ภาพเกมการแข่งขันฟุตบอลลาลีการะหว่างบาร์เซโลนากับลาส พัลมาส ในสนามคัมป์นูที่ว่างเปล่าทั้งซึ่งมีความจุมากที่สุดในทวีปยุโรปขนาด 98,000 ที่นั่ง ยังความสงสัยให้กับผู้ชมทั่วโลก

นักฟุตบอลทีมบาร์เซโลนาสวมเสื้อลายทางสีแดงเหลืองสัญลักษณ์แคว้นกาตาลุญญา แข่งขันกันท่ามกลางสถานการณ์สำคัญทางการเมือง ในวันที่รัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญาจัดประชามติเพื่อแสดงออกว่าต้องการแยกดินแดนแคว้นกาตาลุญญาออกจากราชอาณาจักรสเปน แต่ตลอดวันเกิดความวุ่นวาย ทางทีมบาร์เซโลนาจึงขอเลื่อนการแข่งขัน แต่ทางสหพันธ์ฟุตบอลสเปนไม่อนุญาต จึงตัดสินใจ 25 นาทีก่อนเกมเริ่มว่าจะประท้วง โดยปิดประตูเล่น แล้วยอมแข่งแบบไร้คนดู

ผลการลงคะแนนประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ในแคว้นกาตาลุญญา สนับสนุนการแยกออกไปตั้งประเทศใหม่ถึง 90 เปอร์เซ็นต์ของผู้มาลงคะแนนทั้งหมด (มีผู้มาลงคะแนน 2.26 ล้านคน คิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของผู้มีสิทธิ์ออกเสียง)

คะแนนมาจากผู้ที่พยายามดั้นด้นลงคะแนนแสดงจุดยืนให้แยกดินแดน ซึ่งมีทั้งการขับเคลื่อนมวลชนผ่านกิจกรรมการเมือง วัฒนธรรม และนโยบายของพรรคการเมืองชาตินิยมกาตาลัน หรือแม้แต่พรรคการเมืองสายกลางที่หาเสียงไว้ตั้งแต่ครั้งเลือกตั้งว่าจะผลักดันนโยบายแยกประเทศออกจากสเปน

ปรากฏการณ์ที่ชวนให้ติดตามคือทำไมรัฐบาลท้องถิ่นกาตาลุญญาจึงผลักดันให้ทำประชามติที่ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมายต่อรัฐบาลสเปน เหตุใดรัฐบาลสเปนจึงต้องออกแถลงการณ์ถ่ายทอดสดทั่วประเทศว่าการทำประชามตินี้ผิดกฎหมาย และรัฐบาลสั่งให้ตำรวจเข้ายึดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งสลายมวลชนที่มาลงคะแนนเสียงเพื่ออะไร
เพื่อให้เข้าใจสิ่งเหล่านี้ เราต้องย้อนดูบริบททางประวัติศาสตร์กาตาลัน และความสัมพันธ์กับราชอาณาจักรสเปน

 

พื้นเพทางภูมิศาสตร์ และประวัติศาสตร์ราชวงศ์และชนชั้นนำ

แคว้นกาตาลุญญาตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงเหนือสุดของสเปน ติดกับเทือกเขาพิเรนีส (Pyrenees) ที่กั้นกลางระหว่างสเปน ฝรั่งเศส และอันดอร์รา โดยทางเหนือของแคว้นเป็นพื้นที่ราบสูงและเทือกเขาติดกับเมืองซาราโกซา (Zaragoza) ที่ก็เคยเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนร่วมปกครองราชวงศ์อารากอน (Aragon) เช่นเดียวกัน ด้านตะวันตกเฉียงใต้ติดต่อกับแคว้นบาเลนเซีย (Valencia)  ส่วนทางตอนใต้ไปจนถึงฝั่งตะวันออก เป็นชายฝั่งทอดยาวริมทะเลเมดิเตอร์เรเนียน  มีบาร์ซาโลนาเป็นท่าเรือสำคัญของโลกตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

ดินแดนนี้เป็นพื้นที่แรกที่โรมันเข้ายึดครองในแถบคาบสมุทรไอบิเรีย (Iberian) (บริเวณประเทศสเปนและโปรตุเกสในปัจจุบัน) ซึ่งครอบครองและปกครองมาตั้งแต่ 8 ศตวรรษก่อนคริสตกาล และถูกยึดครองโดยชาวมัวร์มุสลิมตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ต่อมาถูกโจมตีและยึดครองสลับกันไปมาโดยหลายกลุ่มหลายราชวงศ์

