วนเวียนอยู่แค่นี้ ถ้าไม่ใช่พล็อตเล่นชู้นอกใจ นางเอกก็เป็นพวกใคร่เด็ก

วงการ GL จะอยู่ใต้ตีนวงการ BL ตลอดไป ถ้ายังเลือกแต่นิยายแบบนี้มาทำซีรีส์อยู่

เชื่อว่าฉันไม่ใช่คนเดียวที่ทายถูกตั้งแต่เห็นโปสเตอร์ซีรีส์ว่า ใครเป็นคนเขียนนิยายต้นฉบับ

ข้างต้นคือตัวอย่างเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากชุมชนหญิงรักหญิงและผู้ชมที่ชื่นชอบเนื้อหาแนว Girls’ Love หรือ GL (เรียกอีกอย่างหนึ่งว่ายูริ) หลังโปสเตอร์ซีรีส์เรื่องใหม่ล่าสุดถูกปล่อยออกมา ปรากฏภาพตัวละครเอกฝ่ายหนึ่งสวมชุดนักเรียนมัธยม ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งดูมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ที่อายุห่างกันพอสมควร

Blank the series เติมคำว่ารักลงในช่องว่าง เป็นซีรีส์ดัดแปลงจากนิยายต้นฉบับจากปลายปากกาของ ‘เจ้าปลาน้อย’ เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับ หม่อมหลวงสิปกร หรือ ‘หนึ่ง’ (แสดงโดย ฝ้าย-พีรญา มะลิซ้อน) หญิงสาวที่เติบโตภายใต้การเลี้ยงดูด้วยความเข้มงวดและแรงกดดัน ทำให้ไม่เป็นตัวของตัวเอง เธอจึงไม่เคยเปิดใจรักใครอีกเลย

จนกระทั่งได้พบกับ ‘อนึ่ง’ (แสดงโดย โยโกะ-อาภัสรา เลิศประเสริฐ) ลูกสาววัยมัธยมของเพื่อนสนิท ผู้มีบุคลิกร่าเริงสดใส ทำให้หนึ่งรู้สึกหวั่นไหวอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ด้วยอายุที่แตกต่างกันถึง 16 ปี (ตามเนื้อเรื่อง หนึ่งอายุ 34 ปี ส่วนอนึ่งเพิ่งจะอายุ 18 ปีเท่านั้น) ไหนจะครอบครัวที่ไม่ยอมรับความรักของทั้งคู่ ทำให้พวกเธอต้องฝ่าฟันอุปสรรคมากมาย

ภายหลังจากรับรู้เสียงคัดค้านที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน วานวรรณ-ศิริพรรณ วงษ์สวรรค์ ประธานค่าย 9 Stars Studio ที่อำนวยการผลิตออกมาชี้แจงในงานบวงสรวงถึงประเด็นต่างๆ ดังนี้

1. เนื้อหาพรากผู้เยาว์และ Child Grooming: ในประเด็นนี้ เจ้าปลาน้อย นักเขียนเจ้าของผลงาน ติดต่อหลังไมค์มาขอให้แก้ไขเนื้อเรื่องตั้งแต่ช่วงแรกที่ค่ายเลือกนิยายมาทำซีรีส์แล้ว

2. เนื้อเรื่อง Romanticize ความใคร่ต่อเด็ก: ศิริพรรณยืนยันหนักแน่นว่าไม่ใช่ โดยอธิบายว่าตัวละครไม่ได้มีความรู้สึกทางเพศแค่ต่อเด็กตามนิยามของคำว่า ‘เปโดฯ’ หรือ ‘พีโดฟีเลีย’ (Pedophilia) แต่เธอสามารถมีความรักกับคนทั่วไปได้

โดยเธอสรุปในตอนท้ายว่า ประเด็นดราม่าที่ทุกคนกังวล ทีมงานก็รับรู้ถึงข้อกังวลมาก่อนแล้ว และตอนนี้ได้รับการแก้ไขหมดแล้ว

