หลายวันก่อนขณะกำลังอ่านกระดานข่าวของคอนโด ก็พบประกาศแจ้งให้ทราบว่า กรรมการของคอนโดลงมติให้คอนโดนี้เป็น ‘อาคารปลอดบุหรี่’ นั่นแปลว่าหากใครเป็นผู้สูบบุหรี่ จะไม่สามารถสูบบุหรี่ในห้องพักของตัวเองได้อีกต่อไป

อันที่จริง ก่อนหน้านี้ก็มีข้อบังคับทำนองนี้ออกมาแล้วครั้งหนึ่ง คือการห้ามไม่ให้ผู้อาศัยสูบบุหรี่ที่ระเบียงห้อง เพราะจะสร้างความเดือดร้อนให้กับห้องอื่นๆ แต่ยังเปิดช่องให้สูบบุหรี่ในห้องได้ ข้อบังคับใหม่นี้เรียกได้ว่าเป็นการยกระดับความใส่ใจต่อสุขภาพของผู้พักอาศัยในคอนโดไปอีกระดับหนึ่ง

ที่เล่าเรื่องนี้ขึ้นมา เพราะหลังจากเห็นประกาศนี้ ผู้เขียนก็ทบทวนถึงทัศนคติที่มีต่อการสูบบุหรี่ของสังคมไทยที่เปลี่ยนแปลงไปมากในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา สมัยก่อน การสูบบุหรี่ยังเรียกได้ว่าเป็นความ ‘เท่’ หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ถูกมองเป็นพฤติกรรมที่น่ารังเกียจในมุมมองของสังคมแต่อย่างใด การสูบบุหรี่ในพื้นที่สาธารณะ ร้านอาหาร รถเมล์ ฯลฯ ถือเป็นเรื่องปกติ ต่อมาเมื่อมีการตื่นตัวถึงพิษภัยของบุหรี่มากขึ้น ประกอบกับการรณรงค์อย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ของผู้สูบบุหรี่ทั้งหลายค่อยๆ หดหายไป จากที่เคยสูบบุหรี่ในสถานบันเทิงได้ (ใช่ครับ มันเคยมีช่วงเวลาที่เราสามารถสูบบุหรี่ในผับได้) ปัจจุบันก็ไม่สามารถทำได้ ไม่ต้องพูดถึงพื้นที่สาธารณะต่างๆ ที่เริ่มจัดพื้นที่ให้สูบบุหรี่แยกต่างหากออกไป จนปัจจุบันแม้แต่ห้องที่จัดไว้ให้สูบบุหรี่ก็ไม่มีอีกต่อไปแล้ว เรียกได้ว่า พื้นที่ของ ‘สิงห์รมควัน’ ทั้งหลายนั้นหดเล็กลงเรื่อยๆ ทั้งพื้นที่ทางกายภาพ และพื้นที่ทางสังคมอื่นๆ การรณรงค์ในรูปแบบต่างๆ ได้สร้างภาพให้การสูบบุหรี่ไม่ได้เป็นเพียงพฤติกรรมของคนไม่ใส่ใจสุขภาพเท่านั้นแต่เป็นพฤติกรรมของ ‘คนไม่ดี’ ‘คนน่ารังเกียจ’ ไปโดยปริยาย

 

อาจจะดูแปลกหากจะพูดถึงสิทธิของคนสูบบุหรี่ที่ถูกสร้างภาพให้เป็นคนไม่ดีในสังคมไปแล้ว แต่ต้องไม่ลืมไปว่าพวกเขาเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองเท่าๆ กับเราทุกคน

 

บอกกันตรงนี้ก่อนนะครับว่าผู้เขียนไม่ได้คิดว่าการสูบบุหรี่เป็นสิ่งที่ดีงามหรือควรสนับสนุน การรณรงค์ให้คนทราบถึงพิษภัยของบุหรี่เป็นเรื่องดี การป้องกันให้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ไม่ได้รับควันบุหรี่ก็เป็นเรื่องสำคัญ การป้องกันผู้สูบหน้าใหม่และการพยายามชักชวนให้เลิกบุหรี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างจริงจัง

