อนาคตเป็นคำกว้างๆ ที่คาดเดายากมาแต่ไหนแต่ไร แต่ยุคนี้ยิ่งท้าทายขึ้นไปอีก หากไม่ได้อยู่ในสายเทคโนโลยี เราต่างเงยหน้ามาเจอความโกลาหลของการเปลี่ยนแปลง

เรารู้สึกแค่ว่ามันน่าจะนำไปสู่สิ่งที่ดีกว่าในหลายๆ ด้าน แต่เราก็ต้องหันมาถามตัวเองว่า แล้วเราล่ะ ในฐานะคนทำงาน เราคือสิ่งที่ ‘แย่กว่า’ ซึ่งกำลังจะถูกแทนที่หรือเปล่า พูดแบบนี้รอยยิ้มที่กำลังฉีกกว้างรอการพัฒนา ก็กลายเป็นกลัวภัยคุกคามต่อการอยู่รอดของตัวเอง

หนังสือ Futuration ของสันติธาร เสถียรไทย คือหนังสือที่พูดถึงอนาคตจากภาพปัจจุบัน ทั้งสถานการณ์การแย่งชิงอำนาจนำในโลกระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ความกังวลที่มีต่อความเหลื่อมล้ำที่จะถ่างกว้างจากเทคโนโลยี เพราะไม่ใช่ทุกคนจะเจริญไปกับความก้าวหน้าเหล่านี้ หรืออนาคตของสกุลเงินที่จะมาแทนที่ดอลลาร์สหรัฐ จะเป็นหยวนหรือไม่

ดร. สันติธาร เป็นประธานหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหนึ่งในผู้บริหารบริษัท Sea Group บริษัทที่คนในวงการเทคเฟิร์มรู้จักกันดี เขาจบปริญญาเอกด้านนโยบายเศรษฐกิจจากฮาร์วาร์ด และเคยทำงานวิจัยร่วมกับโจเซฟ สติกลิตซ์ ที่เราเคยอ่านมาแล้วก็รู้สึกตื่นตา จึงคิดว่าสันติธารคงมีเรื่องน่าสนใจมาเล่าแน่ๆ

Futuration คือคำที่นำ Future กับ Generation มารวมกัน เขาพูดถึง/และพูดกับคนเจเนอเรชันที่มาพร้อมกับความเปลี่ยนแปลง ไม่ได้แค่มาพร้อมกันแล้วจบเป็นยุคๆ แบบที่เราบอกว่าคนเจนวาย มากับอินเทอร์เนต แต่เป็นคนรุ่นที่ต้องเปลี่ยนแปลงและเจอกับการเปลี่ยนแปลงบ่อยครั้งไปตลอดชีวิต

เขาเขียนหนังสือเล่มนี้แบบเขียนจดหมายถึงลูก ถึงอย่างนั้น เนื้อหาไม่ได้เบาหวิวจนจับต้องอะไรไม่ได้ และไม่ใช่หนังสือเด็ก แต่เป็นหนังสือสำหรับผู้ใหญ่ที่ไม่หยุดเรียนรู้

นี่ไม่ใช่หนังสือฮาวทูว่าควรทำอย่างไรกับอนาคตของเรา เพราะชีวิตแต่ละคนก็มีตำแหน่งแห่งที่ต่างกันไป แต่สันติธารชี้ชวนลูกๆ ให้ดูสิ่งที่เกิดขึ้นรอบๆ และทำนายว่ามันจะนำไปสู่อะไรบ้าง กระนั้น หลายๆ บท เขาก็พูดอย่างถ่อมตัวว่า พ่อเองก็ไม่รู้ว่าในวันที่ลูกได้อ่านจดหมายฉบับนี้ มันจะเป็นแบบนี้หรือไม่

เราชอบที่ความสนใจอันกว้างขวางนี้ทำให้เราได้สำรวจหลายวงการผ่านมุมมองนักเศรษฐศาสตร์ ที่ไม่เนิร์ดจนอ่านยากเกินไป และเป็นคำถามใหญ่ๆ ที่ไปๆ มาๆ ก็กระทบชีวิตเราทุกคน

เป็นต้นว่า สถาบันการเงินจะยังจำเป็นอยู่ไหม ในโลกที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินแบบอื่นให้บริการได้อย่างคล่องตัว เผลอๆ มีคนมาฝากเงินไว้ในวอลเล็ตมากกว่าฝากบัญชีด้วยซ้ำ

บล็อคเชน รากฐานของเงินดิจิตอล จะเข้ามาสลายอำนาจศูนย์กลางของธนาคารกลางในแต่ละประเทศอย่างที่คนเขาลือกันจริงไหม หรือจริงๆ แล้ว เทคโนโลยีนี้ถูกดึงไปเสริมความแข็งแกร่งตรงนั้นเสียเอง

ข้อมูลที่กลายเป็นแหล่งน้ำมันใหม่ จะมีคุณค่าไม่ได้ หากไม่มีเครื่องยนต์สันดาป ซึ่งหมายถึงระบบการประมวลผลให้ข้อมูลมหาศาลนั้นมีความหมาย

BRI ของจีน เขาทำไปเพื่ออะไร มีแต่ข้อดีจริงไหม แล้วภาพฝันที่ใครๆ บอกว่า BRI จะราบรื่น และจีนจะขึ้นมายืนหนึ่งในโลก อันที่จริงแล้ว มีความน่าเป็นห่วงอย่างไรบ้าง เช่น จีนพร้อมแล้วหรือที่จะเป็นผู้นำโลก ประเทศมหาอำนาจอื่นๆ คัดค้านด้วยวิธีการไหนบ้าง ฯลฯ แล้วเรา ประเทศที่ดูเป็นรอง อาจเป็นคนที่ได้ประโยชน์สูงสุดในยุคแห่งการช่วงชิงอำนาจเหนือนี้

แต่ละบทมีความยาวสั้นๆ ย่อยง่ายตามสไตล์คอลัมน์ในหนังสือพิมพ์ แม้บางบทจะเท้าความถึงเนื้อหาก่อนหน้ามากไปหน่อย (เนื่องจากรวบรวมมาจากหนังสือพิมพ์ แต่สำหรับพ็อคเกตบุ๊ค ผู้อ่านก็เพิ่งอ่านเนื้อหาบทก่อนหน้ามาหมาดๆ)

มีเพียงเนื้อหาส่วนแรกที่พูดถึงตลาดแรงงานที่หายไป ที่ค่อนข้างช้ำแล้วในโลกที่สื่อทุกเจ้าพูดเรื่องนี้ จนอาจจะทำให้บางคนรีบวางหนังสือเล่มนี้เข้าชั้นในร้านไปก่อน แต่สำหรับเรา เนื้อหาที่ตามมานั้นคุ้มค่ากับการย่อย

ที่ชอบที่สุด คือสันติธารได้สรุปเรื่องราวทั้งหมดไว้ในบทท้ายๆ ให้เรามองเห็นภาพรวมหลังจากที่ไปเดินสำรวจแต่ละเรื่องมา

เขาไม่ได้ชี้แนะว่าให้เราไปเรียนเขียนโค้ด พูด buzzword เท่ๆ แล้วปล่อยให้ไปเรียนรู้เอง หรือทำอะไรที่แอดวานซ์สุดโต่งเพื่อไม่ให้ตกขบวน แต่สันติธารแนะนำ ‘mindset’ ของคน(และองค์กร)ที่จะก้าวหน้าในวันต่อๆ ไป

นั่นคือนิสัยแห่งการร่วมมือ เปิดกว้าง และทักษะการล้มแล้วลุกไว

Tags: ,