ต่อให้ไม่บอก หลายคนก็คงพอมองออกว่าในช่วงครึ่งหลังของทศวรรษ 2010 เรื่อยมาจนถึงครึ่งแรกของช่วงทศวรรษ 2020 มีคนกลุ่มหนึ่งกำลังผงาดขึ้นมามีบทบาทท่ามกลางแสงสีเสียงและความรับรู้ของผู้คนอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
ในวงการเพลงตะวันตก พวกเธอถูกกล่าวขวัญว่าเป็นดาวของวงการ มีทั้งดาวค้างฟ้าและดาวรุ่ง ตั้งแต่ บิลลี ไอลิช (Billie Eilish), รินะ ซาวายามะ (Rina Sawayama), เกิร์ลอินเรด (girl in red) มาจนถึง แชปเพลล์ โรน (Chappell Roan)
ส่วนในวงการภาพยนตร์ เหล่านักแสดงเอลิสต์หญิงหันมาสนใจรับบทเป็นพวกเธอ (เคต วินสเลต ใน Ammonite หรือเคต แบลนเชตต์ ใน Carol และ Tár) ส่วนนักแสดงรุ่นเล็กลงมาที่ถูกจดจำในบทบาทนี้ก็เริ่มมีมากขึ้นเรื่อยๆ (คริสเตน สจ๊วต, ออบรีย์ พลาซา, แม็กเคนซี เดวิส, ฮาวานา โรส หลิว, เคที โอไบรอัน ฯลฯ)
ในยามนี้ ‘แซฟฟิก’ ไม่ใช่คำที่เข้าหูซ้ายแล้วทะลุออกหูขวาไปโดยไม่ได้รับการจดจำอีกแล้ว แต่กลายเป็นคำศัพท์กระแสนิยมที่ใครๆ ก็อยากจะหยิบมาพูด ตัวละครแซฟฟิกบนจอโทรทัศน์เองก็เช่นกัน ถึงขนาดที่ว่า กิ๊ก-สุวัจนี ไชยมุสิก นักแสดงหญิงผู้มีชื่อเสียงจากบทนางร้าย ถึงกับออกปากบอกว่า อยากเล่นเป็นตัวละครหญิงรักหญิงดูบ้าง
หากจะกล่าวว่า ขณะนี้รถด่วนขบวน Sapphic Romance กำลังพุ่งตรงเข้าสถานีโทรทัศน์หมายเลข 2024 มาอย่างว่องไวก็คงไม่ผิดนัก เพราะไม่อย่างนั้นเราคงไม่มีโอกาสได้เห็นบรรดาบริษัทผลิตสื่อจากหลายมุมโลก กระโจนลงสนามเข้ามาแย่งชิงส่วนแบ่งตลาดที่กำลังโตอย่างเร็วรี่เหมือนในวันนี้
แซฟฟิกบนจอแก้ว
ในขณะที่เพื่อนรุ่นเดียวกันตกหลุมรักทาร์ซานไปพร้อมๆ กับเจน และปลาบปลื้มเจ้าชายอีริกไปพร้อมๆ กับแอเรียล ผู้เขียนในวัย 8 ปีซึ่งใฝ่ฝันอยากเป็น คิม พอสสิเบิล นอนรอดูฉากที่คิมจะได้ต่อปากต่อคำกับชีโก้ ใจจดจ่ออยู่หน้าทีวีทุกวันเสาร์-อาทิตย์ ด้วยความหวังลมๆ แล้งๆ ว่า ในไม่ช้าเธอจะสนิทสนมกับชีโก้มากขึ้นและไม่ลงเอยกับรอนอย่างที่คนคาดกัน (แน่นอนว่าสุดท้ายก็ต้องผิดหวัง)
พอเข้า ม.ปลาย แม้จะมีเพื่อนเก้งคอยเม้าเรื่องย่อ Love Sick: The Series และ SOTUS: The Series พร้อมกับหวีดเหล่าพระเอกให้ฟังอย่างออกรส ผู้เขียนก็ทำได้แค่ฟังแต่ไม่มีเวลาตามไปดู เพราะขณะนั้นกำลังขะมักเขม้นอยู่กับการเขียนแฟนฟิกชันคู่ยูมีร์/ ฮิสทอเรีย จาก Attack on Titan
หากจะถามว่า เรื่องรักของชาวแซฟฟิกบนจอทีวีสมัยก่อนเป็นอย่างไร ก็คงต้องตอบว่าเป็นเช่นนี้เอง เป็นเรื่องราวที่ผู้ชมอย่างเราต้องใช้แรงใจและจินตนาการสูงในการเสพ เพราะมันแทบไม่เคยถูกบอกเล่าออกมาจริงๆ เลย คงเพราะแบบนี้วัฒนธรรมการจิ้น (Shipping) ถึงได้แพร่หลายในกลุ่มผู้ชมหญิงกว่าผู้ชมกลุ่มอื่นอย่างมีนัยสำคัญ
จริงอยู่ที่ในอดีต ตัวละครชายรักชายอาจถูกวาดภาพให้เป็นตัวตลก และถูกเหยียดหยามออกอากาศอย่างรุนแรงกว่าเรามาก แต่หากเปลี่ยนเป็นมาสู้กันเรื่อง ‘ความไม่มีตัวตน’ บ้าง พวกเขาจะแพ้หญิงรักหญิงราบคาบอย่างไม่ต้องสงสัย
