ชวนตอบคำถามเล็กน้อยก่อนเข้าเรื่องว่าคุณเห็นด้วยกับข้อความด้านล่างหรือไม่ 

  • คุณคิดว่าหากคุณกับคู่รักเคยมีเพศสัมพันธ์กันแล้ว ครั้งต่อๆ ไปก็ไม่ต้องถามแล้วว่าอยากมีเซ็กซ์ด้วยกันหรือไม่

  • หากขอมีเซ็กซ์แล้วแฟนปฏิเสธแต่ตื๊อจนเขายอมก็ถือว่ายอมรับได้

  • หนังโป๊เป็นครูสอนเพศศึกษาชั้นยอด

  • ไม่ว่าจะรู้สึกดีกับการมีเซ็กซ์หรือไม่การยอมมีเพศสัมพันธ์คือการแสดงความรักต่อคู่รักที่ดีที่สุด

เก็บคำตอบของคุณไว้ในใจก่อน แล้วเราจะชวนคุณดูเฉลยหลังจากนี้

คุณจำได้ไหมว่าเรียนเพศศึกษาครั้งแรกเมื่อไร คำตอบจากที่ได้การลองถามคนรอบตัวมีทั้งตอบว่าประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย บ้างจำไม่ได้เลยด้วยซ้ำว่าเคยเรียน หลายคนบอกว่าไม่เคยได้รับการสอนเรื่องการคุมกำเนิด อย่างวิธีการใช้ถุงยางอนามัย และการใช้ยาคุมกำเนิดด้วย 

ในสังคมที่การพูดถึงเรื่องการมีเพศสัมพันธ์เหมือนเป็นคำต้องห้าม เรื่องเพศศึกษาอาจไม่ได้รับการเน้นย้ำในชั้นเรียนมากนัก หรือผู้ปกครองบางส่วนเองก็หลีกเลี่ยงที่จะพูดเรื่องนี้กับลูกหลานอย่างตรงไปตรงมา จึงไม่แปลกใจที่ได้รับคำตอบที่หลากหลายด้านบน 

หนังสือ ‘Consent เพศศึกษากติกา’ ใหม่โปรยไว้บนปกว่าเป็น ‘ไกด์บุ๊คว่าด้วยความยินยอม เซ็กซ์ และความสัมพันธ์ที่ดีสำหรับวัยรุ่น’ 

หลายคนที่เติบโตเกินวัยรุ่นไปแล้วอาจจะเลื่อนผ่านบทความนี้อย่างไม่ใส่ใจเพราะคิดว่าไม่เกี่ยวกับตัวเอง แต่ 1.) หากคุณมี (หรือคิดว่าอนาคตจะมี) ลูก หลาน หรือน้องที่กำลังเข้าสู่วัยรุ่น การยื่นหนังสือเล่มนี้ให้อาจจะเป็นของขวัญชิ้นสำคัญในชีวิตความสัมพันธ์ของเขาเลยก็ได้ เราไม่อาจแน่ใจได้เลยว่าโรงเรียนของเขาหรือแม้แต่เราเองจะสอนเรื่องเพศศึกษาให้เขาได้ดีพอ 2.) ใช่ว่าผู้ใหญ่เองจะเข้าใจและถ่ายทอดเรื่องเพศสัมพันธ์ที่ดีเสียทุกคน ความจริงแล้วหนังสือเล่มนี้อาจเปิดโลกใหม่ของเพศสัมพันธ์ให้กับผู้ใหญ่หลายคนด้วยซ้ำ

เล่มนี้เริ่มด้วยการแก้ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับเซ็กซ์หลายเรื่อง คนที่อ้างว่าตัวเองเก่งเรื่องเซ็กซ์เพราะผ่าการมีเพศสัมพันธ์มาอย่างโชกโชน หรือบอกว่าดูหนังโป๊บ่อย อาจจะต้องทำความเข้าใจเรื่องเซ็กซ์กันใหม่มากทีเดียว (ไม่ได้หมายความว่าการเสพหนังโป๊เป็นเรื่องผิด นั่นคนละประเด็น) เจนนิเฟอร์ แลง แพทย์ด้านนรีเวช ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ได้ตอบคำถามอย่าง ขนาดสำคัญไหม ผู้ชายถูกข่มขืนไม่ได้จริงหรือเปล่า นิยามของพรหมจารีย์คืออะไรกันแน่ ถ้าผู้ชายชักออกผู้หญิงจะไม่ท้องใช่ไหม ผู้เขียนยังชวนเราสำรวจเพศวิถีของตัวเอง พร้อมด้วยเช็กลิสต์ 10 ข้อเพื่อตรวจสอบความพร้อมทั้งทางร่างกายและอารมณ์ก่อนที่จะมีเซ็กซ์ครั้งแรก ถึงตรงนี้หลายคนอาจเริ่มคิดว่าทำไมจะมีเซ็กซ์ทั้งทีถึงต้องจริงจังขนาดนี้ มีเซ็กซ์หรือสอบเข้ามหาวิทยาลัยกันแน่ แต่คุณไม่อยากมีเซ็กซ์ที่แย่หรอกใช่ไหม เชื่อได้ว่าถึงเป็นผู้ใหญ่ที่มีประสบการณ์มามากแล้วก็อาจจะไม่ได้ตอบ ‘ใช่’ ทั้ง 10 ข้อ ดังนั้นความพร้อมในการมีเพศสัมพันธ์ก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับอายุหรือประสบการณ์เสมอไป ยกตัวอย่างที่น่าสนใจหนึ่งข้อ แล้วลองตอบตัวเองดู

