ใครทำอะไรให้โลกมากกว่ากัน ผู้ชายหรือผู้หญิง
คำถามนี้มาจากวิดีโอหนึ่งที่เป็นกระแสใน TikTok ซึ่งผู้โพสต์ไล่เลียงรายชื่อของนักคิดคนสำคัญที่ประดิษฐ์หลอดไฟ เป็นมหาเศรษฐีระดับโลก หรือแม้แต่คนที่เหยียบดวงจันทร์เป็นคนแรก เพื่อทำให้เห็นว่า ทั้งหมดในนั้นล้วนแล้วแต่เป็นผู้ชาย คล้ายกับมีคำตอบอยู่ในใจแล้วว่า ผู้ชายย่อมเป็นเพศที่สร้างสรรค์สิ่งดีๆ และมีความสามารถมากกว่าผู้หญิงอย่างเห็นได้ชัด
แล้วผู้หญิงทำอะไรที่ยิ่งใหญ่ให้กับโลกใบนี้บ้าง
นอกจากการเป็นแม่ของลูก ภรรยาที่สนับสนุนสามี หรือเป็นลูกสาวที่ดีแล้ว อันที่จริงผู้หญิงอยู่ในทุกวงการ และทำได้ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ต่างจากผู้ชาย แต่จะมีข้อแตกต่างคือ ช่วงเวลาที่ผ่านมาพวกเธออาจถูกกีดกันให้ออกจากพื้นที่ของความรู้ หรือต่อให้พยายามจนได้เข้าไปอยู่ในวงการวิชาการ และประสบความสำเร็จขึ้นมา ก็ไม่ได้รับการยอมรับในระดับที่ทัดเทียมกับผู้ชายอยู่ดี
หลายคนอาจคุ้นเคยกับคำว่า ‘Glass Ceiling’ หรือเพดานกระจก ซึ่งใช้เปรียบเทียบถึงอุปสรรคที่ขัดขวางไม่ให้ผู้หญิงเติบโตในทางหน้าที่การงาน แต่ยังมีปรากฏการณ์ในทำนองคล้ายกันที่มักเกิดขึ้นกับผู้หญิงในวงการนักคิดและวิทยาศาสตร์ ซึ่งเรียกกันว่า ‘Matilda Effect’
แนวคิด Matilda Effect ถูกคิดขึ้นในปี 1993 โดย มาร์กาเรต รอสซิเตอร์ (Margaret Rossiter) นักประวัติศาสตร์วิทยาศาสตร์ เพื่อใช้อธิบายถึงสถานการณ์ที่นักคิดหญิงไม่ได้รับการยอมรับ ถูกมองข้ามในความสามารถ หรือแม้กระทั่งถูกขโมยผลงานจากผู้ชาย
ปรากฏการณ์ Matilda เรียกตามชื่อของ มาทิลดา เกจ (Matilda Gage) นักเขียนและนักเคลื่อนไหวเรื่องสิทธิสตรีในศตวรรษที่ 19 ซึ่งเกจเคยมีผลงานที่เกี่ยวกับการเรียกร้องสิทธิให้ผู้หญิงในแวดวงวิชาการรวมถึงสิทธิสตรี เช่น Woman as an Inventor (1870) ที่เขียนเพื่อบอกเล่าเรื่องราวผู้หญิงที่ประดิษฐ์นวัตกรรมสำคัญมากมาย เช่นกล้องโทรทรรศน์ทะเลน้ำลึก แต่กลับไม่ได้รับความดีความชอบ
“บ่อยครั้งที่นักวิทยาศาสตร์หญิงที่คิดค้นผลงานไม่ได้รับรางวัลโนเบล และรวมถึงไม่ได้รับการเสนอชื่อแสดงงานวิจัย หรือเป็นได้เพียงแค่ชื่อเล็กๆ ที่ห้อยอยู่ในเชิงอรรถ” เคที ฮาฟเนอร์ (Katie Hafner) นักข่าวและผู้ดำเนินโครงการสนับสนุนเพศหญิงในแวดวงวิทยาศาสตร์ที่ชื่อ Lost Women of Science กล่าวเสริมเรื่องนี้