แต่สิ่งหนึ่งที่อยากจะชวนให้คิดกันในบทความนี้คือ เพื่อจำกัดผลเสียด้านสุขภาพของการสูบบุหรี่แล้ว มาตรการที่ใช้จะทวีความรุนแรงไปไกลกันแค่ไหน เพราะในอีกด้านหนึ่ง การสูบบุหรี่ก็ไม่ใช่สิ่งผิดกฏหมายนะครับ มาตรการของการต่อต้านการสูบบุหรี่บางอย่างก็หมิ่นเหม่ที่จะละเมิดสิทธิมนุษยชนของผู้สูบบุหรี่อยู่เหมือนกัน อาจจะดูแปลกหากจะพูดถึงสิทธิของคนสูบบุหรี่ที่ถูกสร้างภาพให้เป็นคนไม่ดีในสังคมไปแล้ว แต่ต้องไม่ลืมไปนะครับว่าพวกเขาเหล่านี้ก็เป็นพลเมืองเท่าๆ กับเราทุกคน

 

การจำกัดสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้สูบบุหรี่ ยาแรงแด่สิงห์นักสูบ

ไม่ใช่แค่เมืองไทย แต่สองสามปีมานี้ คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (NHS: National Health Service) ของหลายเขตในสหราชอาณาจักร ได้ออกมาตรการชะลอหรือกระทั่งแบนคิวการผ่าตัด ที่ไม่เร่งด่วนของผู้ที่สูบบุหรี่ไปจนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าเลิกสูบบุหรี่ได้อย่างน้อยแปดสัปดาห์ (ที่จริงมาตรการนี้รวมไปถึงผู้ที่มีค่าดัชนีมวลกายมากกว่า 30 หรือคนอ้วนเข้าไปด้วย คิวผ่าตัดของพวกเขาจะถูกเลื่อนไปจนกว่าจะลดน้ำหนักได้ 10 เปอร์เซ็นต์) เรียกได้ว่าเป็นมาตรการที่รุนแรงและหมิ่นเหม่ทางศีลธรรมอย่างยิ่งจนสร้างข้อถกเถียงในวงกว้างทั้งในหมู่ผู้ประกอบวิชาชีพสาธารณสุขและประชาชนทั่วไป

ขณะที่ในประเทศไทยเอง ข้อถกเถียงที่ว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไม่สมควรได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลฟรีก็เป็นข้อถกเถียงที่เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ยิ่งช่วงที่มีข่าวโรงพยาบาลขาดทุนหรืองบประมาณด้านสาธารณสุขของประเทศไม่เพียงพอ หลายๆ คนก็มุ่งเป้าไปที่ผู้มีพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ด้านสุขภาพ ว่าเป็นสาเหตุหลักของการขาดแคลนงบประมาณ โดยเฉพาะ ‘ผู้ร้าย’ อย่างคนสูบบุหรี่ที่มักจะตกเป็นจำเป็นอันดับต้นๆ

บทความนี้จะพาผู้อ่านไปสำรวจเหตุผลต่างๆ ที่ถูกยกมาสนับสนุนการตัดสิทธิการรักษาพยาบาลของคนสูบบุหรี่พร้อมด้วยข้อโต้แย้งต่างๆ เพื่อชวนคิดว่ามาตรการนี้มันคุ้มค่าที่จะทำจริงๆ หรือไม่

 

การรักษาผู้สูบบุหรี่เป็นภาระทางงบประมาณ

เหตุผลใหญ่ที่มักจะยกขึ้นมาสนับสนุนการจำกัดการเข้าถึงสวัสดิการการรักษาของผู้สูบบุหรี่คือความเห็นที่ว่า การรักษาผู้สูบบุหรี่เป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณของประเทศ ในปี 2552 คณะทำงานศึกษาภาระโรคและปัจจัยเสี่ยงของประชากรไทย สำนักงานพัฒนานโยบายสุขภาพ ประเมินค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ว่ามีถึงปีละ 52,182 ล้านบาท ความเสียหายนี้ประมาณการจากทั้งต้นทุนทางตรง คือ ค่ารักษาพยาบาล (รวมค่าเดินทางและส่วนต่างที่ผู้ป่วยต้องจ่ายเพิ่มจากสวัสดิการของรัฐ) และต้นทุนทางอ้อม ได้แก่ ความสูญเสียจากการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร การต้องหยุดงานของผู้ป่วยและผู้ดูแล ขณะที่ในปีเดียวกัน รัฐบาลมีรายได้จากการเก็บภาษีบุหรี่ เพียง 43,936 ล้านบาทซึ่งเรียกได้ว่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ทำให้ประเทศ ‘ขาดทุน’ เกือบหมื่นล้านบาทต่อปี

