เมื่อไม่นานมานี้ ระหว่างกำลังออกทัวร์ในออสเตรเลีย บารัก โอบามา (Barack Obama) ชายผิวสีคนแรกที่ได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีแห่งสหรัฐอเมริกา ได้แสดงความคิดเห็นของเขาในการขับเคลื่อนการเมืองโลก ให้ดำเนินไปในทิศทางแห่งสันติภาพและความยั่งยืนว่า
“ผมเชื่อจริงๆ นะว่าถ้าเราลองให้ผู้หญิงขึ้นเป็นผู้นำของทุกประเทศบนโลกดูสัก 2 ปี โลกของเราจะต้องพลิกผันและเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นแน่ ผมมั่นใจ”
น่าเศร้าที่หากลองพิจารณาข้อมูลทางสถิติ เราแทบไม่ต้องพูดถึงความฝันของโอบามาเลย เพราะที่ผ่านมา เราไม่สามารถบรรลุได้แม้แต่เป้าหมายที่เล็กกว่ามาก อย่างการผลักดันให้ตัวเลขผู้แทนหญิงในสภาฯ สามารถสะท้อนสัดส่วนที่แท้จริงของตัวเลขประชากรหญิงในสังคมได้
หรือต่อให้สัดส่วนผู้แทนหญิงค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ตัวเลขที่ว่านั้นก็ไม่ได้สะท้อนอำนาจต่อรองในสภาฯ ของพวกเธอเสมอไป เพราะถึงผู้หญิงในสภาจะได้รับอำนาจมากพอให้สร้างความแตกต่างได้บ้าง แต่ต้องไม่มากพอจนความแตกต่างที่ว่านั้นยิ่งใหญ่จนเกินไป
แม้แต่นักการเมืองก็ยังหนี ‘Gender Role’ ไม่พ้น
ตัวอย่างหนึ่งคือชุดความคิดที่ว่ากระทรวงใดเหมาะกับสมาชิกผู้แทนราษฎรผู้หญิง และกระทรวงใดถือว่าไม่เหมาะ
ศิรินันท์ ศิริพานิช ผู้สมัคร ส.ส.จากพรรครวมไทยสร้างชาติ ให้สัมภาษณ์ถึงประเด็นนี้ในบทสัมภาษณ์ของ Mirror ว่า
“เรามีจำนวน ส.ส.หญิง นักการเมืองหญิง และรัฐมนตรีหญิงมากขึ้น แต่สิ่งหนึ่งที่สงสัยคือทำไมเราต้องจำกัดผู้หญิงอยู่ที่กระทรวงศึกษาธิการ หรือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ทำไมไม่ใช่กระทรวงอื่น
“ทำไมต้องจำกัดผู้หญิงอยู่ที่ตำแหน่งผู้ช่วย ไม่ใช่ตำแหน่งหัวหน้างาน นักการเมืองหญิงของไทยมีศักยภาพไม่พอจริงๆ หรือเกิดจากการจำกัดทางเพศที่ถูกตีตราโดยคนในแวดวงการเมือง”
เป็นที่รู้กันว่า ไม่บ่อยนักที่เก้าอี้รัฐมนตรีไทยหลงเหลือตกมาถึงมือนักการเมืองหญิง ยิ่งไปกว่านั้นคือมีกระทรวงอยู่จำนวนหนึ่ง ที่ไม่เคยเปิดประตูต้อนรับผู้แทนหญิงเข้าไปนั่งตำแหน่งรัฐมนตรีเลย เช่น กระทรวงมหาดไทย กระทรวงการต่างประเทศ และกระทรวงยุติธรรม
ฉะนั้น การมี ส.ส.หญิงเข้าไปทำงานในสภาฯ หรือมีผู้หญิงได้นั่งเก้าอี้รัฐมนตรีมากขึ้น อาจไม่ได้หมายความว่าผู้หญิงจะได้เข้าไปมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาประเทศเสมอไป หากผู้ชายยังครอบงำอำนาจการตัดสินใจส่วนใหญ่อยู่
เมื่อผู้แทนหญิงอาจไม่ใช่กระบอกเสียงของผู้หญิงเสมอไป
รัฐสภายุโรปเผยข้อมูลวิจัยที่แสดงให้เห็นว่าประชากรหญิงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น เมื่อพวกเขามีผู้แทนหญิงนั่งตำแหน่งใหญ่ที่สามารถตัดสินใจเรื่องสำคัญได้ เช่น ทันทีที่ผู้แทนหญิงเข้าไปทำงานในสภาเทศบาลหลายแห่งของนอร์เวย์ สวัสดิการเลี้ยงดูบุตรในพื้นที่เหล่านั้นก็จะครอบคลุมขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
อย่างไรก็ดี แม้การมีตัวแทนผู้หญิงจะสามารถเพิ่มศักยภาพของรัฐบาลในการสนับสนุนสิทธิสตรีได้ แต่ภาพหญิงสาวในชุดสูทยืนแทรกประปรายอยู่ในกลุ่มชายกลางคนจำนวนมาก ยังสามารถถูกใช้เป็นเครื่องมือส่งเสริมภาพลักษณ์ของพรรคการเมืองให้มีความ ‘ก้าวหน้า’ และ ‘สากล’ มากขึ้นแบบผักชีโรยหน้า ทำให้พรรคการเมืองสามารถดึงดูดคะแนนเสียงของกลุ่มประชากรรุ่นใหม่ที่ใส่ใจเรื่องความเท่าเทียมทางเพศได้
