จู่ๆ สองสามอาทิตย์ที่ผ่านมาและอีกสัปดาห์ที่จะผ่านไปนี้ กรุงเทพฯ ก็กลายเป็นสรวงสวรรค์ของคนรักศิลปะ เมื่องานใหญ่สองงานจัดขึ้นพร้อมกันทั่วแกลเลอรีในกรุงเทพ เริ่มจาก Ghost:2561 งานที่รวมวิดีโอ ภาพเคลื่อนไหว การแสดงสด ภาพยนตร์ และศิลปะแบบต่างๆ จากศิลปินที่กำลังเป็นที่รู้จักจากทุกมุมโลก คัดสรร โดย กรกฤต อรุณานนท์ชัย เพื่อให้ศิลปินร่วมกันแชร์ไอเดียในหัวข้อว่าด้วย ‘ภูติผี’

และในเวลาที่คาบเกี่ยวกัน ก็มีงานอย่าง Bangkok Art Biennale ที่ตั้งใจจะให้เป็นเบียนนาเล่ (นิทรรศการศิลปะรายสองปีที่จัดขึ้นในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก) ของประเทศไทย ในหัวข้อ ‘สุขสะพรั่ง พลังอาร์ต’ (ฺBeyond Bliss) งานใหญ่โตสนับสนุนโดยรัฐบาล ที่เชิญศิลปินจากทั่วทุกมุมโลกมาจัดแสดงทุกรูปแบบ ตั้งแต่ภาพเขียน ภาพถ่าย ไปจนถึงวิดีโอ และ performance art ที่จัดแผ่กระจายทั่วกรุงเทพฯ ตั้งแต่ในหอศิลป์ จรดห้างสรรพสินค้า

ทั้งสองงานเปลี่ยนสีสันของกรุงเทพให้กลายเป็นเมืองศิลปะชั่วครู่ชั่วคราว ศิลปินเดินกันขวักไขว่ และผู้ชมได้พบกับงานของศิลปินตั้งแต่งานวิดีโออภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ไปจนถึงการบรรยายของมารินา อบราโมวิช (Marina Abramovic) งานลายจุดของยาโยย คุซามะ (Yayoi Kasuma) ไปจนถึงวิดีโอหอยทากของ จุฬญาณนนท์ ศิริผล 

ไม่ว่างานนี้จะทำให้กรุงเทพฯ/ประเทศไทย กลายเป็นเมืองแห่งศิลปะหรือไม่ งานจะยั่งยืนแค่ไหน งานจะท้าทายความคิดของผู้ชมมากน้อยเพียงใด แต่ในชั่วเวลาสั้นที่ ‘ผี’ ได้ปะทะสังสรรค์อย่างสะพรั่งบานกับ ‘ความสุข’ นี้ ก็มีงานหลายชิ้นที่น่าตื่นเต้น น่าจดจำ น่าพูดถึง โดยในบทความนี้จะเน้นไปที่งานวิดีโอบางชิ้นจากทั้งสองงาน 

ตะวันดับ (2018,อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล)

เริ่มจากภาพป้าเจนที่นอนหลับอยู่บนเตียง ฉากลิเกของทางเดินในวังถูกม้วนพับเก็บออกไปสู่ทางเดินในป่าเขา ดวงตะวันสีแดงวาดด้วยมือส่องสว่างบนฉากลิเกว่างเปล่าร้างผู้คน กองไฟถูกจุดขึ้นตรงบริเวณหัวใจของป้าเจน ตรงใต้ฐานของพระอาทิตย์ ตรงเวทีลิเก ภาพของกองไฟที่ซ้อนเข้ามาในภาพสงบนิ่งค่อยๆ แผดเผาดวงตะวันและดวงใจของคนที่กำลังหลับ

งานวิดีโอฉายลงบนฉากที่เป็นกระจกใสที่วางอยู่กลางห้อง แสงจากเครื่องฉายเมื่อกระทบจอทำให้เกิดเงาสะท้อนกระจัดกระจายไปทั่วห้องฉาย เมื่อไฟลุกไหม้ดวงใจของป้าเจน เปลวไฟจึงลุกท่วมห้องฉายอย่างงดงาม และชวนสะพรึง