แต่ในอีกด้านหนึ่ง การประเมินความเสียหายทางเศรษฐกิจจากการสูบบุหรี่ในลักษณะนี้ยังไม่ได้นำ ‘ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ’ ที่ได้จากการที่คนสูบบุหรี่มาคิดร่วมด้วย อ่านไม่ผิดหรอกครับ ในต่างประเทศมีการศึกษาเพื่อวิเคราะห์ความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ (Cost Benefit Analysis) ของการสูบบุหรี่ ที่นอกจากจะประมาณความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่แล้ว ยังนำผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากการสูบบุหรี่ (นอกเหนือจากภาษีบุหรี่) มารวมด้วย การศึกษาที่โด่งดังอันหนึ่งคือรายงานที่ชื่อ Public Finance Balance of Smoking in the Czech Republic (1999) ของฟิลลิป มอร์ริส (Phillip Morris) บริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ข้อสรุปของการรายงานฉบับนี้คือ เมื่อคำนวนความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจแล้ว การที่ประชาชนชาวเชกผู้สูบบุหรี่นั้นเสียชีวิตเร็วกว่า ช่วยประหยัดเงินที่รัฐบาลต้องดูแลพวกเขาในวัยชราถึงปีละ 150 ล้านเหรียญสหรัฐ!

แน่นอนว่าหลังรายงานฉบับนี้เปิดเผยต่อสาธารณชน บริษัทถูกรุมประนามที่โอ้อวดข้อดีของสินค้าของตัวเองที่ทำให้คนตายเร็ว ว่ากันในทางวิชาการ รายงานของ ฟิลลิป มอร์ริสมีปัญหาเรื่องความน่าเชื่อถือของผลการประเมินหลายอย่าง เช่น ไม่ได้คำนวนรวมมูลค่าทางเศรษฐกิจของชีวิตที่สั้นลงของนักสูบ หรือการคำนวนค่าใช้จ่ายการรักษาพยาบาลที่ต่ำกว่าความเป็นจริง อย่างไรก็ดี รายงานฉบับนี้ก็แสดงให้เห็นว่าในการคำนวนความเสียหายทางเศรษฐกิจของการสูบบุหรี่นั้น มุมมองที่ว่าคนสูบบุหรี่มีอายุสั้นกว่าคนที่ไม่สูบโดยเฉลี่ยราวๆ 10 ปีนั้นช่วยประหยัดงบประมาณการรักษาพยาบาล เงินบำนาญ สวัสดิการของรัฐ ฯลฯ ก็ต้องนำมารวมในสมการได้ หรืออีกตัวอย่างหนึ่ง เป็นการศึกษาในทำนองเดียวกันในประเทศฟินแลนด์ ที่ประมาณการมูลค่าทางเศรษฐกิจของการสูบบุหรี่โดยใช้ฐานคิดที่ครอบคลุมและรัดกุมกว่า ซึ่งพบว่า ผู้สูบบุหรี่ช่วยประหยัดงบประมาณของรัฐบาลได้มากกว่าผู้ที่ไม่สูบถึงปีละ 70,200 ยูโรต่อคน

 

เอาเข้าจริงแล้ว การวัดว่าใครจะได้สวัสดิการอะไรจากรัฐด้วยเหตุผลแบบอรรถประโยชน์นิยมล้วนๆ ทำนองนี้ มันเข้าท่าจริงไหม

อย่างไรก็ดี การประเมินทางเศรษฐกิจในลักษณะนี้ก็มีข้อจำกัดในการประมาณค่าต่างๆ ทั้งหลักในการคิดและข้อมูลที่นำมาใช้ เช่น หากศึกษาเรื่องแบบเดียวกันที่ไทย การที่ผู้สูบบุหรี่มีอายุสั้นอาจจะไม่ได้ประหยัดงบประมาณของรัฐมากนัก เพราะปัจจุบันรัฐก็ไม่ได้มีสวัสดิการอะไรมากมายให้กับผู้สูงอายุอยู่แล้ว (จะเรียกว่าน่าภาคภูมิใจดีไหมนะ) หรือบางคนอาจคิดว่าควรนำมูลค่าความสุขของคนในครอบครัวของผู้สูบบุหรี่มาคำนวนด้วย เป็นต้น

