#MeToo ไม่ใช่การรณรงค์เพื่อแก้แค้นของกลุ่มเพศหญิงในแวดวงบันเทิง เพื่อไล่ต้อนผู้ชายให้จนมุม หรือตอบโต้ด้วยอารมณ์โกรธที่พวกเธอไม่ได้รับบทหรือโอกาสในงานแสดง

#MeToo เป็นกระแสที่กระจายออกไปในวงกว้างทางโลกโซเซียล พูดถึงการเหยียดเพศและการล่วงละเมิดทางเพศ นับตั้งแต่มีการกล่าวหา ฮาร์วีย์ ไวน์สตีน (Harvey Weinstein) ในช่วงเดือนตุลาคม 2017 ว่าเคยมีพฤติกรรมดังที่กล่าวมากับนักแสดงหญิงหลายสิบคนในวงการ

หลังจากนั้น การอภิปราย รวมไปถึงการเปิดโปงเกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำทางเพศและการล่วงละเมิดทางเพศก็ทะลักล้นในสังคมโลกโซเซียล รายชื่อบุคลากรในวงการบันเทิงเพศชายถูกนำมาแฉ พร้อมเรื่องเล่าเกี่ยวกับพฤติกรรมในอดีตอย่างไม่ขาดช่วง

ในสังคมของฝรั่งเศสเองก็ได้รับอิทธิพลจากกระแส #MeToo เช่นกัน โดยในโลกโซเซียลมีการติดแฮชแท็ก #ฺBalanceTonPorc (Expose you pig – แฉไอ้หมูสกปรกของเธอซะ) มีรายงานของบรรดาผู้หญิงนับร้อยนับพันคนที่ถูกล่วงเกินทางเพศส่งผ่านทวิตเตอร์อย่างไม่ขาดสาย เช่นเดียวกันกับในสหรัฐอเมริกา

ในโลกโซเซียลของฝรั่งเศสมีการติดแฮชแท็ก #ฺBalanceTonPorc (Expose you pig – แฉไอ้หมูสกปรกของเธอซะ) เช่นกัน

ในฝรั่งเศส ถึงกับนัดรวมตัวกันประท้วงตามท้องถนนในหลายเมืองใหญ่ เฉพาะในกรุงปารีส ที่มีคนเข้าร่วมราว 2,500 คน แกนนำเป็นนักข่าวชื่อ คาโรล กาลงด์ (Carol Galand) ก่อนจะเริ่มมีแฮชแท็ก #BalanceTonPorc ใช้เป็นของสังคมฝรั่งเศสเอง

กระทั่งเมื่อวันอังคารที่ 9 ม.ค.ที่ผ่านมา ปรากฏข่าวว่า มีกลุ่มผู้หญิงในฝรั่งเศส 100 คนเขียนจดหมายเปิดผนึก แสดงทัศนคติต่อต้านกระแส #MeToo พร้อมลงลายมือชื่อกำกับ ในจำนวนนั้นมีนักแสดงรุ่นใหญ่อย่าง แคเธอรีน เดอเนิฟ (Catherine Deneuve) นักเขียนชื่อดัง แคเธอรีน มิลเญต์ (Catherine Millet) และแคเธอรีน ร็อบบ์-กริลเญต์ (Catherine Robbe-Grillet) รวมอยู่ด้วย

จดหมายเปิดผนึกฉบับนั้น ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หัวใหญ่ของฝรั่งเศส เลอมงด์ มีใจความหลักว่า “เราเรียกร้องเสรีภาพในการรบกวนเกาะแกะ” ซึ่งทำให้อุณหภูมิของโลกโซเซียลเปลี่ยนแปลงในฉับพลัน

จดหมายซึ่งร่วมกันเขียนโดยนักเขียน 5 คนวิพากษ์กระแส #MeToo ว่าเป็นการสร้างบรรยากาศที่เลวร้ายขึ้นในสังคมโลก และเป็นการรณรงค์ที่เต็มไปด้วยการทรยศหักหลัง เปิดโปงสิ่งไม่ควรต่อสาธารณชน

