สื่อของทางการจีนอย่างสำนักข่าวซินหัวและหนังสือพิมพ์ไชน่าเดลีต่างรายงานว่า เทศบาลนครปักกิ่งมีเป้าหมายว่าจะเพิ่มร้านหนังสือขนาดใหญ่เท่าห้างสรรพสินค้าอีก 16 แห่ง และร้านหนังสือขนาดเล็กอีก 200 ร้านภายในปี 2020 รวมถึงลดภาษีให้กับร้านหนังสือและส่งเสริมให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ลดค่าเช่าให้ถูกลง

งบประมาณประจำปีสำหรับร้านหนังสือจะอยู่ที่ 50 ล้านหยวน หรือประมาณ 250 ล้านบาท เกือบสามเท่าของงบประมาณอุดหนุนร้านหนังสือสองปีก่อนหน้านี้ เงินอุดหนุนนี้จะช่วยสนับสนุนร้านหนังสือซึ่งมีต้นทุนจากค่าเช่าและค่าปรับปรุงร้าน

เพื่อพัฒนาบริการด้านวัฒนธรรมของเมือง  เทศบาลนครปักกิ่งสนับสนุนร้านหนังสือให้เปิด 24 ชั่วโมง และผนวกการขายหนังสือเข้ากับกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ เช่น การพูดคุยเรื่องหนังสือ (book club) และการบรรยายโดยจัดร่วมกับห้องสมุดประชาชน

“ร้านหนังสือแบบดั้งเดิมเป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่สำคัญมากของนครปักกิ่ง และเราไม่สามารถพึ่งพาตลาดให้เป็นตัวบรรเทาความยากลำบากของร้านค้าแบบดั้งเดิมได้ จำเป็นอย่างยิ่งที่นโยบายของรัฐต้องไปสนับสนุนร้านเหล่านี้” จาง ซู่ (Zhang Su) รองผู้อำนวยการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ปักกิ่งกล่าว

นอกจากนี้ การมีร้านหนังสืออยู่ใจกลางเมืองจะกระตุ้นให้คนอ่านหนังสือมากขึ้น เทศบาลยังสนับสนุนให้ร้านหนังสือมีบทบาทเป็นห้องสมุดสาธารณะ เช่น ร้านหนังสือของซินหัวร่วมมือกับห้องสมุดสาธารณะในเขตตงเฉินให้ประชาชนยืมหนังสือจากร้านหนังสือได้ฟรี โดยที่ห้องสมุดสาธารณะจะเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่าย

ในประเทศจีน คนอ่านนิยายออนไลน์เป็นหลัก ปีที่แล้วหนึ่งในหุ้น IPO (หุ้นที่เข้าตลาดครั้งแรก) ด้านไอทีที่ใหญ่ที่สุดของจีนคือ China Literature ของบริษัทเทนเซ็นต์ ซึ่งเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มเผยแพร่และจำหน่ายอีบุ๊ก

แต่หนังสือพิมพ์เซาธ์ไชน่ามอร์นิ่งโพสต์รายงานเมื่อต้นปีว่า ผู้อ่านชาวจีนกำลังหาแรงจูงใจใหม่ๆในร้านหนังสือ ร้านหนังสือที่มีพื้นที่กว้างขวาง มีที่นั่ง กาแฟ และเครื่องเขียน รวมทั้งหนังสือแปลจากต่างประเทศและนิตยสาร เป็นประสบการณ์ที่แอปพลิเคชั่นให้ไม่ได้ และร้านหนังสือแบบเดิมก็ไม่มีเช่นกัน

 

 

ที่มาภาพ: REUTERS/Thomas Peter

ที่มา:

Tags: , , , , , , , ,