***บทความนี้มีสปอยล์ซีรีส์ Adolescence***

Adolescence (2025) มินิซีรีส์แนวอาชญากรรมเรื่องใหม่กำลังเป็นที่พูดถึงทั่วโลก อ้างอิงจากสถิติวันที่ 20 มีนาคม 2025 ซีรีส์ขึ้นอันดับ 1 ใน Netflix 83 ประเทศ และในไทยก็ติดท็อป 5 มาหลายวัน

ผู้อ่านหลายคนที่ยังไม่ได้ดู หรือแม้กระทั่งบางคนที่ดูแล้ว อาจจะสงสัยว่า เขาฮือฮาอะไรกันขนาดนี้

ปัจจุบันสื่อเกี่ยวกับอาชญากรรมเป็นที่นิยมมาก ทั้งในรูปแบบของภาพยนตร์ ซีรีส์ นิยาย พอดแคสต์ สารคดี ฯลฯ แต่สิ่งที่ทำให้ Adolescence โดดเด่นออกมาจากสื่อแนวเดียวกันก็คือ ประเด็นร่วมสมัยที่เลือกหยิบมาเล่นได้อย่างชาญฉลาด

ตลอดทั้ง 4 ตอน เราจะได้ติดตามเศษเสี้ยวชีวิตของเจมี เด็กชายวัย 13 ปีที่ถูกจับข้อหาฆาตกรรมเคที เพื่อนผู้หญิงในโรงเรียน ซีรีส์ค่อยๆ พาเราสำรวจแนวคิดของเขาทีละเล็กทีละน้อย กะเทาะเปลือกวัฒนธรรมอินเซลไปพร้อมๆ กัน

วัฒนธรรมอินเซลคืออะไร

หนึ่งในคำสำคัญที่จำเป็นต่อการเข้าใจเรื่อง Adolescence คือคำว่าอินเซล (Incel) ย่อมาจาก Involuntary Celibate หรือแปลตรงตัวง่ายๆ ว่า ‘โสดโดยไม่สมัครใจ’ คำนี้ใช้อธิบายกลุ่มผู้ชายที่อยากมีแฟนหรืออยากมีเซ็กซ์ แต่ไม่สามารถมีได้ ความรู้สึกน้อยเนื้อต่ำใจจึงแปรเปลี่ยนเป็นความเกลียดชังผู้หญิง ในบางกรณีถึงขั้นอยากทำรุนแรงหรือลงโทษผู้หญิงที่ไม่สนใจตนเอง

คอมมูนิตี้ของอินเซลมีอยู่มากมายบนโลกอินเทอร์เน็ต โดยมีชื่อเรียกรวมๆ ว่า แมโนสเฟียร์ (Manosphere) เช่นเดียวกันกับคอมมูนิตี้อื่นๆ เหล่าอินเซลจะมีอินฟลูเอนเซอร์คอยโน้มนำระบบความคิดของพวกเขา ที่ดังที่สุดและถูกกล่าวถึงในซีรีส์โดยตรงก็คือ แอนดรูว์ เทต (Andrew Tate) อดีตนักมวยซึ่งเปิดเผยตัวว่าเกลียดชังผู้หญิง ปัจจุบันเป็นผู้ต้องหาคดีข่มขืน-ค้ามนุษย์ และมีผู้ติดตามบน X มากกว่า 10.8 ล้านคน 

นอกจากเทต ซีรีส์ยังแตะไปถึงทฤษฎีที่แพร่หลายในหมู่อินเซล ได้แก่ ทฤษฎี 80-20 กับทฤษฎียาเม็ดสีแดง (Red Pill) โดยอินเซลเชื่อว่า ผู้หญิง 80% ชอบผู้ชายแค่ 20% ที่อยู่บนยอดพีระมิด ทำให้การหาคู่ยากเป็นพิเศษสำหรับผู้ชาย และเพราะผู้หญิงมีสิทธิเลือกมากกว่า จึงแปลว่าพวกเธอมีอำนาจมากกว่าผู้ชาย และมองว่าผู้ชายต่างหากที่ถูกสังคมกดทับ ยาเม็ดสีแดงเปรียบเสมือนการ ‘ตื่นรู้’ ถึงความจริงข้อนี้