 

คงไม่ต้องเล่าถึงศิลปินมากนัก เพราะนี่คืองานของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับคนสำคัญของไทยและของโลก ทั้งในฐานะคนทำหนังและศิลปิน ในงานชิ้นนี้เขายังคงอาศัยสิ่งที่ไม่เกี่ยวข้องกันอย่างฉากลิเก การนอนหลับ กองไฟ มาใช้ส่อนัยอุปมาอย่างคมคาย ถึงโลกหลังจากพระอาทิตย์จะจากไปแล้ว เหล่าผู้ชมลิเกที่เป็นเรื่องจักรๆ วงศ์ๆ เสมอ ยังคงหลับใหล แม้ว่าในใจจะทรมานด้วยไฟที่แผดเผา หนังชวนให้นึกถึงงาน The Age of Anxiety ของ ไทกิ ศักดิ์พิสิษฐ์ ที่หยิบเอาหนังจักรๆ วงศ์ๆ ในอดีตมาตัดต่อใหม่เพื่อสะท้อนสภาวะไม่มั่นคง โกลาหล และล่มสลายของสังคมไทยอย่างน่าทึ่ง

งานฉายใน Gallery Ver เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost 2561

Golden Spiral (2018, จุฬญาณนนท์ ศิริผล)

งานวิดีโอจัดวางที่จออยู่ในห้องกระจกที่กั้นขวางผู้ชมด้วยหอยทากสีทองน้อยใหญ่ ทั้งบนพื้นและผนังมุ่งหน้าเข้าหาจอเรืองแสง ภาพคือสารคดีเชิงวิทยาศาสตร์ อธิบายความพิศวงของจำนวนฟิโบนัชชี สภาวะการบิดเป็นเกลียวอันพิเศษที่พบได้ในธรรมชาติ คุณสมบัติของมันในการหมุนเวลาย้อนกลับ ฟิโปนัชชีพบได้ในรูปทรงก้นหอยของสิ่งต่างๆ ซึ่งรวมถึงเปลือกหอยของหอยสังข์ในพิธีตามภาพในโลโก้ของกรมประชาสัมพันธ์หรือการหมุนวงล้อธรรมจักรที่บิดเป็นเกลียวจนได้ สำคัญที่สุด ในเปลือกของลูกน้อยหอยสังข์จากสังข์ทอง

ก่อนจะลงท้ายขายของว่า จากคุณสมบัติดังกล่าวนี้เอง ทำให้นักวิทยาศาสตร์ (รับบทโดย ณัฐธร กังวาลไกล นักแสดงคู่บุญของจุฬญาณนนท์) คิดผลิตเจลหอยทาก ซึ่งทาแล้วจะย้อนเวลาบนใบหน้าของผู้ใช้ให้กลับสู่ความสาวสะพรั่งดังเดิม

ราวกับดูโฆษณาบนรถไฟฟ้า หรือป้ายหรูใจกลางเมือง ภาพอธิบายกลไกการปฏิบัติงานแบบเดียวกับหนังทดลองที่อาศัยการสร้างความหมายให้กับภาพที่ไม่ได้เอาไว้เป็นหนัง แต่เอาไว้อธิบายการทำงานของเครื่องจักรแบบหนังของฮารัน ฟารอคกิ (Harun Farocki) การล้อเล่นกับความเป็นโฆษณาของตัววิดีโอที่ตั้งคำถามชนิดเดียวกันกับตะวันดับของอภิชาติพงศ์ ต่อโลกที่เวลาเคลื่อนไปข้างหน้า ความเปลี่ยนแปลงเป็นนิรันดร์ แต่คนที่ได้ประโยชน์จากการแช่แข็งเวลาไว้ กลับพยายามยื้อยุดเวลาในทุกวิถีทาง

