“พระเกียรติยศของพระมหากษัตริย์ เป็นการผดุงไว้ซึ่งเกียรติยศของประเทศ จึงมีความชอบธรรมที่ต้องมีกฎหมายคุ้มครองมิให้มีการละเมิดพระมหากษัตริย์” จิรนิติ หะวานนท์ อ่านคำวินิจฉัย

เมื่อวันที่ 31 มกราคมที่ผ่านมา ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน นั่งเรียงแถวหน้ากระดานบนบัลลังก์ ขณะอ่านคำวินิจฉัยกรณี พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ และพรรคก้าวไกล เสนอแก้กฎหมายมาตรา 112 

หลังฉากผู้ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้พิทักษ์รัฐธรรมนูญ มีกรอบรูปสีทองปรากฏภาพพระบรมฉายาลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ 10 และรัชกาลที่ 9 ติดไว้เหนือหัว 

ท่ามกลางคำวินิจฉัย ที่เหมือนถูกพิมพ์ซ้ำด้วยถ้อยคำอย่างจำกัด เช่น การแก้ไข ม.112 เป็นการลดสถานะ ไม่คุ้มครองสถาบัน นำไปสู่การล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข สถาบันฯ มีความสำคัญต่อประเทศ หรือการกระทำผิดต่อสถาบันฯ เป็นการกระทำความผิดต่อความมั่นคงของประเทศด้วย

แม้ว่าคำวินิจฉัยกรณีแก้ไขมาตรา 112 จะเป็นคนละเรื่องกับ พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าเป็นคนละ ‘เรื่องเดียวกัน’ 

 

“ไม่สำนึกก็ให้มันติดคุกต่อไป” 

“ไม่ต้องนิรโทษกรรม” 

“คดี ม.112 อีกแล้ว”

“น่าเบื่อ มีแต่ปัญหา”

 

ใช่ มันเป็นคดีที่น่าเบื่อ และมีแต่ ‘ปัญหา’ 

จริงๆ แล้วชีวิตการทำงานของฉัน เริ่มต้นพร้อมๆ กับขบวนการเคลื่อนไหวของนักเรียน นักศึกษา และประชาชนในปี 2563 ขณะเริ่มทำงานในอาชีพสื่อมวลชนยังไม่ครบ 1 เดือน ก็ได้เจอกับการสลายการชุมนุมที่เรียกได้ว่ารุนแรงและมีผู้บาดเจ็บมากที่สุด นับตั้งแต่การเคลื่อนไหวเรียกร้องในเดือนกรกฎาคม 2563

แก๊สน้ำตา กระสุนยาง และจีโน่ ทุกอย่างล้วนอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ ในการชุมนุมเมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2563 ฉันไม่มีแม้กระทั่งหน้ากากกันแก๊สน้ำตา ดังนั้นจึงฝ่าฟันทุกอย่างไปพร้อมกับมวลชนในขบวนที่ออกมาเรียกร้องสิ่งที่เรียกว่า ‘ประชาธิปไตย’ 

ก่อนที่รัฐจะทำให้ความรุนแรงกลายเป็นเรื่องปกติ ความรุนแรงถูกผูกยึดโยงกับทุกการชุมนุมเรียกร้อง ทั้งสันติหรือที่ใครหลายคนไม่ยอมให้เรียกว่าสันติ แต่ในทุกการแสดงออกด้วยเสรีภาพล้วนมีความรุนแรงของรัฐ ทั้งทางตรงทางอ้อมซ่อนอยู่เสมอ 

โดนจำคุก 5 ปี ไม่รอลงอาญา ถูกจำคุก 3 ปี ห้ามเคลื่อนไหว การจับถูกสลับกับการปล่อย ทั้งสองสิ่งนี้เล่นสลับวนซ้ำนานหลายปี

ในห้วงเวลาที่ ม.112 (เคย) เป็นจุดสนใจของมวลชน การถูกดำเนินคดี การตัดสินคดีถูกกังขา และโทษของตัวบทกฎหมายที่รุนแรงจนเกินไป ทุกคนตั้งคำถาม สงสัย และโกรธไปพร้อมๆ กัน 

แต่ความโกรธ เกลียด เคียดแค้นก็คล้ายกับมีเวลาของมัน ทุกอย่างถูกฉายซ้ำ ทั้งจับแล้วปล่อย ปล่อยแล้วจับ กลายเป็นเรื่องปกติของสังคม (ไปได้อย่างไร?)

