สำหรับชายจริงหญิงแท้แล้ว ชีวิตก็คือฉากประเภทต่างๆ ชายสามารถพบรักหญิงได้ในที่ทำงาน บนรถโดยสารสาธารณะ สถานเริงรมย์ประเภทผับบาร์ หรือแม้กระทั่งในโรงเรียนภาคค่ำ แต่เกย์อาจไม่มีฉากเป็นชีวิต จึงจำเป็นต้องจัดฉาก ให้มีแหล่งนัดพบ ไม่ว่าคลับ บาร์ ซาวนา หรือสวนสาธารณะ

แต่ฉากความรักสำหรับเกย์เหล่านี้เพิ่งได้เกิดขึ้นร่วมสมัยกับเราในฐานะเสรีภาพใหม่ ซึ่งหากมองย้อนกลับไปในอดีตกาลแล้วจะพบว่า สัมพันธ์รักในเพศเดียวกันยังถูกมองเป็นเรื่องผิดจารีตประเพณี หรือกระทั่งผิดกฎหมาย การต้องตาต้องใจกันหรือมีอะไรกันนั้นจำเป็นต้องลักลอบกระทำ และความเก็บกด-กดดันเหล่านั้น ก็ส่งผลให้มีวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มหรือเฉพาะที่ทางเกิดขึ้นในสังคมชาวเกย์

หากจะว่ากันแล้ว วัฒนธรรมโฮโมเซ็กชวลมีขึ้นมาตั้งยุคกรีกโบราณ ย้อนกลับไป 378 ปีก่อนคริสตศักราช ปรากฏเรื่องเล่าขานเป็นตำนานว่า มี ‘กองพันศักดิ์สิทธิ์แห่งธีบส์’ (Sacred Band of Thebes) หรือหน่วยรบที่มีสมาชิกเป็นคู่เกย์จำนวน 150 คู่ แต่เมื่อเวลาผ่านพ้น คำว่าจารีตศีลธรรม รวมถึงข้อห้ามทางศาสนา ได้เริ่มบีบให้ความเป็นเกย์กลายเป็นอื่น เป็นสิ่งผิดบาป จนถึงขั้นมีกฎหมายขึ้นมาควบคุม โดยเฉพาะในโลกตะวันตกที่คริสตจักรมีอิทธิพลสำคัญในการกำหนดวิถีชีวิตของผู้คนในสังคม

เรามาย้อนรอยดู ‘ฉากชีวิตเกย์’ กันว่า มีที่ทางอย่างไรบ้างตลอดร้อยกว่าปีที่ผ่านมา

1900

กฎหมายในกลุ่มประเทศยุโรปห้ามสัมพันธ์รักระหว่างเพศเดียวกันมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ครั้งแรกที่กำหนดในการเป็นเกย์ผิดกฎหมายคือในปี 1835 ที่ประเทศโปแลนด์ และส่งผลต่อเนื่องข้ามมายังศตวรรษที่ 20 หรืออย่างในปรัสเซีย กฎหมายของปี 1851 มาตรา 143 ระบุโทษผู้กระทำความผิด ได้แก่ การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชาย หรือคนกับสัตว์ มีโทษจำคุก 6 เดือนถึง 4 ปี มาตรา 143 ได้รับการแก้ไขเป็นมาตรา 175 ในปี 1871 และมีผลบังคับใช้มาจนกระทั่งถึงปี 1994 ในยุคสมัยที่ปรัสเซียกลายเป็นประเทศเยอรมนีแล้ว

ศีลธรรมเรื่องเพศในยุคอดีตมีคริสตจักรและประชาชนเป็นผู้กำหนด ครั้นเวลาผ่านไป พฤติกรรมทางเพศของชุมชนเริ่มเปลี่ยนแปลง มีความหลากหลายมากขึ้น แต่ใครก็ตามที่มีพฤติกรรมทางเพศที่ผิดแผกไปจากข้อกำหนด ก็จะถูกสังคมตราหน้าว่าป่วย หรือไม่ก็วิกลจริต

