ไม่น่าเชื่อว่าสัปดาห์ที่ผ่านมา ซึ่งควรจะเป็นช่วงเวลา ‘ฮันนีมูน’ หลังจากได้รัฐบาลชุดใหม่ จะเป็นช่วงเวลาแห่งความปั่นป่วนและความขัดแย้ง ไม่ใช่ความขัดแย้งเดิมระหว่างฝ่ายเสรีนิยมประชาธิปไตยกับฝ่ายอำนาจนิยม หากแต่เป็นความขัดแย้งกันเองระหว่าง พรรคเพื่อไทย และพรรคก้าวไกล
อาจฟังดูแปร่งๆ แต่ความขัดแย้งเหล่านี้มีเหตุผล มีที่มาที่ไป และเป็นเรื่องที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ขึ้นอยู่กับว่าจะเป็น ‘เมื่อไร’ เท่านั้น
แล้วความขัดแย้งระหว่างทั้งสองพรรค มาจากเหตุและปัจจัยใด?
การเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกล อันมีรากมาจากอนาคตใหม่นั้น เกิดจากอุดมคติของบรรดา ‘นักเคลื่อนไหว’ อย่าง ชัยธวัช ตุลาธน, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หรือคนอย่าง ปิยบุตร แสงกนกกุล ที่มีความหวังอันแรงกล้า และมีการวางแผนว่าหากจะทำพรรคการเมืองจะทำกันอย่างไร
หากแต่การเกิดขึ้นของพรรคเพื่อไทย อันมีรากมาจากพรรคไทยรักไทยนั้น แม้จะมีที่มาจาก นักธุรกิจผู้ล้มเหลวในทางการเมืองจากพรรคพลังธรรม อย่าง ทักษิณ ชินวัตร ผสานกับบรรดานักวิชาการ และ ‘คนเดือนตุลาฯ’ ผนวกรวมกัน ทว่าอีกส่วนหนึ่งคือต้องยอมรับว่าประสบการณ์การเมืองของทักษิณทำให้พรรคนี้เลือกที่จะต้องรวมเอาบรรดา ‘นักการเมืองเก่า’ เข้าไปผสานกับการเทคโอเวอร์พรรคที่ขนาดรองลงมา ซึ่งมีส่วนให้พรรคโตขึ้นอย่างรวดเร็ว
แน่นอนว่าประสบการณ์ที่ผ่านมา ทำให้พรรคเพื่อไทยปรับตัวทั้งในด้านบวกและด้านลบ ซีกอุดมการณ์ค่อยๆ หายไป การเติบโตอย่างรวดเร็วทำให้พรรคปรับไปเป็น ‘พรรคมวลชน’ มากกว่าพรรคนักปฏิวัติ เพื่อใช้การเมืองเรื่อง ‘ตัวเลข’ ผลักดันนโยบายให้เป็นจริง ใช้ประโยชน์จากการเป็นรัฐบาลมากที่สุด
ขณะเดียวกัน ประวัติศาสตร์ว่าด้วยการ ‘ยุบพรรค’ และ ‘รัฐประหาร’ หลายๆ รอบ ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยเลือก ‘เพลย์เซฟ’ เลี่ยงการปะทะ ลดโอกาสการรัฐประหาร หรือยุบพรรคอีกรอบ
นั่นคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ท่าทีของเพื่อไทยแปร่งๆ ในการเลือกตั้งรอบนี้ ภารกิจในเชิงประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย กลายเป็นบท ‘เพลย์เซฟ’ มากขึ้น และการเกิดขึ้นของพรรคก้าวไกล ก็ทำให้พรรคเพื่อไทยเลือกปล่อยบทดังกล่าวให้พรรคก้าวไกลเล่นแทน
เป็นความเชื่อที่ ‘ผิด’ ที่คิดว่าประชาชนต้องการแก้ปัญหาปากท้อง แก้ปัญหาเศรษฐกิจ มากกว่าการรื้อโครงสร้าง ชนกับระบบอำนาจนิยมแบบแรงๆ
และกว่าเพื่อไทยจะคิดได้ก็สายไปแล้ว…
‘เอเลี่ยน’ ในสภาฯ แบบก้าวไกล
ว่ากันด้วยระบบการเมือง และ ‘นักการเมืองไทย’ นั้น การดีลเป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะเป็นดีลกันเอง ไม่ว่าจะเป็นการดีลกับนายทุน ไม่ว่าจะเป็นการดีลกับระบบราชการ–ทหาร–ตำรวจ ระบบอุปถัมภ์ และค่าตอบแทน เป็นเรื่องปกติที่การเมืองต้องเข้าไปทำงานด้วย