คำถามคือ การยกเหตุผลเรื่องมูลค่าทางเศรษฐกิจมาถกเถียงกันว่าผู้สูบบุหรี่ควรได้รับสิทธิการรักษาพยาบาลจากรัฐบาลหรือไม่นั้นเป็นข้อถกเถียงที่ดีที่สุดจริงหรือไม่ เพราะดูเหมือนว่าทั้งสองฝ่ายก็มีหลักฐานที่เป็นตัวเลขมาสนับสนุนข้อโต้แย้งของตัวเอง และเอาเข้าจริงแล้ว การวัดว่าใครจะได้สวัสดิการอะไรจากรัฐด้วยเหตุผลแบบอรรถประโยชน์นิยมล้วนๆ ทำนองนี้ มันเข้าท่าจริงไหม บริการพื้นฐานหลายๆ อย่างของรัฐก็ไม่ได้กีดกันประชาชนออกไปด้วยเหตุผลลักษณะนี้ เป็นต้นว่า ถ้าผู้เขียนเป็นคนที่ไม่เคยเสียภาษีรายได้บุคคลธรรมดาให้รัฐเลย ผู้เขียนก็ไม่ควรได้รับการปกป้องจากตำรวจที่มาจากเงินภาษีของประชาชนอย่างนั้นหรือ

 

รักษาไปก็ไม่หาย: เก็บเงิน/เอาเวลาไปรักษาคนอื่นดีกว่า

การรักษาผู้ที่สูบบุหรี่เป็นความปวดหัวของแพทย์ประมาณหนึ่ง ยกตัวอย่างเช่น การผ่าตัดเปลี่ยนไตและการผ่าตัดเชื่อมต่อกระดูกสันหลังของผู้สูบบุหรี่นั้นมีโอกาสล้มเหลว หรือโอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ผู้สูบบุหรี่ที่เป็นโรคเรื้อรังต่างๆ เช่น เบาหวานความดัน การควบคุมโรคก็ยากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ดังนั้นจึงมีคนบางส่วนคิดว่า ถ้าผู้สูบบุหรี่เลิกสูบบุหรี่ไม่ได้ ก็ไม่ควรได้รับสิทธิการรักษาเหล่านี้ เพราะทรัพยากรมีจำกัด ควรนำงบประมาณและเวลาไปรักษาคนที่มีโอกาสหายจากโรคมากกว่า รักษาคนสูบบุหรี่ไปเดี๋ยวก็กลับมาป่วยอยู่ดี

แต่สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การสูบบุหรี่เป็นการเพิ่ม ‘ความเสี่ยง’ ที่การรักษาจะล้มเหลวเท่านั้น ไม่ได้แปลว่าการรักษาจะล้มเหลวเสมอไป ยกตัวอย่าง เช่น ถ้าการผ่าตัดผู้สูบบุหรี่มีโอกาสล้มเหลวมากกว่าคนไม่สูบ 10 เปอร์เซ็นต์ แปลว่า ผู้สูบบุหรี่อีก 90 เปอร์เซ็นต์มีโอกาสในการผ่าตัดสำเร็จไม่ต่างกับคนที่ไม่สูบ หากเราตัดสิทธิคนที่สูบบุหรี่ทั้งหมด ก็เท่ากับว่าเราทิ้งคนที่มีโอกาสรักษาสำเร็จไปจำนวนมาก รวมไปถึงข้อที่ว่า การที่การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงของการเป็นโรคบางโรค เช่น ความดัน หรือโรคหลอดเลือดหัวใจ ในขณะเดียวกันก็มีคนจำนวนมากที่เป็นโรคดังกล่าวโดยที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลยในชีวิต เราจะแยกอย่างไรว่าโรคที่เกิดขึ้นนั้นเกิดจากการสูบบุหรี่หรือไม่ เรายอมรับมาตรการชนิด “ประหารผิดคนสิบคน ดีกว่าปล่อยคนผิดแม้แต่คนเดียว” เช่นนี้หรือไม่ หากวันหนึ่งเรากลายเป็นหนึ่งในสิบที่ถูกประหารขึ้นมาล่ะ?

