Respect (1967) โดย Aretha Franklin 

นักร้องหญิงในตำนานคนนี้ปล่อยเพลงแบบฟูลแบนด์ออกสู่สาธารณะในปี 1967 นำเสนอจังหวะสนุกๆ ฟังง่าย และเชิญชวนให้ทุกคนเต้นตาม โดยมีเนื้อหาเตือนคนรักของเธอด้วยถ้อยคำหนักแน่นว่า “ฉันไม่ได้เรียกร้องอะไรมาก ขอเพียงความเคารพในฐานะคนคนหนึ่งเท่านั้น” แฟนเพลงของอารีทาตั้งข้อสังเกตว่าเธออาจเขียนถึงอดีตสามี ซึ่งมีข่าวระหองระแหงเนื่องจากผู้ชายมักลงไม้ลงมือกับเธอ และได้แยกกันอยู่ระยะหนึ่งก่อนอัดเพลงนี้เสร็จ หลังจากนั้นไม่นานเพลง Respect ก็ได้รับรางวัล Grammy Award 1968 และทำหน้าที่เหมือนเพลงชาติของผู้หญิงผิวดำ และผู้หญิงที่ตกเป็นเหยื่อความรุนแรงจนถึงทุกวันนี้

Cherry Bomb (1976) โดย The Runaways 

วงร็อกอเมริกันปล่อยเพลงนี้ลงวิทยุก่อนองค์การสหประชาชาติกำหนดวันสตรีสากลได้ไม่นาน แม้สังคมอเมริกันขณะนั้นจะได้รับอิทธิพลจากยุคฮิปปี้มากพอสมควร แต่ก็ยังมีธรรมเนียมให้หญิงสาวรักษาความบริสุทธิ์ไว้จนกว่าจะแต่งงาน เนื้อเพลงกล่าวถึงเพศสัมพันธ์ในมุมมองของผู้หญิง อุปมาเครื่องเพศเป็นผลเชอร์รี น่าสนใจว่าวงนี้ก่อตั้งในช่วงเดียวกับ Aerosmith ต้นฉบับความแมนแบบร้ายๆ ของหนุ่มอเมริกัน อาจเรียกได้ว่า The Runaways เป็นคู่ปรับที่สูสีและเป็นผู้นำด้านวิถีชีวิตของวัยรุ่นหญิงยุคนั้น

9 to 5 (1980) โดย Dolly Parton

ดอลลีเป็นนักร้องคนแรกๆ ที่บอกเล่าความขมขื่นของชีวิตสาวออฟฟิศผ่านบทเพลง ซึ่งมีเนื้อหาว่าผู้หญิงทำงาน 9 โมงเช้าถึง 5 โมงเย็นทุกวัน มิวสิกวิดีโอจับภาพหญิงสาวคนหนึ่งซึ่งต้องตื่นแต่เช้าไปทำงาน พบการจราจรน่าเวียนหัว และเผชิญความจริงอันโหดร้ายของโลกการทำงาน ที่ยังเป็นของผู้ชายอยู่วันยังค่ำ หวังจะได้เลื่อนขั้นก็ไม่ได้เลื่อนแม้จะทำงานหนักสักปานใด เพราะคนตัดสินใจก็คือหัวหน้าผู้ชายนั่นเอง 

Girls Just Want to Have Fun (1983) โดย Cyndi Lauper

ซินดีร้องเพลงจากความอัดอั้นตันใจว่า “ผู้ชายมักชอบมีแฟนสวยแล้วก็เอาแต่ซ่อนผู้หญิงไว้ในบ้าน ฉันอยากเดินออกไปท้าทายแดด ออกไปหาความสุขให้ชีวิต” สะท้อนสังคมในยุคนั้นที่ผู้ชายมักเป็นฝ่ายหาเลี้ยง และหลังจากแต่งงาน ผู้หญิงก็ต้องอยู่บ้านเลี้ยงลูกโดยไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตของตัวเอง ซินดีไม่อยากให้ผู้หญิงอุดอู้โดยรับคำสั่ง รับหน้าที่รวมถึงความคาดหวังจากสังคมฝ่ายเดียว เพลงนี้ได้รับรางวัล MTV Music Award สาขามิวสิกวิดีโอหญิงยอดเยี่ยมในปีนั้น