‘เราเข้าใจใช่ไหมว่าการมีเซ็กซ์กับใครสักคนหนึ่งไม่ได้ทำให้เขาเป็น “ของเรา” หรือป้องกันไม่ให้เขาเลิกกับเรา’ 

เราได้ยินมามากว่าหลายคนยอมมีเพศสัมพันธ์กับคู่รักเพียงเพราะคิดว่าทำให้เขารักเรามากขึ้นหรือจะมีความสัมพันธ์ที่ดียิ่งขึ้น งานวิจัยชิ้นหนึ่งจาก London School of Hygiene and Tropical Medicine ชี้ให้เห็นว่ากว่าครึ่งของเพศหญิงยอมมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกโดยไม่พร้อมส่วนเพศชาย 44 เปอร์เซ็นต์ก็รู้สึกเช่นเดียวกัน และ 1 ใน 6 ของเพศหญิงที่สำรวจยังรู้สึกถึงความยินยอมที่ไม่เท่าเทียมกับคู่นอนด้วย ความจริงแล้วไม่มีอะไรการันตีได้เลยว่าการมีเซ็กซ์จะผูกมัดใครไว้ได้ ยิ่งเป็นเซ็กซ์ที่อีกฝ่ายไม่ได้รู้สึกดีด้วยแล้ว อาจยิ่งจะทำให้ความสัมพันธ์แย่ไปกว่าเดิมด้วยซ้ำ ที่ว่าเรื่องบนเตียงสำคัญกับชีวิตคู่นั้นไม่ใช่เรื่องที่พูดกันลอยๆ

สิ่งสำคัญที่หนังสือเล่มนี้ย้ำอยู่ตลอดเล่มคือ ‘ความยินยอม’ ตรงตัวตามชื่อหนังสือ เจนนิเฟอร์บอกไว้ว่า ‘การยินยอมอาจเป็นเรื่องสำคัญเพียงเรื่องเดียวที่ต้องเรียนรู้ในวิชาเพศศึกษา’ ไม่ว่าคุณจะเป็นเพศใดก็ตาม

น่าดีใจที่ในยุคนี้เราได้เห็นการถกเถียงถึงประเด็นความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์กันหนาตาขึ้น และไกด์ไลน์จากหนังสือเล่มนี้ก็ยิ่งตอกย้ำว่าเราอาจมีความเชื่อฝังหัวผิดๆ เกี่ยวกับเรื่องเพศสัมพันธ์โดยไม่รู้ตัวอยู่หลายประการ

ลองย้อนกลับไปดูคำถามข้อสองด้านบน คุณว่าการปฏิเสธการถูกรุกเร้าครั้งเดียวกับห้าครั้ง มีผลเท่ากันไหม 

เจนนิเฟอร์มีคำตอบอยู่ในเล่ม และนั่นทำให้ฉุกคิดขึ้นมาว่าเพราะค่านิยมบางอย่างที่ยึดถือกันมาในสังคมที่เราเติบโตทำให้เราไม่ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้มากพอ

เพศหญิงมักได้รับการปลูกฝังให้รักนวลสงวนตัวหรือการไม่ยอมง่ายๆ จะทำให้ดูมีค่ามากกว่า ลองสังเกตจากละครไทยหลายเรื่องที่เราเคยดูกันก็ได้ ผู้ที่สวมบทนางเอกจะต้องทำเป็นว่าไม่ได้ชอบพระเอกจะได้ไม่ดูเป็นผู้หญิงไม่ดี แต่นางร้ายเป็นฝ่ายที่ถูกวางตัวให้แสดงออกว่ารักพระเอกอย่างเปิดเผย และการกระทำนั้นถูกมองว่าน่าเกลียด เมื่อลองถอยมาคิดดูแล้วความเชื่อแบบนั้นอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การปฏิเสธของผู้ที่ไม่ต้องการจริงๆ อ่อนความน่าเชื่อถือ คำว่า “ไม่คือไม่” จึงกลายเป็นเหมือนเล่นตัวไปอย่างนั้น ประโยคที่ว่า “ตื้อเท่านั้นที่ครองโลก” หรือ “ผู้หญิงด่าแปลว่าผู้หญิงชอบ” ยังคงถูกยกมาเป็นข้ออ้างในการรุกเร้าถึงขึ้นคุกคามจนถึงทุกวันนี้ ถึงเวลาแล้วที่การบอกกล่าวถึงสิ่งที่ต้องการและไม่ต้องการอย่างตรงไปตรงมา และเคารพในคำตอบของอีกฝ่ายจะได้รับการเอาใจใส่อย่างจริงจัง  สิ่งนี้จะช่วยหลีกเลี่ยงความเข้าใจผิดและนำไปสู่การล่วงละเมิดทางเพศได้

