1
สิ่งหนึ่งที่ควรเรียนรู้ เมื่อการชุมนุมรายวันอุดมไปด้วยความรุนแรงเหมือนวันที่ 7 สิงหาคม วันที่ 10 สิงหาคม และวันทื่ 11 สิงหาคม เข้าสู่จุดที่ไม่มีแกนนำ และไม่สามารถควบคุมมวลชนได้ก็คือ มักจะมีผู้แสวงหาประโยชน์และกลุ่มอำนาจที่ได้ประโยชน์เสมอจาก ‘ความรุนแรง’ และสภาวะจลาจล โดยใช้ประชาชนเป็นเหยื่อ เป็นเครื่องมือ และสุดท้ายก็บาดเจ็บล้มตายโดยที่ไม่ได้อะไร
ผมอยากพาย้อนกลับไปยังอดีต ใน 2 เหตุการณ์ คือเหตุการณ์เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 ว่าช่วงเช้าที่หน้าพระตำหนักสวนจิตรลดาเกิดอะไรขึ้น และเหตุการณ์เมื่อคืนวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ที่สถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง เป็น 2 เหตุการณ์ย่อยๆ ท่ามกลางเหตุการณ์ลึกลับว่าด้วย ‘มือที่สาม’ อีกหลายเรื่องที่ยังหาคำตอบไม่ได้ในประวัติศาสตร์การเมืองไทย
2
เช้ามืดวันที่ 14 ตุลาคม 2516 หลังการชุมนุมแสดงพลังของประชาชน นิสิต นักศึกษา ต่อเนื่องมานานเกือบสัปดาห์ แกนนำผู้ชุมนุม นำโดย เสกสรรค์ ประเสริฐกุล พยายามยุติการชุมนุมที่หน้าพระตำหนักสวนจิตรลดา หลังจากรัฐบาลจอมพล ถนอม กิตติขจร ยินยอมให้มีการร่างรัฐธรรมนูญ หา ‘ทางลง’ ให้กับการเคลื่อนไหวแบบสวยงาม ไม่มีใครต้องเสียเลือดเนื้อได้แล้ว แต่ก็เจอกับปัญหาใหม่ คือมีบางคน ไม่อยากให้เรื่องนี้จบแบบนี้
ที่หน้าสวนจิตรลดา ตำรวจไม่ยอมให้ผู้ชุมนุมเดินกลับบ้านด้านถนนราชวิถีโดยง่าย โดยตั้งแนวกั้นบริเวณถนนพระราม 5 อย่างแน่นหนา จนในที่สุดก็นำมาซึ่งเหตุปะทะ เมื่อผู้ชุมนุมด้านหน้าเกิดผลักดันกับตำรวจ และตำรวจได้ใช้แก๊สน้ำตาและกระบองทุบตีผู้ชุมนุม จนนำมาซึ่งเหตุจลาจลขนาดย่อม นักศึกษาและประชาชนจำนวนหนึ่งต้องปีนรั้วเข้าวัง ก่อนจะตามมาด้วยกำลังทหารเข้าปราบปราม มีการนำรถถัง ปืนกล ไปจนถึงเฮลิคอปเตอร์ เข้าสลายการชุมนุมตลอดช่วงบ่ายวันนั้น จนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ ‘3 ทรราช’ คือ จอมพล ถนอม กิตติขจร, จอมพล ประภาส จารุเสถียร และพันเอก ณรงค์ กิตติขจร ต้องหมดอำนาจ และต้องเดินทางออกนอกประเทศในเวลาต่อมา
อาจกล่าวได้ว่า หากไม่มีเหตุปะทะที่หน้าวังสวนจิตรฯ ประวัติศาสตร์การเมืองไทยคงเปลี่ยนชนิดหน้ามือเป็นหลังเท้า และความสำคัญของ 14 ตุลาฯ ก็คงไม่ได้มากเท่าวันนี้