การถูกพิพากษาจำคุกเพียงเพราะโพสต์สเตตัสเฟซบุ๊ก หรือแชร์คลิปเสียง ไม่ได้จุดไฟความโกรธร่วมในสังคมอีกต่อไป เพราะผู้ถูกดำเนินคดีมีมากจนเกินไป ที่แม้กระทั่งการสั่งจำคุก ‘บัสบาส’ ในคดี ม.112 รวม 50 ปี เพราะโพสต์เฟซบุ๊ก 27 ข้อความ จนทำลายสถิติโทษจำคุกของ ป้าอัญชัญที่แชร์คลิปเสียงของบรรพต มีโทษจำคุก 43 ปี 6 เดือน ก็ไม่อาจสร้างความตกใจ และความรู้สึกร่วมของคนในสังคมได้ (ใช้มาตราวัดความคาดหวังส่วนตัว)

438,300 ชั่วโมง คือเวลาที่อาจถูกพรากไปตลอดการจำคุกของบัสบาส เหล่านี้ยังไม่รวมเวลา และหลายสิ่งที่ต้องสูญเสียไประหว่างทางอีกด้วย

แต่ไม่ว่าจะ 1 วัน 1 เดือน หรือ 1 ปี เวลาที่เสียไปคือสิ่งที่มีค่า ไม่ควรมีใครมาพรากได้ เพราะทุกคนต่างรู้ว่านาฬิกาที่เรียกว่าชีวิตไม่มีทางหวนย้อนกลับ เช่นเดียวกับที่ไม่มีใครสามารถหยุดเวลาไว้ หรือหมุนย้อนกลับให้เป็นดั่งเดิมได้ 

ทุกคนควรได้รับสิทธิการประกันตัว และถูกสันนิษฐานไว้ก่อนกว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ แต่สิทธิดังกล่าวมักถูกยกเว้นสำหรับผู้ต้องหาคดี ม.112 ด้วยเหตุของน้ำหนักข้อหาที่โทษหนักเกินไป กลัวการกระทำซ้ำหรือหลบหนี ก็แน่สิ เพราะมีอัตราโทษจำคุกสูงสุดถึง 15 ปี และจัดอยู่ในหมวดความมั่นคงภายในราชอาณาจักร 

ม็อบ การเคลื่อนไหว ผู้คน และคนในคดี อย่างที่กล่าวไปข้างต้นอาชีพสื่อมวลชนของฉันเริ่มมาพร้อมๆ กับการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ ดังนั้นผู้คนมากหน้าหลายตาที่ถูกคดี และขณะนี้หลายคนถูกกุมขัง จึงเป็นหลายคนที่เคยพบปะ พูดคุย มากไปถึงสนิทสนม

“ไม่สำนึก ก็ไม่ต้องนิรโทษกรรม” 

ฉันเห็นการต่อสู้ พลังใจอันล้นเปี่ยม และหลายคนก็อ่อนล้า แต่ถามจริงๆ การโพสต์สเตตัส การแชร์ หรือการออกใช้สิทธิเสรีภาพที่ควรพึงมี มันร้ายแรงจนถึงขั้นที่ใครสักคนถูกพรากช่วงชีวิตหนึ่งไปได้หรือ คนจำนวนมากถูกพรากชีวิตวัยหนุ่มสาว นักเรียนนักศึกษาถูกพรากจากห้องเรียน หลายคนต้องแยกจากลูกหรือครอบครัว อะไรคือการไม่สำนึก และต้องอยู่ในคุกตลอดจนหมดโทษ? 