ในเสียงหัวเราะของงานชิ้นนี้ที่ล้อเลียนงานโฆษณาวิทยาศสตร์ลวงโลก (pseudoscience) จึงมีความแยบยลของการจิกกัดด้วยอารมณ์ขันตามแบบฉบับของจุฬญาณนนท์ ศิริผล ศิลปินที่น่าจับตามองที่สุดคนหนึ่ง เขาอาจจะมาจากแวดวงหนังสั้น ทำหนังตั้งแต่เรียนมัธยม ( ‘หัวลำโพง’ หนังสั้นรางวัลเรื่องแรกของเขา เป็นหนังที่เขาทำตั้งแต่ยังเป็นเด็กนักเรียน) จนค่อยๆ เบนเข็มมาสู่สื่อผสมอื่นๆ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เขาเพิ่งจัดนิทรรศการ Museum of Kirati ที่เป็นการตีความ ข้างหลังภาพ ของ ศรีบูรพาเสียใหม่ โดยใช้ทั้ง ภาพนิ่ง ภาพวาด งานประติมากรรมและภาพยนตร์ Forget Me Not ที่ชักพาให้โลกในยุคต้นศตวรรษที่ยี่สิบ มาอธิบายหน่อเนื้อเชื้อไขทางการเมืองในสังคมปัจจุบันได้อย่างเจ็บปวด บ้าคลั่งและขบขัน

งานฉายใน Doxa Gallery เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost:2561

Come to me, Paradise (2016, Stephanie Comilang)

งานวิดีโอสามจอจากศิลปินเชื้อสายฟิลิปปินส์ ที่อพยพไปแคนาดาตั้งแต่เด็ก ฉายภาพแรงงานข้ามชาติอย่างแม่บ้านฟิลิปปินส์ในฮ่องกง ที่ทุกสุดสัปดาห์ พวกเธอจะมีวันพัก ออกมารวมตัวกันปิกนิกแบ่งปันทุกข์สุขซึ่งกันและกัน ภาพในหนังมาจากสองแหล่ง หนึ่งคือกล้องมือถือของเหล่าแม่บ้านที่ถ่ายรูปเซลฟี่ตัวเอง กับสองคือกล้องจากโดรนที่ชื่อว่า ‘สรวงสวรรค์’ หนังตัดสลับชีวิตเข้ากับความไซ-ไฟ ด้วยการที่ตัวละครเล่าถึงหมู่บ้านในหุบเขาของตนเองในฟิลิปปินส์การส่งกระแสจิตกลับบ้านผ่านทางโดรนสรวงสวรรค์ และการทำสมาธิในสวนสาธารณะ แต่ข้อมูลที่ส่งกลับไปจริงๆ คือรูป เซลฟี่ของพวกเธอ

งานชิ้นนี้ได้เล่าชีวิตของพวกเธอในฐานะ OFW ( Overseas Filippino Workers / แรงงานข้ามชาติฟิลิปปินส์) จากประเทศที่ส่งออกแรงงานมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก จนมีคำเฉพาะที่ใช้เรียกเป็นทางการ ว่ากันว่า การอพยพของแรงงานฟิลิปปินส์ไม่ได้เพียงส่งผลเรื่องเศรษฐกิจ แต่ยังส่งผลกระทบทั้งวัฒนธรรมและสังคมด้วย เพราะมีเด็กจำนวนมากที่เติบโตโดยที่พ่อหรือแม่อยู่ต่างประเทศในฐานะแรงงาน ไปเลี้ยงลูกคนอื่น แต่ลูกตัวเองต้องให้คนอื่นเลี้ยง

ในห้องฉาย ผู้ชมจะได้นั่งดูวิดีโอสามจอ ที่เป็นภาพของเมือง ภาพเซลฟี่ บทสนทนาของเหล่าแม่บ้านที่ดูเหมือนสารคดี บนพื้นที่ปูด้วยกระดาษลังใช้แล้ว คล้ายกับว่าผู้ชมได้ลงไปนั่งเล่นกับพวกเธอในยามเย็นวันอาทิตย์ที่งดงามและสนุกสนาน