แล้วอะไรหรือใครอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์ปะทะที่หน้าวัง ซึ่งกลายเป็นผลร้ายต่อผู้มีอำนาจทั้ง 3 คน อย่างแท้จริง? ผมได้รับการบอกเล่าจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ว่า พลเอก กฤษณ์ สีวะรา ผู้บัญชาการทหารบกในขณะนั้น ซึ่งต้องการขึ้นมามีอำนาจเหนือกลุ่มจอมพลถนอม อาศัยจังหวะดังกล่าว สั่งตำรวจที่อยู่หน้าวังให้ใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม และนำมาด้วยการสั่งการไปยัง ‘หน่วยเหนือ’ ว่ามีเหตุจลาจล มีผู้ก่อการคอมมิวนิสต์ ต้องปราบปรามอย่างหนัก
ตามมาด้วยการนำกำลังทหาร ออกมาใช้กระสุนจริงกับประชาชนในเวลาต่อมา และได้กลายเป็นเหตุผลสำคัญ ทำให้ทั้ง 3 คน อยู่ในประเทศไม่ได้ รัฐบาลต้องเปลี่ยนขั้วมาเป็นรัฐบาล สัญญา ธรรมศักดิ์ และในเวลาต่อมา 30 ปีให้หลังเหตุการณ์ พันเอกณรงค์ก็ให้สัมภาษณ์สื่อในทำนองเดียวกัน
3
แหล่งข้อมูลคนนี้ยังบอกด้วยว่า เหตุการณ์ดังกล่าวนำมาซึ่งการ ‘แก้แค้น’ พลเอกกฤษณ์ ในอีกสามปีถัดมา หลังจากมีความพยายามของชนนั้นนำ ในการนำจอมพลถนอมกลับมามีอำนาจใหม่ ด้วยการวางยาพลเอกกฤษณ์ใน ‘ข้าวเหนียวมะม่วง’ ทำให้พลเอกกฤษณ์เสียชีวิตก่อนเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่นานนัก…
แต่หนังสือ ประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง ของ สมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ก็แย้งเป็นอีกประเด็นหนึ่ง สมศักดิ์เห็นว่า เหตุการณ์ที่หน้าสวนจิตรฯ เป็น ‘อุบัติเหตุ’ โดยพลตำรวจโท มนต์ชัย พันธุ์คงชื่น ได้รับคำสั่งมาจาก ‘นาย’ อีกที ให้ปิดถนนพระราม 5 ซึ่งสั่งโดยไม่คิดว่าจะเกิดเหตุรุนแรงตามมาในภายหลัง และเมื่อเกิดการปะทะระหว่างผู้ชุมนุมกับตำรวจ ก็นำมาซึ่งเหตุจลาจล และคำสั่งให้จัดการกับเหตุจลาจลในเวลาต่อมา โดยเป็นคำสั่งจัดการจลาจลตามแบบฉบับ ไม่ได้มีทฤษฎีสมคบคิดใดอยู่เบื้องหลัง
นอกจากนี้ ยังมีทฤษฎีอื่นๆ ที่อยู่เบื้องหลัง เป็นต้นว่า จอมพลถนอมและจอมพลประภาสสั่งการเอง เพื่อจัดการกับนักศึกษาให้เด็ดขาด หรือเป็นฝีมือของ ‘ตำรวจ’ กลุ่มอื่นๆ ที่พยายามเลื่อยขาพลตำรวจโทมนต์ชัย ขัดขวางไม่ให้ขึ้นตำแหน่งใหญ่
ขณะเดียวกัน บันทึกของ สัญญา ธรรมศักดิ์ ซึ่งได้รับการเผยแพร่โดยสมศักดิ์เมื่อ 2 ปีก่อน ก็สะท้อนว่าอาจมีเรื่อง ‘เบื้องหลัง’ ที่มากกว่านั้น ซึ่งเกี่ยวกับราชสำนัก… แต่ข้อเท็จจริงทั้งหมด ก็ไม่ได้รับการยืนยัน ปริศนาว่าด้วยประวัติศาสตร์ที่หน้าสวนจิตรลดาจึงเป็นเรื่อง ‘ราโชมอน’ ซึ่งไม่ได้รับการสะสางถึงทุกวันนี้ เพราะทุกคนที่เกี่ยวข้องกับการสั่งการเช้าวันนั้นก็เฒ่าชราและเสียชีวิตไปแล้วเป็นส่วนใหญ่
แต่ข้อสรุปสั้นๆ ง่ายๆ ก็คือ มีคนที่ ‘ได้ประโยชน์’ และ ‘เสียประโยชน์’ จากความรุนแรงและการบาดเจ็บล้มตายของประชาชนในเช้าวันนั้นมากกว่า 1 คน และมากกว่า 1 กลุ่มอย่างแน่นอน…
