ไม่เอาผู้หญิง!” 

แฟนคลับนักแสดงคู่จิ้นวายรายหนึ่งประกาศกร้าว เมื่อเห็นว่า ท่ามกลางเหล่านักแสดงชายหน้าตาดีบนโปสเตอร์ซีรีส์ ‘My Love Mix-Up! เขียนรักด้วยยางลบ’ ดันมีตัวละครหญิงปะปนอยู่ 1 คนถ้วน 

ทั้งนี้ นอกจากทีมนักแสดงนำและผู้จัดแล้ว แฟนคลับนิรนามรายนี้ยังมีสักขีพยานเป็นฝูงชนที่รวมตัวกันอยู่ ณ ‘GMMTV 2024 UP&ABOVE PART 1’ งานประกาศไลน์อัปซีรีส์ภายใต้สังกัด GMMTV สำหรับเตรียมลงจอในปีถัดไป รวมถึงคนทั่วไปที่ผ่านมาเห็นคลิปวิดีโอสั้นๆ ของเธอบนโลกอินเทอร์เน็ต ก่อนจะถูกลบไปภายในเวลาหลังจากนั้นไม่นาน

หากข้อข้องใจประการแรกที่ลอยขึ้นมาในใจของคุณ คือ ‘แต่ตัวเขาเองก็เป็นผู้หญิงเหมือนกันไม่ใช่หรือ?’ คนทั่วไปที่รับรู้เหตุการณ์นี้เองต่างก็ตั้งข้อสงสัยไม่ต่างกันกับคุณ

ส่วนกลุ่มคนที่สามารถอธิบายสาเหตุเบื้องหลังปรากฏการณ์ความเกลียดชังต่อตัวละคร/นักแสดงหญิงในหมู่ผู้เสพงานวายได้ ย่อมหนีไม่พ้นผู้เสพงานวายด้วยกัน ที่รู้จักวัฒนธรรมและลักษณะของสื่อที่ผลิตออกมาในตลาดวายเป็นอย่างดี

สเตอริโอไทป์ตัวละครหญิงในงานวาย

หากเราลองไปย้อนดูบทบาทของ ฮาชิโมโตะ มิโอะ ตัวละครหญิงที่ปรากฏตัวบนโปสเตอร์ ทั้งใน My Love Mix-Up! เวอร์ชันมังงะต้นฉบับและซีรีส์ไลฟ์แอ็กชันของญี่ปุ่น ก็จะพบว่าแม้หนึ่งในหนุ่มๆ คู่เดินเรื่องหลักจะมีความรู้สึกเชิงโรแมนติกกับเธอ แต่นักเขียนไม่ได้เลือกหมากให้เธออยู่ในตำแหน่งคู่แข่ง ศัตรู หรือฝั่งตรงข้ามของพระเอก-นายเอกเลย แถมเธอเป็นตัวละครที่มีมิติ มีไมตรีต่อหนุ่มๆ และมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนความรักของพวกเขาเป็นลำดับต้นๆ ของเรื่องอีกต่างหาก 

ภาพ: ซีรีส์ Kieta Hatsukoi (2021)

ด้วยเหตุนี้ ฮาชิโมโตะจึงเป็นตัวละครหญิงที่เป็นที่รักและเอ็นดูของแฟนๆ ซีรีส์ทีเดียว โดยหากลองศึกษางานเขียนแนว Shonen-Ai (Boys’ Love) ของญี่ปุ่นในยุคหลังมานี้ ก็จะพบว่า นักเขียนรุ่นใหม่เริ่มเขียนตัวละครหญิงที่มีมิติ มีบทบาทสำคัญต่อเนื้อเรื่อง และมีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมาสักพักหนึ่งแล้ว

(หมายเหตุ: อย่างไรก็ดี เดิมที My Love Mix-Up! ถูกเขียนขึ้นในฐานะการ์ตูน Shoujo สำหรับนักอ่านหญิงวัยรุ่น ไม่ใช่ Boys’ Love แต่อย่างใด)