1910s /1920s

ซิกมุนด์ ฟรอยด์ (Sigmund Freud) เริ่มสร้างความเข้าใจในเรื่องศีลธรรมให้กับสังคมยุโรปตอนจุดเปลี่ยนศตวรรษว่า เซ็กซ์เป็นความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ และการเก็บกดจะยิ่งทำให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี ในช่วงสองทศวรรษแรกของศตวรรษที่ 20 ผู้คนจึงเริ่มถกเถียงกันถึงเรื่องเพศมากขึ้น ในขณะที่ตัวแทนคริสตจักรยังยึดมั่นกับแนวความคิดอนุรักษ์นิยมเช่นเดิม โดยให้ค่ากับพิธีแต่งงานตามศาสนา ความซื่อสัตย์ในชีวิตคู่ และการมีเพศสัมพันธ์เมื่อถึงวัยอันควร ซึ่งค้านกับแนวความคิดของนักวิชาการ แพทย์ นักจิตวิทยา ครูบาอาจารย์ ที่ให้ความสำคัญกับวิถีชีวิตแบบเสรีนิยมมากขึ้น ถึงขั้นมีการเรียกร้องให้มีการทำแท้งอย่างถูกกฎหมาย ความเสมอภาคทางสิทธิและเสรีภาพของผู้หญิง และยกเลิกกฎหมายห้ามการมีเพศสัมพันธ์ของโฮโมเซ็กชวล

มักนุส เฮียร์ชเฟลด์ (Magnus Hirschfeld) นักวิชาการด้านเพศศาสตร์ชาวเยอรมันอีกคนหนึ่ง ที่เคลื่อนไหวให้มีการยกเลิกกฎหมายมาตรา 175 ของเยอรมนี รวมทั้งเปิดเผยประเด็นโฮโมเซ็กชวลต่อสาธารณชน ในปี 1919 เขาเปิด ‘สถาบันเพศศาสตร์’ ขึ้นเพื่อให้คำปรึกษาเรื่องเพศสัมพันธ์และการครองคู่กับคู่สามี-ภรรยา เกย์ เลสเบี้ยน และคนทั่วไปที่มีปัญหาเรื่องเพศ

ในช่วงเวลานั้น ชีวิตกลางคืนก็พร่างพราว ทั้งคาบาเรต์ วาไรตี้ บาร์-คาเฟ่ โดยมีบรรดาเกย์เป็นองค์ประกอบสำคัญในทุกความเคลื่อนไหว ทุกแห่งที่เป็น ‘ฉาก’ มีการพบปะและปิ๊งกัน ไม่ต้องพึ่งห้องน้ำสาธารณะ สถานีรถไฟ หรือตรอกมืดๆ อีกต่อไป กระทั่งว่าตามหน้าหนังสือพิมพ์ก็ยังมีโฆษณาหาคู่คนรักเพศเดียวกัน ในฝั่งอเมริกาก็ไม่ยิ่งหย่อน ในปี 1913 คำว่า ‘faggot’ ถูกใช้ครั้งแรกในหนังสือพิมพ์เมืองโอเรกอน ซึ่งเขียนเชิญชวนว่า “กะเทยทั้งหลายจะออกมาแต่งแดรกในงานบอลล์รูมคืนนี้”

และถึงแม้ที่ทางของเกย์จะอู้ฟู่อยู่บ้าง แต่กฎหมายก็ยังเป็นกฎหมาย การมีคู่รักหรือคู่ขายังต้องแอบซ่อน ทุกหย่อมหญ้าเต็มไปด้วยสายสืบและการแบล็กเมลล์ ซึ่งบรรดาเกย์ในยุคนั้นต่างเกรงกลัวเป็นที่สุด ทำให้ในปี 1924 มีองค์กรเพื่อสิทธิคนรักเพศเดียวกันเกิดขึ้นเป็นครั้งแรกที่เมืองชิคาโก

1930s / 1940s

ศูนย์กลางของยุโรปเคลื่อนมาหยุดที่เยอรมนีในยุคสมัยนี้ เนื่องจากเป็นช่วงเรืองอำนาจของนาซี ในปี 1935 มีการแก้กฎหมายมาตรา 175 การกระทำผิดของโฮโมเซ็กชวลครอบคลุมถึงการมีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนัก การช่วยเหลือตัวเองร่วมกัน หรือแม้กระทั่งการใช้สายตาในเชิงสวาท ก็มีโทษจำคุกทั้งสิ้น

