“รักร่วมเพศเป็นบาป พวกแกไม่ใช่คนด้วยซ้ำ”

 

“เกาหลีใต้ไม่มีเกย์ พวกเกย์ต่างชาติกลับประเทศพวกแกไปซะ”

 

แม้จะผ่านเดือนแห่งความภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ทางเพศหรือ ‘Pride Month’ มาแล้ว แต่เมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศและชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมกลุ่มกันจัดม็อบ LGBTQ+ ครั้งใหญ่ในรอบ 3 ปี ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ที่แตกเป็น 2 ฝั่งชัดเจน คือประชาชนที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศและกลุ่มที่ต่อต้านชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ

สองม็อบใหญ่ในเกาหลีใต้จัดพร้อมกันเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2022 ม็อบแรกคือม็อบ Seoul Queer Culture Festival เกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มขององค์กร ศาสนสถาน และประชาชนที่สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ พวกเขารวมตัวกันที่บริเวณโซลพลาซ่า ลานกิจกรรมใจกลางเมือง ก่อนจะเดินพาเหรดรอบเมือง 4 กิโลเมตรท่ามกลางฝนตกหนัก แต่ผู้คนยังคงชูธงสีรุ้งขนาดใหญ่ในสวน ร้องเพลง Into The New World ของวง Girl’s Generation ที่มีเนื้อหาว่าอย่ามัวแต่เฝ้ารอว่าสักวันคงจะมีปาฏิหาริย์ ผลักดันให้ผู้คนลงมือทำตามความฝัน แม้จะต้องพบเจออุปสรรคมากมายก็อย่าเพิ่งยอมแพ้ รวมถึงชูป้ายที่มีข้อความว่า ความรักไม่ใช่เรื่องผิด LGBTQ+ ไม่ได้เป็นบาป แต่เป็นคนธรรมดาคนหนึ่งเหมือนกับคนอื่นๆ ในสังคม

‘Love always triumphs over hate.’

(ความรักจะมีชัยเหนือความเกลียดชัง)

 

‘We simply cannot leave any of you behind.’

(เราจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง)

 

‘I think the essence of Christianity is the belief that all people are equal.’

(ฉันคิดว่าแก่นแท้ของศาสนาคริสต์ คือความเชื่อที่ว่าเราทุกคนล้วนเท่าเทียมกัน)

ประชาชนที่เข้าร่วมม็อบเควียร์กล่าวถึงงานที่เกิดขึ้นว่าไม่ง่ายกว่าจะมีงานในวันนี้ เพราะรัฐบาลท้องถิ่นเกือบจะยกเลิกไม่ให้จัดกิจกรรม ด้วยเหตุผลว่ากังวลเรื่องโควิด-19 ที่กำลังระบาดหนัก แต่นักเคลื่อนไหวเพื่อความเท่าเทียมทางเพศมองว่า รัฐบาลของพวกเขาไม่อยากให้จัดงานเพราะมีอคติทางเพศ มีแนวคิดเลือกปฏิบัติทางเพศมากกว่ากังวลเรื่องโรคระบาด แต่สุดท้ายต้องจำยอมให้จัดเพราะอยากสร้างภาพจำต่อทั่วโลกว่าเกาหลีใต้ทันสมัยและสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ

สำนักข่าวนิกเคอิ (Nikkei) วิเคราะห์เหตุผลที่ชาวเกาหลีใต้สามารถจัดม็อบเควียร์กลางเมืองได้เป็นเพราะรัฐบาลพยายามนำเสนอภาพวัฒนธรรมเค-ป็อป พร้อมกับการส่งเสริมภาพลักษณ์ว่าโซลเป็นเมืองเปิดกว้างด้านสิทธิมนุษยชนและยอมรับวัฒนธรรมที่ปรับไปตามยุคสมัย เพราะรัฐบาลเชื่อว่าผู้ร่วมชุมนุมจะต้องนำเพลงของเหล่าไอดอลเกาหลีมาเปิดในงานอย่างแน่นอน ซึ่งก็จริงดังคาด เพราะในม็อบเควียร์มีการปักธงผู้สนับสนุนให้เกิดงานนี้ และมีผู้พบเห็นธงของศิลปินเกิร์ลกรุ๊ปวง Mamamoo (มามามู) ถูกปักอยู่กลางสวน รวมถึงมีชื่ออยู่ในหนังสือที่แจกในงาน เนื่องจากแฟนคลับของศิลปินวงดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของผู้บริจาคเงินเพื่อให้เกิดงาน Seoul Queer Culture Festival ส่วนตัวศิลปินเองเคยร่วมงานคอนเสิร์ตที่จัดขึ้นโดยกลุ่ม LGBTQ+ ในปี 2017 และมักสอดแทรกเรื่องราวของชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศในผลงานเพลงหรือการแสดงบนเวทีเสมอ

แต่สำนักข่าวนิกเคอิทิ้งท้ายสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ว่า ภาพลักษณ์ที่รัฐบาลเกาหลีใต้พยายามแสดงออกให้โลกภายนอกเห็นก็ยังคงแตกต่างกับความเป็นจริงอย่างสิ้นเชิง