 

คนสูบบุหรี่เลือกที่จะทำลายสุขภาพตัวเอง

ข้อโต้แย้งที่มักยกขึ้นมาเสมอในข้อเสนอให้จำกัดสิทธิการรักษาของผู้สูบบุหรี่คือ คนสูบบุหรี่นั้น ‘เลือก’ ที่จะสูบบุหรี่โดยความสมัครใจของตัวเองและรับรู้ถึงผลเสียของการสูบบุหรี่ที่มีต่อสุขภาพของตนเองตั้งแต่ต้น ดังนั้นเมื่อเกิดผลเสียขึ้นก็ควรจะรับผิดชอบด้วยตนเอง ไม่ใช่ให้สังคมมาแบกรับ ที่จริงผู้เขียนได้เขียนถึงประเด็นความรับผิดชอบต่อสุขภาพของตนเองไว้บ้างแล้ว และถ้าพูดถึงการสูบบุหรี่หลายคนอาจจะคิดว่าเป็นพฤติกรรมที่เจ้าตัว ‘เลือก’ ที่จะทำอย่างชัดเจน แต่เอาเข้าจริงแล้วสิ่งแวดล้อมก็มีผลต่อการเริ่มและเลิกสูบบุหรี่มาก

ยกตัวอย่างเช่น มีการศึกษาที่พบว่า เยาวชนที่มีพื้นฐานครอบครัวที่มีความกดดัน ขาดความอบอุ่น หรือมีความรุนแรงในครอบครัว มีโอกาสที่จะสูบบุหรี่มากกว่าเยาวชนคนอื่นๆ ถึงสี่เท่า หมายความว่า ในหลายๆ ครั้ง บุหรี่อาจจะเป็น ‘ทางออก’ ของปัญหาชีวิตของหลายคน ไม่ใช่ว่าทุกคนเริ่มสูบบุหรี่เพราะแค่อยากจะสูบเฉยๆ สำหรับคนเหล่านี้ เราควรตัดสิทธิการรักษาพยาบาลของพวกเขาหรือไม่

 

การที่เราจะอนุญาตให้รัฐยึดสิทธิบางอย่างไปจากพลเมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก หากเราไม่พิจารณาให้ถ้วนถี่แล้ว รู้ตัวอีกทีพวกเราอาจจะไม่มีสิทธิอะไรเหลืออยู่เลยก็ได้

อีกข้อหนึ่งที่ต้องพิจารณาคือ ในการเลิกบุหรี่นั้น ผู้ที่สูบบุหรี่สามารถ ‘เลือก’ ที่จะเลิกสูบบุหรี่ได้ด้วยความตั้งใจล้วนๆ จริงหรือ สารนิโคตินในบุหรี่มีฤทธิ์ทำให้เสพติด ทำให้การเลิกสูบบุหรี่เป็นเรื่องไม่ง่าย ซึ่งหากเรามองจากมุมของผู้ที่ต้องต่อสู้กับอาการติดบุหรี่ก็อาจจะเข้าใจมากขึ้น เพราะการเลิกบุหรี่นั้นต้องอาศัยการสนับสนุนจากคนรอบข้างและผู้เชี่ยวชาญ มีงานศึกษาหลายชิ้นทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศพบว่า กว่า 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้ที่สูบบุหรี่เป็นประจำเคยพยายามเลิกบุหรี่ แต่มีเพียง 36 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ทำสำเร็จ และอัตราการกลับไปสูบบุหรี่ซ้ำ มีพอๆ กับการเสพติดเฮโรอีนซ้ำเลยทีเดียว

กล่าวได้ว่า สำหรับคนส่วนใหญ่ การเลิกสูบบุหรี่นั้น แค่ ‘ความตั้งใจ’ ไม่เพียงพอ และหากพิจารณากลไกช่วยเหลือผู้ที่อยากเลิกสูบบุหรี่ ในประเทศไทยมีการสนับสนุนเรื่องนี้อย่างเพียงพอหรือไม่ ยกตัวอย่างเช่นบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งมีศักยภาพที่จะช่วยเป็นเครื่องมือสำหรับการเลิกบุหรี่หรือลดอันตรายจากการสูบบุหรี่ก็ยังเป็นสิ่งผิดกฏหมายในบ้านเรา