กระนั้นก็ตาม แม้จะมีการชี้แจง ทีมผู้จัดก็ยังได้รับคำถามจากผู้ใช้โซเชียลฯ ว่า หากรับรู้ถึงปัญหาของต้นฉบับอยู่แล้ว เหตุใดจึงไม่ให้โอกาสนิยายน้ำดีเรื่องอื่นๆ ที่มีคุณภาพมากกว่า แต่กลับเลือกที่จะดัดแปลงบทจากนักเขียนหน้าเดิมๆ ที่เคยได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์เรื่องปัญหาที่พ่วงมากับบทประพันธ์ต้นฉบับมาแล้วหลายครั้ง

ภาพจำของ ‘เลสเบี้ยน’ ที่ประกอบสร้างโดยสื่อ

ก่อนหน้าที่ซีรีส์หมวดหมู่ GL จะได้รับการโอบรับโดยวงการบันเทิง ถึงขั้นที่เริ่มมีการตั้งค่ายโปรดักชันสำหรับซีรีส์หญิงรักหญิงโดยเฉพาะปัจจุบัน ภาพแทนของเลสเบี้ยนมักปรากฏให้เห็นอยู่ในบทประพันธ์และละครที่วางบทบาทของตนเองเป็น ‘เรื่องราวสะท้อนสังคม’ หรือ ‘เรื่องราวที่สร้างจากเรื่องจริง’

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือซีรีส์ Club Friday The Series ที่ได้รับความนิยมและเสียงตอบรับอย่างล้นหลามในช่วงหนึ่ง จากทั้งหมด 11 ซีซัน มีถึง 4 ตอนที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับความสัมพันธ์และความรักระหว่างผู้หญิงด้วยกัน 

ลักษณะร่วมอย่างหนึ่งของเรื่องราวในซีรีส์ชุดดังกล่าว คือมักดำเนินเรื่องไปสู่บทสรุปที่ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงด้วยกันไม่มีทางจีรังยั่งยืนได้เหมือนความสัมพันธ์ของ ‘คนปกติ’ จะเห็นได้จากทั้งบทสนทนาจากตอน ‘รักเธอ รักเขา และรักของเรา’

เจ: ขอบคุณนะที่อุตส่าห์มา เจขอให้ดรีมยังเป็นเพื่อนกับเจอยู่ได้ไหม ไม่ต้องคุยกันเหมือนเดิมก็ได้ แค่ขอให้รู้ว่าเจยังมีดรีมอยู่ในชีวิต เวลาเจโทร.ไป ดรีมช่วยรับโทรศัพท์เจบ้างได้ไหม เจรับไม่ได้จริงๆ ที่จะไม่มีดรีมอยู่ในชีวิตเจอีก

ดรีม: ดรีมขอโทษนะเจ ดรีมคงให้เจไม่ได้จริงๆ ดรีมพูดตรงๆ นะ เจจำได้ไหม ตอนที่เจเคยบอกว่า เราควรใช้ชีวิตแบบคนปกติ ดรีมว่ามันถึงเวลานั้นแล้วแหละ ดรีมขอโอกาสนั้นเถอะนะ ปล่อยให้เรา 3 คนได้ใช้ชีวิตแบบคนปกติเถอะ

 

หรือในตอน ‘รักแท้หรือแค่ความหวัง’ ที่ฝ่ายหนึ่งต้องการจะมีลูกเพื่อสร้างครอบครัว แต่อีกฝ่ายกลับไม่เห็นด้วย

ซี: ถ้ามีลูกเราจะเลี้ยงเขาอย่างไร แล้วจะบอกว่าใครเป็นพ่อเป็นแม่

บทพูดเหล่านี้สะท้อนให้เห็นถึงค่านิยมของสังคม ที่ยังคงมองหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งรับบทบาทหญิงชายตามบรรทัดฐานรักต่างเพศอยู่เสมอ และอาจเป็นมุมมองที่ล้าสมัยเช่นนี้เอง ทำให้พลวัตทางอำนาจที่ไม่สมดุลระหว่างผู้ใหญ่-ผู้เยาว์ ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือสำหรับเติมเต็มบทบาท ‘ผู้นำในความสัมพันธ์’ ที่สังคมมองว่าขาดไปในความรักระหว่างผู้หญิง