เรื่องความยินยอมยังมีประเด็นให้ทำความเข้าใจอีกมาก หนังสือ Consent ช่วยไขข้อกังขาอย่าง หลักเกณฑ์อายุตามกฎหมายที่สามารถให้ความยินยอมในการมีเพศสัมพันธ์ได้ เรื่องอำนาจหรือความเท่าเทียมของคู่นอน การสื่อสารด้วยวาจาและภาษากาย ไปจนถึงความเข้าใจและรับมือกับความทารุณและประทุษร้ายทางเพศ

การถูกทารุณและประทุษร้ายทางเพศเกิดขึ้นได้กับคนทุกเพศภาวะ ทุกรสนิยมทางเพศ ทุกวัย ทุกชนชั้น ในหนังสือระบุว่าการถูกทารุณทางเพศส่งผลถึงสภาพจิตมากกว่าอาชญากรรมอื่นๆ เราควรส่งเสียงกันดังๆ ว่าการถูกล่วงละเมิดทางเพศไม่ใช่เรื่องน่าอายที่ต้องเก็บซ่อนไว้ และไม่ใช่ความผิดของผู้ถูกทำร้ายเลย ไม่ว่าคุณจะแต่งตัวอย่างไร กำลังเมาเหล้าจนไม่ได้สติ หรือเพียงยอมไปเดตด้วย เรื่องเหล่านี้ไม่ได้เป็นข้ออ้างให้สรุปได้ว่าเหยื่อทำยั่วยวนหากสุดท้ายแล้วการร่วมเพศนั้นไม่ได้เกิดจากความยินยอม ผู้เขียนเล่มนี้บอกว่า ‘ไม่มีครั้งใดที่เราไม่ต้องให้หรือรับความยินยอมทางเพศ’ ดังนั้นการล่วงละเมิดทางเพศเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้ หากเกิดขึ้นไม่ว่าจะกับเราเองหรือใครเราต้องไม่ยอมให้มันผ่านเลยไปเฉยๆ ควรแจ้งหรือขอความช่วยเหลือจากผู้เชี่ยวชาญ ท้ายเล่มมีการแนะนำศูนย์ช่วยเหลือผู้ที่เป็นเหยื่อทางเพศเอาไว้ และการรู้กฎหมายเกี่ยวกับการล่วงละเมิดและการทารุณทางเพศก็เป็นประโยชน์สำหรับทุกคน

สรุปแล้วหนังสือเล่มนี้ไม่ได้เป็นแค่ไกด์บุ๊คของวัยรุ่นเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่เองก็ควรได้อ่าน เพราะผู้เขียนไม่ได้พูดถึงเพศศึกษาในแง่ของกายภาพเท่านั้น แต่ช่วยสร้างทัศนคติที่ถูกต้องในการมีเพศสัมพันธ์ ผู้ใหญ่ที่คิดว่าตัวเองช่ำชองเรื่องเซ็กซ์หากได้ลองอ่านเล่มนี้อาจจะย้อนคิดกลับไปว่าเซ็กซ์ที่เราเคยประสบมา มันคือเพศสัมพันธ์ที่ดีจริงไหม บางครั้งเรายอมถูกกดขี่ หรือกลายเป็นผู้กดขี่คนอื่นโดยไม่รู้ตัวหรือเปล่า เราเคารพตัวเองและคนอื่นมากพอหรือไม่ เราเข้าใจเรื่องสิทธิที่เรามีหรือไม่มีต่อร่างกายตัวเองและคนอื่นดีพอหรือยัง 

หลักการสำคัญของการรู้จักเข้าใจผู้อื่นจากเล่มนี้ไม่เพียงแต่ทำให้เราสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคู่นอนเท่านั้นแต่จะส่งผลให้เราเป็นคนเห็นอกเห็นใจผู้อื่นและไม่ตัดสินใคร

อ้อ! ไม่ได้มีเฉลยให้กับคำถามข้างต้น แต่ถึงตอนนี้ลองดูว่าคำตอบของคุณยังเหมือนเดิมไหม

———

หนังสือ Consent. เพศศึกษากติการใหม่

สำนักพิมพ์ Bookscape

อ้างอิง: 

https://srh.bmj.com/content/45/2/127.info

https://www.independent.co.uk/life-style/virginity-losing-young-women-study-health-safe-sex-contraception-a8728636.html

https://www.huffpost.com/entry/sex-problems-that-could-tank-a-marriage_n_58dadd02e4b054637062ff98?guccounter=1&guce_referrer=aHR0cHM6Ly93d3cuZ29vZ2xlLmNvbS8&guce_referrer_sig=AQAAACG6Tpgb5Wal9VaTMbZPlDooinMGwb31O9MD0RuUlfA8mu2g4S4tVjiapjRPrIT9_VdBV9UgCx2md9ydot0Jax8yh-IhtSoNTZVcWUhp-AODB9nebdwYZt5VWhGDsKOK8jVvTx2rg7af0wn2VfAaHgk0ESnMFLMcVczIAbM0SQPm

 

Tags: ,