หากกล่าวถึงที่สุดแล้ว แม้คนคนนั้นเลือกที่จะสูบบุหรี่ด้วยความตั้งใจของเขาเอง ทั้งๆ ที่รู้ว่ามันส่งผลเสียต่อสุขภาพล่ะ? เราสามารถใช้การกระทำนี้ ‘ริบ’ สิทธิการรักษาของเขาได้หรือไม่ เมื่อประชาชนทำสิ่งที่รัฐเห็นว่าไร้เหตุผล (แต่ไม่ผิดกฎหมาย) รัฐมีสิทธิที่จะจำกัดสิทธิพลเมืองของเขาหรือไม่

 

เมื่อไม่ทำหน้าที่ ก็ไม่ควรมีสิทธิ?

มีบางคนเปรียบเทียบสิทธิการรักษาพยาบาลกับสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างเสรีภาพ คนเรามีสิทธิที่จะมีเสรีภาพ แต่ถ้าเขาทำผิดกฏหมายเขาก็ต้องโดนริบเสรีภาพนั้น เมื่อคนเรามีพันธะที่จะต้องปฏิบัติตามกฏหมายเพื่อรักษาเสรีภาพของตนเองไว้ ฉันใดฉันนั้น หากต้องการสิทธิในการรักษาพยาบาล เราก็มีพันธะที่จะต้องดูแลรักษาสุขภาพตัวเองเช่นกัน

อย่างไรก็ดี รัฐได้รับรองสิทธิทางสังคมและเศรษฐกิจหลายๆ อย่างของพลเมืองโดยที่ไม่มีการริบสิทธินั้น ไม่ว่าเขาจะมีพฤติกรรมอย่างไรหรืออยู่ในสถานการณ์ใดก็ตาม เช่น สิทธิที่จะได้รับปกป้องชีวิตและทรัพย์สินโดยตำรวจ หากเราเดินไปตรงที่มีจุดเสี่ยงแล้วถูกปล้น เราจะถูกตัดสิทธิที่จะไปแจ้งความด้วยเหตุผลที่ว่าเราเอาตัวเองเข้าไปอยู่ในจุดเสี่ยงเองหรือไม่ หรือสิทธิที่จะได้รับการพิจารณาคดีอย่างยุติธรรมไม่ว่าเขาจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงขนาดไหน คำถามคือ เรามองว่า ‘สิทธิการเข้าถึงบริการทางสุขภาพ’ เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานในระดับเดียวกับตัวอย่างที่ยกมาข้างต้นหรือไม่ เพราะนี่คือเจตนารมณ์พื้นฐานของหลักประกันด้านสุขภาพของรัฐ ที่ให้ประชาชนทุกคนเข้าถึงการรักษาได้โดยไม่แบ่งแยก เราจะสร้างข้อยกเว้นขึ้นมาด้วยเหตุผลว่าเขาคนนั้น ‘ไม่คู่ควร’ แล้วมันจะไม่เป็นการทำลายเจตนารมณ์นั้นหรือ

นอกจากนี้ หากมาตรการ ‘ลงโทษ’ ด้วยการริบสิทธิพลเมืองของผู้มีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพนี้ได้รับการยอมรับว่าทำได้ เราจะใช้เกณฑ์อะไรกับพฤติกรรมอื่นๆ เช่น เราจะตัดสิทธิการรักษาของผู้ประสบอุบัติเหตุจากการขับขี่ที่ไม่คาดเข็มขัดนิรภัยหรือไม่ เราจะตัดสิทธิผู้เป็นเบาหวานจากการบริโภคอาหารที่มีน้ำตาลมากเกินไปหรือไม่ เราจะตัดสิทธิผู้เป็นโรคหลอดเลือดหัวใจจากการไม่ออกกำลังกายหรือไม่ สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่เราจะต้องพิจารณาดีๆ เพราะเราทุกคนล้วนมีโอกาสที่จะเป็นคนที่มีพฤติกรรมไม่ใส่ใจสุขภาพเหล่านี้ทั้งสิ้น

