กาลครั้งหนึ่ง “เธอชอบหมาหรือว่าชอบแมว” อาจดูเป็นคำถามเปิดบทสนทนาซ้ำซากและจำเจที่แสดงให้เห็นว่า มนุษย์เราชื่นชอบที่จะจัดตัวเองเข้าหมวดหมู่ต่างๆ อยู่เสมอ
“เธอเป็นอินโทรเวิร์ตหรือเอ็กซ์โทรเวิร์ต”
“เธอจะเลือกเดินป่าหรือเดินห้าง”
หรือกระทั่ง “เธออยู่ทีมลวกหรือไม่ลวกหมี่หยก”
แต่ตลอดเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลับเริ่มมีคลื่นใต้น้ำบางอย่างในทะเลแห่งสื่อโซเชียลฯ ที่อาจเปลี่ยนเจตนาของการยิงคำถาม “เธอชอบหมาหรือว่าชอบแมว” ไปโดยสิ้นเชิง
ในเอพิโซดหนึ่งของรายการ SubwayTakes สุดไวรัลที่เป็นกระแสในสหรัฐฯ มาพักหนึ่ง พิธีกรชายสัมภาษณ์ผู้โดยสารหญิงรายหนึ่งว่า เธอมีความเห็นอะไรที่อยากบอกกับสังคมบ้าง
“ฉันอยากให้สังคมเรามีพ่อแมวมากกว่านี้” เธอตอบ “ประเทศนี้กำลังประสบกับวิกฤตความเป็นชายครั้งใหญ่ ผู้ชายยุคนี้ไม่รู้จะทำตัวแมนๆ หรืออ่อนโยนดี พวกเขาทำตัวไม่ถูกเพราะกลัวถูกตัดสิน แต่ฉันคิดว่า ‘พ่อแมว’ หลายคนเป็นแบบอย่างที่ดีที่ผู้ชายทั่วไปควรเอาอย่าง”
นี่อาจดูเหมือนเป็นเพียงความคิดเห็นของชาวเมืองธรรมดาๆ คนหนึ่งที่คลิปไวรัลและไม่ได้สลักสำคัญอะไร ไม่ต่างจากกระทู้ Reddit ที่มาแล้วก็ไป แต่หลังจากนั้นไม่นาน ชาวเน็ตไทยก็เอากับเขาบ้าง
“ผู้ชายที่บ้านเลี้ยงแมวแต่เล็ก โตมาเป็นคนดี อ่อนโยนแทบทั้งนั้นเลย น่าจะเพราะรู้จักการโดนปฏิเสธตั้งแต่เด็ก”
แล้วในเดือนเดียวกันนั้นทั้ง Vice นิตยสารออนไลน์สัญชาติอเมริกัน-แคนาดา และ Mathrubhumi หนังสือพิมพ์ของอินเดีย ต่างก็เผยแพร่บทความไลฟ์สไตล์ใจความคล้ายๆ กัน กล่าวถึงเทรนด์บนแอปพลิเคชันหาคู่ในหมู่คนรุ่นใหม่ ที่มองการเลี้ยงสัตว์เป็นธงเขียวที่ส่งสัญญาณว่า ฝ่ายตรงข้ามเป็นคนอดทน ใส่ใจ มีความรับผิดชอบ อารมณ์ละเอียดอ่อน ตลอดจนเคารพพื้นที่ส่วนตัวและความยินยอม (Consent) ของผู้อื่น
เหตุใดความชอบส่วนตัวที่ดูเป็นเรื่องเล็กน้อยเช่นนี้ จึงกลายมาเป็นสัญญาณบ่งบอกความน่าคบหาอย่างธงเขียว (Green Flag) หรือธงแดง (Red Flag) ได้ ลำพังแค่การเลี้ยงแมวจะสามารถมอบบทเรียนชีวิตอะไรให้เหล่าทาสนำไปใช้ในความสัมพันธ์ได้จริงหรือ
บทเรียนที่ 1: ทาสแมวที่ดีต้องอดทนและเสมอต้นเสมอปลาย