Papa Don’t Preach (1986) โดย Madonna

มาดอนนา ราชินีเพลงป็อปทำเพลงสะท้อนปัญหาสังคมของวัยรุ่นได้อย่างลึกซึ้งโดนใจ เรื่องราวเกี่ยวกับเด็กสาววัยรุ่นที่มีความรักกับชายหนุ่ม เธอตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรและตัดสินใจไม่ทำแท้ง จึงขอคำปรึกษาจากพ่อตัวเองอย่างตรงไปตรงมา แม้รู้ดีว่าพ่อต้องโกรธแต่เธอก็ตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่เปลี่ยนใจ เนื้อเพลงพูดแทนผู้หญิงยุคใหม่ที่ท้าทายขนบสังคม กล้าตัดสินใจเอง และมีความรับผิดชอบกับผลของการกระทำ เพลงนี้ได้รับรางวัล MTV Music Award สาขามิวสิกวิดีโอหญิงยอดเยี่ยมในปีนั้น 

Independent Woman (1999) โดย Destiny’s child

Independent Woman เป็นเพลงประกอบภาพยนตร์ Charlie’s Angels หนังแอ็กชันเฟมินิสต์ที่บอกเล่าเรื่องราวของสายลับสาวสวย 3 คน ไม่แปลกเลยที่ผู้สร้างภาพยนตร์จะเลือกเกิร์ลกรุ๊ปอาร์แอนด์บีอย่าง Destiny’s child มานำเสนอบทเพลง เพราะนอกจากวงจะมี 3 คนตรงตามตัวละครแล้ว ภาพลักษณ์ของวงยังสื่อความเป็นหญิงสาวที่มีความมั่นใจตามแบบฉบับปี 2000 เนื้อเพลงย้ำว่า “ฉันยืนหยัดด้วยตัวเองได้ ฉันซื้อแหวนเพชรให้ตัวเอง ฉันหารค่าข้าวกับผู้ชายคนละครึ่ง และความสัมพันธ์ของฉันกับเธอก็เป็นไปอย่างเท่าเทียม” 

Can’t Hold Us Down (2002) โดย Christina Aguilera และ Lil’ Kim

กล่าวถึงดนตรีเฟมินิสต์แล้ว หากไม่มีชื่อคริสตินาและลิล คิมก็คงไม่ได้ เพลงนี้พูดถึงการที่ผู้หญิงมีความคิดเป็นของตัวเองแต่กลับถูกห้ามไม่ให้ออกความเห็น ผู้หญิงที่เป็นผู้นำมักถูกตั้งคำถาม ผู้หญิงที่เปิดเผยประสบการณ์ด้านความรักและประสบการณ์ทางเพศก็ถูกพูดถึงในทางเสียหาย ในขณะที่ผู้ชายสามารถเป็นผู้นำได้โดยไม่มีใครสงสัยความสามารถ ผู้ชายวิจารณ์ร่างกายผู้หญิง เล่าประสบการณ์ทางเพศกันอย่างคะนองปากเป็นเรื่องธรรมดา เนื้อเพลงเน้นคำว่า “Can’t Hold Us Down” หรือ “คุณกดขี่ผู้หญิงไม่ได้หรอก” 

Just Fine (2009) โดย Mary J. Blige

แมรี เจ. ไบลจ์ ตัวแม่ของดนตรีเฟมินิสต์แต่งเพลงนี้เองและร้องด้วยน้ำเสียงหนักแน่นสนุกสนาน มีจังหวะที่เต้นตามได้ไม่ขัดเขิน ในมิวสิกวิดีโอนั้นจะเห็นนักร้องแต่งกายเป็นหลายบทบาท ทั้งสวมชุดผู้หญิงที่สวยงามตามสมัยนิยม เครื่องแบบเจ้าหน้าที่ ชุดสาวออฟฟิศ ชุดออกกำลังกาย ทำให้คนฟังเข้าถึงเนื้อเพลงได้ง่ายขึ้น

“ฉันจะไม่เปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง ฉันสบายดี ฉันชอบชีวิตตัวเองไม่ว่าใครจะว่าอย่างไร ฉันจะทำอะไรก็ได้ที่อยากทำ จะเป็นอะไรก็ได้ที่ฉันอยากเป็น ฉันรักตัวเองในแบบที่ฉันเป็น” 