นาซีนำตัวเกย์เข้าคุกและพาไป ‘เปลี่ยนพฤติกรรม’ ในค่ายกักกัน นักโทษทุกคนในนั้นล้วนถูกตีตราว่าเป็น ‘กบ (บานหน้าต่าง) สีชมพู’ ไม่ได้มีชีวิตที่สุขสบาย เกย์หลายคนถูกเกณฑ์ไปขนหินปูนทรายเหมือนที่คุ้นตากันในหนัง หลายคนต้องเสียชีวิตเนื่องจากอุบัติเหตุระหว่างการทำงาน หรือไม่ก็ถูกยิงทิ้ง จากการคาดเดา มีเกย์ถูกจับตัวไว้ในค่ายกักกันของนาซีราว 10,000 คน และต้องขังในคุกระหว่าง 50,000-100,000 คน และมีเกย์หลายหมื่นคนไม่รอดชีวิตจากช่วงเวลานั้น

เกย์ในค่ายกักกันของนาซีในช่วงเวลานั้นมีชีวิตไม่ต่างจากยิว แม้จะเป็นชนกลุ่มน้อย แต่สำหรับทหารนาซีแล้ว คำว่า ‘โฮโมเซ็กชวล’ กับ ‘ยิว’ แทบไม่แตกต่างกันเลย

1950s /1960s

หลังสงครามโลกครั้งที่สอง เข้าสู่ช่วงเวลาของสงครามเย็น เกย์ที่รอดพ้นจากความโหดร้ายของนาซียังต้องใช้ชีวิตหลบซ่อนอยู่ต่อไป ไม่ได้ออกมาอ้างสิทธิหรือออกเสียงเรียกร้องในสิ่งที่ตนได้รับความเสียหายหรือสูญเสีย

ปัญหาใหญ่ของเกย์ยุโรปในยุคนี้อยู่ที่ความรู้สึกโดดเดี่ยวทางเพศ แต่ละคนต้องแบกรับปัญหาตามลำพัง ไม่มีการแบ่งปันความทุกข์กับใคร รวมทั้งไม่มีองค์กรใดๆ ให้คำปรึกษา กระทั่งในปี 1969 เยอรมนีตะวันตกเริ่มแก้กฎหมายมาตรา 175 กำหนดบทลงโทษเพียงกับผู้ใหญ่เพศชายที่มีเพศสัมพันธ์กับเด็กหนุ่มอายุต่ำกว่า 21 ปีเท่านั้น และต่อมาในปี 1973 ได้ลดกรอบอายุลงเหลือ 18 ปี

ปี 1969 เช่นกัน เป็นปีที่กลุ่มเลสเบียนและเกย์บนถนนคริสโตเฟอร์ในนครนิวยอร์กได้รับชัยชนะ หลังจากก่อหวอดประท้วงเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งบุกเข้าไปในผับ Stonewall Inn จากชัยชนะดังกล่าวกลายเป็นที่มาของงานเฉลิมฉลองที่เรียกว่า Christopher-Street-Day หรือ CSD และเป็นจุดเริ่มต้นของการเคลื่อนไหวต่างๆ ในเวลาต่อมา

1970s

เป็นยุคสมัยการประท้วงของนักศึกษาทั่วโลก ขณะเดียวกันก็เป็นช่วงเวลาผ่อนคลายสำหรับเกย์ ช่วงต้นทศวรรษมีการรวมตัวของเกย์และเลสเบียนกลุ่มต่างๆ ซาวนาเกย์แห่งแรกปรากฎขึ้น รวมถึงร้านอาหารเกย์ ผับ-บาร์เกย์ และคลับที่มีห้องมืด ค่อยๆ ทยอยกันเปิดให้บริการ

ทศวรรษ 1970s ยังเป็นจุดเริ่มบทบาททางการเมืองของเกย์เช่นกัน กฎหมายต่างๆ ที่เคยปิดกั้นอิสรภาพและเสรีภาพของโฮโมเซ็กชวลเริ่มถูกปลดปล่อย และเริ่มมีการเดินขบวน LGBT Pride ในนิวยอร์กและซานฟรานซิสโก

1980s

ต้นทศวรรษ 1980s มีการค้นพบโรคร้าย ที่เรียกขานกันเมื่อแรกเริ่มว่า GRID (Gay Related Immune Deficiency) หรือโรคภูมิคุ้มกันอ่อนแอในเกย์ แต่มันฟังแล้วให้ความรู้สึกคล้ายเป็นการคุกคาม อีกทั้งยังเป็นโรคร้ายที่ไม่เพียงเกี่ยวข้องกับเกย์ฝ่ายเดียว ไม่ช้าจึงเปลี่ยนมาเรียกว่า Aids (Acquired Immune Deficiency Syndrome) แทน