งานฉายใน Cartel Art Space เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost:2561

We Are The World, As A Perform by Hong Kong Federation of Trade Union Choir (2014, Samson Young)

แซมสัน ยัง (Samson Young) ศิลปินชาวฮ่องกงที่จริงๆ แล้วเรียนมาทางด้านดนตรี จับเอางานดนตรีมาปะทะกับวิดีโอจัดวาง ด้วยการให้คณะประสานเสียงที่เป็นคนชนชั้นแรงงาน โปรรัฐบาลปักกิ่งในฮ่องกง ร่วมกันร้องเพลง We Are The World ของไมเคิล แจ็กสัน เพลงดังที่ใช้ในงานการกุศลทั่วโลกในยุค ’80 (รวมถึงประเทศไทยนี่ด้วย) เพลงการกุศลเหล่านี้เคยเป็นเพลงฮิตและใช้ระดมทุนในฮ่องกง เพลงที่เชื่อว่าเราทุกคนคือโลก คือเด็กๆ ที่เติบโต เพลงที่เป็นภาพแทนของเสรีนิยมใหม่สุดขั้ว เชื่อมั่นในโลกที่เท่าเทียมกัน วันพรุ่งนี้ที่ดีกว่าเก่า

เพลงถูกกระซิบ ไม่ได้เปล่งเสียงร้อง แต่ร้องอย่างกระซิบกระซาบ โดยคณะประสานเสียงที่สนับสนุนรัฐบาลสังคมนิยมของจีน ท่ามกลางความขัดแย้งของฮ่องกงกับจีน ที่ยุคสมัยหนึ่งประเทศสองระบบกำลังสิ้นสุดลง

ผู้ชมจะนั่งเก้าอี้ที่เหมือนเก้าอี้โรงละคร เฝ้าฟังเพลง We Are The World ฉบับสังคมนิยมกระซิบรัก และใคร่ครวญถึงความย้อนแย้งทั้งของเพลง ของคนร้องและของโลกที่ไม่ได้ตรงไปตรงมาทางอุดมการณ์อย่างที่เราเข้าใจ

งานฉายใน Artist+Run Gallery เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost:2561

 

Liquidity Inc. (2014, Hito Steyerl)

งานของฮิโต สเตอร์เยล (Hito Steryel) ศิลปิน คนทำหนัง และนักวิชาการชาวเยอรมัน ที่งานของเธอมักล้อเล่นอยู่กับการเมือง ภาพของนวัตกรรมใหม่ๆ สื่อ เทคโนโลยี และการเลื่อนไหลของสื่อในโลกาภิวัตน์ งานดังๆ ของเธอหลายชิ้นหาดูได้ในยูทูบ ล้อเล่นกับภาพเชิงปฏิบัติการ ภาพจากกล้องดาวเทียม กรีนสกรีน และอะไรต่อมิอะไรที่ดูเหมือนว่าสื่อจะขึ้นมามีอำนาจเหนือมนุษย์

Liquidity Inc. เล่นกับน้ำ โดยพูดถึงน้ำ ในฐานะของการลื่นไหล เริ่มจากโควตสุดเท่ของบรูซลีว่า จงทำตัวเป็นน้ำที่เปลี่ยนแปลงไม่หยุดนิ่ง ไม่ว่าจะไปอยู่ในภาชนะรูปทรงแบบใด แกนกลางของงานอยู่กับ ‘จาคอบ’ แฟนเดนตายของบรูซลี กับชีวิตที่เหมือนน้ำของเขา เพราะเขาเป็นเด็กเวียดนามหนีตายจากไซง่อนแตก ได้รับการอุปการะในครอบครัวอเมริกัน ก่อนจะเติบโตเป็นนักการเงิน แล้ววิกฤตเศรษฐกิจทำให้เขาโดนเลย์ออฟ แต่ก็เหมือนน้ำ เขากลายเป็นนักมวยปล้ำที่เมื่อมีชื่อเสียง พอแก่ตัวลงก็มาเป็นพิธีกรรายการมวยปล้ำ เลื่อนไหลไปตามแต่โลกทุนนิยมจะพาไป

