‘แบบนี้ส่งเสริมความคิดแบบหญิงเป็นใหญ่ชัดๆ ควรใช้คำว่า Humanism ถึงจะถูก’

‘ฉันสนับสนุนความเท่าเทียมนะ แต่ฉันไม่ใช่พวกเฟมินิสต์’

หากมีการพูดถึงแนวคิดเฟมินิสม์ (Feminism) หรือสตรีนิยมขึ้นมาในวงสนทนาที่ถกเถียงกันในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ บ่อยครั้งที่เราจะได้พบเจอกับคำพูดเหล่านี้ จนเรียกได้ว่าแทบจะกลายเป็นข้อโต้แย้งหลักของแนวคิดดังกล่าว บ้างว่ามีความย้อนแย้งตั้งแต่การเลือกใช้ชื่อ บ้างว่าเข้าขั้นเผด็จการหญิงเป็นใหญ่ ไม่เห็นจะเป็นการสนับสนุนความเท่าเทียมตรงไหน

แม้เฟมินิสม์จะเป็นแนวคิดที่เชื่อในเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ แต่คนที่คิดว่าตนสนับสนุนความเท่าเทียมก็ยังมีบางส่วนที่ไม่เห็นด้วยกับคำนี้ หรืออาจเห็นด้วยกับแนวคิด แต่มีความไม่มั่นใจที่จะเรียกตัวเองว่าเป็นพวกเฟมินิสต์ (Feminist) ได้อย่างเต็มปาก

หากว่ากันตามตรงแล้ว มันก็ชวนให้สงสัยได้จริงๆ ว่าในเมื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ แปลว่าไม่ควรมีเพศใดเพศหนึ่งที่เหนือกว่าเพศอื่น แล้วทำไมต้องเรียกแนวคิดที่มีเพื่อการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศว่า ‘สตรีนิยม’ เช่นนี้จะไม่เป็นการยกเพศหญิงขึ้นมาให้เหนือกว่าเพศอื่นหรืออย่างไร

“ยิ่งฉันพูดเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์มากเท่าไร ฉันก็ยิ่งตระหนักได้ว่า บ่อยครั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี กลับมีความหมายเดียวกันกับการเกลียดชังผู้ชาย” 

เอ็มม่า วัตสัน (Emma Watson) นักแสดงชื่อดังผู้เคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นหนึ่งในคนที่ออกมาประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าตนสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสม์ ได้กล่าวประโยคข้างต้นไว้ในงานเปิดตัวโครงการ ‘HeForShe’ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของสหประชาชาติเมื่อปี 2014

ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ เธอได้พูดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและแนวคิดเฟมินิสม์ที่ยังคงถูกมองว่าเป็นคำที่หลายคนไม่สบายใจที่จะพูด รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ เช่น การโดนมองว่าก้าวร้าว แข็งกร้าวเกินไป ไม่น่าดึงดูด ทั้งยังเป็นพวกเกลียดผู้ชาย ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เธอและเฟมินิสต์คนอื่นๆ ต้องเผชิญ

จริงๆ แล้ว ‘ปัญหา’ ของคำว่าเฟมินิสม์อยู่ตรงไหน

“ยิ่งฉันพูดเกี่ยวกับแนวคิดเฟมินิสม์มากเท่าไร ฉันก็ยิ่งตระหนักได้ว่า บ่อยครั้งการต่อสู้เพื่อสิทธิสตรี กลับมีความหมายเดียวกันกับการเกลียดชังผู้ชาย” 

เอ็มม่า วัตสัน (Emma Watson) นักแสดงชื่อดังผู้เคลื่อนไหวในประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ และเป็นหนึ่งในคนที่ออกมาประกาศตัวอย่างชัดเจนว่าตนสนับสนุนแนวคิดเฟมินิสม์ ได้กล่าวประโยคข้างต้นไว้ในงานเปิดตัวโครงการ ‘HeForShe’ ซึ่งเป็นโครงการเพื่อการสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศของสหประชาชาติเมื่อปี 2014