มันเป็นโรคร้ายที่สร้างความเสียหายให้กับวัฒนธรรมเกย์อย่างรุนแรง สื่อมวลชนบางรายปลุกเร้าความน่ารังเกียจของเกย์ โดยพุ่งประเด็นไปที่พฤติกรรมเปลี่ยนคู่นอนบ่อย

ในช่วงเวลานั้นมีผู้คนนับหมื่นล้มตายไปกับโรคร้าย สร้างความตื่นกลัวให้เกิดขึ้นในฉากชีวิตประจำวันของเกย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ถึงกระนั้น เอดส์ก็นำพาด้านดีมาสู่ นั่นคือ จู่ๆ ก็มีการหยิบยกเรื่องเกย์มาพูดคุย ที่สำคัญ—แม้กระทั่งในหมู่ชายจริงหญิงแท้ ซึ่งก่อนหน้านั้นเป็นเพียงเสียงกระซิบ พร้อมเสียงหัวเราะคิกคักเวลาป้องปากหลุดคำว่า ‘เกย์’ ออกมา รวมทั้งสังคมชายจริงหญิงแท้ยังได้ประจักษ์ว่า ‘ฉาก’ ของเกย์ที่แท้จริงมีสภาพเป็นอย่างไรด้วย

ช่วงกลางถึงปลายทศวรรษ 1980s เรื่องราวหลากหลายเกี่ยวกับเกย์ปรากฏทางสื่อ ทั้งหนัง ละคร สารคดี และทอล์กโชว์ ล้วนพากันหยิบประเด็นเกย์ เลสเบียน กะเทยแปลงเพศ ไบเซ็กชวล ฯลฯ มานำเสนออย่างต่อเนื่อง

แม้คนส่วนใหญ่จะยังไม่ได้อ้าแขนยอมรับ แต่ก็ไม่ปฏิเสธว่าพฤติกรรมชายรักชายมีอยู่จริงในสังคม

1990s

การเคลื่อนไหวทางการเมืองหัวข้อสำคัญๆ ของเกย์และเลสเบียนก็ดูเหมือนจะค่อยๆ บรรลุเป้าหมายไปทีละข้อ ทศวรรษนี้จึงเป็นยุคปลดปล่อย และความสนใจพุ่งเป้าไปที่ร่างกาย ดนตรี และความสนุกสนาน มากกว่าความเก็บกด อดกลั้นทางสังคม (ขณะที่เรื่องปัจเจกอาจยังต้องต่อสู้กันอยู่) แม้กระทั่งขบวนพาเหรดในเทศกาล CSD ก็ไม่ได้หยิบยกเรื่องการเมืองมาล้อเลียนเหมือนที่ผ่านมา

จะเหลือก็เพียงทัศนคติของคนในสังคมที่ยังมองเกย์แบบผิดๆ ถูกๆ เท่านั้น

2000s

ข่าวคราวเรื่องเอดส์เงียบหายไปร่วมทศวรรษ ก่อนจะย้อนรอยกลับมาสร้างความตระหนกอีกครั้งในช่วงปลายทศวรรษ 1990s – นับเป็นผลพวงจากการติดเชื้อเอชไอวี พร้อมกันนั้นก็มีกลุ่มและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสังคมเกย์และเลสเบียนก่อเกิดขึ้นมากมาย

อินเทอร์เน็ตก็เข้ามามีบทบาท และกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นในสังคมเกย์ระดับโลก ทั้งข้อมูลข่าวสาร รวมถึงความสัมพันธ์ เชื่อมโยงถึงกันไม่ว่าใครจะอยู่ตรงมุมไหนของโลก

พฤติกรรมทางเพศของเกย์ก็ปรับเปลี่ยนไปด้วยเช่นกัน เกย์รุ่นใหม่ไม่ต้องดิ้นรนหรือรอนาน ไม่ต้องสู้แดดสู้ฝน หรือทนเหม็นกับกลิ่นส้วมสาธารณะระหว่างหาคู่เสพเซ็กซ์ ทุกอย่างมีพร้อมให้เสพในดิสโกเธค บาร์ ซาวนา หรือสามารถพบปะผ่านแอปพลิเคชั่น