กระแสน้ำ (Current) ถูกโยงเข้ากับกระแสการเงิน (Currency) ภาพของการพยากรณ์อากาศถูกเอามาใช้แทนการพยากรณ์การไหลของสินค้าและเงินทุน ถึงที่สุด ภาพจำพวกกราฟิกดีไซน์ถูกนำมาซ้อนและล้อเล่น เสียงบรรยายบอกว่าน้ำนั้นไม่ได้เป็นของบนโลกแต่เป็นของที่มาจากต่างดาว เป็นสิ่งแปลกปลอมเหมือนกระแสการไหลของโลกทุน เฉกเช่นที่ความเป็นของเหลว Liquidity ไม่ใช่การกลับคืนสู่ธรรมชาติ แต่ความเป็นของเหลวเป็น บริษัท (Inc.) หน่วยเล็กของทุนนิยมที่ลื่นไหล!

หนังให้ผู้ชมนั่งดูบนแผ่นโฟมสีฟ้าที่เหมือนน้ำ ซึ่งวางตัวม้วนขึ้นไปตามโครงเหล็ก เหมือนผู้ขมนั่งบนเกลียวคลื่นที่โถมเข้าหาจอที่พูดเรื่องน้ำ และความเป็นทุนนิยมของน้ำ

งานฉายใน 100 Tonson Gallery เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost:2561

Universal Early Retirement(Spot#1& #2) (2016, Josh Kline) +Emissary Sunsets the Self(2017, Ian Cheng) , Deluge (2018, Jon Rafman)

งานทั้งสามชิ้นจัดวางใน Bangkok City City Gallery ชิ้นแรก Universal Early Retirement (Spot#1& #2) เป็นงานวิดีโอชวนเชื่อสำหรับรายได้ขั้นพื้นฐานถ้วนหน้า (Universal Basic Income) ที่กำลังเป็นเรื่องที่คนสนใจโมเดลที่เสนอให้รัฐให้เงินสวัสดิการพื้นฐานกับคนทุกคน เพื่อให้ทุกคนได้มีเวลาไปสร้างสรรค์และใช้ชีวิตโดยไม่ต้องกังวลว่าจะอดตาย ห้องฉายเป็นกระดาษลังแบบเดียวกับแม่บ้านคนยากของ Srephanie Comilang เสียดเย้ยขำๆ ถึงความไร้สาระผ่านการทำตัวเป็นโฆษณาชวนเชื่อว่า โครงการนี้ได้เปลี่ยนแปลงชีวิตคนจากหน้ามือเป็นหลังเท้าอย่างไร

งานชิ้นที่สอง Emissary Sunsets the Self เป็นวิดีโอที่เป็นเหมือนเกมจากหนังไซ-ไฟที่ว่าด้วยปัญญาประดิษฐ์ที่ยึดครองโลกและสร้างการกลายพันธุ์ให้กับสิ่งต่างๆ ด้วยเวลาที่เป็นอนันต์ของหนัง ราวกับตัวหนังเป็นอัลกอริธึมเล่นซ้ำไม่รู้จบ ที่เปลี่ยนแปลงไปได้เรื่อยๆ ไม่จบสิ้น ศิลปินกำหนดเงื่อนไขตั้งต้นเสมือนพระเจ้าออกแบบโลก จากนั้นก็ปล่อยให้ตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นเอาตัวรอดในระบบนิเวศน์จำลองนี้ สุดแต่การผจญภัยตามอัลกอริธึมเลือก ภาพจำลองสนามรบที่เปลี่ยนสี ตัวละครที่แทบมองไม่เห็นรายละเอียดมากกว่ารูปทรง เคลื่อนที่ได้ในพื้นที่ที่เหมือนทะเลทราย แต่ที่จริงเป็นทะเล ไม่มีเรื่องราวอยู่ในภาพที่ฉายบนจอยักษ์สูงท่วมหัวแต่อยู่ใน statement ที่เหมือนหนังไซ-ไฟ