จนมาถึงศตวรรษที่ 12 เมื่อราชวงศ์อารากอนขยายอิทธิพลทางการทหารไปถึงเขตของราชวงศ์นาโปลีในพื้นที่ตอนใต้ของอิตาลีปัจจุบัน ก็เป็นยุคทองของอารยธรรม จุดสำคัญทางประวัติศาสตร์คือเมื่อปี 1469 เจ้าชายเฟอร์ดินันด์ที่ 2 ของราชวงศ์อารากอน อภิเษกสมรสเจ้าหญิงอิสซาเบลที่ 1 แห่งราชวงศ์คาสตีล ถือเป็นการสถาปนาราชอาณาจักรสเปน และต่อมาก็ปวารณาราชอาณาจักรเข้าสู่ร่มของศาสนจักรโรมันคาทอลิก

ต่อมาเมื่อเกิดสงครามแย่งชิงอำนาจในหมู่ชนชั้นนำช่วงศตวรรษที่ 17-18 แคว้นกาตาลุญญาที่สนับสนุนราชวงศ์ออสเตรียผู้พ่ายแพ้ ก็ถูกราชวงศ์บูร์บง (House of Bourbon) จากฝรั่งเศสกำราบ และยกเลิกสถานะ ‘นครรัฐปกครองตนเอง’ ไปเมื่อวันที่ 11 กันยายน 1714 ซึ่งกลายเป็นเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ที่ขบวนการประกาศเอกราชกาตาลุญญานำมาใช้เป็นโครงเรื่องหลักในการขับเคลื่อนทางการเมือง และขับเน้นในแบบเรียนประวัติศาสตร์ของนักเรียนในแคว้น รวมไปถึงกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ

นอกจากนี้ การใช้มรดกทางอารยธรรม เช่น การเป็นเมืองแรกในคาบสมุทรไอบีเรียที่มีรัฐสภา มีศาล มีประมวลกฎหมายและรัฐธรรมนูญ เป็นเครื่องยืนยันความสูงส่งและแทรกอยู่ในเรื่องเล่าของฝ่ายผู้ถูกยึดครองที่รอวันปลดแอกออกจากเจ้าอาณานิคมมาดริด จึงมีพลังมาถึงปัจจุบัน ปรากฏชัดในแมตช์ฟุตบอลหยุดโลกเอลกลาซิโก ระหว่างบาร์เซโลนา (กาตาลุญญา) ปะทะเรอัล มาดริด (คาสตีลญา) ที่มิใช่แค่กีฬา แต่คือสงครามตัวแทนระหว่างชาติพันธุ์ที่มีรากเหง้าความขัดแย้งมาจากอดีตสืบเนื่องมาถึงปัจจุบัน

 

การบ่มเพาะขบวนการเคลื่อนไหวโดยใช้การเมืองวัฒนธรรม

ที่ผ่านมา ขบวนการประกาศอิสรภาพกาตาลุญญา ต่อสู้ทวงคืนสถานะปกครองตนเอง และก็ถูกปราบปรามไปหลายครั้ง

หากดูพื้นฐานด้านเศรษฐกิจ เมืองใหญ่ในแคว้นกาตาลุญญา ยังมีเยย์ดา (Lleida) เป็นที่ราบสูงทางตอนเหนือ มีโรงงานอุตสาหกรรมจีโรนา (Gerona) ทางตะวันออกเฉียงเหนือ เป็นเมืองป้อมปราการและกำลังอยู่ระหว่างการเสนอให้วัฒนธรรมอาหารเป็นมรดกโลก และตาร์ราโกนา (Tarragona) ทางตอนใต้ เป็นเมืองมรดกโลกจากสถาปัตยกรรมโรมัน และเป็นเมืองที่มีโรงไฟฟ้านิวเคลียร์สามแห่ง

ด้วยโครงสร้างทางเศรษฐกิจการเมืองที่เป็นพื้นที่ปฏิวัติอุตสาหกรรม และมีอุดมการณ์ฝ่ายซ้ายที่ประสบความสำเร็จในการเรียกร้องสิทธิแรงงาน (เป็นเมืองที่ได้สิทธิ์ทำงานวันละ 8 ชั่วโมงเป็นแห่งแรกของยุโรปเมื่อปี 1919) กิจกรรมทางการเมืองจึงมุ่งไปในทิศทางแตกหักจากเจ้าอาณานิคมมาดริดที่มุ่งแสวงหาความยิ่งใหญ่จากการยึดครองด้วยกำลังทหาร การเมืองแบบสาธารณรัฐปกครองตนเองจึงเป็นเป้าหมายทางการเมืองใหญ่ที่ทำให้ นายพลฟรานซิสโก ฟรังโก ผู้นำเผด็จการ ต้องเข้ามาปราบปราม กลายเป็นสงครามกลางเมืองช่วงปี 1936-1939 ต่อมา แคว้นถูกปกครองภายใต้เผด็จการทหารฟาสซิสต์ยาวนานกว่า 3 ทศวรรษ จนเมื่อนายพลฟรังโกเสียชีวิตในปี 1975 และมีการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญ 1978 คะแนนเสียงในแคว้นกาตาลุญญาจึงสนับสนุนรัฐธรรมนูญที่ให้ความอิสระแก่แคว้นปกครองตนเองกาตาลุญญาอย่างถล่มทลาย

