สุภาษิตไทยกล่าวไว้ว่า คำพูดเปรียบเสมือนดาบสองคม ที่สามารถมอบกำลังใจ ให้ความรัก และปลอบประโลม ในขณะเดียวกันก็สามารถประหัตประหารชีวิตคนได้เช่นกัน ไม่ว่าจะรู้ตัว พลั้งปาก หรือไม่เข้าใจบริบทของคู่สนทนาก็ตาม

หลายปีที่ผ่านมานี้ ผู้คนออกมาขับเคลื่อนประเด็นความเท่าเทียมทางเพศเป็นจำนวนมาก อีกทั้งเดือนนี้ยังมีงาน Bangkok Pride 2023 ที่ประชาชน สื่อมวลชน นักการเมือง กลุ่มประชาสังคม และองค์กรธุรกิจต่างๆ ให้ความสนใจเป็นอย่างมาก

The Momentum จึงขอชำแหละ 7 คำพูดสะท้อนมายาคติการกดทับทางเพศซึ่งซ่อนอยู่ในสังคมไทย ว่าวันนี้พวกเราเปิดพื้นที่และยอมรับความหลากหลายทางเพศมากน้อยแค่ไหน?

เราทุกคนล้วนดำเนินชีวิตและมีประสบการณ์ที่แตกต่างกัน หรืออาจเปรียบได้ว่า เราสวมรองเท้ากันคนละคู่ หากวันนี้รองเท้าที่ทุกคนกำลังสวมอยู่คือ ‘เพศ’ ของตัวเอง แล้วผู้คนแต่ละเพศนั้นต้องเผชิญกับคำพูดอะไรบ้างที่ ‘ถ้าไม่ใช่ฉัน ก็คงไม่มีวันเข้าใจ’ หรือประโยคใดที่คนพูดอาจไม่ได้ตั้งใจ แต่คนฟังนั้นจดจำไม่ลืม

“อย่ามาชอบกูนะ”

คำพูดที่ตามหลอกหลอนชาวเลสเบี้ยนมาโดยตลอด เป็นเหมือนเงาตามตัว เพราะเมื่อใดก็ตามที่เลสเบี้ยนเริ่มเปิดเผยกับเพื่อน หรือคนรอบตัวที่เป็นผู้หญิง (Straight) ว่า “ฉันชอบผู้หญิง ไม่ได้ชอบผู้ชาย” เมื่อนั้นเองที่คำพูดเชิงนี้จะเริ่มวนกลับมาอีกครั้ง จากปากคนใกล้ตัวที่ควรจะเข้าใจมากกว่ารู้สึกกลัวอย่างไร้สาระเช่นนี้ แค่ชอบผู้หญิงไม่ใช่ตัวประหลาด ทำไมจะกลัวหรือกังวลไปก่อน

‘หญิงสเตรทไม่ได้ชอบผู้ชายทุกคนฉันใด เลสเบี้ยนก็ไม่ได้ชอบผู้หญิงทุกคนฉันนั้น’ เรื่องง่ายๆ ที่ควรทำความเข้าใจได้ด้วยตนเอง และไม่จำเป็นต้องพูดออกมาให้คนอื่นรู้สึกแย่ ถึงแม้คนพูดอาจจะไม่ได้มีเจตนาไม่ดี แต่คำพูดที่ว่า “อย่ามาชอบกูนะ” ก็กำลังกดทับคนที่เป็นเลสเบี้ยนให้รู้สึกไม่ปลอดภัย หรือไม่ comfort ที่จะเปิดเผยตัวตน

อย่างที่ว่า “เหยียดทุกดอก แล้วบอกเข้าใจเลสเบี้ยน”

“ใครรุกใครรับ ใครผัวใครเมีย”

เรื่องส่วนตัวที่ไม่เคยส่วนตัวสำหรับเกย์ ไม่รู้ทำไมเรื่องบนเตียงของเราจึงกลายเป็นธุระของคนอื่นไปเสียหมด ทำไมจึงต้องอยากรู้ว่าเราและคนรักอยู่ในโพสิชันไหน หากเราไม่ได้เป็นฝ่ายเริ่มพูด นั่นแปลว่า อยากให้เรื่องส่วนตัวยังคงเป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่เรื่องสาธารณะที่ทุกคนต้องรู้ เพราะการมีความรักหรือเซ็กซ์ ไม่ใช่เรื่องผิดแปลก หรือเพราะเป็นเกย์จึงตกเป็น ‘จำเลย’ ของสังคม ที่ใครจะละลาบละล้วงเรื่องส่วนตัวอย่างไรก็ได้ เหตุใดเรื่องบนเตียงของเกย์จึงกลายเป็นคำถามของสังคม เซ็กซ์ของเกย์กลายเป็นเรื่องตลกขบขันบ้าง กลายเป็นความฟินบ้าง แล้วเมื่อไรมันจะกลายเป็นแค่เรื่องของเรา