เมื่อ ‘ตื่นรู้’ แล้ว ขั้นตอนต่อมาคือ ทำอย่างไรถึงจะลวงให้ผู้หญิงมาเป็นของตนเองได้ อินฟลูเอนเซอร์อินเซลจำนวนหนึ่งเรียกตัวเองว่า ศิลปินแห่งการจีบ (Pick-Up Artist) ทำคอนเทนต์แนะนำวิธีการหลอกล่อผู้หญิงให้ยอมมาเจอ ยอมมีเซ็กซ์ด้วย หรือบางทีก็เป็นคอนเทนต์สอนล่วงละเมิดทางเพศแบบเนียนๆ

เจมี อินเซลตัวน้อย

ถึงแม้คอมมูนิตี้อินเซลจะมีผู้ชายหลายเชื้อชาติ หลายช่วงอายุ แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า กลุ่มที่น่าจะถูกโน้มน้าวได้ง่ายที่สุดคือเด็กวัยรุ่น เนื่องจากเป็นวัยแห่งความสับสน กำลังค้นหาตัวตน และแคร์สายตาของคนรอบข้างเป็นพิเศษ 

เจมี ตัวละครหลักของ Adolescence ก็เป็นหนึ่งในวัยรุ่นเหล่านั้น

ในตอนที่ 3 ของซีรีส์ เมื่อนักจิตวิทยาสาวถามเจมีเกี่ยวกับประสบการณ์เรื่องผู้หญิง เขาโกหกว่า เคยมีผู้หญิงมาโชว์หน้าอกให้เขาดู ราวกับต้องการพิสูจน์ตัวเองว่า เขาพอจะเป็นที่ต้องการอยู่บ้าง แม้นักจิตวิทยาจะไม่ใช่เพื่อนในโรงเรียน ไม่ได้อยู่ในสังคมเดียวกับเขา เจมีก็ยังแคร์สายตาเธอ

ยิ่งบทสนทนาลงลึกขึ้น ปมเรื่องผู้หญิงของเจมีก็ยิ่งปรากฏชัด เขาบอกกับนักจิตวิทยาว่า เขาไม่คิดว่าผู้หญิงชอบเขา เพราะเขาขี้เหร่และเชื่อในทฤษฎี 80-20 รวมถึงคุ้นเคยกับคอมมูนิตี้อินเซลออนไลน์เป็นอย่างดี

ช่วงแรกๆ ซีรีส์นำเสนอประเด็นความขัดแย้งระหว่างเจมีกับเคทีให้เหมือนกับว่า เคทีบูลลีเจมีฝ่ายเดียว โดยการคอมเมนต์ล้อเลียนเขาบน Instagram แต่ตอนที่ 3 กลับเผยความจริงชวนสะพรึงอีกด้านหนึ่ง 

หลังจากเคทีถูกเพื่อนผู้ชายอีกคนแกล้งปล่อยรูปโป๊ เธอก็อับอายจนไม่สามารถคุยกับใครได้ ตอนนั้นเจมีจงใจเข้าหาเธอทั้งๆ ที่เธอไม่ใช่สเป็ก เพียงเพราะเชื่อว่า

“เคทีอาจกำลังอ่อนแอ ทุกคนเรียกเธอว่าอีร่านหรือไม้กระดาน ในตอนที่เธอกำลังอ่อนแอขนาดนั้น เธออาจจะชอบผมก็ได้ ฉลาดเนอะว่าไหม”

พฤติกรรมของเจมีตรงกับเทคนิคการล่อสาวที่อินฟลูเอนเซอร์อินเซลหลายคนแนะนำ กล่าวคือหลอกใช้จุดอ่อนของฝ่ายหญิง เพื่อผลประโยชน์ทางเพศ อย่างไรก็ตามแผนไม่เป็นไปตามที่วางไว้ เพราะในวันที่อ่อนแอที่สุด เคทีก็ยังไม่ต้องการเจมีอยู่ดี แถมล้อเขาว่าเป็นอินเซลอีกด้วย

นี่เองกลายเป็นจุดเริ่มต้นของความแค้น นำไปสู่โศกนาฏกรรมที่พรากชีวิตเด็กผู้หญิงคนหนึ่งไปตลอดกาล

ยิ่งไปกว่านั้นตลอดตอนที่ 3 เจมีไม่มีท่าทีสำนึกผิดสักเท่าไร เขาเรียกเคทีว่า Bitch ต่อหน้านักจิตวิทยา ทั้งยังชื่นชมตัวเองที่อย่างน้อยๆ ก็ไม่ได้ข่มขืนเธอ