งานชิ้นสุดท้าย เป็นงาน Virtual Reality ที่เข้าชมได้ทีละคน ผู้ชมจะสวมเครื่องฉายลงบนศรีษะ จากนั้นก็ยินดีต้อนรับสู่โลกในวันสิ้นโลก เดินทางไปในเมฆหมอกที่ทำลายล้าง เศษชิ้นส่วนของมนุษย์ที่รวมกับซากสัตว์ มหาสมุทรไม่มีสิ้นสุดและท่องไปในท้องของปลาประหลาดขนาดยักษ์ซึ่งเขมือบผู้ชมเข้าไป โลกเสมือน ทำให้พื้นที่กลายเป็นภาพเสมือนจริงของการพบเห็นวันสิ้นโลก สุนทรียศาสตร์อันชวนสะพรึงของความจริงเสมือน เรื่องความลวงที่ดูจริง (ตรงกันข้ามกับงาน Performance Marina’s Method ในงาน BAB ที่ให้ผู้ชมไปทดลองความจริงแบบมารีนา เช่นปิดหูสนิทแล้วเดินไปจ้องกระดาษสี หรือนอนหลับ หรือแยกเมล็ดข้าว กลายเป็นการทดลองความจริงที่ดูลวง)

งานทั้งสามชิ้น ส่อนัยใกล้เคียงจนเขียนรวมกันได้ราวกับว่าแกลเลอรี่ได้กลายเป็นโลกอนาคต ที่ผู้คนอาจจะโดนปัญญาประดิษฐ์แย่งงานจนต้องมีชีวิตเพื่อสร้างสรรค์อะไรสักอย่างให้ศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ยังเหลืออยู่บ้าง เรื่องเล่าใหม่ๆไม่ได้มาจากมนุษย์ แต่มาจากประสบการณ์ที่ถูกกำหนดโดยปัญญาประดิษฐ์ ประสบการณ์ของมนุษย์เป็นสิ่งจำลองได้ใน VR งานทั้งสามจึงเป็นภาพฉายดิสโทเปียแห่งผีของอนาคตที่เข้มข้นมากๆ

งานฉายใน Bangkok City City Gallery เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost 2561

Information Skies (2017, Metahaven)

ราวกับการพรรณนาของทัศนียภาพจากอนาคต ในอดีต เมื่อนักเขียนพรรณนาถึงสิ่งที่เขาพบเห็น พวกเขาหรือเธอจะพรรณนาภาพของธรรมชาติ อาจจะเป็น ทุ่งหญ้า ต้นไม้ แสงแดด สายลม ท้องทะเล ลมฟ้าอากาศ ในเวลาต่อมา พวกเขาอาจพรรณนาถึงอาคาร กรอบหน้าต่าง บานประตู สีสันของรถยนต์ เสื้อผ้า หนังที่ดู อาหารที่กิน ยี่ห้อของข้าวของเครื่องใช้ สิ่งที่จับต้องได้ในโลกที่ตาเนื้อมองเห็น แต่ในอนาคตผู้คนจะพรรณนาอย่างไร

ท้องฟ้าของข้อมูลประกอบด้วยภาพของหนุ่มเหน้าสาวสวยหน้าตาดีในป่าดง ภาพถ่ายสวยงามเหมือนถ่ายแฟชั่น แต่พวกเขาจะสวมเครื่อง VR ไว้กับศรีษะที่อีกภาพหนึ่งเป็นภาพแอนิเมชั่นของเด็กสาวที่กำลังหลั่งน้ำตา หรือมังกรหรือมือที่เกาะเกี่ยวกัน

นี่คือการพรรณนาที่ในวินาทีเราเป็นนักรบในเกมออนไลน์ โดยแฟนสาวของเราจะนั่งตัดเล็บเล่น snapchat อยู่ข้างๆ พื้นที่เสมือนจริงเช่นภูเขา มหาสมุทร ถ้ำลึก กลืนเข้ากับห้องหับของเรา ท้องถนนในเมืองที่เราอาศัย เมื่อกระแสสำนึกของเราพรั่งพรูโลกสองแบบก็บรรจบกันในแถวทางของตัวอักษรซึ่งสามารถกระโดดข้ามไปมาจากโลกสองแบบได้โดยไม่ขัดเขินแม้แต่น้อย