เงยหน้าจากซีรีส์และนิยายวาย เลิกยึดติดกับรูปแบบความรักของชายหญิงที่จะต้องมีคนหนึ่งเป็นผัว และอีกคนหนึ่งเป็นเมีย เพราะเกย์สามารถเป็นรุก เป็นรับ หรือจะเป็นทั้งรุก-รับก็ได้ตามความต้องการของเขา เพราะรสนิยมทางเพศนั้นเป็นเรื่องเฉพาะของแต่ละบุคคล คนที่มีความ masculine มากกว่าไม่จำเป็นต้องเป็นรุก และคนที่มีความ feminine มากกว่าก็ไม่จำเป็นต้องเป็นรับเสมอไป

“ใครรุกใครรับ ใครผัวใครเมีย” คำถามช็อตฟีลที่สะท้อนให้เห็นว่าคนไทยยังเข้าใจเรื่องเพศอย่างตื้นเขิน และมีภาพจำเกี่ยวกับเกย์อย่างบิดเบี้ยว คำถามเช่นนี้ไม่ต่างอะไรกับการถามว่า “คุณกับแฟนมีเซ็กซ์กันแบบไหนด้วยท่าอะไร?”

เกย์รุก เกย์รับ สะกดยังไง ไม้อะไร ไม้เอก ไม้โท หรือไม้ไม่ยุ่งสักเรื่องได้ไหม?

“สรุปชอบผู้หญิงหรือผู้ชายกันแน่”

เมื่อวานชอบผู้หญิง แต่วันนี้ชอบผู้ชาย หรือก่อนหน้านี้เคยคบผู้ชาย แต่ตอนนี้มีแฟนเป็นผู้หญิง คือเรื่องปกติของไบเซ็กชวล (Bisexual) และแพนเซ็กชวล (Pansexual) แต่กลับเป็นข้อสงสัยของคนอื่น หลายคนยังมองว่า คนเราชอบได้แค่เพศเดียวเท่านั้น เมื่อไรก็ตามที่เราไม่เป็นไปตามความคาดหวังของสังคม เราจะกลายเป็นแกะดำในทันที แต่สิ่งที่น่าเจ็บใจกว่าการเป็นแกะดำ คือถูกเรียกว่า ‘ไส้เดือน’ เพียงเพราะชอบทั้งเพศตรงข้ามและเพศเดียวกัน

ความลื่นไหลทางเพศควรเป็นเรื่องปกติในสังคม เพราะเพศวิถี (Sexual Orientation) ไม่ใช่สิ่งตายตัว แต่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ต่อให้วันนี้เราจะชอบเพศไหนก็ไม่ใช่เส้นตัดสินว่า เราจะต้องชอบเพศนั้นตลอดชีวิต และแม้วันพรุ่งนี้เราจะเปลี่ยนไปชอบอีกเพศ นั่นก็ไม่ใช่เรื่องผิด แทนที่จะสงสัยว่าคนอื่นชอบเพศอะไรกันแน่ ลองลดความสงสัย และเพิ่มความเข้าใจในการอยู่ร่วมกัน เพราะมารยาทเริ่มได้ที่ตัวเรา ดังโคลงโลกนิติที่ว่า ‘ก้านบัวบอกลึกตื้น ชลธาร มารยาทส่อสันดาน ชาติเชื้อ’

“สรุปชอบเพศไหน” เป็นหนู หนูไม่ถามนะ มารยาทนิดนึงอะค่ะ

“ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ”

ผู้หญิงแทบทุกคนต้องเคยได้ยินประโยคนี้ ไม่ว่าจะจากแฟน เพื่อน พี่น้อง ครอบครัว หรือไม่ว่าใครก็ตาม แน่นอนว่ามันรู้สึกดีไม่น้อยที่ได้รับความห่วงใยจากคนรอบข้าง แต่จะดีกว่าไหม? หากสังคมไทยเปลี่ยนเป็นสังคมที่ปลอดภัยสำหรับผู้หญิง