แน่นอนว่า ‘การเมือง’ ในที่นี้ส่วนหนึ่งหมายรวมถึง ‘พรรคเพื่อไทย’
เพราะสังคมไทย เป็นสังคมแบบ Deal–Based Society หาใช่ Rule–Based Society นั่นทำให้เรื่องบางเรื่องที่มีกลุ่มคน มีนายทุน มีระบบราชการเสียผลประโยชน์จึงไม่สามารถรื้อได้ง่ายๆ
น่าเศร้าก็ตรงที่ความเป็น Deal–Based เหล่านี้ ทำให้ประชาชนได้อะไรน้อยมาก และทำให้สังคมสะสมความแค้นมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าหากต้องเปลี่ยน ก็ต้องเปลี่ยนแบบรุนแรง ต้องเปลี่ยนแบบขุดรากถอนโคน
4 ปีในสภาฯ ของก้าวไกล จึงเป็นน้ำเสียงที่รุนแรง แข็งกร้าว ไม่เปิดโอกาสให้ต่อรอง และแปลกแยกกับการเมืองแบบปกติ เป็นแบบคำที่ ทิม–พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์กับ The Momentum ว่าเป็น ‘เอเลี่ยน’ ในสภาผู้แทนราษฎร
เสียงลือเสียงเล่าอ้างก็คือความเป็น ‘เอเลี่ยน’ นี้ เป็นสาเหตุส่วนหนึ่งที่ทำให้ พรรคพลังประชารัฐ และพรรคเพื่อไทย จับมือกันเพื่อให้ระบบเลือกตั้งเปลี่ยนเป็นแบบบัตร 2 ใบ เพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้ง ลดจำนวน ส.ส.ปาร์ตี้ลิสต์ เพื่อลดทอนจำนวน ส.ส.ก้าวไกล ที่ได้ประโยชน์จากจำนวนปาร์ตี้ลิสต์ และมี ส.ส.เขตไม่มากนัก ให้ได้จำนวน ส.ส. ไม่มากพอ จนอยู่ในระดับที่เป็นอันตรายต่อการเมืองที่ใช้ ‘ดีล’ เป็นตัวตั้ง
ความต้องการเปลี่ยนอันแรงกล้า รุนแรง และความเบื่อหน่ายการเมืองแบบดีลลับทำให้คนจำนวนไม่น้อยเปลี่ยนจากแดงมาเป็นส้ม
และเป็นสาเหตุใหญ่ที่ทำให้คนอีก 14 ล้านคน เลือกเปลี่ยนแบบก้าวไกล แทนที่จะเลือกเปลี่ยนแบบอื่น
อุปสรรค ความยากลำบาก ของการเมืองแบบก้าวไกล
โดยปกติของการเมืองไทยนั้น ใครรวมเสียงได้อันดับหนึ่งก็จะได้เป็นนายกฯ แต่สำหรับก้าวไกลรอบนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายขนาดนั้น
สาเหตุสำคัญก็คือในสายตาชนชั้นนำ ก้าวไกลอันตรายเกินไป สาเหตุสำคัญก็คือในสายตาพรรคการเมืองด้วยกัน ก้าวไกลต่อรองผลประโยชน์ยาก ทั้งนี้เป็นเพราะในสายตาอำนาจเก่า ก้าวไกลอาจมาเพื่อ ‘เช็คบิล’ ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกเท่าไรที่หลายคนจะประเมินในทางลบว่าถึงอย่างไร ก้าวไกลก็มีโอกาส ‘ร่วมรัฐบาล’ น้อย
แต่ผลกลับผิดคาด ก้าวไกลกลายเป็นพรรคอันดับหนึ่งแทนเพื่อไทย ตัวประหลาดในสายตาหลายคนกลับทำได้ดีเกินคาด จนกลายเป็นพรรคแกนนำตั้งรัฐบาล ขณะที่พรรคเพื่อไทย กลับได้เสียงไม่มากเท่าที่ทุกคนประเมินไว้
สมการการเมืองจึงเปลี่ยน สิ่งที่ก้าวไกลไม่ชอบอย่างการต่อรอง กลับกลายเป็นสิ่งที่ก้าวไกล ‘ต้องทำ’
ก้าวไกลเป็นพรรคที่พยายามทำการเมืองแบบใหม่ แต่ยังอยู่ในระบบนิเวศการเมืองแบบเดิม แบบเดิมทั้งในมุมที่นักการเมืองเขี้ยวลากดินยังคงโลดแล่น แบบเดิมในแง่ที่ตระกูลการเมืองแบบบ้านใหญ่ยังมีวิถีทางเป็นของตัวเอง และแม้คราวนี้ วิถีการลงคะแนนของผู้มีสิทธิออกเสียงจะเปลี่ยน แต่ก็ยังเปลี่ยนไม่มากพอ ยังมีความพยายามฉุดรั้งไว้ให้เป็นการเมืองแบบเดิมให้ได้