4
ตัดภาพมาที่อีก 19 ปีให้หลัง เหตุการณ์ความรุนแรงในเดือนพฤษภาคม 2535 นั้น เป็นที่รู้กันว่า ‘กระสุนจริง’ นัดแรกถูกยิงจากทหาร ในเช้าวันที่ 18 พฤษภาคม 2535 โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเผาสถานีตำรวจนครบาลนางเลิ้ง ช่วงกลางดึกวันที่ 17 พฤษภาคม 2535 ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้านั้น รัฐบาลมองเหตุการณ์ดังกล่าวว่าเป็นเหตุจลาจล ตำรวจไม่สามารถควบคุมสถานการณ์ได้ จึงมีเหตุจำเป็นที่จะต้องนำกองกำลังทหารออกมาควบคุมสถานการณ์ และเหตุการณ์ที่เหลือก็คือประวัติศาสตร์…
คำถามสำคัญที่ระงมในหน้าหนังสือพิมพ์และในหน้าสื่อขณะนั้นก็คือ “ใครเผา” เรื่องนี้ได้รับการเฉลยโดยพลเอก พัลลภ ปิ่นมณี ในอีก 15 ปี ให้หลังว่า ตัวเขา ซึ่งเป็นเพื่อนสนิทกับพลตรี จำลอง ศรีเมือง แกนนำผู้ชุมนุม เป็นผู้อยู่เบื้องหลังในสถานการณ์ทั้งหมด
เพราะฝ่าย เสธ.ประชุมกันแล้วเห็นว่า ประชาชนจะชนะก็ต่อเมื่อทหารเริ่ม ‘ใช้กำลัง’ กับประชาชนเท่านั้น การเผาโรงพักจึงเป็นการสร้างความโกรธแค้นที่ดี ไม่เพียงเท่านั้น ในเวลาต่อมา หลังพลตรีจำลองถูกจับกุม ไม่มีใครควบคุมมวลชน ก็ยังปรากฏ ‘แก๊งมอเตอร์ไซค์’ ที่มีบุคคลกลุ่มเดียวกันอยู่เบื้องหลัง ออกทุบทำลายป้อมตำรวจทั่วกรุงเทพฯ จนทหารต้องเปิดช่องให้ใช้กำลังออกไล่ล่า ถึงจุดนี้ ยังมีประชาชนอีกจำนวนมากที่เสียชีวิตจาก ‘ลูกหลง’
เรื่องทั้งหมดนี้เปิดทางให้มีการใช้กำลังทหารในเวลาต่อมา และในที่สุด พลเอก สุจินดา คราประยูร นายกรัฐมนตรี ก็อยู่ไม่ได้ ต้องลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี แต่ก่อนหน้าที่พลเอกสุจินดาจะลาออก ก็เซ็นกฎหมาย ‘นิรโทษกรรม’ ให้กับผู้ที่เกี่ยวข้องในเหตุการณ์สลายการชุมนุมทั้งหมดให้ตัวเองก่อนไว้ล่วงหน้า ทำให้พลเอกพัลล รู้สึก ‘สะดวกใจ’ ในการเปิดเผยเบื้องหลังในอีกหลายปีถัดมา
“เราไม่ใช่มือที่สาม ที่จริงไม่ใช่ เราคือมือที่หนึ่ง” คือคำให้สัมภาษณ์ของพลเอกพัลลภทุกครั้ง เมื่อพูดถึงวีรกรรมของเขา ซึ่งมีส่วนทำให้ประชาชนชนะในเวลาต่อมา ในเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ
5
สองเรื่องนี้เป็นเพียงเรื่องราวย่อยๆ ในอีกหลายเรื่องลึกลับของประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคใหม่ จริงอยู่ เรารู้ว่าใคร ‘เริ่ม’ ความรุนแรงในเหตุการณ์เดือนพฤษภา 2535 แต่อีกหลายเรื่องยังคงอยู่ใต้พรม ไม่เฉพาะเหตุการณ์ 14 ตุลาฯ เท่านั้น แต่ในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็มี ‘ประวัติศาสตร์บอกเล่า’ ว่ามีทหารมากกว่า 1 กลุ่ม อยู่เบื้องหลัง สร้างความรุนแรงเช้าวันนั้น เปิดทางให้มีการรัฐประหารในเย็นวันเดียวกัน