หากรัฐบาลต้องการสร้างภาพลักษณ์ด้านเพศที่ดีจริงๆ ตามการคาดการณ์ของสำนักข่าวต่างประเทศ ดูเหมือนว่าภาพดังกล่าวจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้ง่ายๆ เนื่องจากม็อบต่อต้าน LGBTQ+ ที่ถูกจัดขึ้นในบริเวณเดียวกันมีเพียงแค่ถนนเส้นเล็กๆ กั้นเอาไว้ มีผู้คนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก ประชาชนที่เข้าร่วมเป็นกลุ่มที่มีแนวคิดอนุรักษนิยม กลุ่มคริสเตียนเคร่งศาสนา รวมถึงคนที่มีแนวคิดต่อต้านเฟมินิสต์ (Antifeminism) มีทั้งผู้สูงอายุ วัยกลางคน ไปจนถึงวัยรุ่นทั้งเพศชายและเพศหญิงที่มองว่าชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งไม่ดี ผิดตามครรลองคลองธรรมของสังคม และผิดหลักความเชื่อที่พวกเขายึดมั่น

พวกเขาตะโกนด่าทอคนในม็อบเควียร์และใช้เครื่องขยายเสียงที่ดังกว่า ส่วนคนฝั่งม็อบเควียร์ก็ยืนประจันหน้ากันอีกฝั่งของถนน แสดงท่าทีไม่แคร์คำวิจารณ์หรือเสียงด่าทอ บางช่วงเวลาดูเหมือนสถานการณ์จะตึงเครียดจนทำให้รัฐบาลท้องถิ่นต้องนำเจ้าหน้าที่ตำรวจมาเฝ้าบริเวณพื้นที่จัดงาน ยืนอยู่ตรงกลางแยกการชุมนุมออกจากกันเพื่อป้องกันการปะทะของฝูงชนที่มีแนวคิดต่างกัน โดยสำนักข่าวยอนฮับรายงานว่า ม็อบทั้งสองมีสัดส่วนผู้เข้าร่วมใกล้เคียงกันคือ 1.3-1.5 หมื่นคน

ฝั่งม็อบต่อต้าน LGBTQ+ เขียนข้อความภาษาอังกฤษแสดงจุดยืนและความเชื่อว่าเกาหลีใต้ไม่มีเกย์ เลสเบี้ยน และเพศทางเลือกอื่นๆ เห็นได้จากป้าย ‘Foreign gay lesbians go back to your country.’ (เกาหลีใต้ไม่มีเกย์ พวกเกย์ต่างชาติกลับประเทศของพวกแกไปได้แล้ว) รวมถึงข้อความอื่นๆ ที่ยืนยันว่า LGBTQ+ เป็นบาปมหันต์

 

‘Homosexuality is sin, Repent! Return to Jesus.’

(รักร่วมเพศเป็นบาป ขอให้กลับใจ กลับไปหาพระเยซู)

 

‘Homosexuality is not human rights but sin.’

(รักร่วมเพศไม่ใช่สิทธิมนุษยชน แต่เป็นบาป)

ในม็อบต่อต้าน LGBTQ+ มีความย้อนแย้งแบบน่าประหลาดจนทำให้เกิดการวิจารณ์ต่อยอดประเด็นไปอีกพักใหญ่ เรื่องที่ว่าเกิดขึ้นจากบทสนทนาของผู้ร่วมงานฝั่งม็อบเควียร์ที่มาพูดคุยแลกเปลี่ยนกันในทวิตเตอร์ พวกเขากล่าวว่าเจอทั้งนักบวชและกลุ่มแม่ชีที่มาร่วมสนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ พานให้ตั้งคำถามว่าม็อบฝั่งต่อต้าน LGBTQ+ ที่ระบุว่า ต้องรวมตัวต่อต้านเพราะความหลากหลายทางเพศขัดกับหลักศาสนา แต่ขณะเดียวกัน นักบวชและผู้เผยแผ่ศาสนาบางส่วนกลับไปอยู่ม็อบอีกฝั่งหนึ่ง ตกลงแล้ว LGBTQ+ เป็นบาปและผิดแปลกตามหลักคำสอนทางศาสนาจริงหรือไม่ หรือขึ้นอยู่กับการตีความและอคติส่วนตัวของแต่ละคนมากกว่า  

อย่างไรก็ตาม จะเห็นได้ว่ารัฐบาลเกาหลีใต้ ทั้งรัฐบาลระดับชาติหรือระดับท้องถิ่นยังคงมีนักการเมืองที่แสดงทัศนคติเหยียดเพศอย่างชัดเจนดำรงตำแหน่งสำคัญอยู่มาก เช่น โอ เซฮุน (Oh Se-hoon) นายกเทศมนตรีคนปัจจุบันของโซล ที่เคยพูดอย่างเปิดเผยว่า “ผมต่อต้านพวกรักร่วมเพศ” นอกจากนี้เขายังเข้าร่วมงานต่างๆ ที่มีแนวคิดหรือกิจกรรมไม่สนับสนุน LGBTQ+ และไม่เห็นด้วยกับการจัดม็อบเควียร์ในกรุงโซล