ในการกล่าวสุนทรพจน์ครั้งนี้ เธอได้พูดเกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศและแนวคิดเฟมินิสม์ที่ยังคงถูกมองว่าเป็นคำที่หลายคนไม่สบายใจที่จะพูด รวมถึงประสบการณ์ต่างๆ เช่น การโดนมองว่าก้าวร้าว แข็งกร้าวเกินไป ไม่น่าดึงดูด ทั้งยังเป็นพวกเกลียดผู้ชาย ที่ล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เธอและเฟมินิสต์คนอื่นๆ ต้องเผชิญ

เอ็มม่ายังได้เน้นย้ำว่าทุกคนต้องมีส่วนร่วมกับการสร้างความเท่าเทียมทางเพศ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงหรือเพศหลากหลายที่เจอปัญหาเรื่องความเท่าเทียม แต่ยังรวมไปถึงผู้ชายที่ก็ได้รับผลกระทบเหมือนกัน เช่น การที่ผู้ชายไม่สามารถแสดงความอ่อนแอได้เพราะจะทำให้พวกเขาดูไม่แข็งแกร่ง ไม่แมน เป็นการสร้าง ‘ภาพเหมารวมทางเพศ’ (Gender Sterotype) ถือเป็นหนึ่งในปัญหาที่เกิดจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ 

หลังจากที่เนื้อหาดังกล่าวถูกเผยแพร่ แน่นอนว่ามีคนจำนวนมากที่เข้าร่วมลงนามเพื่อสนับสนุนแคมเปญนี้ แต่ในขณะเดียวกัน เอ็มม่าก็ยังได้ถูกผู้ใช้บางรายในเว็บบอร์ดชื่อดังขู่ว่าจะเปิดเผยภาพนู้ดของเธอ รวมถึงมีการสร้างเว็บไซต์ที่จับเวลานับถอยหลังชื่อว่า ‘Emma You Are Next’ เพื่อสื่อว่าผู้สร้างกำลังนับถอยหลังที่จะปล่อยภาพนู้ดของเอ็มม่าเป็นรายถัดไป แม้แต่แฮชแท็ก #RIPEmmaWatson ในทวิตเตอร์ ก็เกิดขึ้นอย่างไม่น่าใช่เรื่องบังเอิญ ในช่วงที่เธอออกมาพูดถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศและเฟมินิสม์

“มีคนแนะนำให้ฉันเลี่ยงการใช้คำว่าเฟมินิสม์ เพราะผู้คนคิดว่ามันเป็นการแบ่งแยก ในการพูดสุนทรพจน์นั้นเราควรที่จะรวมผู้คนให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ฉันก็คิดและหนักใจอยู่นาน แต่สุดท้ายก็รู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้อง ถ้าผู้หญิงยังกลัวที่จะใช้คำนี้ แล้วผู้ชายจะเริ่มใช้ได้อย่างไร”

การพูดความจริงบางอย่างอาจทำให้เราเลี่ยงที่จะถูกเกลียดชังไม่ได้ แม้เอ็มม่าจะพยายามทำหลายสิ่งในฐานะเฟมินิสต์ เพื่อผลักดันให้ความเท่าเทียมทางเพศเกิดขึ้นจริง แต่ก็ยังได้รับคำแนะนำว่าไม่ควรประกาศตัวว่าเป็นเฟมินิสต์หรือพูดถึงแบบตรงๆ อยู่ดี และราคาที่ต้องจ่ายจากการได้รับความเกลียดชังและการโดนข่มขู่ ก็ย่อมไม่ใช่สิ่งที่เธอและเฟมินิสต์ควรได้รับ

‘ประสาทแดก’ 

‘หยาบคาย’ 

‘ไม่ประนีประนอม’