หรือในช่วง 20 ปีมานี้ ยุคที่ว่ากันว่าการเมืองไทย ‘ซับซ้อน’ น้อยลงกว่าสมัยก่อน ก็ยังพบว่ามีเหตุการณ์ลึกลับจากมือที่สามเกิดขึ้นมากมาย เป็นต้นว่า เหตุ ‘คาร์บอมบ์’ ที่หน้าพรรคชาติไทย เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ระหว่างการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ซึ่งเกิดผิดพลาด ระเบิดทำงานก่อนเวลา ซึ่งตามทฤษฎีสมคบคิด หากระเบิดทำงานได้ตามแผน ระเบิดกลางที่ชุมนุมก็อาจเปิดทางให้มีการ ‘รัฐประหาร’ ช่วงเย็นวันเดียวกันนั้น
หรือเหตุระเบิดเอ็ม 79 ลงกลางวงของทหารที่โรงเรียนสตรีวิทยา วันที่ 10 เมษายน 2553 ในการชุมนุมของคนเสื้อแดง จนเป็นเหตุให้พันเอก ร่มเกล้า ธุวธรรม เสียชีวิต ก็ล้วนมีคำบอกเล่าจากหลายทิศทาง บ้างก็ว่าฝ่ายคนเสื้อแดงต้องการ ‘เด็ดหัว’ แม่ทัพนายกอง บ้างก็ว่าเป็นความขัดแย้งระหว่างนายทหารที่อยู่ขั้วตรงข้ามกับพันเอกร่มเกล้า ท่ามกลางศึกระหว่างบูรพาพยัคฆ์และวงศ์เทวัญ และบ้างก็ว่ามีมือที่สามหรือนายทหารกลุ่มอื่นสั่งเก็บ เพื่อยั่วยุให้ผู้มีอำนาจในเวลานั้น ตัดสินใจใช้กำลังกับคนเสื้อแดงอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากขึ้น
เช่นเดียวกับการชุมนุมของ กปปส. ที่มีการยิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าสู่พื้นที่การชุมนุมที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ในวันที่ 14 พฤษภาคม 2557 5 วันก่อนประกาศกฎอัยการศึก และหนึ่งสัปดาห์ก่อนการรัฐประหาร ก็ล้วนแล้วแต่มีความพยายามทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น โดยหวังผลอะไรบางอย่างตามมาหลังจากนั้น
ประวัติศาสตร์การเมืองไทยยุคหลังสะท้อนให้เห็นว่า เมื่อใดก็ตามที่รัฐเป็นฝ่ายผลักให้เกิดความรุนแรง จะมีความพยายามของ ‘คนอื่นๆ’ สอดแทรกเข้ามาเสมอ และเมื่อใดก็ตามที่เข้าสู่ภาวะจลาจล ฝ่ายที่มีทหารเป็นผู้นำจะเข้าใกล้ชัยชนะ และได้เปรียบมากขึ้นอีก 1 ก้าว เพราะบท ‘ผู้รักษาความสงบ’ จะมีความจำเป็นขึ้นมาทันที สังคมจะเรียกหาบทบาทเหล่านั้นทันที
บทเรียนในประวัติศาสตร์เหล่านี้ ล้วนเป็นเรื่องที่ผู้ชุมนุมที่คิดว่า ‘ความรุนแรง’ จำเป็นต้องจบด้วย ‘ความรุนแรง’ อาจต้องนำไปขบคิดว่าจะทำอย่างไร ให้ผลลัพธ์ที่ออกมาไม่ย้อนกลับไปเข้าสู่วงจรอุบาทว์อีกครั้ง
เพราะหากเรื่องทั้งหมดกลับไปลงเอยแบบเรื่องในอดีต การต่อสู้ที่เพียรพยายามก่อร่างสร้างตัวกันมานานนับปีก็จะจบแบบเดิม และประชาชนก็จะแพ้เหมือนเดิม…
Tags: From The Desk, มือที่สาม, พฤษภาฯ 35, 14 ตุลาฯ