จึงน่าติดตามว่า ทีมผู้จัดของ GMMTV จะตีความตัวละครฮาชิโมโตะเวอร์ชันไทย (รับบทโดย ป่าน ปทิตตา) ไปในทิศทางใด โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อตัวละครหญิงที่มีความกลมกล่อมในลักษณะนี้ ยังปรากฏขึ้นไม่บ่อยนักในงานวายที่ถูกเขียนขึ้นโดยสายผลิตฝั่งไทย หากเทียบสัดส่วนกับสเตอริโอไทป์ตัวละครหญิงเดิมๆ ที่กลุ่มผู้เสพหญิงคุ้นเคย เช่น

– คู่แข่ง/ศัตรูของ ‘นายเอก’ ไม่ว่าจะในรูปแบบแฟนเก่า คู่หมั้น รักแรก หรือผู้หญิงที่สนใจในตัว ‘พระเอก’

ภาพ: ซีรีส์ กลรักรุ่นพี่ (2020)

– ตัวประกอบหญิงที่คอยสนับสนุนความสัมพันธ์ของทั้งคู่ (ส่วนมากมักมาในรูปแบบของการรับบทแม่สื่อแม่ชัก ตามจิ้น ตามหวีด) ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของผู้ชมสาววายนั่นเอง

ฯลฯ

สเตอริโอไทป์ตัวละครเหล่านี้ ล้วนเป็นผลผลิตของมุมมองที่สาววายมีต่อคู่รักชาย-ชาย ภายใต้บรรทัดฐานรักต่างเพศ (Heteronormativity) ว่าจะต้องมีพระเอก-นายเอก มีฝ่ายรุก-รับ เพื่อใช้เป็นภาพแทนของความสัมพันธ์แบบชาย-หญิงตามขนบ และทันทีที่มีผู้หญิงเข้ามาตัวแปรอื่นใดในความสัมพันธ์ดังกล่าว บทบาทแรกที่มักถูกหยิบยื่นให้ตัวละครนั้น จึงมักเป็นบทบาทศัตรูหัวใจของนายเอกนี่แหละ

เมื่อบทบาทของผู้หญิงในซีรีส์วายถูกจำกัดเอาไว้ด้วยเงื่อนไขหลายประการ จึงไม่แปลกที่ท่าทีแรกเริ่มของสาววายที่เสพงานคล้ายๆ กันมาเป็นเวลานาน จะเป็นท่าทีต่อต้านอันเกิดจากอคติต่อเพศหญิง ที่ก่อตัวขึ้นตามสัญชาตญาณโดยที่พวกเขาไม่ทันสังเกต

ชายแท้งานดีคือแก่นแท้ของงานวาย ขับเคลื่อนเพศหลากหลายเป็นแค่ประเด็นรอง

กระบวนการสร้าง/พิสูจน์ความเป็นชาย (Masculinity) ให้กับตัวละครเอก ถือเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของงานวาย ซึ่งเป็นที่ชื่นชอบอย่างมากของชาววายทั้งสายผลิตและสายเสพ

ซีรีส์ (รวมถึงนิยายต้นฉบับ) แต่ละเรื่องต่างมีวิธีการที่แตกต่างกันไป บ้างใช้บุคลิกและลักษณะนิสัย เช่น นิสัยลุยๆ ห่ามๆ พูดจาโผงผาง บ้างก็ใช้ความสนใจที่สอดคล้องกับบทบาททางเพศเป็นตัวช่วยขับเน้น เช่น มีงานอดิเรกเป็นการเล่นกีฬา การเลือกเรียนคณะ หรือประกอบอาชีพที่มีภาพจำความเป็นชายสูง

และหนึ่งในวิธีฮอตฮิตที่สุดก็คือ การใช้ความสัมพันธ์กับผู้หญิง เป็นเครื่องมือพิสูจน์ประวัติ ‘ความแมน’ สมชาย