การเป็นเฟมินิสต์อาจทำให้หลายคนดูมีภาพลักษณ์เช่นนั้นได้ง่ายๆ แม้ว่าจะกำลังพูดถึงสิ่งพื้นฐานที่สุดอย่างสิทธิมนุษยชน สิ่งนี้ชี้ให้เห็นว่าเฟมินิสม์ยังคงไม่ได้รับความนิยมโดยทั่วไป และไม่ใช่ทุกคนที่จะอยากเข้าร่วม ทั้งยังถูกมองว่าเป็นแนวคิดที่มีขึ้นสำหรับผู้หญิงโดยเฉพาะ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้หญิงทุกคนก็ไม่ใช่เฟมินิสต์ และเฟมินิสต์ก็ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นผู้หญิง ไม่ว่าเพศใดก็สามารถเป็นเฟมินิสต์เพื่อสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศได้ทั้งนั้น

ถ้าสนับสนุนความเท่าเทียมจริงๆ ทำไมไม่ใช้คำว่า Humanism (มนุษยนิยม) แทนที่จะเป็น Feminism (สตรีนิยม)

แนวคิดเฟมินิสม์เกิดขึ้นในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 จากการเรียกร้องเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในการเลือกตั้งและการถือครองสมบัติของผู้หญิง ซึ่งแต่เดิมผู้หญิงไม่ได้มีสิทธิเหล่านี้เฉกเช่นเดียวกับผู้ชาย มันเกิดจากอำนาจที่ไม่เท่าเทียมระหว่างเพศชายและหญิงที่เกิดขึ้นจริงในยุคนั้น ที่แม้ว่าจะเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ผู้หญิงกลับไม่มีสิทธิเสียงใดๆ แม้แต่ในเรื่องที่ว่ากันว่าพื้นฐานอย่างการเลือกตั้ง

หลังจากนั้น ขบวนการเฟมินิสต์ได้เรียกร้องถึงประเด็นอื่นๆ เช่น โอกาสในการได้รับการศึกษา ค่าตอบแทนจากการทำงานที่ไม่เท่ากัน สิทธิในเนื้อตัวร่างกาย ฯลฯ ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องที่ผู้ชายได้รับอยู่แล้ว แต่ผู้หญิงกลับต้องออกมาต่อสู้ก่อน จึงจะได้รับสิทธิเหล่านี้

เมื่อมีการเริ่มต้นจากฐานที่ต่างกัน การสนับสนุนสิทธิและอำนาจของเพศหญิงให้มีเพิ่มขึ้นจึงเป็นการสนับสนุนให้เกิดความเท่าเทียม ซึ่งยังไม่อาจพูดได้ว่าตอนนี้โลกมีความเท่าเทียมแล้ว ดังนั้น ในปัจจุบันนอกจากการพูดเรื่องสิทธิของเพศหญิง ผู้ที่มีแนวคิดเฟมินิสม์จึงเน้นขับเคลื่อนเรื่องความแตกต่างที่ไม่ใช่เพียงแต่ในมิติเรื่องเพศ แต่ยังรวมถึงชาติพันธุ์และการยอมรับตัวตนที่แตกต่างหลากหลาย

การใช้คำว่าเฟมินิสม์ซึ่งมีนัยกล่าวถึงเพศหญิง จึงเป็นเพียงการเรียกร้องถึงสิทธิที่ทุกคนควรได้รับอย่างเท่าเทียมเท่านั้น หากหญิงและชายมีสิทธิเท่ากันอยู่แล้วตั้งแต่แรก เราอาจไม่ต้องใช้คำว่าเฟมินิสม์ซึ่งมีนัยสื่อถึงเพศหญิงในการสนับสนุนให้ทุกคนเท่าเทียมกันเลยก็ได้ 

หากเราสนับสนุนความเท่าเทียมจริงๆ การมานั่งคิดว่าควรใช้คำนี้ต่อไปหรือไม่ เพียงเพราะว่ามันมีคำว่า ‘ผู้หญิง’ ก็ไม่ควรเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจไปมากกว่าปัญหาความไม่เท่าเทียมทางเพศ ที่ยังคงดำเนินให้เห็นอยู่ทุกวันไม่ใช่หรือ?

ที่มา

https://time.com/4132059/emma-watson-feminism-heforshe-united-nations/

https://time.com/3421898/emma-watson-4chan-feminist-un-speech/ 

https://www.history.com/news/feminism-four-waves 

Tags: , , , , , , , , ,