เมื่ออำนาจทางเศรษฐกิจและการเมืองอยู่ในกลุ่มชนชั้นนำในแคว้นกาตาลุญญา ที่สะสมฐานอำนาจผ่านความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจมาตั้งแต่ช่วงการก้าวกระโดดทางเศรษฐกิจสเปนสมัยทศวรรษ 1960-1970 กลุ่มการเมืองจึงเรียกหาเสียงสนับสนุนจากชนชั้นกลางและนายทุนผู้ประกอบการชาวกาตาลัน ให้เทคะแนนสนับสนุนโยบายสร้างความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจเป็นเมืองอุตสาหกรรม ท่องเที่ยว และสร้างสรรค์อันดับต้นของยุโรป

ขณะเดียวกัน ก็สนับสนุนกิจกรรมการเมืองเชิงวัฒนธรรมโดยใช้เงินขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของแคว้นในทุกระดับ และบ่มเพาะอุดมการณ์แบบชาตินิยมกาตาลันเข้าสู่ระบบการศึกษา ผ่านการใช้ภาษากาตาลันสอนในทุกวิชา จนมีคดีฟ้องร้องในศาลรัฐธรรมนูญว่ามีการบังคับและกีดกันสิทธิของผู้ใช้ภาษาสเปน

 

สำหรับชีวิตประจำวันของผู้คนในแคว้นกาตาลันนั้น ผู้สนับสนุนการประกาศอิสรภาพสามารถแสดงออกได้ในที่สาธารณะอย่างเปิดเผย เนื่องจากเป็นกลุ่มชนชั้นกลางระดับบน หรือเป็นกลุ่มนักคิด นักสร้างสรรค์ คนทำสื่อ หรือผู้บริหารองค์กรใหญ่ แต่ผู้ไม่เห็นด้วยบางส่วนอาจต้องควบคุมท่าทีการแสดงออกของตัวเอง ไม่ให้นำไปสู่การส่งผลร้ายต่อหน้าที่การงาน เนื่องจากเป็นสมาชิกของครอบครัวที่เพิ่งอพยพเข้ามาทำงานได้เพียงไม่กี่รุ่นจึงอยู่ในระดับลูกน้อง ลูกจ้าง มากกว่าผู้บริหาร

 

ผลทางกฎหมายของกิจกรรมทางการเมือง และการทำประชามติ

ขบวนการประกาศอิสรภาพกาตาลุญญาผลักดันให้มีการทำประชามติเพื่อรับฟังเสียงของประชาชนในการกำหนดอนาคตแคว้นกาตาลุญญามาตั้งแต่เข้าสู่สหัสวรรษใหม่ แต่ถูกปฏิเสธจากรัฐบาลกลางมาดริดเสมอมา

จนเมื่อมีการทำประชามติครั้งใหญ่ที่ระดมคนมาลงคะแนนได้กว่าสองล้านคนเมื่อ 2014 จึงมีข้อถกเถียงเชิงกฎหมายอย่างจริงจังว่า ประชามติครั้งนั้นชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือไม่ เช่นเดียวกับรอบล่าสุด (2017) ที่การทำประชามติยังคงมีสถานะทางกฎหมายเช่นเดิม คือศาลรัฐธรรมนูญสเปนตัดสินว่าการทำประชามติไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและไม่มีผลทางกฎหมาย ส่วนผลในทางกฎหมายระหว่างประเทศนั้นขึ้นอยู่กับปริมาณคนที่มาลงคะแนนว่ามีกระบวนการที่เปิดให้คนมาร่วมได้มากและมีความบริสุทธิ์ยุติธรรมมากพอที่จะสะท้อนเจตจำนงของประชาชนได้จริงหรือไม่ จึงจะเป็นที่ยอมรับขององค์การระหว่างประเทศ ทั้งในระดับภูมิภาคยุโรปและระดับโลก

