เมื่อกล่าวถึงโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นในกรุงปารีส ปี 2024 หลายคนคงรู้สึกตื่นเต้นกับรายละเอียดพิธีการหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็น ‘ตราโอลิมปิก’ ที่ออกแบบโดยมีมารีอาน (Marianne) หญิงผู้เป็นสัญลักษณ์คำขวัญประจำชาติของฝรั่งเศสอย่าง ‘เสรีภาพ เสมอภาค ภราดรภาพ’ หรือการจัดสนามกีฬาแข่งขันเชื่อมโยงกับสถานที่ชื่อดัง เช่น หอไอเฟล (La Tour Eiffel) หรือแม่น้ำแซน (La Seine)

แน่นอนว่า หนึ่งในนั้นคือเทคโนโลยีสุดไฮเทค เมื่อฝรั่งเศสจะใช้ระบบกล้องวงจรปิดควบคู่กับ ‘ปัญญาประดิษฐ์’ (Artificial Intelligence: AI) เพื่อตรวจจับกิจกรรมต้องสงสัยบนท้องถนนของกรุงปารีสในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน โดยตำรวจได้รับอนุญาตให้ใช้อัลกอริทึมของกล้องวงจรปิดตรวจจับความผิดปกติ ตั้งแต่ฝูงชน การทะเลาะวิวาท รวมถึงกระเป๋าที่ไม่มีคนดูแล

อย่างไรก็ตาม เมื่อวานนี้ (19 กรกฎาคม 2023) บีบีซี (BBC) รายงานว่า ผู้คนบางส่วนไม่เห็นด้วยกับการใช้ระบบ AI รักษาความปลอดภัย โดยมองว่า เทคโนโลยีนี้คุกคามต่อเสรีภาพของผู้คน หลังกฎหมายฉบับใหม่ของฝรั่งเศส อนุญาตให้มีฟังก์ชันการตรวจจับใบหน้าของประชาชนด้วยกล้องวงจรปิด ซึ่งเป็นกฎหมายที่อาจรุกล้ำร่างกายของมนุษย์ เพราะมีการตรวจจับผิวหนังที่ปกคลุมด้วยเสื้อผ้าเพื่อตรวจสอบการพกพาอาวุธ

นอกจากนั้น หลายคนยังกังวลว่า รัฐบาลฝรั่งเศสอาจทำให้วิธีการดังกล่าว กลายเป็นกฎหมายรักษาความปลอดภัยในประเทศถาวร เมื่อระยะของกฎหมายฉบับนี้สิ้นสุดลงในปี 2025 อีกทั้งยังมีข้อบกพร่องของ AI ที่เรียนรู้ข้อมูลผ่านผู้พัฒนาเท่านั้น และอาจมีระบบจดจำที่ผิดพลาดในการปฏิบัติหน้าที่

“เราไม่ใช่จีน เราไม่ต้องการพี่เบิ้มมาตรวจสอบ” ฟรองซัว แมตต็องส์ (François Mattens) เจ้าของบริษัท AI หนึ่งในผู้ประมูลกล้องตรวจจับ แสดงความคิดเห็น เพราะฟังก์ชันดังกล่าวเหมือนกับวิธีการตรวจสอบพฤติกรรมของจีน

แต่ฟรองซัวและนักพัฒนาหลายคนยังคงยืนยันว่า เทคโนโลยีนี้สามารถพัฒนาเพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ภายใต้เงื่อนไขการคุ้มครองเสรีภาพของประชาชนได้

“เราจะไม่ยอมรับกฎหมายตรวจจับใบหน้า นี่คือความแตกต่างในการปฏิบัติงานของ AI ที่คุณเคยเห็นในจีน

“สิ่งที่ยังดึงดูดการทำงานของเรา คือการสร้างความปลอดภัย แต่อยู่ภายใต้กฎหมายและจริยธรรมสากลเท่านั้น” ฟรองซัวกล่าว

ในทางกลับกัน โนเอมี เลอแว็ง (Noémie Levain) ผู้รณรงค์สิทธิดิจิทัลจาก La Quadrature du Net เห็นต่างออกไป เธอมองว่า นี่เป็นเพียงคำพูดโน้มน้าวจากผู้พัฒนาเท่านั้น เพราะพวกเขาได้รับผลประโยชน์จากรัฐบาลฝรั่งเศสในการลงทุนกับนวัตกรรมเหล่านี้

“เราเคยเห็นเหตุการณ์นี้ในกีฬาโอลิมปิกครั้งก่อน เช่น ญี่ปุ่น บราซิล และกรีซ เมื่อสิ่งที่เคยเป็นวิธีรักษาความปลอดภัยในเวลาพิเศษ กลายร่างเป็นเรื่องปกติ

“พวกเขาต่างบอกว่า จะสร้างความแตกต่างด้วยการนำฟังก์ชันจดจำใบหน้าออก แต่เรามองว่า ปัญหาทุกอย่างยังคงอยู่

“ระบบวิดีโอ AI ตรวจจับเป็นเครื่องมือในการสอดส่องที่ช่วยให้รัฐตรวจจับร่างกาย พฤติกรรมของเรา และตัดสินว่าอะไรคือสิ่งปกติหรือน่าสงสัย แม้จะไม่มีฟังก์ชันจดจำใบหน้า แต่รัฐควบคุมสิ่งเหล่านี้ได้

“พวกเราเห็นว่าสิ่งนี้น่ากลัวพอๆ กับปรากฏการณ์ในจีน นี่คือการสูญเสียหลักการที่จะไม่เปิดเผยตัวตน สิทธิในการแสดงออกสาธารณะ และสิทธิที่จะไม่ถูกจับตามอง” เธอแสดงความคิดเห็น

ปัจจุบัน ระบบรักษาความปลอดภัยด้วย AI ให้บริการในสถานีตำรวจบางแห่ง หนึ่งในนั้นคือ แมสซี (Massy) ชานเมืองทางตอนใต้ของปารีส และมีการทดสอบความแม่นยำด้วยการทิ้งกระเป๋า โดยมีระยะทางไม่ไกลจากสถานีตำรวจ สุดท้ายค้นพบว่า ระบบ AI ดังกล่าวทำหน้าที่แจ้งเตือนภายในระยะเวลา 30 วินาที และปรากฏภาพกระเป๋าดังกล่าว

อ้างอิง

https://www.sarakadeelite.com/lite/olympics-paris-2024/

https://www.bbc.com/news/world-europe-66122743

Tags: , , , , , ,