“ผู้ชายต้องตกเป็นจำเลย ต้องพ้นจากตำแหน่งหน้าที่การงาน แม้จะผิดพลาดไปเพียงครั้งเดียวจากการสัมผัส แตะต้องหัวเข่า พยายามจะจูบ หรือกระทำ ‘ลับลมคมนัย’ ระหว่างมื้อค่ำหรือการเจรจาเรื่องงาน…

“การข่มขืนกระทำชำเราเป็นอาชญากรรม แต่การรุกล้ำที่ไม่เข้าท่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย การก่อกวนเสรีภาพถือเป็นสิ่งที่ขาดเสียไม่ได้สำหรับเสรีภาพทางเพศ”

กระแส #MeToo ส่งผลให้เกิดอาการ ‘ไข้ขึ้น’ กันไปทั่ว ทำให้ผู้ชายถูกตราหน้าว่า ‘หมูสกปรก’ โดยไม่มีโอกาสที่จะปกป้องตนเอง และผู้ชายเหล่านี้จะไม่สามารถกู้ชื่อเสียงขึ้นมาได้อีกในโลกของเฟมินิสต์

“ทุกวันนี้เราอยู่ในโลกที่เต็มไปด้วยข่าวสาร เรารับรู้เท่าเทียมกันว่า แรงผลักดันทางเพศโดยธรรมชาตินั้นก้าวร้าวและดุดัน แต่เราก็พอแยกแยะออกไม่ใช่หรือว่า ระหว่างการหยอกล้อกับการใช้ความรุนแรงทางเพศมันแตกต่างกันอย่างไร”

“แต่เราก็พอแยกแยะออกไม่ใช่หรือว่า ระหว่างการหยอกล้อกับการใช้ความรุนแรงทางเพศมันแตกต่างกันอย่างไร”

จดหมายเปิดผนึกของผู้หญิงฝรั่งเศสกลุ่มเล็กๆ คัดค้านปฏิกิริยาของผู้หญิงในอเมริกาอย่างรุนแรงและชัดเจน ขณะที่สหรัฐอเมริกา ศิลปินหญิงกลุ่มหนึ่งเพิ่งจะเริ่มแคมเปญใหม่ชื่อ Time’s Up เพื่อสนับสนุนและให้ความช่วยเหลือผู้หญิงในทุกสาขาอาชีพที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ โดยในงานประกาศผลรางวัลลูกโลกทองคำเมื่อวันที่ 7 มกราคมที่ผ่านมา มีนักแสดงหญิงหลายคนแสดงสัญลักษณ์ด้วยการสวมชุดสีดำ บางคนติดเข็มกลัดในนามของ Time’s Up (สื่อความหมายถึง “พอกันที พอแล้ว ได้เวลาเปลี่ยนแปลงเสียที”) เพื่อประกาศว่า ผู้หญิงในฮอลลีวูดต่างรวมใจกันเป็นหนึ่งเดียว

แน่นอนว่าเมื่อข่าวการต่อต้านกระแส #MeToo ปรากฏออกมา เสียงวิจารณ์ถูกส่งกลับไปถึงฝรั่งเศสในทันที ว่ากลุ่มคนที่ไม่เห็นด้วยนั้น เป็นเพราะพวกเธอเข้าใจคลาดเคลื่อนระหว่างการล่วงละเมิดทางเพศกับการเฟลิร์ต อีกทั้งยังไม่เข้าใจถึงแก่นแท้ของการวิพากษ์เรื่อง #MeToo ว่าแท้จริงแล้วสังคมกำลังพูดถึงการใช้อำนาจในทางที่ไม่ชอบ

มุมมองของนักวิจารณ์ในยุโรปส่วนหนึ่งเห็นว่า สาส์นที่ แคเธอรีน เดอเนิฟ และแนวร่วมอีก 99 คนต้องการบอกกล่าวสังคมก็คือ ผู้หญิงต้องเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่ใช่ผู้ชาย

ส่วนความเห็นส่วนตัวจากอดีตรัฐมนตรีและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เซโกเลน โรยาล (Segolene Royal) ที่ส่งผ่านทวิตเตอร์ บอกว่า “เสียดาย ที่แคเธอรีน เดอเนิฟที่ยิ่งใหญ่ของเราไปร่วมเห็นชอบกับความคิดไม่เข้าท่าแบบนี้”

 

 

อ้างอิง:
www.bento.de
kurier.at

Tags: , ,