ช่างง่ายดายและรวดเร็วจนความโดดเดี่ยวทางเพศไม่ได้เป็นปัญหารุนแรงเท่าแต่ก่อนแล้ว แต่สิ่งที่ต้องต่อสู้ต่อก็ยังคงมี เช่นตัวบทกฎหมายที่จะเอื้อให้การแต่งงานเพศเดียวกันเป็นจริง หรือการมีสิทธิทางกฎหมายชีวิตคู่เทียบเท่าคู่รักต่างเพศ เพราะเพียงการได้นัดพบหรือผูกสัมพันธ์อาจเป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น

อ้างอิง:

www.queer.de

www.planet-wissen.de

Fact Box

อีกฉากหนึ่งของเกย์ในกรุงเทพมหานคร

“เราเที่ยวตั้งแต่อายุสิบหก (พ.ศ.2508) เมื่อก่อนเคยมีบาร์เกย์เล็กๆ ที่ใต้ถุนโรงแรมยุโรป ใกล้ๆ โรงแรมโอเรียนเต็ล (ปัจจุบันถูกรื้อทิ้งไปแล้วทั้งบาร์และโรงแรม) ซึ่งที่นั่นเป็นบาร์เกย์แห่งที่สองของเมืองไทย แห่งแรกชื่อ ‘เฟรมมิ่ง เฮาส์’ อยู่แถวซอยนานา (สุขุมวิท)

“บาร์ ‘ซี-แฮ็ก’ ที่อยู่ใต้ถุนโรงแรมยุโรป จัดแต่งบรรยากาศข้างในเป็นทะเลตามชื่อ ตรงประตูทางเข้ามีช่องเล็กๆ ไว้สำหรับดู เพราะสมัยก่อนมันไม่ใช่ว่าไม่เปิดเผย เพียงแต่ไม่มีบาร์อย่างนี้ แล้วคนสมัยนั้นก็ไม่ได้รังเกียจ เพราะอยู่ของเรา แต่ว่าคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเป็นบาร์ประเภทนี้ มาเที่ยวก็ชอบตีกัน แต่มันไม่เยอะนะ มีสิบกว่าคน เป็นพวกจิ๊กโก๋แถวนั้น เขาเลยต้องดูหน้าแขกก่อนเปิดประตูให้เข้า

“บรรยากาศที่นั่นเป็นกันเองดี มีตู้เพลง กดเพลงแล้วก็เต้นรำกัน มีเพลงรำวง ชะชะช่า บ้างก็มีเพลงฝรั่ง แล้วก็มีแขกฝรั่งมาเที่ยว”

ภายหลังบาร์เกย์ย้ายย่านไปอยู่ละแวกสีลม ตรงช่วงซอย 4 เริ่มมีบาร์เพิ่มอีกสอง-สามแห่ง

“ที่ ‘ไซมีส’ จะเป็นแบบฝรั่งหน่อยๆ ส่วน ‘อพอลโล’ ก็จะเป็นแบบไทยๆ ให้คนเลือกเที่ยวตามความชอบ คือเกย์ที่เปรี้ยวๆ กล้าๆ นี่จะเที่ยวไซมีส ประเภทขี้อายหรือกล้าๆ กลัวๆ ก็จะเที่ยวที่อพอลโล ส่วนตรงหัวถนนจะมี ‘ทิวลิป’ อีกบาร์หนึ่ง (เจ้าของเดิมเป็นเจ้าของคณะทิฟฟานี) บาร์แบบนี้ค่อนข้างประสบความสำเร็จมากในยุคนั้น”

หลังจากนั้นอีกประมาณ 20 ปี สีลมซอย 4 ก็เข้าสู่ยุคเฟื่องฟูของสังคมเกย์กลางคืน โดยมีบาร์ ‘โรม’ ซึ่งเปลี่ยนตัวเองจาก ‘ไซมีส’ เป็นแม่เหล็กของซอย

(ข้อมูลจากบทสัมภาษณ์ วิทิตย์ ‘พอลา’ โกเมน เจ้าของ Milk Bar สีลมซอย 4 / ผู้เขียน: ขาว-ดำ / ตีพิมพ์ในนิตยสาร IMAGE ฉบับเดือนเมษายน 2535)

Tags: , ,