การตอบโต้จากรัฐบาลกลางมาดริด

ก่อนหน้านี้ รัฐบาลกลางสเปนตอบโต้ต่อขบวนการประกาศอิสรภาพในแคว้นกาตาลุญญาในลักษณะละมุนละม่อมมาโดยตลอด เนื่องจากขบวนการยึดแนวทางสันติวิธีและใช้กิจกรรมทางวัฒนธรรมและภาพลักษณ์เท่านั้น ไม่มีการใช้ความรุนแรงหรือกำลังอาวุธ แม้การลงคะแนนในปี 2014 ที่ความขัดแย้งเริ่มแหลมคม แต่การควบคุมสถานการณ์ก็เป็นไปอย่างสงบ

แต่กรณีล่าสุด รัฐบาลกลางสเปนบุกเข้าตรวจค้นควบคุมตัวสมาชิกพรรคการเมืองที่สนับสนุนการประกาศอิสรภาพ และเข้าปิดสำนักงานและการประกอบการของเว็บไซต์นามสกุลกาตาลัน .cat เข้ายึดสถานที่ลงคะแนนเลือกตั้งสลายมวลชนที่มาลงคะแนนเสียง จนทำให้เกิดความห่วงใยจากผู้ตรวจการเสรีภาพในการแสดงออกของสหประชาชาติ

 

ข้อถกเถียงว่าด้วยเรื่องแยกดีหรือไม่แยกดีกว่า

ข้อเสนอหลักของฝ่ายสนับสนุนการประกาศอิสรภาพ นอกจากเรื่องประวัติศาสตร์ ก็คือการพยายามสร้างรัฐใหม่ที่สามารถออกแบบกลไกและระบบบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพรองรับความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ลดขั้นตอนยุ่งยากล่าช้าแบบราชการเดิม และป้องกันปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ดังที่ปรากฏเป็นกรณีอื้อฉาวมากมายในรัฐสภา รัฐบาล พรรคการเมืองสเปน โดยเสนอว่า การแก้ปมที่ยุ่งเหยิงนั้นยากกว่าการสร้างขึ้นใหม่ทั้งหมด

ส่วนฝ่ายคัดค้านมุ่งปมไปที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมที่ผูกพันกับคนสเปนในแคว้นต่างๆ และการสูญเสียสถานะรัฐใหญ่ในทวีปยุโรปหากแยกออกไปเป็นรัฐกาตาลุญญา

ข้อเท็จจริงทางสถิติคือ หากกาตาลุญญาแยกตัว จะกลายเป็นรัฐที่มีกำลังทางเศรษฐกิจอันดับ 34 ของโลก ใหญ่กว่าโปรตุเกสและฮ่องกง เนื่องจากผลิตภัณฑ์มวลรวมของแคว้นคิดเป็น 19 เปอร์เซ็นต์ของสเปน และมีอัตราการว่างงานต่ำ การแยกตัวจะสร้างความเสียหายให้กับสเปนมากกว่ากรณีสกอตแลนด์แยกออกจากอังกฤษถึงสองเท่า ปัจจุบันรายได้ต่อหัวของคนในแคว้นกาตาลุญญาสูงกว่าคนอิตาเลียนและอิสราเอล หากมีการแยกตัวก็จะเกิดการอพยพครั้งใหญ่ที่มีผลสะเทือนในทางเศรษฐกิจและการแย่งชิงโอกาสทางเศรษฐกิจอีกมากมาย

ปัญหาที่แฝงอยู่คือการต่อรองของรัฐบาลท้องถิ่นกับรัฐบาลกลางเรื่องส่วนแบ่งภาษีและการจัดสรรงบประมาณสู่ท้องถิ่น ปัญหาการคอร์รัปชัน วิธีการที่ชนชั้นนำทางการเมืองเลือกใช้ คือการปลุกกระแสชาตินิยมเพื่อกลบความคับแค้นใจของประชาชนที่มีมาตั้งแต่เมื่อมีการต้านนโยบายรัดเข็มขัดในปี 2012-2013 ซึ่งสะท้อนวิกฤตการเมืองในระบบตัวแทน และความเสื่อมถอยของพรรคการเมืองที่ไม่สนองมวลชน

จากสภาพการณ์เหล่านี้ การสมานรอยร้าวในหมู่มวลชน และการรักษาคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เป็นเรื่องจำเป็นเร่งด่วน ในทางกฎหมาย การจะขอแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อเปิดทางให้กับการทำประชามติแยกดินแดน คงเป็นเรื่องที่เกิดได้ยากมาก ความขัดแย้งว่าด้วยการแยกตัวน่าจะเกิดขึ้นต่อเนื่องไป โดยไม่มีฝ่ายใดได้รับชัยชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด

Tags: , , , , ,