ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ใช้แอปพลิเคชัน X หลายคนอาจมีโอกาสเห็นเทรนด์การแบ่งปันประสบการณ์การถูกจีบแบบชายแท้ ผ่านการโควตทวีต ‘Flirt like straight men’ แชร์ภาพถ่ายหน้าจอข้อความแชตจากผู้ชายที่เคยคุยด้วย
ลักษณะร่วมที่พบบ่อย คือฝ่ายชายมักเผลอแสดงทัศนคติที่ลดทอนคุณค่าผู้หญิงโดยไม่รู้ตัว วกเข้าเรื่องเพศทั้งที่ยังไม่ทันได้คุยกันจนสนิทคุ้นเคยมากพอ และมีแม้กระทั่งกรณีที่พวกเขาคุกคามทางเพศฝ่ายหญิงแบบโต้งๆ
เพียงไม่กี่วันหลังจากนั้น ทวีต Flirt like sapphics หรือ ‘จีบแบบแซฟฟิก’ ก็เริ่มกลายเป็นเทรนด์ขึ้นมาบ้าง แต่บรรยากาศกลับเป็นไปในทิศทางที่แตกต่างจากรอบชายแท้อย่างเห็นได้ชัด ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะทวีตต้นทางมีน้ำเสียงเชิงบวก ชาวคอมมูฯ หญิงรักหญิงที่เข้ามาอ่าน จึงเลือกแชร์ประสบการณ์การถูกผู้หญิงด้วยกันจีบ ด้วยวิธีที่ ‘น่ารัก สร้างสรรค์ และมีชั้นเชิง’ มากกว่าที่จะแชร์เพื่อตำหนิ
อย่างไรก็ตาม เกิดเสียงวิพากษ์ขึ้นในอีกมุมหนึ่งของแพลตฟอร์มว่า ข้อความของฝั่งแซฟฟิก ‘บางข้อความ’ ก็มีลักษณะคุกคามหรือขาดความเคารพในอัตลักษณ์ทางเพศของผู้อื่นเช่นกัน เช่น
“อยู่แถวไหนคะ อยากไปหา”
“เสียดายจังที่เธอเป็นสเตรท”
แต่เสียงตอบรับกลับไม่รุนแรงเท่ากรณีที่ผู้ชายเป็นคนส่งข้อความเหล่านี้
“ยอมรับว่าสองมาตรฐาน แต่พอผู้หญิงด้วยกันพูด มันไม่รู้สึกคุกคามเท่าผู้ชายจริงๆ” ผู้ใช้หลายคนลงความเห็น
ด้วยเหตุนี้ ประเด็นปัญหาหลายอย่างที่ว่าด้วยเรื่องการคุกคามทางเพศระหว่างผู้หญิง จึงค่อยๆ ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กรณีที่ ‘Sexual Predators’ หรือผู้มีพฤติกรรมล่วงละเมิดทางเพศ มักใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์สาวในฝันสไตล์ผู้ใหญ่แบบ ‘พี่สาวแซ่บ’ หรือ ‘Sugar Mommy’ เข้าหาเหยื่อที่เป็นผู้เยาว์ภายในชุมชนหญิงรักหญิงบนโลกออนไลน์
เบื้องหลังความรู้สึก ‘สบายใจ’
บทบาททางเพศของผู้หญิงที่สังคมประกอบสร้างขึ้น คือปัจจัยหลักที่ปลูกฝังให้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าเพศหญิงเป็นเพศที่ ‘อ่อนแอ’ และ ‘อ่อนโยน’ จึงไม่แปลกที่สัญชาตญาณแรกต่อความเป็นไปได้ว่าผู้หญิงจะเป็น Sexual Predator จะออกมาในรูปแบบของความไว้เนื้อเชื่อใจว่าผู้หญิงจะต้องเข้าใจ ‘หัวอกผู้หญิงด้วยกัน’ หรือปฏิเสธการมีอยู่ของแรงกำลังและอำนาจ ในการที่พวกเธอจะกระทำการดังกล่าวไปเลยโดยสิ้นเชิง
ผลลัพธ์คือแนวโน้มที่จะคุกคามทางเพศของผู้หญิง มักถูกประเมินเอาไว้ต่ำกว่าความเป็นจริงเสมอ และนั่นไม่ได้ส่งผลร้ายแค่ต่อเหยื่อที่เป็นผู้หญิงด้วยกันเท่านั้น แต่รวมไปถึงเหยื่อที่เป็นผู้ชายอีกด้วย
สังเกตได้จากการที่ผู้คนบนโซเชียลฯ ไม่แสดงความเป็นห่วงสภาพจิตใจของผู้ชายสักเท่าไรนัก เมื่อพวกเขาออกมาเปิดเผยว่าโดนล่วงละเมิดโดยผู้หญิง ซ้ำร้ายยังกดสติกเกอร์หัวเราะชอบใจ และเล่นมุขตลกลดทอนความรุนแรงให้เป็นเพียง ‘การแซวเล่น’ และ ‘ประสบการณ์ชีวิต’
อีกหนึ่งตัวอย่าง คือกรณีศิลปินหญิงเดี่ยวชาวเกาหลีใต้ บีบี (BIBI) ที่จูบปากแฟนคลับหญิงของตนระหว่างทำการแสดงคอนเสิร์ตมาแล้วถึงสองครั้งสองครา นอกจากบีบีจะไม่ต้องเผชิญหน้ากับกระแสตีกลับแล้ว เสียงตอบรับต่อจูบของเธอยังเป็นไปในเชิงบวกอีกด้วย
แน่นอนว่าบีบีไม่ใช่ศิลปินคนแรกที่จูบแฟนคลับระหว่างทำการแสดง มีนักร้องนักดนตรีหลายคนที่เคยทำแบบเดียวกัน รวมถึง แมตตี ฮีลีย์ (Matty Healy) แห่ง The 1975 ที่เคยได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก เกี่ยวกับพฤติกรรมระหว่างแสดงคอนเสิร์ตหลายอย่างของเขา
ปรากฏการณ์ดังกล่าวนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า ทำไมสังคมจึงมีปฏิกิริยาต่อทั้งสองกรณีต่างกันราวหน้ามือกับหลังมือ
เพราะถูกผู้หญิงล่วงเกินไม่ ‘เสียหาย’ เท่าถูกล่วงเกินโดยผู้ชาย?