มีนักการเมืองบางรายเคยกล่าวว่ารักร่วมเพศไม่ต่างอะไรกับการกาฬโรค (โรคระบาดร้ายแรงที่เกิดขึ้นจากแบคทีเรีย) ส่วนประธานสภาฯ อย่าง คิม จินพโย (Kim Jin-pyo) ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความเป็นชาวคริสเตียนเคร่งศาสนาวัย 75 ปี ก็มักแสดงความคิดเห็นว่า LGBTQ+ คือส่วนสำคัญที่ทำให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ลดลง ไปจนถึงตัวของประธานาธิบดีเกาหลีใต้คนปัจจุบันอย่าง ยุน ซอกยอล (Yoon Suk-yeol) ที่มีผู้สนับสนุนหลักเป็นกลุ่มต่อต้านเฟมินิสต์ เพราะเขามักแสดงทัศนคติว่าการเรียกร้องของกลุ่มเฟมินิสต์ ส่งผลให้อัตราการเกิดในเกาหลีใต้ต่ำลง และเคยหาเสียงว่าถ้าชนะเลือกตั้งจะยุบกระทรวงความเท่าเทียมทางเพศและครอบครัว (Ministry of Gender Equality and Family) ทิ้งทันที

ผลสำรวจของสถาบันบริหารรัฐกิจแห่งเกาหลีใต้ระบุว่า ชาวเกาหลีใต้กว่า 54.1 เปอร์เซ็นต์ที่ตอบแบบสอบถาม ไม่สามารถทำใจยอมรับผู้มีความหลากหลายทางเพศได้ ข้อมูลดังกล่าวสอดคล้องกับรายงานของ Human Rights Watch ที่ระบุว่า เยาวชน LGBTQ+ มักถูกกีดกันออกจากสังคม ทำให้เด็กๆ รู้สึกว่าตัวเองแปลกแยก ส่งผลให้ลุกลามไปยังการถูกกลั่นแกล้งและล่วงละเมิดในสถานศึกษา หรือผลสำรวจขององค์กรด้านสิทธิ Dawoon ที่ลงพื้นที่สำรวจความคิดเห็นของประชาชนในปี 2021 พบว่า 1 ใน 3 ของเยาวชนที่เป็น LGBTQ+ ถูกเลือกปฏิบัติ และกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ เคยมีความคิดอยากฆ่าตัวตายเพราะทนความกดดันไม่ไหว

คลื่นความเกลียดชังผู้มีความหลากหลายทางเพศแพร่หลายมากในเกาหลีใต้ มีทั้งการแสดงออกด้วยท่าทีต่อต้านอย่างรุนแรงที่ลุกลามเป็นการกลั่นแกล้ง ทำร้ายร่างกายหรือทำร้ายจิตใจ บ้างก็ไม่ยอมรับแต่แสดงท่าทีด้วยการทำเป็นไม่รับรู้ว่ามีชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในประเทศ พยายามทำให้ชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศเป็นสิ่งที่ไม่มีจริงในสังคม ทั้งที่เกาหลีใต้ก็มี LGBTQ+ เหมือนกับพื้นที่อื่นๆ ทั่วโลก

ขณะเดียวกัน อุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ก็ส่งออกการ์ตูนวาย การ์ตูนแซฟฟิก จนได้รับความนิยมจากต่างชาติ สร้างภาพยนตร์ที่มีคู่รักหรือเล่าเรื่องของ LGBTQ+ เพิ่มขึ้น เริ่มทำรายการวาไรตี้กึ่งเรียลลิตี้ที่เน้นความสัมพันธ์ของ LGBTQ+ การผลักดันโมเมนต์น่ารักๆ ของคนเพศเดียวกัน หรือการที่ค่ายเพลงบางแห่งพยายามสอดแทรกคู่จิ้น (ย่อมาจากจินตนาการ) และคู่ชิป (สแลงจากคำว่า Relationship) ของสมาชิกในวงไอดอลหรือวงดนตรี ขณะที่ผู้คนบางส่วนในสังคมยังคงมองว่าผู้มีความหลากหลายทางเพศไม่มีอยู่จริง เรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเพียงแค่แฟนตาซี เป็นแค่ความบันเทิงชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น

 

อ้างอิง

–            https://www.washingtonpost.com/world/south-korean-capital-celebrates-1st-pride-parade-in-3-years/2022/07/16/088c9de6-04d5-11ed-8beb-2b4e481b1500_story.html

–            https://asia.nikkei.com/Politics/LGBT-South-Koreans-gird-for-Christian-protests-at-pride-event

–            https://www.washingtonpost.com/world/2022/05/11/south-korea-gender-lgbt-rights-president-yoon/

–            https://www.reuters.com/world/asia-pacific/thousands-take-part-seoul-lgbt-festival-protesters-rally-2022-07-16/

–            https://www.hani.co.kr/arti/english_edition/e_national/1051401.html

–            https://www.bloomberg.com/news/articles/2022-07-16/south-korean-capital-celebrates-1st-pride-parade-in-3-years

 

Tags: , , , , , , , , , , , , , ,