ไม่มีทาสคนไหนชนะใจเจ้านายได้ตั้งแต่วันแรก แมวเป็นสัตว์ขี้ระแวงโดยธรรมชาติที่ชื่นชอบชีวิตแบบรูทีน ความอดทนจึงเป็นคุณสมบัติจำเป็นที่คนเลี้ยงแมวต้องมี เพราะหัวใจหลักของการเลี้ยงแมว ก็คือการคอยดูแลเอาใจใส่ เทอาหาร และมอบความรักอย่างสม่ำเสมอแม้ในวันที่พวกมันเมินเฉยไม่ยอมให้จับ
การเลี้ยงแมวจึงสอนให้เรารู้จักรอคอยอย่างอดทน แม้ความพยายามจะไม่เห็นผลทันตา คงคล้ายๆ กับการคบหากับใครสักคนในเชิงโรแมนติก หากคนที่เราชอบโกรธหรือหมางเมินไปแค่เพราะเราไม่ยอมให้ใกล้ชิด เราคงไม่เชื่อใจอีกฝ่ายเท่าไร
บทเรียนที่ 2: ทาสแมวที่ดีต้องเข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสิน
แมวแต่ละตัวมีนิสัยเฉพาะของตัวเองที่คาดเดาได้ยากในช่วงเริ่มต้น เราจึงไม่สามารถใช้มาตรฐานเดียวกันกับแมวทุกตัวได้ ทุกพฤติกรรมที่แมวแสดงออกมาล้วนมีเหตุผลที่ซ่อนอยู่ ประสบการณ์เลวร้ายในอดีตอาจทำให้แมวบางตัวขี้กลัว อาการบาดเจ็บที่แฝงมาอาจทำให้แมวบางตัวก้าวร้าว และชีวิตอดอยากบนท้องถนนก็อาจทำให้แมวบางตัวกินจุเกินจำเป็น อย่างไรก็ดีทั้งหมดนี้คือ สิ่งที่ผู้เลี้ยงจะรับมือได้ก็ต่อเมื่อมีความเข้าอกเข้าใจ (Empathy)
คนรักของเราเองก็เช่นเดียวกัน แผลใจ (Trauma) ที่มองไม่เห็นจากเหตุการณ์ในอดีตนั้น มีส่วนสำคัญอย่างมากในกระบวนการหล่อหลอมบุคลิก อุปนิสัย กรอบคิด และปฏิกิริยาอัตโนมัติของคนคนหนึ่ง ซึ่งอาจมีทั้งดีและไม่ดีบ้างปะปนกัน
คุณไม่มีทางรู้เลยว่า แฟนของตัวเองอาจกลัวที่จะมีเซ็กซ์เพราะเคยถูกล่วงละเมิดทางเพศมาก่อนหรือเปล่า คนคุยคนก่อนอาจติดนิสัยพูดจาอ้อมค้อม ไม่ยอมสื่อสารตรงๆ เพราะโตมากับพ่อแม่ที่เข้มงวดก็ได้ ส่วนอีกคนหนึ่งก็อาจจะเอาแต่นอนทั้งวัน ไม่ยอมลุกมาช่วยทำงานบ้านเพราะกำลังเริ่มป่วยเป็นซึมเศร้าก็ได้
แต่ไม่ว่าอีกฝ่ายจะเผชิญอะไรมาบ้าง หากเราพร้อมจะเข้าอกเข้าใจและไม่ตัดสิน ความสัมพันธ์ของพวกคุณย่อมมีแนวโน้มที่จะเป็นไปอย่างราบรื่นและยั่งยืน
บทเรียนที่ 3: ทาสแมวที่ดีต้องเคารพความยินยอมและรู้จักเว้นพื้นที่ส่วนตัว