Hard Out Here (2014) โดย Lily Allen 

ลิลลีเป็นนักร้องคนหนึ่งที่ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นเฟมินิสต์ เธอให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่าสังคมควรสนับสนุนให้ผู้หญิงแสดงความคิดเห็นในทุกเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเมือง สิทธิ และการวิจารณ์งานศิลปะ เพลง Hard Out Here เป็นเพลงเสียดสีแบบที่เธอถนัด เธอบ่นถึงความยากลำบากในการเกิดเป็นหญิง มิวสิกวิดีโอเริ่มที่กลุ่มชายสูงวัยรุมผ่าตัดร่างกายของเธอ ระหว่างผ่าไปก็วิจารณ์ไปว่ารูปร่างไม่ดี โดยที่ตัวเธอเองนอนอยู่บนเตียงนิ่งๆ ได้แต่ตอบไปว่าคลอดลูกมา 2 คนแล้วทำให้หน้าท้องหย่อน เนื้อเพลงกล่าวว่า สังคมมองว่าผู้ชายคะนองปากเปิดเผยเรื่องบนเตียงเป็นเรื่องปกติ แต่หากผู้หญิงทำบ้างก็จะถูกมองไม่ดี เธอถามย้อนไปยังผู้ชายซึ่งมาผ่าตัดเธอว่า “จงลืมถุงอัณฑะของพวกคุณแล้วลองมามีนมดูบ้าง จะได้เข้าใจเพศแม่อย่างถ่องแท้” 

No man is big enough for my arms (2017) โดย Ibeyi  

พี่น้องฝาแฝดเชื้อสายแอฟริกันคิวบันที่เติบโตในฝรั่งเศสได้ปล่อยเพลงที่มีเนื้อหาว่า ไม่มีผู้ชายคนไหนดีพอจะมาอยู่ในอ้อมกอดของฉันได้” ในเนื้อเพลงแทรกคำพูดว่า “สังคมจะเป็นอย่างไรนั้น สามารถวัดได้จากการที่คนในสังคมปฏิบัติกับสตรีและเด็กหญิง” ซึ่งเป็นประโยคเด็ดจากหนังสือพิมพ์และสื่อของฝรั่งเศสช่วงนั้น

God Is a Woman (2018) โดย Ariana Grande

สาวแซ่บร่างเล็กอย่างอารีอานาไม่เคยทำให้แฟนๆ ผิดหวัง เธอปล่อยเพลงพร้อมมิวสิกวิดีโอสุดอาร์ต เผยฉากโลกและห้วงอวกาศสีสันสดใสที่มีผู้หญิงเป็นจุดกำเนิด เนื้อหากล่าวถึงเพศสัมพันธ์ของเธอและคนรัก บรรยายว่าผู้หญิงเป็นฝ่ายคุมการเคลื่อนไหวทุกจังหวะ และเมื่อการร่วมรักจบลง ผู้ชายย่อมต้องบูชาเธอดุจเทพีผู้สร้างโลก 

จะเห็นได้ว่าช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ดนตรีเฟมินิสต์นั้นมีผลอย่างยิ่งต่อค่านิยมของผู้คน หากเป็นเพียงแฟชั่นอาจสูญหายไปตามกาลเวลา แต่เมื่อเสียงร้องจากมุมมองของผู้หญิงได้เดินทางมาถึงปัจจุบันอย่างสง่าผ่าเผย ก็ย่อมเป็นข้อพิสูจน์ว่าเฟมินิสต์ไม่ใช่แค่กระแส แต่เป็นวิถีชีวิตอย่างแท้จริง

 

อ้างอิง

https://www.theatlantic.com/magazine/archive/1967/09/the-flowering-of-the-hippies/306619/

https://www.billboard.com/articles/news/pride/8022687/top-feminist-anthems-songs

https://www.glamour.com/story/madonna-billboard-women-in-music-awards

https://www.harpersbazaar.com/culture/art-books-music/a18832473/best-feminist-women-empowerment-songs/

https://www.songmeaningsandfacts.com/meaning-of-respect-by-aretha-franklin/

https://www.unwomen.org/en/news/in-focus/commission-on-the-status-of-women-2012/facts-and-figures

Tags: , ,