การที่เราจะอนุญาตให้รัฐยึดสิทธิบางอย่างไปจากพลเมืองนั้นเป็นเรื่องใหญ่มาก หากเราไม่พิจารณาให้ถ้วนถี่แล้ว รู้ตัวอีกทีพวกเราอาจจะไม่มีสิทธิอะไรเหลืออยู่เลยก็ได้

 

การตัดสิทธิการรักษาจะเป็นแรงจูงใจให้คนเลิกสูบบุหรี่

หากเรามองโลกในแง่ดี เหตุผลหลักที่คนที่อยากให้ตัดสิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ที่สูบบุหรี่ก็เป็นความหวังดี คนเหล่านี้เชื่อว่าหากผู้สูบบุหรี่รู้ว่าตัวเองจะถูกตัดสิทธิการรักษา เขาเหล่านั้นจะมีแรงจูงใจในการเลิกสูบบุหรี่เพราะกลัวที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเองเมื่อเจ็บป่วย ข้อสรุปนี้ตั้งอยู่บนสมมติฐานหลักที่ว่ามนุษย์จะเลือกทำสิ่งที่สมเหตุสมผลเสมอ กล่าวคือ ในการเลือกจะทำหรือไม่ทำอะไรมนุษย์ส่วนใหญ่ชั่งตวงทุกอย่างและเลือกการกระทำบนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลเท่านั้น หากคนสูบบุหรี่พิจาณาถึงผลตอบแทนที่ได้จากการสูบบุหรี่ (ความเพลิดเพลินใจการไม่ทรมานในอาการอยากบุหรี่) เทียบกับผลเสียที่จะเกิดขึ้น (การป่วยจากการสูบบุหรี่การมีอายุสั้นการต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาล) คนสูบบุหรี่จะเลือกที่จะเลิกสูบบุหรี่

แต่เอาเข้าจริง มนุษย์เราไม่ได้มีเหตุผลขนาดนั้น ในชีวิตประจำวันทั่วๆ ไป คนเราทำสิ่งที่ไม่สมเหตุสมผลกันเป็นประจำ เรารู้ว่าถ้ากินเค้กแสนอร่อยตอนเที่ยงคืนเราจะอ้วน แต่เราก็ยังกิน เรารู้ว่าถ้าดูซีรีส์จนนอนดึกเกินไป เราจะหลับในชั้นเรียนในวันรุ่งขึ้น แต่เราก็ห้ามใจไม่ให้กดดูตอนต่อไปไม่ได้ การกระทำเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่เรารู้ถึงผลเสียที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอยู่แล้ว แต่มนุษย์เรามักให้คุณค่าของอรรถประโยชน์ในปัจจุบันมากกว่าการเสียอรรถประโยชน์ในอนาคต ยิ่งเป็นอนาคตที่ดูแสนไกลและไม่แน่นอนอย่างเรื่องสุขภาพด้วยแล้ว วิธีการทำนองนี้ก็มีคำถามว่าจะสำเร็จตามที่หวังหรือไม่

 

การตัดสิทธิการรักษาของผู้สูบบุหรี่นั้นไม่ได้เป็นการลงโทษผู้สูบบุหรี่เพียงคนเดียว แต่รวมถึงครอบครัวของผู้สูบบุหรี่ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและการดูแลผู้ป่วยด้วย

 