“ผมจะแตะต้องส่วนไหนของเธอก็ได้ ผมอยากทำนะ แต่ผมไม่ทำ เด็กผู้ชายส่วนใหญ่คงทำไปแล้ว นั่นทำให้ผมเป็นคนดีกว่า”

ทั้งหมดข้างต้นเป็นความคิดของเด็กชายอายุเพียง 13 ปี และที่น่ากลัวที่สุดคือ คนแบบเจมีไม่ได้มีแค่ในซีรีส์

อันตรายของคอนเทนต์อินเซล

เมื่อเดือนกรกฎาคมปีที่แล้ว เพิ่งจะมีข่าวโศก ณ เมืองเฮิร์ตฟอร์ดเชียร์ เมื่อชายวัย 26 ปี ฆ่าและข่มขืนอดีตแฟนสาวที่บอกเลิกเขา รวมถึงฆ่าพี่สาวกับแม่ของอดีตแฟนด้วย ข้อมูลเพิ่มเติมเผยว่า ชายคนนี้ค้นหาพอดแคสต์ของเทตแค่ 1 วันก่อนจะเริ่มลงมือ

นอกจากนี้ในปี 2021 ณ เมืองพลีมัท ก็ยังมีชายวัย 22 ปี กราดยิงคนตายไป 5 คน รวมถึงแม่ของเขาเองและเด็กหญิงอายุ 3 ขวบ ส่วนปี 2020 ณ เมืองโตรอนโต ชายวัย 17 ปี แทงผู้หญิงตายไป 1 ราย และเจ็บหนักอีก 1 ราย จุดร่วมของผู้ก่อเหตุทั้ง 2 รายคือ พวกเขาคลุกคลีกับคอมมูนิตี้อินเซลออนไลน์

เห็นได้ชัดว่า อิทธิพลของคอนเทนต์อินเซลก้าวข้ามเขตแดนของอินเทอร์เน็ตมาสักพักแล้ว มันไม่ใช่เพียงโพสต์บน X หรือคลิป TikTok แต่เป็นชุดความคิดที่ชี้นำผู้ชายยุคใหม่ได้จริง ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้หญิงจริงๆ

สิ่งที่ Adolescence ทำได้ดีมากๆ คือการฉายแสงให้กับความจริงอันดำมืดดังกล่าว โดยเลือกใช้เทคนิคถ่ายทำแบบ Long Take ทั้งตอน เพื่อสื่อสารอย่างดิบและซื่อตรงที่สุด ยิ่งไปกว่านั้นซีรีส์ไม่ได้นำเสนอเจมีออกมาสุดโต่งด้านใดด้านหนึ่ง เขาเป็นเด็กชายธรรมดาๆ จากครอบครัวอบอุ่นสะท้อนว่า คอนเทนต์อินเซลอาจชักจูงใครก็ได้ทั้งนั้น 

ระหว่างผู้เขียนดูก็แอบสงสารเจมีขึ้นมาเป็นพักๆ เพราะเข้าใจว่าเขาเพียงต้องการความรักจากเพศหญิง ทว่าสุดท้ายแล้วผู้เขียนสงสารเคทีที่สุดอยู่ดี 

เพราะอย่างที่นักจิตวิทยาในเรื่องบอก

“เคทีตายแล้ว ไม่ว่าจะอ้างอย่างไรเธอก็ตายแล้ว ใครก็ตามที่ฆ่าเธอ เขาดับความเป็นไปได้ในอนาคตของเธอไปด้วย”

และความรู้สึกโหยหาความรักความสนใจ ไม่ควรเป็นข้ออ้างในการดับอนาคตของผู้หญิงคนไหนอีก

อ้างอิง

https://www.netflix.com/watch/81763206 

https://flixpatrol.com/title/adolescence-2025/ 

https://edition.cnn.com/2023/03/16/us/incel-involuntary-celibate-explained-cec/index.html 

https://humanrights.ca/story/online-misogyny-manosphere 

https://www.bbc.com/news/articles/c5yr2yg58zjo 

https://www.theguardian.com/world/2021/aug/14/plymouth-gunman-ranted-online-that-women-are-arrogant-days-before-rampage

https://www.theguardian.com/world/2023/nov/28/toronto-man-sentenced-life-terrorism

Tags: , , , ,