แม้จะยังไม่ชัดเจนว่าจะเลือกตั้งเมื่อไร แต่คาดเดากันว่าปี 2562 น่าจะมีการเลือกตั้ง และเว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาก็เผยแพร่ประกาศและระเบียบของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จำนวน 9 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งออกมาแล้วเมื่อ 11 มกราคม หนึ่งในนั้นรวมถึงประกาศ กกต. เรื่อง กำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. พ.ศ. 2561 ที่กำหนดค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้งของแต่ละพรรคการเมืองที่สามารถจะใช้ได้ในการหาเสียงเลือกตั้งครั้งนี้

สำหรับในปี 2562 พรรคการเมืองแต่ละพรรคจะลงสนามเลือกตั้งโดยมีจำนวน ส.ส. 500 ที่นั่ง เป็นเดิมพัน ซึ่ง ส.ส. ยังคงแบ่งเป็นสองประเภทเช่นเคย คือ ส.ส. แบบแบ่งเขต 350 ที่นั่ง และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 150 ที่นั่ง

สำหรับค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง กกต. กำหนดให้ ‘ผู้สมัคร ส.ส.’ แบบแบ่งเขตแต่ละคนใช้จ่ายเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งยังคงเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า และสำหรับ ‘พรรคการเมือง’ จะใช้จ่ายเงินได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท ซึ่งถือว่า กกต. จำกัดเพดานการใช้จ่ายสูงสุดลดลงจากการเลือกตั้งครั้งก่อนถึง 152 ล้าน

กกต. กำหนดให้ ‘ผู้สมัคร ส.ส.’ แบบแบ่งเขตแต่ละคนใช้จ่ายเงินไม่เกิน 1.5 ล้านบาท ซึ่งยังคงเหมือนกับการเลือกตั้งครั้งก่อนหน้า และสำหรับ ‘พรรคการเมือง’ จะใช้จ่ายเงินได้ไม่เกิน 35 ล้านบาท

ลดเพดานค่าจ่ายพรรคการเมือง อาจทำให้พรรคหนุน คสช. ได้เปรียบ

แน่นอนว่าการจำกัดเพดานการใช้เงินของพรรคการเมืองเหลือ 35 ล้านบาทกระทบต่อพรรคการเมืองใหญ่ เพราะจะทำให้พรรคใช้เงินหาเสียงทั้งประเทศเหลือเพียงเขตเลือกตั้งละ 1 แสนบาทเท่านั้น (ไม่นับรวมค่าใช้จ่ายของผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขต) เรื่องนี้ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า จำนวนค่าใช้จ่ายของพรรคที่ปรับลดลงเหลือ 35 ล้านบาท จะเป็นปัญหา เพราะแค่ติดป้ายหาเสียงก็ใช้งบราว 30 ล้านบาทแล้ว และยังต้องประชาสัมพันธ์ในสังคมออนไลน์ ซึ่งถ้าค่าใช้จ่ายลดลงมากขนาดนี้จะทำให้การประชาสัมพันธ์ลดลง ส่งผลให้การรับทราบข้อมูลของประชาชนก่อนตัดสินใจลดน้อยลงไปด้วย

จำนวนเงินในการหาเสียงของพรรคการเมืองที่ลดลง ตรงกับข้ออ้างการปฏิรูปการเมืองของ คสช. ที่ต้องการให้พรรคการเมืองเป็นของประชาชน ไม่ใช่ของนายทุนพรรค สร้างการเมืองต้นทุนต่ำที่คนไม่มีเงินมากก็สามารถเข้าสู่การเมืองได้ แต่แม้ว่าการจำกัดเพดานการใช้จ่ายเงินของพรรคการเมืองจะถูกมองว่าจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในการหาเสียงของพรรคการเมืองขนาดเล็กและขนาดใหญ่ แต่สำหรับรัฐบาล คสช. โครงการต่างๆ ในนามประชารัฐ ที่ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง อาจทำให้บางพรรคการเมืองที่ชื่อคล้ายกันอาจได้เปรียบโดยไม่ต้องเสียตังค์สักบาท

การจำกัดเพดานการใช้เงินของพรรคการเมืองเหลือ 35 ล้านบาทกระทบต่อพรรคการเมืองใหญ่ เพราะจะทำให้พรรคใช้เงินหาเสียงทั้งประเทศเหลือเพียงเขตเลือกตั้งละ 1 แสนบาทเท่านั้น

ใช้เงินเกินที่กำหนดติดคุก 5 ปี

เชื่อกันว่าการเลือกตั้งครั้งก่อนๆ ผู้สมัคร ส.ส. และพรรคการเมืองมักจะใช้เงินมากกว่าที่ กกต. กำหนดไว้ ครั้งนี้ก็อาจจะเป็นอย่างนั้นเช่นกัน เพราะ กกต. ลดเพดานการใช้เงินของพรรคการเมืองลงไปอีก ด้วยเหตุนี้ถ้า กกต. ตรวจสอบพบว่าผู้สมัครหรือพรรคการเมืองใช้เงินเกินที่กำหนดหรือจงใจยื่นเอกสารบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ครบถ้วนก็จะถูกลงโทษตามกฎหมายเลือกตั้งฯ