ไม่แปลกที่ทุกคนจะเป็นห่วงเวลาผู้หญิงต้องกลับบ้านคนเดียว เพราะเราต่างรู้ดีว่ามีคดีคุกคาม ลวนลาม ทำร้าย และข่มขืนผู้หญิงเกิดขึ้นมากแค่ไหน แต่สิ่งที่น่าแปลกคือ สังคมไทยมักปลูกฝังให้เพศหญิงระวังตัว มากกว่าสอนให้เพศชายรู้จักยับยั้งชั่งใจ ทำไมอันตรายจากเพศชายจึงกลายเป็นภาระในการใช้ชีวิตของเพศหญิง?

ประโยคบอกรักที่ไม่มีคำว่ารักอย่าง “ถึงบ้านแล้วบอกด้วยนะ” กลายเป็นเครื่องการันตีชั้นดีว่า ประเทศไทยยังคงเป็นสังคมที่น่ากลัวสำหรับผู้หญิง รวมถึงปัญหาการใช้ความรุนแรงกับเพศหญิงเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกในสังคม และไม่เคยได้รับการแก้ไขอย่างจริงจังจากภาครัฐ ทุกคนอาจคุ้นเคยกับประโยคนี้ แต่ไม่มีผู้หญิงคนไหนเคยชินกับการใช้ชีวิตอย่างหวาดระแวง

เป็นผู้หญิงกลับบ้านคนเดียวก็เหมือนจะน่ากลัวไปหมด ไม่เกี่ยวกับว่าจะเป็นเวลาไหน

“เฉาะหรือยัง”

เมื่อพูดถึงคำว่า ‘เฉาะ’ ในบริบทของเพศ คำนี้ไม่ใช่คำกริยาที่แปลความว่า เอามีดสับลงบนจุดเฉพาะที่ต้องการแล้วงัดให้แยกออก ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน แต่ ‘เฉาะ’ ในที่นี้หมายถึงผ่าตัดแปลงเพศ หรือผ่าตัดเพื่อตกแต่งอวัยวะเพศชายให้มีรูปร่างเหมือนอวัยวะเพศหญิงทั้งภายนอกและภายใน ซึ่งคนที่หนีคำถามนี้ไม่พ้นก็คือหญิงข้ามเพศ (trans woman หรือ transgender woman)

คนไทยหมกมุ่นกับเรื่องใต้สะดือ และเชิดชูให้ ‘อวัยวะเพศ’ เป็นสิ่งสำคัญเหนือทุกอย่าง หากพูดว่าโลกหมุนรอบอวัยวะเพศก็คงไม่เกินจริง ทำไมการที่คนคนหนึ่งจะเป็นหญิงข้ามเพศจึงต้องแลกมาด้วยการถูกตั้งคำถามเรื่องอวัยวะเพศซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้ว่าคนที่ถามว่า “เฉาะหรือยัง” นั้นถามไปเพื่ออะไร มีจุดประสงค์ใด หรือรู้แล้วอย่างไรต่อ?

แต่หญิงข้ามเพศหลายคนกลับต้องถูกตอกย้ำถึงเพศสรีระ หรือลักษณะทางเพศที่ติดตัวมาแต่กำเนิดซึ่งพวกเขาอาจไม่ต้องการ หรือบางคนที่ไม่ได้อยากผ่าตัดแปลงเพศก็ถูกกดดันจากสังคมให้พวกเขาเป็นในแบบที่สังคมต้องการ ตามมาตรฐานผิดเพี้ยนของสังคม ไม่ได้เป็นในแบบที่พวกเขาอยากเป็นจริงๆ เพียงเพราะไม่ได้เกิดมาเป็นผู้หญิงโดยกำเนิด จึงถูกถามเช่นนี้

เฉาะไม่เฉาะก็ปล่อยให้เป็นเรื่องของเจ้าตัวเถิด—จบ

“เป็นผู้ชายต้องเข้มแข็ง”

เคยได้ยินไหม? เป็นผู้ชายห้ามอ่อนแอ อย่าร้องไห้ ต้องเสียสละ ต้องเป็นผู้นำและช้างเท้าหน้าของครอบครัว ต้องทำหน้าที่พึ่งพาตนเอง และปกป้องคนอื่น สิ่งเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็น Toxic Masculinity หรือภาวะความเป็นชายเป็นพิษ