อาจเพราะเหตุนี้เอง ผู้เขียนจึงยิ่งยินดีเมื่อได้เห็นว่า เด็กๆ สมัยนี้มีคู่รักเจ้าหญิงบับเบิลกัมกับมาร์เซลีนใน Adventure Time ให้ดู ส่วนผู้ใหญ่ก็ได้ชมทั้งจุดจบโศกสลดของนางเอกทั้ง 2 คนใน The Haunting of Bly Manor ประวัติศาสตร์เควียร์ที่ถูกหลงลืมผ่าน Jeongnyeon: The Star Is Born ซีรีส์เกาหลีเกี่ยวกับคณะละครเพลงหญิงล้วน มาจนถึงฉากจูบระหว่างตัวละครหญิงกลางสระบัวใน แม่หยัว (แม้ว่าภายหลังอาจจะต้องผิดหวังนิดหน่อย ที่ผู้เขียนบทออกมาทวีตข้อความรับรองกับผู้ชมว่า ละครไม่ได้ทำให้ท้าวศรีสุดาจันทร์เสื่อมเกียรติยศ เพราะตามบทยังเป็นสเตรทอยู่ แค่มีแซฟฟิกมาหลงรักเท่านั้น)
ข้อสังเกตในฐานะผู้ชม
อย่างไรก็ดีความนิยมที่ก่อตัวขึ้น ไม่ได้นำมาซึ่งภาพแทนที่เที่ยงตรงเสมอไป ดังที่ผู้เขียนเคยกล่าวถึงไปแล้วในบทความ ‘เล่นชู้ มีปม คุกคาม ใคร่เด็ก’ บทซีรีส์หญิงรักหญิงที่ยังวนเวียนกับนักเขียนและพล็อตเดิม ที่เผยแพร่เมื่อช่วงต้นปี ว่าด้วยกรณีของซีรีส์ GL ยุคใหม่ที่ยังคงผลิตซ้ำภาพจำและอคติเดิมๆ ต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ
นอกจากนี้ความหลากหลายที่ขาดหายไป ยังเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักของภาพแทนแซฟฟิกในสื่อบันเทิง ย้อนกลับไปราว 15 ปีก่อน ภาพแทนของทอมในฐานะอัตลักษณ์ทางเพศยังมีปรากฏให้เห็นอยู่บ้าง สะท้อนให้เห็นถึงธรรมชาติของคอมมูฯ แซฟฟิกในประเทศไทยที่โอบรับหญิงรักหญิงภายใต้อัตลักษณ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นทอมหรือชายข้ามเพศที่ยังรู้สึกผูกพันกับคอมมูฯ เพราะใช้เวลาค้นหาตนเองใกล้ชิดกับแซฟฟิกกลุ่มอื่นๆ
แต่กลายเป็นว่ายิ่งเรื่องราวของแซฟฟิกถูกถ่ายทอดผ่านสื่อกระแสหลักมากเท่าไร ตัวละครที่เห็นก็ยิ่งติดกรอบ ‘แซฟฟิกพิมพ์นิยม’ ซึ่งต้องเป็นสาวผมยาว ภาพลักษณ์แบบผู้หญิงๆ (Femme) มากขึ้นเท่านั้น ซึ่งเป็นปรากฏการณ์คล้ายๆ กับพระ-นายซีรีส์วายตามขนบยุคแรกเริ่มที่จะต้อง ‘แมนๆ ไม่ออกสาว ไม่แต่งหญิง’
แต่หากหลังล้มลุกคลุกคลานจากการลองผิดลองถูกมานานหลายปี ในที่สุดวงการโทรทัศน์ไทยก็สามารถคลอดซีรีส์น้ำดีอย่าง แปลรักฉันด้วยใจเธอ ที่เล่าเรื่องความรักของตัวละครเกย์ออกสาวออกมาได้อย่างงดงาม ชาวแซฟฟิกเองก็ไม่ควรหมดหวังกับซีรีส์ไทยเช่นกัน
ไหนๆ เราก็ต่อสู้เพื่อให้ได้ฟังเรื่องราวของตัวเองมาไกลถึงขนาดนี้ สู้กับภาวะไร้ตัวตนบนสื่อด้วยความกาว สู้กับภาพจำแย่ๆ ด้วยแรงวิจารณ์ สู้กับสตรีมมิงแพลตฟอร์มที่ไฟเขียวเฉพาะซีรีส์ชายชายแล้วตัดทุนซีรีส์หญิงหญิงแบบไม่ชายตาแลด้วยเสียงเรียกร้อง
รู้ตัวอีกทีเราก็มีเลิฟไลน์แซฟฟิกข้ามเพศคู่แรกของไทยในซีรีส์ 23.5 องศาที่โลกเอียง เมื่อช่วงต้นปีนี้ แล้วพอเข้าช่วงปลายปี Sapphic Culture ถูกพัดขึ้นมาติดลมบนตั้งแต่เมื่อไรก็ไม่รู้
ผู้เขียนได้แต่หวังว่า เราจะอยู่สู้และรอดูกันต่อไปจนกว่ารถด่วนขบวนนี้จะกลายมาเป็นรถประจำทางที่พบได้ทุกวัน เป็นรถสาธารณะดีๆ ที่เปิดประตูรับผู้คนทุกกลุ่ม ครอบคลุมทุกรูปแบบความหลากหลายอย่างแท้จริง
Tags: ความหลากหลายทางเพศ, หญิงรักหญิง, LGBTQIAN+, Sapphic, แซฟฟิก, Gender, ซีรีส์, โทรทัศน์