ภาพ: ซีรีส์ เพราะเราคู่กัน 2gether The Series (2020)

อาจกล่าวได้ว่า แม้ตัวละครหลักในงานแนวนี้จะมีรสนิยมทางเพศแบบเดียวกับเกย์ แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า พวกเขาถูกสร้างขึ้นเพื่อเป็นภาพแทนของชุมชนเกย์ที่มีชีวิตอยู่ในโลกของความเป็นจริง

ไม่ต้องพูดถึงตัวละครที่นิยามตัวเองเป็น ‘กะเทย’ อย่างเปิดเผย เพราะแม้แต่ตัวละครหลักที่ต่อรองลดทอนความเป็นชายลงกึ่งหนึ่ง เพื่อแสดงตัวตนด้านที่ ‘ออกสาว’ ของตัวเองอย่าง ‘โอ้เอ๋ว’ จากเรื่องแปลรักฉันด้วยใจเธอ ก็ยังถือว่าเป็นแรร์ไอเทมที่หาได้ยากยิ่งในอาณาจักรซีรีส์วาย

ภาพ: ซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ (2020)

ปัจจุบัน ภาพแทนของเกย์แบบเดียวที่ได้รับการโอบรับในฐานะ ‘พระเอก-นายเอก’ ในโลกวาย คือภาพแทนของเกย์ที่ไม่แสดงตัวตนขัดแย้งกับความเป็นชายมากจนเกินไปนัก 

แน่นอนว่า ไม่จำเป็นต้องโหดห่าม เรียนวิศวะเหมือนยุคแรกๆ ไปเสียหมด 

อ่อนโยนได้

พูดคะขาได้

ทำอาหารเก่งได้

หน้าตาจิ้มลิ้มสะสวยได้ 

หรือจะมีอัตลักษณ์ทางเพศเป็นเกย์ก็ยังถือว่าพอรับได้ แต่อย่างน้อยที่สุดจะต้องไม่แสดงกริยา ‘ตุ้งติ้ง’ ไม่เรียกตัวเองว่า ‘กะเทย’ และหากรูปร่างหน้าตาไม่หลุดกรอบ Beauty Standard ได้ก็จะดีที่สุด

แม้นี่จะเป็นเพียงกฎเหล็กล่องหนที่คนพยายามเลี่ยงไม่พูดถึง แต่มันกลับเป็นกฎที่ทรงพลังมากพอจะทำให้เกิดช่องว่างระหว่าง ‘ซีรีส์วาย’ ที่สร้างจากแฟนตาซีของผู้หญิงนอกคอมมูฯ เกย์ กับ ‘ซีรีส์เกย์’ ที่แฝงนัยของการขับเคลื่อนประเด็นเพศ ทั้งที่หากพิจารณาคำจำกัดความว่า ‘ซีรีส์ชายรักชาย’ ทั้งสองอย่างนี้ควรจะซ้อนทับและใกล้เคียงกันมาก จนไม่น่าจะสามารถแยกออกจากกันได้ขาดด้วยซ้ำ

คำถามสำคัญ คือหากสุดท้ายแล้ว กลุ่มผู้เสพที่เรียกตนเองว่า ‘สาววาย’ ยังยืนยันจะสนับสนุนกฎล่องหนข้อนี้ และแยกซีรีส์วายเป็นเอกเทศจากงานเควียร์กลุ่มอื่นต่อไป ที่ทางของผู้หญิง รวมถึงกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศที่จัดวางตัวเองให้อยู่นอกคำจำกัดความ ‘ผู้ชาย’ ก็คงหนีไม่พ้นบทบาทเดิมๆ หากไม่ใช่ศัตรูหัวใจหรือตัวตลก ก็เป็นตัวประกอบวนเวียนไปอย่างนี้เรื่อยๆ ใช่หรือไม่?

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,