งานฉายใน ศุภโชค อาร์ต เซ็นเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost:2561

The Capital of Accumulation (2010, Raqs Media Collective)

งานวิดีโอสองจอประกอบเสียงเล่าจาก Raqs Media Collective กลุ่มศิลปินจากอินเดียที่เป็นทั้งศิลปิน ภัณฑารักษ์ นักวิชาการ และคนทำงานด้านวัฒนธรรม เริ่มต้นจากหนังสือ The Accumulation of Capitol หรือ หนังสือว่าด้วยการสะสมทุนของ Rosa Luxemberg มารกซิสต์ นักคิด นักปฏิวัติ นักประท้วงฝ่ายซ้ายชาวโปแลนด์ที่เป็นแนวหน้าของมาร์กซิสต์หัวรุนแรงในตอนต้นศตวรรษที่ 20  

Raqs ล้อเล่นกับสิ่งที่เธอเขียน หยิบคำมาสลับตำแหน่ง สร้างความหมายใหม่ เล่าเรื่องเกี่ยวกับหญิงสาวที่พบเพียงท่อนบนของร่างในคลอง ซึ่งอาจจะเป็นศพที่แท้ของ Rosa (ที่ถูกลอบสังหารและศพถูกโยนลงคลอง) แล้วค่อยๆ พาผู้ชมเลาะไปท่องเที่ยวในวอร์ซอว์ เบอร์ลิน และเดลี ไปดูเมืองที่กระจายตัวออก ทุนนิยมที่เบ่งบานหนึ่งร้อยปีหลังความตายของ Rosa คนยากจนยังยากจน และทุนนิยมยังคงสุขสบาย ผนังด้านนอกของคุกที่เป็นผนังด้านในของเมือง ฝั่งแม่น้ำ (river bank) ที่กลายเป็น ธนาคาร กระแสน้ำ ที่กลายเป็นเงินตรา และยังเล่าถึงศาสตราจารย์เกษียณที่เขียนจดหมายมาหาพวกเขาเพื่อเล่าเรื่องต่างๆ

หนังเชื่อมโยงภาพของเมืองเข้ากับเสียงเล่าที่ไม่ได้เป็นเรื่องเดียว แต่เป็นกระแสสำนึกของสิ่งต่างๆ ของการเล่นคำไปกลับ ความหมายแสองแบบของคำที่ทำให้การสะสมทุนของ Rosa กลายเป็นต้นทุนของการสะสม /เมืองแห่งการสะสม ด้วยตัวบทที่งดงาม และภาพที่เหมือนกวีี หนังชักจูงผู้คนไปในโลกของภาพยนตร์ความเรียงที่ควรจะดูซ้ำๆ เพื่อค้นพบความหมายใหม่ๆ ในทุกครั้งทีดู

งานฉายใน ศุภโชค อาร์ต เซ็นเตอร์ เป็นส่วนหนึ่งของงาน Ghost:2561

NUSANTARA: the sea will sing and the wind will carry us (2011-ongoing, Sherman Ong)

งานวิดีโอที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ปี 2011 และยังคงดำเนินต่อไปโดย Shermn Ong ศิลปินชาวมาเลเซีย-สิงคโปร์ที่ทำงานภาพยนตร์และวิดีโออาร์ตอยู่ทั้งใน มาเลเซีย สิงคโปร์ และที่อื่นๆ ทั่วเอเชีย ภาพยนตร์บางเรื่องของเขาเคยจัดฉายในเทศกาลภาพยนตร์ในกรุงเทพ (อย่างน้อยก็มี Hashi หนังตามสาวสามวัย 20 30 และ 50 ซึ่งแต่ละคนมีเรื่องราวของตนเอง และ Flooding in the timeof draught หนังไซ-ไฟ พันธุ์พิลึกว่าด้วยสิงคโปร์ที่ไม่มีน้ำ!)