รากแก้ว ละครสร้างจากนวนิยายของนักเขียน กฤษณา อโศกสิน ที่เคยได้รับรางวัลเมื่อปี 2517 ถูกเรียกว่าเป็นละครหลังข่าวเกี่ยวกับเลสเบี้ยนเรื่องแรก สะท้อนให้เห็นแนวคิดต่อเลสเบี้ยนแบบเดียวกัน โดยวาดภาพ ‘รังรอง’ (แสดงโดย คริส หอวัง) ให้เป็นผู้มีพระคุณที่มี ‘ความวิปริตทางเพศ’ รวมถึงความคิดและพฤติกรรมอันบิดเบี้ยว ที่คอยก่อเวรก่อกรรม สร้างความบอบช้ำให้กับ ‘ทราย’ นางเอกของเรื่อง (แสดงโดย เก้า-สุภัสสรา ธนชาต)

ความสัมพันธ์ ‘ดีมานด์-ซัพพลาย’ ในตลาดที่มีตัวเลือกจำกัด

GAP ทฤษฎีสีชมพู เป็นอีกหนึ่งผลงานของเจ้าปลาน้อยที่ประสบความสำเร็จอย่างมากหลังจากถูกนำมาดัดแปลงเป็นซีรีส์ แม้ว่าในช่วงแรกถูกกระแสตีกลับจากความไม่สมเหตุสมผลของบท ตลอดจนฉากจับหน้าอกในลิฟต์และฉากออรัลในห้องทำงานที่สร้างความกระอักกระอ่วนให้กับผู้ชม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนหญิงรักหญิง

คนส่วนหนึ่งจึงตีความกันว่า การที่ซีรีส์จากนักเขียนคนเดิมหรือเรื่องราวพล็อตที่สร้างภาพจำเดิมๆ ให้หญิงรักหญิง ยังคงถูกนำกลับมาดัดแปลงเสมอ เป็นเพราะผู้จัดรู้ดีว่ายังคงมี ‘ดีมานด์’ จากกลุ่มผู้ชมที่ชื่นชอบผลงานลักษณะนี้อยู่

แต่ไม่แน่ว่าความนิยมที่เหล่าผู้จัดตีความว่าเป็น ‘ดีมานด์’ นั้น ส่วนหนึ่งอาจมีที่มาจากตัวเลือกในตลาด GL ที่มีให้เลือกเสพอย่างจำกัด

เป็นที่รู้กันดีว่า แม้คำว่า ‘วาย’ จะมีความหมายที่มัดรวมเอาทั้งหมวดหมู่ Yaoi (Boys’ Love: BL) และ Yuri (Girls’ Love: GL) เอาไว้ด้วย แต่เมื่อไรก็ตามที่พรรคการเมืองและสื่อกระแสพูดถึง ‘ซีรีส์วาย’ ในฐานะ ‘ซอฟต์พาวเวอร์’ ของไทย ซีรีส์กลุ่มที่พวกเขาหมายความถึงกลับไม่ใช่ซีรีส์วายทั้งหมด แต่มีความหมายจำกัดเพียงแค่ซีรีส์กลุ่มชายรักชายเท่านั้น

นั่นเป็นเพราะเมื่อเทียบกับฐานแฟนคลับอันใหญ่โตมโหฬารทั้งในและต่างประเทศของซีรีส์ BL ตลาดซีรีส์ GL ถือยังถือว่ามีขนาดเล็กจิ๋ว โดยปัจจุบัน ซีรีส์หญิงรักหญิงมีสัดส่วนเท่ากับเพียง 3.89% (7 เรื่อง) ของตลาดซีรีส์วายสัญชาติไทย ในขณะที่ซีรีส์ชายรักชายกลับครองพื้นที่มากถึง 96.11% (173 เรื่อง) 

จึงน่าตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหม ที่แท้จริงแล้วผู้คนอาจไม่ได้ชื่นชอบเส้นเรื่องและตัวละครหญิงรักหญิงแบบเดิมๆ แต่เนื่องจาก ‘ซัพพลาย’ ซีรีส์หญิงรักหญิงของไทยนั้นทั้งแห้งแล้งและขาดความหลากหลาย พวกเขาจึงไม่มีทางเลือก ต้องเสพเนื้อหาเหล่านี้ต่อไป แม้จะไม่ได้ชอบใจขนาดนั้นก็ตาม

อ้างอิง

https://thematter.co/entertainment/data-series-y/216129

https://so06.tci-thaijo.org/index.php/jca/article/view/245367/166302 

https://cmudc.library.cmu.ac.th/frontend/Info/item/dc:162378 

Tags: , , , , , , , ,