ขณะเดียวกัน จุดขายของพวกเขาคือความ ‘ตรงไปตรงมา’ และ ‘ยอมหักไม่ยอมงอ’ ซึ่งขัดกับอย่างรุนแรงธรรมชาติของระบบการเมืองไทยซึ่งต้องการความยืดหยุ่น ความลื่นไหล ไม่มีใครยอมทำอะไรที่ผูกมัดตัวเอง
เมื่อก้าวไกลล้มด้วยเหตุ #มีกรณ์ไม่มีกู โหวตเตอร์ของพรรคอื่นหลายคนจึงออกอาการ ‘สมน้ำหน้า’ เพราะวิธีการแบบก้าวไกล เริ่มส่งผลปิดทางทำให้การส่งพิธาขึ้นสู่ตำแหน่งนายกฯ ได้ยากขึ้น ซึ่งก็เป็นเรื่องจริง ดีลอะไรก็แล้วแต่ในห้องลับของก้าวไกล ที่แย้งกับความรู้สึกโหวตเตอร์แทบจะเป็นไปไม่ได้
ขณะที่เรื่องอย่างการชิงตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎรระหว่างพรรคก้าวไกล และเพื่อไทย ก็ชัดเจนว่าเป็นการต่อสู้ระหว่างอดีตที่การเมืองเป็นเรื่องการต่อรองเก้าอี้ และอนาคตที่การเมืองเป็นการสู้เพื่อเปลี่ยนโครงสร้าง
อดีตที่การเมืองคือการต่อรอง ปัจจุบันที่ประชาชนต้องการให้การเมืองอยู่ในแสงไฟ อยู่ในความโปร่งใส และอนาคตที่การเมืองคือ ‘ทุกอย่าง’ ในสายตาประชาชน ไม่ใช่การเมืองนั่งกันอยู่ในห้องลับ ไม่ใช่การเมืองที่ขู่กรรโชกกันด้วยความอาวุโส หรือด้วยเก้าอี้ ความยากลำบากทั้งหมดจึงเป็นสิ่งที่ก้าวไกลต้องแบกไว้บนบ่า และแม้วันนี้ แรงเสียดทานจะรุนแรง ยังไม่เห็นหนทางที่สดใสรออยู่ข้างหน้า ทั้งยังมีวิบากกรรมอีกมากที่รออยู่ในอนาคต
แต่คุณูปการสำคัญก็คือ ก้าวไกลได้เปลี่ยนรูปเปลี่ยนร่างของการเมืองเรียบร้อยแล้ว แม้คนจะมองว่าพวกเขาอ่อนหัด ไร้ประสบการณ์เพียงใด แต่หนทางของการเมืองไทยนั้นกลายเป็นภาพการเมืองที่หลายคนต้องการ เห็นพ้องมากขึ้น เป็นการเปลี่ยนที่รุนแรง สมน้ำสมเนื้อ จากการเมืองแบบอำนาจนิยมตลอด 9 ปีที่ผ่านมา
ใช่–เวลาอยู่ข้างพวกเขา พวกเขาจะใหญ่ขึ้น พวกเขาจะมีประสบการณ์มากขึ้น และในเวลานี้ พวกเขาจะได้เรียนรู้วิถีของการเมืองแบบไทยๆ การเมืองที่ไม่มีมิตรแท้–ไม่มีศัตรูถาวร การเมืองที่อุดมไปด้วยการต่อรองและผลประโยชน์ การเมืองที่อำนาจเก่ายังทรงพลัง มีกลไกทุกอย่างอยู่เคียงข้าง และกลไกที่ทุกคนถือมีดไว้ พร้อมจะแทงได้ตลอดเวลา
แต่ก็ใช่อีกเช่นกัน–การอยู่ตรงกลางของเวลาทำให้พวกเขาทำตัวลำบาก การต่อรองกับกลุ่มผลประโยชน์ทุกกลุ่มไม่ใช่เรื่องง่าย แต่หากพวกเขาผ่านไปได้ ก้าวไกลจะเป็นพรรคการเมืองที่ทุกคนพร้อมเดินข้างๆ และเอาใจช่วย
แต่ทั้งหมด ย่อมเป็นความยากลำบาก รอยต่อระหว่างอดีตและอนาคต ยังเป็นรอยปริแตกขนาดใหญ่ อดีตอาจดึงพวกเขากลับไปได้ และอนาคตก็ยังไม่รู้ว่าจะมาเร็วขนาดไหน อาจจะว่ากันเป็นปี หรืออาจจะเป็นอีกทศวรรษที่อุดมด้วยความขัดแย้งต่อไป
เวลาอยู่ข้างพวกเขา และเวลาอยู่ข้างพวกเรา แต่ ณ วันนี้ จะก้าวข้ามไปสู่อนาคตอย่างไร… ยังไม่เห็นหนทางนั้นง่ายๆ เลย
Tags: พิธา ลิ้มเจริญรัตน์, ก้าวไกล, เพื่อไทย