กรณีใช้เงินเกินกำหนด กฎหมายระบุว่า หากผู้สมัคร ส.ส. ใช้จ่ายเงินเกินที่ กกต. กำหนดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินจากที่กำหนด แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี หรือในกรณีที่พรรคทำผิด ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 200,000 บาทถึง 2,000,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกิน

สำหรับกรณีจงใจยื่นเอกสารบัญชีรายรับรายจ่ายไม่ครบถ้วน กฎหมายระบุว่า ผู้สมัครหรือหัวหน้าพรรค ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

ถ้ายื่นเอกสารบัญชีรายรับรายจ่ายเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 – 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 – 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

หากผู้สมัคร ส.ส. ใช้จ่ายเงินเกินที่ กกต. กำหนดต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1 ปี ถึง 5 ปี หรือปรับตั้งแต่ 20,000 บาทถึง 100,000 บาท หรือปรับเป็นจำนวนสามเท่าของจำนวนเงินที่เกินจากที่กำหนด แล้วแต่ว่าจำนวนใดจะมากกว่ากัน หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ศาลสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี

ย้อนดูการกำหนดค่าใช้จ่ายการเลือกตั้ง ส.ส. สี่ครั้งที่ผ่านมา

การเลือกตั้ง 3 กรกฎาคม 2554

การเลือกตั้งครั้งล่าสุดของประเทศไทยที่ทำให้ได้รัฐบาลจากการเลือกตั้ง การเลือกตั้งครั้งนั้นมี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 375 คน และ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 125 คนกกต. กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขต แต่ละคนใช้จ่ายในการเลือกตั้งได้ไม่เกิน 1,500,000 บาท และพรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อไม่เกินจำนวนเงินซึ่งคำนวณจากผู้สมัครในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นคูณด้วยจำนวนเงิน 1,500,000 บาท นั้นหมายความว่าถ้าพรรคใดส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อครบ 125 คน ก็จะมีงบประมาณหาเสียงถึง 187,500,000 บาท

การเลือกตั้ง 23 ธันวาคม 2550

การเลือกตั้งหลังรัฐประหารปี 2549 การเลือกตั้งครั้งนี้มี ส.ส. 480 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และแบบสัดส่วน 80 คน โดยแบ่งเป็น 8 กลุ่มจังหวัด แต่ละกลุ่มมี ส.ส. 10 คน สำหรับการเลือกตั้งครั้งนั้น กกต. กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท และพรรคการเมืองต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนในแต่ละกลุ่มจังหวัดที่พรรคส่งผู้สมัคร ส.ส. จำนวนเงินไม่เกิน 15,000,000 บาท ถ้าส่งผู้สมัครครบ 8 กลุ่มจังหวัด พรรคการเมืองจะมีงบประมาณหาเสียง 120,000,000 บาท และยังใช้จ่ายได้อีกไม่เกินร้อยละ 20 ของจำนวนเงินค่าใช้จ่ายของพรรคที่ส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. แบบสัดส่วนทุกกลุ่มจังหวัดรวมกัน

การเลือกตั้ง 6 กุมภาพันธ์ 2548

การเลือกตั้งครั้งนี้เกิดขึ้นหลังรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร อยู่ครบวาระสี่ปี การเลือกตั้งครั้งนี้มี ส.ส. 500 คน แบ่งเป็น ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน ซึ่ง กกต. กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,500,000 บาท (เพิ่มขึ้นจากการเลือกตั้งในปี 2544) สำหรับค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ต้องไม่เกินจำนวนเงินซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นคูณด้วย 1,500,000 บาท นั้นหมายความว่าถ้าพรรคใดส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อครบ 100 คน พรรคนั้นก็จะมีงบประมาณหาเสียงถึง 150,000,000 บาท

การเลือกตั้ง 6 มกราคม 2544

การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการเลือกตั้งครั้งแรกภายใต้ระบบเลือกตั้งใหม่ที่แบ่งผู้สมัคร ส.ส. เป็นสองประเภทคือ ผู้สมัคร ส.ส. แบบแบ่งเขต 400 คน และผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน สำหรับค่าใช้จ่ายในการหาเสียง กกต. กำหนดให้ผู้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส.แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง แต่ละคนต้องใช้จ่ายในการเลือกตั้งไม่เกิน 1,000,000 บาท และค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองที่จะใช้ในการเลือกตั้ง ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ ต้องไม่เกินจำนวนเงินซึ่งคำนวณจากจำนวนผู้ได้รับการเสนอชื่อในบัญชีรายชื่อของพรรคการเมืองนั้นคูณด้วย 1,000,000 บาท นั้นหมายความว่าถ้าพรรคใดส่งผู้สมัครบัญชีรายชื่อครบ 100 คน พรรคนั้นจะใช้งบประมาณหาเสียงได้ 100,000,000 บาท

Tags: , , ,