หากใช่ นั่นหมายความว่าสังคมรับรู้นิยามของคำว่า ‘เสียหาย’ บิดเบี้ยวไปจากความเป็นจริงหรือไม่?
ตัวตน ‘หญิงรักหญิง’ ที่สังคมพยายามซ่อนเร้นและลบเลือน
หลังเกิดประเด็นพูดคุยเกี่ยวกับทวีต Flirt like sapphics ขึ้นเพียงไม่นาน ผู้ใช้แอปพลิเคชัน X หลายรายออกมาแชร์เรื่องราวลักษณะคล้ายกัน คือในช่วงที่ยังเป็นนักเรียน พวกเขาเคยพบเห็นครูผู้หญิงในโรงเรียนแสดงพฤติกรรมเข้าข่ายการ ‘Grooming’ คือพยายามล่อลวงนักเรียนของตัวเองผ่านการการกระทำที่เป็นมิตร เข้ามาตีสนิทให้เด็กตายใจ แล้วสานสัมพันธ์เชิงชู้สาวในภายหลัง
ที่น่าแปลกคือคนเหล่านี้กลับลอยนวลทำงานในโรงเรียนต่อได้ โดยไม่ต้องโทษทางวินัยแต่อย่างใด ในขณะที่หากครูผู้ชายทำพฤติกรรมทำนองเดียวกัน พวกเขาอาจโดนเพ่งเล็งแทบจะในทันที
ยังไม่นับรวมถึงกรณีเกี่ยวกับผู้ใหญ่ในคอมมูนิตี้ ‘บอต’ บนแพลตฟอร์มออนไลน์ ที่จงใจเข้าหา ส่งข้อความจีบ และคุยเรื่องเพศกับผู้เล่นที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ
เรื่องราวเหล่านี้ล้วนเกี่ยวโยงเหนียวแน่นกับนิยามของความ ‘เสียหาย’ ที่ได้เกริ่นถึงไปแล้วข้างต้น
ทำไมสังคมจึงมองว่าการถูกผู้ชายข่มขืน สามารถสร้างความเสียหายได้ร้ายแรงกว่าผู้หญิงข่มขืน?
ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะตัวตนของเลสเบี้ยนและชุมชนหญิงรักหญิง มักถูกลบเลือนออกจากการรับรู้ของผู้คนมาโดยตลอด สังเกตได้จากทั้งสื่อบันเทิงเกี่ยวกับหญิงรักหญิงที่มีอยู่น้อยนิด หรือพ่อแม่บางคนที่ไม่รู้สึกยินดียินร้ายเมื่อลูกสาวคบหากับผู้หญิง เพราะมั่นใจว่าหากลูกโตแล้วเจอผู้ชายที่ใช่ เด็กเหล่านี้ก็จะเริ่มเบื่อหน่ายการ ‘เล่นเป็นแฟน’ กับเพื่อนไปเอง
ไหนจะเนื้อหาเรื่องเพศศึกษาในระบบการศึกษาทั่วโลก ที่ละเลยไม่ยอมให้ความรู้เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ระหว่างผู้หญิงกับผู้หญิงมาอย่างยาวนาน คนจำนวนมากจึงไม่เคยรับรู้และจินตนาการไม่ออกว่า เซ็กซ์ที่ไม่ยินยอมระหว่างผู้หญิงด้วยกันก็สามารถสร้างความเจ็บปวดทางกาย ตลอดจนความเสียหายทางจิตใจได้ ไม่ต่างจากการ ‘ข่มขืน’ ที่มีผู้กระทำเป็นชายเลย
จริงอยู่ โลกนี้อาจมีเป็นพันหมื่นเหตุผลที่ทำให้ผู้หญิงคนหนึ่งเลือกที่จะเชื่อใจผู้หญิงอีกคนมากกว่าผู้ชาย แต่ในขณะเดียวกัน เราก็ต้องไม่ลืมว่า Sexual Predator แฝงตัวอยู่ในทุกที่ ทุกหย่อมหญ้า ทุกคอมมูฯ โดยไม่จำกัดเพศ
หากเรายังคงประเมินแนวโน้มที่จะก่อความรุนแรงทางเพศของผู้หญิงต่ำกว่าความเป็นจริงเช่นนี้ต่อไป เราอาจบังเอิญไปเปิดช่องว่างให้คนเหล่านี้สามารถเอาเปรียบเหยื่อที่ไม่รู้เท่าทันได้โดยที่เราไม่รู้ตัว
Tags: Gender, เลสเบียน, หญิงรักหญิง, LGBTQIA+, Sapphic, แซฟฟิก