คำพูดกรอกหูที่ชายไทยได้ยินมาตั้งแต่เด็กจนโต ผ่านการขัดเกลาและบ่มเพาะจากครอบครัว โรงเรียน สื่อมวลชน และสถาบันการเมือง ซึ่งเป็นกลไกการทำงานที่สร้าง ‘ความเป็นชาย’ ให้ผูกติดกับ ‘ความเข้มแข็ง’ ของระบบชายเป็นใหญ่ หรือปิตาธิปไตยในสังคมไทย

ระบบชายเป็นใหญ่มิได้ทำร้ายเพียงเพศอื่น แต่ทำลายเพศชายด้วยการสั่งห้ามไม่ให้พวกเขาแสดงความรู้สึก หากไม่อยากถูกสังคมต่อว่าก็ต้องอดทนและแบกรับภาพที่สังคมสร้างไว้ ทั้งที่แท้จริงแล้ว เพศไม่ใช่ตัวกำหนดความอ่อนแอ ความเป็นชายไม่ใช่สัญลักษณ์ของความเข้มแข็ง และเราทุกคนสามารถเจ็บปวดได้

“ถ้าคุณย่าใช้สมองใคร่ครวญสักนิด คุณย่าจะสำเหนียกว่า ผมก็อยากอ่อนแอเหมือนกัน” ชาวี – น้ำตากามเทพ

“ยังไม่เจอคนที่ใช่หรือเปล่า เดี๋ยวก็หาย”

Aromantic ผู้ไม่มีแรงดึงดูดทางใจกับคนอื่น และ Asexual ผู้ไม่มีแรงดึงดูดทางเพศกับคนอื่นนั้นต้องเจอกับคำพูดเหล่านี้เป็นประจำ มักถูกมองว่า ‘อัตลักษณ์’ ของตนคือ ‘โรค’ หรืออาการชั่วขณะ หรืออารมณ์ชั่ววูบที่อีกไม่นานก็คงหาย หากพวกเขาได้พบเจอคนที่ใช่ หรือเซ็กซ์ที่ถูกใจ

โดยหารู้ไม่ว่า ความหวังดีของคนพูดกลายเป็นขวากหนามทิ่มแทงจิตใจของ Aromatic และ Asexual เพราะมันไม่ต่างอะไรกับการตัดสินว่า ‘สิ่งที่พวกเขาเป็น มันไม่มีอยู่จริง’ ซึ่งนับเป็นการลบเลือนอัตลักษณ์ของพวกเขา รวมถึงผลักพวกเขาออกจากคอมมูนิตี้ของกลุ่มหลากหลายทางเพศอย่างไม่ไยดี

มนุษย์ไม่ได้เกิดมาเพื่อสืบพันธุ์หรือมีความรักเชิงชู้สาวเสมอไป แต่เราเกิดมาเพื่อใช้ชีวิตในแบบที่ต้องการ เป็นตัวเองในแบบที่อยากเป็น โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในกรอบบรรทัดฐานของสังคม ความรักและเซ็กซ์ไม่ใช่สิ่งสำคัญในชีวิตของทุกคน แต่การเคารพและยอมรับในความแตกต่างของผู้อื่นเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการอยู่ร่วมกันในสังคม

ฝากถึงคนที่คิดว่า aromatic ไม่มีจริง…คุณได้ซีนแล้ว แต่ซีนคุณแย่มาก

คำพูดไม่ใช่เพียงแค่ลมปาก แต่คำพูดนั้นสะท้อนถึงทัศนคติและมุมมองความคิดของผู้พูด รวมถึงทิศทางความเป็นไปต่างๆ ของสังคม โดยคำพูด 7 ประโยคข้างต้นเป็นเพียงส่วนหนึ่งจากทั้งหมดที่แต่ละเพศต้องพบเจอ ยังคงมีคำพูดอีกมากมายที่สะท้อนถึงมายาคติการกดทับทางเพศซึ่งดำรงอยู่ในสังคมไทย คำพูดที่กดทับฉัน เธอ เขา และพวกเรา

ความหลากหลายไม่อาจงอกงามในสังคม หากปราศจากพื้นที่ปลอดภัยของทุกเพศ

Tags: , , ,