นอกจากนี้ หากการใช้สิทธิออกเสียงในสภาฯ ไม่ได้สะท้อนเสียงที่แท้จริงของพวกเธอ แต่เกิดจากการ ‘เคารพมติ’ พรรคที่ถูกครอบครองโดยผู้ชายเป็นส่วนใหญ่ ปรากฎการณ์นี้อาจไปเสริมสร้างสถาพภาพและอำนาจเดิม (Status Quo) ตลอดจนรักษาผลประโยชน์ของอภิสิทธิ์ชนจำนวนน้อยนิดของประเทศ ซึ่งเป็นพันธมิตรกับพรรคการเมืองต่างๆ เสียด้วยซ้ำ
วาเลเรีย เมชโควา (Valeriya Mechkova) นักวิจัยสาขาการเมืองเปรียบเทียบและคณะทำงานของเธอ ศึกษาการมีอยู่ของผู้หญิงในแวดวงการเมืองทั่วโลกตั้งแต่ปี 1900 เรื่อยมาจนถึงปี 2014 พบหลักฐานที่แสดงถึงความเชื่อมโยงระหว่างโอกาสทางการเมืองที่ผู้หญิงได้รับ กับอัตราการรอดชีวิตของเด็กเกิดใหม่ และอัตราคอร์รัปชัน หากผู้หญิงได้รับโอกาสทางการเมืองในประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชันต่ำ อัตราการรอดชีวิตของเด็กเกิดใหม่จะเพิ่มสูงขึ้น แต่หากเป็นกรณีเดียวกันในประเทศที่มีอัตราคอร์รัปชันสูง การมีตัวแทนหญิงในสภาฯ มักนำไปสู่ผลลัพธ์ที่เลวร้ายทั้งในด้านของการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการผ่านกฎหมายต่างๆ
ดังนั้น สิ่งที่สำคัญยิ่งกว่าจำนวนผู้แทนหญิงในสภาฯ คือความโปร่งใสของโครงสร้างสถาบันการเมือง อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะเปิดทางให้ผู้หญิงสามารถสร้างความแตกต่างได้อย่างแท้จริง ที่จะสะท้อนให้เห็นผ่านการมีส่วนร่วมในการร่างแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม หรือการอภิปรายสนับสนุนและโหวตผ่านกฎหมายที่สามารถปรับปรุงคุณภาพชีวิตของประชาชน
อ้างอิง
Mechkova, V. Dahlum, S. Petrarca, C.S. Women’s political representation, good governance and human development. https://doi.org/10.1111/gove.12742
Mirror Thailand. รีวิวผู้หญิงในสนามการเมืองไทย โดย 7 นักการเมืองหญิง 7 พรรคการเมือง. https://www.youtube.com/watch?v=XMMQpXyxdyA&ab_channel=MIRRORTHAILAND
Yerushalmy, J. After Ardern, Marin and Sturgeon, is female representation in politics going backwards? The Guardian. https://www.theguardian.com/world/2023/apr/06/after-ardern-marin-and-sturgeon-is-female-representation-in-politics-going-backwards
Fact Box
- กระทรวงที่ผู้แทนหญิงไม่เคยได้ตำแหน่งรัฐมนตรีเลย ได้แก่ กระทรวงการคลัง กระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงยุติธรรม
- กระทรวงที่ผู้แทนหญิงได้ตำแหน่งรัฐมนตรีบ่อยกว่ากระทรวงอื่นๆ ได้แก่ สำนักนายกรัฐมนตรี (8 คน) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (4 คน) กระทรวงวัฒนธรรม (3 คน)
- ในการเลือกตั้งปี 2566 พรรคเพื่อไทย มีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เป็นผู้สมัครหญิง 10 คน
- พรรคก้าวไกล มีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 92 คน เป็นผู้สมัครหญิง 15 คน
- พรรคเสรีรวมไทย มีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 57 คน เป็นผู้สมัครหญิง 4 คน
- พรรคประชาธิปัตย์ มีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 98 คน เป็นผู้สมัครหญิง 15 คน
- พรรคภูมิใจไทย มีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 98 คน เป็นผู้สมัครหญิง 18 คน
- พรรคพลังประชารัฐ มีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 85 คน เป็นผู้สมัครหญิงหญิง 16 คน
- พรรครวมไทยสร้างชาติ มีผู้สมัคร ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ 100 คน เป็นผู้สมัครหญิงหญิง 23 คน