งานวิจัยเกี่ยวกับสัตว์เลี้ยงจำนวนมากต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมาว่า ประชากรโลกนิยมเลี้ยงน้องหมามากกว่าน้องแมว เพราะสุนัขเป็นสัตว์ควบคุมพฤติกรรมได้ง่ายกว่า เรียกเมื่อไรก็มา ฝึกให้ทำงานที่ซับซ้อนกว่าแมวก็ได้ แถมยังอ้อนเก่ง และภักดีกับเจ้าของอย่างไม่มีเงื่อนด้วย
แมวต่างจากหมา พวกมันไม่ใช่สัตว์เลี้ยงที่คิดจะเข้าไปกอดรัดเมื่อไรก็ทำได้ทันที ความสัมพันธ์ที่มั่นคงระหว่างแมวกับเจ้าของจึงต้องอาศัยทักษะการสังเกตภาษากาย เจ้าเหมียวอาจพูดไม่ได้ แต่พวกมันทิ้งคำใบ้ให้เราอ่านผ่านแววตา ท่าทาง หรือรูปแบบการเคลื่อนไหวของหางเสมอ ว่าตอนนี้ ‘อยากอยู่ด้วย’ หรือ ‘อย่ามายุ่ง’ และหากเราฝ่าฝืนความต้องการของมันบ่อยเข้า บทลงโทษคือสูญเสียความเชื่อใจที่แมวมีให้!
หลักการพื้นฐานนี้ใช้ได้กับการเคารพความยินยอมของคนเช่นกัน ดีไม่ดีอาจเข้าใจง่ายกว่าด้วยซ้ำ เพราะนอกจากอ่านบรรยากาศและสังเกตภาษากายแล้ว คน 2 คนยังสื่อสารถึงกันผ่านคำพูดได้
ไม่ว่ากฎของความสัมพันธ์คืออะไร และขอบเขตพื้นที่ปลอดภัยที่ไม่อยากให้ใครรุกล้ำของแต่ละฝ่ายจะสิ้นสุดลงตรงไหน ขอเพียงพูดคุยกันให้รับรู้ แล้วรู้จักเว้นระยะให้อีกฝ่ายได้หายใจ เหมือนที่เราเว้นพื้นที่ปลอดภัยให้แมวบ้างก็พอ
ข้อควรระวัง
พึงระวังการแปะป้ายผู้อื่นว่าเป็น ‘ธงเขียว’ หรือ ‘ธงแดง’ เอาไว้ให้ดี เพราะไม่ว่าจะเป็นสัตว์ที่ชอบ หนังสือที่อ่าน บุคคลที่ยึดเป็นไอดอล หรือกระทั่งอุดมการณ์ทางการเมืองที่เชื่อมั่น ล้วนเป็นเพียงสัญญาณเบื้องต้นที่เราหยิบมาใช้ประกอบการคาดเดาคุณสมบัติของผู้อื่นเท่านั้น อย่าลืมว่าสัญญาณต่างๆ ที่เราคิดขึ้นเองเหล่านี้ไม่ได้ถูกต้องเสมอไป เพราะบางครั้งเราอาจเข้าใจผิด หรืออีกฝ่ายอาจจงใจใช้ประโยชน์จากภาพลักษณ์ที่ผูกติดมากับธงเขียวธงแดงเหล่านี้ก็ได้
ขณะนี้สถานะ ‘ทาสแมว’ อาจถูกมองเป็นธงเขียวที่บ่งบอกถึงความเป็นไปได้เชิงบวกบางประการ แต่สุดท้ายเราก็ยังควรประเมินนิสัยใจคอและความเข้ากันได้ผ่านการกระทำที่สม่ำเสมอ ความจริงใจ และสายสัมพันธ์ที่สร้างขึ้นในชีวิตจริง ไม่ใช่รูปแมวในสตอรี หรือข้อความปฏิญาณตนเป็นทาสแมวสั้นๆ บนไบโอ
อ้างอิง
https://www.vice.com/en/article/do-men-who-own-cats-respect-women-more/
Tags: Gender, แมว, Consent, ธงเขียว, Green Flag, พื้นที่ส่วนตัว