แน่นอนว่า การโดนเคลมผลงานที่ตนเองภาคภูมิใจ หรือโดนมองข้ามไปนั้นเป็นเรื่องที่เจ็บปวด แต่เพราะในอดีตผู้หญิงถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงการศึกษาและการทำงาน นักคิดหญิงหลายร้อยคนจึงต้องจำใจเผชิญกับ Matilda Effect โดยไม่ได้รับการยอมรับนับถือเท่าที่ควร เพียงเพราะเพศกำเนิดของพวกเธอเป็นผู้หญิง
หนึ่งในนั้นคือ กรณีของ โรซาลินด์ แฟลงคลิน (Rosalind Franklin) นักเคมีหญิงผู้นำทีมค้นพบสิ่งเปลี่ยนแปลงโลกอย่างระบบโครงสร้าง DNA แต่ผู้ที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาสรีรวิทยาในปี 1962 จากผลงานชิ้นนี้ กลับมีเพียงนักวิจัยชายซึ่งเป็นเพื่อนร่วมงานของเธอ ในขณะที่ผู้ชายได้รับรางวัลระดับโลก ทั้งที่เป็นเจ้าของผลงาน โรซาลินด์กลับไม่ได้รับรางวัลใดๆ ในตอนที่ยังมีชีวิตอยู่เลย
นอกจากนี้ ยังมีนักคิดหญิงหลายคนที่ต้องเจอกับสถานการณ์คล้ายกัน เช่น เอสเทอร์ เลเดอร์เบิร์ก (Esther Lederberg) นักพันธุศาสตร์หญิงผู้ค้นพบพันธุศาสตร์แบคทีเรีย แต่คนที่ได้รับรางวัลโนเบลและตำแหน่งทางวิชาการกลับเป็นสามีของเธอ, โจเซลิน เบลล์ เบอร์เนล (Jocelyn Bell Burnell) นักดาราศาสตร์หญิงผู้ค้นพบพัลซาร์ แต่อาจารย์ของเธอกลับเป็นผู้ได้รับรางวัลโนเบลแทน หรือลีเซอ ไมต์เนอร์ (Lise Meitner) นักฟิสิกส์หญิงที่ร่วมค้นพบการแบ่งแยกนิวเคลียส แต่มีเพียง ออตโต ฮาน (Otto Hahn) เพื่อนร่วมงานชายที่ได้รับรางวัลโนเบลในสาขาเคมีไปในปีนั้น
ถึงจะมีความพยายามในการผลักดันเรื่องความเท่าเทียมทางเพศในวงการวิทยาศาสตร์ โดยการปฏิรูปการศึกษาและทำลายภาพเหมารวมทางเพศแบบเดิมๆ จนสัดส่วนของผู้หญิงในสาขา STEM เพิ่มสูงขึ้น แต่ผู้หญิงก็ยังคงเผชิญกับอุปสรรคหลายด้านในการทำงาน เช่น ช่องว่างทางรายได้ที่เกิดจากเหตุแห่งเพศ (Gender Pay Gap) หรือการรักษาสมดุลในชีวิตส่วนตัว ที่ทำให้การมีลูกหรือมีครอบครัวยังคงเป็นเรื่องยากสำหรับผู้หญิงถ้าอยากเติบโตในสายงานนี้
สุดท้ายแล้ว ผลงานควรอิงจากความสามารถไม่ใช่อิงกับเพศ ไม่เพียงแต่วงการวิทยาศาสตร์หรือรางวัลโนเบลเท่านั้น แต่ยังมีอีกหลากหลายแวดวงที่ยังคงเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ในทางกลับกัน หลายงานก็ยังคงถูกเหมาว่าเป็นของผู้หญิง Matilda Effect จึงเป็นเพียงหนึ่งในผลกระทบที่เกิดจากการกำหนดบทบาททางเพศแบบเหมารวม ซึ่งสะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมทางเพศในภาพกว้าง
ที่มา:
https://www.openculture.com/2018/08/the-matilda-effect.html
https://www.tiktok.com/@naveed_bhrm/video/7388851424643271954?lang=en
Tags: Women In STEM, ปรากฏการณ์มาทิลดา, Gender, Glass Ceiling, Matilda Effect, STEM