NUSANTARA เป็นวิดีโอสัมภาษณ์ตรงไปตรงมากับเหล่าคนอพยพที่มาลงเอยในมาเลเซียและสิงคโปร์ เฉกเช่นชื่อหนัง ทะเลจะเห่กล่อม และสายลมจะนำพาเราไป Sherman มองว่า แผ่นดินอุษาคเนย์คือดินแดนของการอพยพไปมา การเคลื่อนไหวไม่สิ้นสุดของประชากร ชาวมลายูดั้งเดิม คนจีนอพยพ ชาวทมิฬอพยพ การเคลื่อนย้ายไปมาของคนสิงคโปร์กับไต้หวัน อินโดนีเซียกับมาเลเซีย ไปจนถึงการหลั่งไหลมาของมุสลิมจากตะวันออกกลาง นี่คือแผ่นดินที่ไม่ได้เป็นของเชื้อชาติใดเชื้อชาติหนึ่งแต่คือพลวัตรของการเคลื่อนไหวที่การมาถึงของลัทธิชาตินิยมพยายามจะตรึงมันให้หยุดนิ่งและเบียดขับคนอื่นๆ ออกไปยังชายขอบ

หนังสัมภาษณ์ตั้งแต่ทหารสิงคโปร์ที่ขายตัวเพื่อไปหาแฟนที่ไต้หวัน หญิงสาวลูกจีนอพยพที่เป็นคนที่พี่น้องเลือกให้ดูแลพ่อแม่จนไม่มีชีวิตเป็นของตนเอง หนุ่มมาเลย์ที่ไปเป็นยามในโรงแรมหรูของคนร่ำรวยกลางเกาะและเข้าไปเกี่ยวข้องกับการลักพาตัวของมิตรใหม่ชาวฟิลิปปินส์ นักแสดงจากอาเจะห์ที่หนีมาพร้อมกับพ่อที่เป็นพวกแบ่งแยกดินแดน มาตั้งรกรากใหม่ในมาเลเซียอย่างคนนอก จนหลายสิบปีล่วงผ่าน พ่อกลับไปอาเจะห์และครอบครัวพลัดพรากสาบสูญตลอดกาลให้สึนามิ หรือหญิงสาวชาวอัฟกันที่หนีชีวิตแร้นแค้นจากการถูกทำลายโดยพ่อเลี้ยงของเธอและสังคมมุสลิมตะวันออกกลาง จนมาลงเอยในมาเลเซีย สาวอินโดที่มาเรียนในสิงคโปร์ และไม่คาดฝัน มีญาติที่ตายไปแล้วระหว่างการอพยพจากจีนไปอินโดนีเซียมาเข้าฝัน เพื่อให้เธอซื้อซาลาเปาไปให้ยายทวดของเธอ

ทั้งหมดเป็นงานสัมภาษณ์ซึ่งหน้า เพียงตั้งกล้องแล้วให้ผู้คนหลั่งไหลเรื่องเล่าออกมาเองโดยไม่เร่งร้อน ผู้คนเล่าสิ่งที่ตัวเองเป็น ค่อยๆ เคลื่อนคล้อยไปทีละน้อยสู่สิ่งที่หลุดออกมาโดยไม่ได้ตั้งใจเล่า ฉายภาพแผ่นดินที่เคลื่อนไหวไม่รู้จบ และการไปมาหาสู่ของผู้คนนอกเหนือที่เขตแดนใดๆ จะขีดกั้นกำหนดไว้ได้

โปรเจ็กต์นี้ยังดำเนินต่อไป และเราหวังว่าจะได้ฟังเรื่องเล่าใหม่ๆ ต่อไปเรื่อยๆ จากงานของเขา

งานฉายที่ BACC ชั้นเจ็ด เป็นส่วนหนึ่งของงาน Bangkok Art Biennale

Tags: , , , ,