ผู้เขียนสังเกตเห็นหลายครั้งว่าคนไทยเรามักเชื่อในวิธี ‘ลงโทษเพื่อดัดนิสัย’ เสมอ เราเชื่อว่าถ้าเพิ่มโทษให้หนักแล้วคนเราจะกลัวจนไม่ทำเรื่องผิดๆ ถ้าเราเพิ่มโทษการข่มขืนเป็นประหารสถานเดียว คนร้ายจะกลัวจนไม่ก่อคดี ถ้าเราเพิ่มโทษการคอร์รัปชั่นเป็นโทษประหาร นักการเมืองจะเลิกโกงกิน ฯลฯ ซึ่งจะว่าไปก็ไม่แปลกอะไรในสังคมที่โตขึ้นมากับคติ “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี” ประกอบกับการโตมาในระบบการศึกษาที่เน้นการลงโทษเพื่อควบคุมพฤติกรรมของนักเรียน และเอาเข้าจริง มาตรการที่เป็นการลงโทษด้วยการริบสิ่งที่ปรารถนาไปจากผู้ถูกลงโทษ (negative punishment) แบบการตัดสิทธิการรักษาของคนที่สูบบุหรี่ ก็เป็นมาตรการหนึ่งที่ไม่ผิดตามหลักเหตุผล แต่อย่างที่เขียนไปแล้วว่า มาตรการแบบนี้ยังน่าสงสัยในประสิทธิผลของมัน เราต่างโตมาในโรงเรียนที่ฝึกระเบียบวินัยด้วยการลงโทษอย่างเข้มข้น แต่คนไทยส่วนใหญ่ก็ไม่ใคร่จะมีระเบียบวินัยนักใช่ไหมครับ หรือในประเทศที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลฟรี ประชาชนก็ยังสูบบุหรี่กันในอัตราที่สูง

ย้ำว่าที่ต้องระวังมากๆ คือ มาตรการลงโทษลักษณะนี้มีราคาที่จะต้องจ่ายสูงมาก อย่าลืมว่าเรากำลังพูดถึงการตัดสิทธิพลเมืองของคนคนหนึ่งนะครับ เราจะยอมให้เกิดการตัดสิทธิขั้นพื้นฐานเหล่านี้เพื่ออะไรที่ไม่แน่ใจว่าจะประสบความสำเร็จอย่างนั้นหรือเปล่า

 

บทสรุป

ถึงที่สุดแล้ว ก่อนที่เราจะตัดสินใจว่าผู้ที่สูบบุหรี่ควรมีสิทธิในการเข้าถึงสวัสดิการการรักษาของรัฐหรือไม่ เราต้องกลับมาถามตัวเองดีๆ ก่อนว่า การจะตัดสิทธินั้น เราทำไปเพื่ออะไร เพื่อสร้างแรงจูงใจให้คนเลิกบุหรี่ เพื่อลงโทษผู้ที่สูบบุหรี่ เพื่อประหยัดงบประมาณแผ่นดิน ฯลฯ แล้วลองใคร่ครวญดูอีกครั้งว่า หากตัดสิทธินั้นไปแล้ว ผลที่เราอยากให้เป็นมันจะเกิดขึ้นจริงหรือไม่ และมันคุ้มกับราคาที่เราต้องจ่ายหรือไม่

สุดท้ายเราต้องไม่ลืมด้วยว่า การตัดสิทธิการรักษาของผู้สูบบุหรี่นั้นไม่ได้เป็นการลงโทษผู้สูบบุหรี่เพียงคนเดียว แต่รวมถึงครอบครัวของผู้สูบบุหรี่ที่ต้องรับภาระค่าใช้จ่ายและการดูแลผู้ป่วย ซึ่งอาจจะทำให้ครอบครัวนั้นๆ (ที่อาจจะเป็นครอบครัวของเราหรือคนใกล้ตัวเราก็ได้) ล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาลที่สูงเกินกว่าจะจ่ายไหว เราอาจจะคิดว่าเราลงโทษคนที่สูบบุหรี่เท่านั้น แต่คนที่ต้องรับผลนั้นรวมถึงลูก เมีย เพื่อนฝูงของคนคนนั้นด้วย และเอาเข้าจริง มาตรการลักษณะนี้เป็นการลงโทษเฉพาะผู้ที่สูบบุหรี่และ ‘ไม่รวย’ เท่านั้น ผู้สูบบุหรี่ที่สามารถจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้ด้วยตนเองจะไม่ได้รับผลกระทบจากมาตรการนี้ ซึ่งในทางหนึ่งก็ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยให้ถ่างกว้างออกไปอีก ถ้ามาตรการนี้ถูกนำมาใช้ในเมืองไทย อีกหน่อยคนรากหญ้าอาจจะตัดพ้อว่า “คุกมีไว้ขังหมากับคนจน และถ้ารู้ตัวว่าจน อย่าริสูบบุหรี่” ก็ได้นะครับ

 

 

ภาพประกอบหน้าแรกโดย ปรางวลัย พูลทวี

Tags: , , , , , , ,