ใช่ คดี ม.112 เป็นคดีที่น่าเบื่อ และเต็มไปด้วยปัญหา น่าเบื่อในแง่ที่ว่า ผู้ถูกดำเนินคดีมากขึ้นทุกวัน โทษหนักขึ้นทุกที จนหลายคนหมดความสนใจ หรือสิ้นความโกรธ และมีปัญหาในแง่ตัวบทกฎหมายที่อัตราโทษสูงจนเกินไป

“อีกทั้งไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ด้วยวิธีการซึ่งไม่ใช่กระบวนการทางนิติบัญญัติโดยชอบที่จะเกิดขึ้นต่อไปในอนาคตด้วย” นครินทร์ เมฆไตรรัตน์ อ่านคำวินิจฉัยกลาง กรณีการเสนอแก้ ม.112 

ทั้งการสู้คดี การยื่นประกันตัว และความหวังในการแก้ไข ม.112 ที่ดูจะยากขึ้นทุกที ด้วยคำวินิจฉัยอย่าง “ไม่ให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 … ที่จะเกิดต่อไปในอนาคตด้วย”

ปัจจุบัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมคดีการเมือง มีผู้เสนอต่อสาธารณะอย่างน้อย 3 กลุ่ม คือ 

1. ร่าง พ.ร.บ. ของเครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน: นิรโทษกรรมให้ ‘ทุกข้อหา’ ที่เกิดจากการแสดงออก ทางการเมือง โดยชัดเจนว่าจะต้อง นิรโทษกรรมให้ คดีตามประกาศ/คำสั่งคสช., คดีพลเรือนในศาลทหาร, คดีมาตรา112, คดี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และคดี พ.ร.บ.ประชามติฯ

2. ร่าง พ.ร.บ. ของพรรคก้าวไกล: ไม่ได้ระบุว่าจะนิรโทษกรรมใครบ้าง 

3. ร่าง พ.ร.บ. ของพรรครวมไทยสร้างชาติ และครูไทยเพื่อประชาชน: ระบุการนิรโทษกรรมคล้ายกัน เช่น  กบฎ, การยุยงปลุกปั่น, ชุมนุม และ พ.ร.บ. คอมฯ แต่ไม่นิรโทษกรรมให้กับคดีอาญามาตรา 112 

ณ วันนี้ เมื่อทางเลือกถูกบีบให้เหลือน้อยลง กิจกรรมอย่างการลงชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชน จึงสำคัญมากเพราะเป็นร่างกฎหมายที่ไม่ได้แบ่งสี แบ่งฝ่าย แบ่งแกนนำ แต่ยกเว้นการกระทำที่เกินกว่าเหตุของเจ้าหน้าที่รัฐในการสลายการชุมนุม ซึ่งเริ่มนับเวลาการนิรโทษกรรมตั้งแต่การรัฐประหาร 2549 โดยกิจกรรมดังกล่าวจะขอให้ทุกคนเข้าร่วมส่งเสียงตั้งแต่วันที่ 1-14 กุมภาพันธ์ 2567 

17 ตุลาคม 2563 เป็นม็อบแรกในชีวิตการทำงาน แต่ไม่ใช่ม็อบสุดท้าย ทุกความโกรธ ความสูญเสีย การต่อสู้ ฉันได้เห็นพลังจากมวลชน ทั้งคนที่ลงท้องถนน คนที่ส่งกำลังใจหรือกำลังทรัพย์จากทางบ้าน ในวันที่ความโกรธ และความต้องการของทุกคนรวมตัวเป็นกลุ่มใหญ่ เราเคลื่อนขบวน มีผู้เดินนำหน้า แต่ ณ วันนี้ คนที่เดินนำหน้าหลายคนกำลังถูกทิ้ง และถูกพรากเสรีภาพไปด้วยกรงขัง

ในขณะที่พวกเรายังก้าวต่อ ยังใช้ชีวิตอยู่แม้จะไร้กรงขังแบบทางกายภาพ แต่ในประเทศที่การพูด การแชร์เฟซบุ๊ก ยังถูกตัดสินจำคุกหัวโต ประเทศนี้ยังมีเสรีภาพ และไร้กรงขังจริงๆ หรือ?

มาร่วมลงชื่อสนับสนุน หรืออ่าน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมประชาชนที่อาจกลายเป็นกุญแจดอกสุดท้าย เพื่อคืนเพื่อนร่วมขบวนกลับบ้านได้ทาง https://amnestypeople.com/

Tags: , , , , ,