบาลบราซิลด้วย นับเป็นความได้เปรียบของหัวเว่ยต่อคู่แข่งรายอื่นๆ ในการประมูล 5G อย่างแท้จริง

อีกจุดหนึ่งที่ทำให้รัฐบาลบราซิลต้องกลับมาจับมือคุยดีกับหัวเว่ยและจีนอีกครั้ง ก็เพราะว่าคู่แข่งทางการเมืองของโบลโซนารูนั้นต่างชิงตัดหน้าโดยการจับมือกับจีนเพื่อให้ช่วยจัดหาวัคซีนอย่างเร่งด่วนกันแทบหมดแล้ว โดยเฉพาะจาว โดเรีย ผู้ว่าการรัฐเซาเปาโลซึ่งได้สั่งวัคซีนจากบริษัทจีนเข้ามาฉีดคนในรัฐ ตอนนั้นรัฐบาลเองมัวเย้ยหยันว่าวัคซีนจากจีนนั้นไม่ได้คุณภาพอะไรเลย และหันไปสั่งซื้อวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าเข้ามาแทน ซึ่งวัคซีนจากจีนกลับได้รับการอนุมัติและใช้ฉีดให้กับคนในรัฐเซาเปาโลก่อนเป็นจำนวนมาก ถือเป็นการ ‘ตบหน้า’ รัฐบาลบราซิลอย่างรุนแรง ส่งผลต่อคะแนนเสียงฐานความนิยม ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป ปีหน้าโบลโซนารูและพันธมิตรทั้งหลายคงจะแพ้การเลือกตั้งอย่างแน่นอน

ดังนั้นจึงเกิดการ ‘กลับลำ’ ยอมสั่งซื้อวัคซีนจากจีนมากู้สถานการณ์โดยด่วน ซึ่งจีนก็พร้อมขาย และหัวเว่ยก็พร้อมช่วยเหลือ แม้จะไม่มีการแถลงการณ์ยอมรับถึงดีลนี้ตรงๆ แต่ผู้บริหารหัวเว่ยก็ให้สัมภาษณ์ว่าพวกเขาได้พยายามช่วยเหลือรัฐบาลบราซิลในเรื่องวัคซีนโควิดอย่างเต็มที่ด้วย แม้ดูเหมือนจะได้เปรียบ แต่ก็ต้องยอมรับการประมูล 5G ในบราซิลจะยังคงดุเดือดเหมือนเดิม ไม่ใช่เพราะรายได้มหาศาลเท่านั้น แต่ในช่วงที่รัฐมนตรีโทรคมนาคมเองเดินทางไปพบผู้บริหารหัวเว่ยที่จีนนั้น หลังพบปะเสร็จแล้วเขายังได้เดินทางไปพบกับผู้บริหารอีริกสันในสวีเดน ซึ่งหนึ่งในผู้บริหารคนหนึ่งที่เข้าพบรัฐมนตรีนั้นก็เป็นบอร์ดอยู่กับบริษัทผลิตวัคซีนแอสตร้าเซเนก้าอีกด้วย

ดังนั้น แม้หัวเว่ยจะได้เปรียบในการประมูลสูง แต่ก็ประมาทคู่แข่งอื่นๆ ไม่ได้เช่นกัน ส่วนทางรัฐบาลบราซิลเห็นขวาจัดแบบนี้แต่ก็ยังเดินเกมไว้ลายอย่างชาญฉลาด ไม่ใช่ไปพึ่งประเทศใดประเทศหนึ่งเพียงอย่างเดียว นี่จึงเป็นหมากการเมืองที่ลึกล้ำกันมาก

ไม่น่าเชื่อว่าเรื่องของการลงทุนโทรคมนาคมนั้นจะเกี่ยวข้องกับวัคซีนป้องกันวิกฤตโรคระบาด แถมยังมีการเมืองในและระหว่างประเทศเข้ามาปนๆ อยู่ด้วย แต่ก็ดังที่เรียนไปแล้วว่าโลกยุคโควิดนี้ ทุกอย่างล้วนเกี่ยวข้องกันหมดทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเราจะมองเห็นมันหรือแกล้งมองไม่เห็นมันเท่านั้นเอง

 

อ้างอิง

https://restofworld.org/2021/brazil-needs-vaccines-it-also-needs-huawei/?utm-source=most-popular

https://www.nytimes.com/2021/03/27/world/americas/virus-brazil-bolsonaro.html

https://www.nytimes.com/interactive/2020/world/coronavirus-maps.html

https://apnews.com/article/china-vaccines-worldwide-0382aefa52c75b834fbaf6d869808f51

https://www.washingtonpost.com/national-security/biden-mexico-immigration-coronavirus-vaccine/2021/03/18/a63a3426-8791-11eb-8a67-f314e5fcf88d_story.html

 

 

 

 

 

 

 

 

Tags: , , , , , , ,