วันนี้ (8 พฤษภาคม 2566) ศาลจังหวัดเชียงใหม่นัดฟังคำพิพากษาคดีของ รามิล-ศิวัญชลี วิธญเสรีวัฒน์ นักศึกษาภาควิชาปรัชญาและศาสนา คณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสมาชิกกลุ่มศิลปิน Artn’t ถูกกล่าวหาในข้อหาตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 กรณีแสดงงานศิลปะ Performance Art หน้าป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2564 ซึ่งพันตำรวจโท อานนท์ เชิดชูตระกูลทอง ตำรวจฝ่ายสืบสวนของสถานีตำรวจภูธรภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นผู้กล่าวหาว่า เท้ารามิลชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ของรัชกาลที่ 10

คำพิพากษาระบุว่า พยานโจทก์ไม่มีปากใดที่ชี้ว่าการกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ส่วนการหมิ่นประมาทจะต้องมีการใส่ความด้วยการชี้ยืนยันข้อเท็จจริงบางประการ ส่วนการดูหมิ่นต้องระบุตัวบุคคลให้รู้ได้แน่นอนว่าเป็นใคร เพราะพยานโจกท์ยังชี้ไม่ได้ว่า การกระทำของจำเลยเป็นการอาฆาตมาดร้าย ดูหมิ่น หมิ่นประมาท ซึ่งการแสดงไม่ได้เจาะจงตัวบุคคล และป้ายหน้ามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นสถานที่ชุมนุมอยู่แล้ว ทั้งนี้หากไม่มีการอุทธรณ์คดีของฝ่ายโจทก์คดีจะสิ้นสุดลง

ในการสืบพยานครั้งที่ผ่านมา ฝ่ายอัยการโจทก์พยายามนำสืบว่า การที่รามิลจัดแสดงงานศิลปะโดยใช้น้ำสีแดงเทราดตัว และแสดงกริยาเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น นั่งห้อยขา แสดงท่าทางครุฑ นั่งยองๆ โดยนำถังสีมาครอบศีรษะ และนอนหงายใช้เท้าขวาชี้ขึ้นฟ้า ซึ่งโจกท์กล่าวว่า เขาจงใจใช้สถานที่ที่มีป้ายข้อความว่า ‘ทรงพระเจริญ’ และมีรูปพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่ 10 และใช้เท้าซึ่งเป็นอวัยะต่ำชี้ไปทางพระบรมฉายาลักษณ์ เป็นการแสดงลักษณะจาบจ้วง ดูหมิ่น และแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์

ด้านจำเลยปฏิเสธและต่อสู้คดีว่า การทำศิลปะการแสดงสดที่ป้ายมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เพราะต้องการแสดงออกเรียกร้องความเป็นธรรมต่อมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งที่ผ่านมามีปัญหาขัดแย้งกับคณบดีคณะวิจิตรศิลป์มาก่อน ไม่มีเจตนากระทำต่อรูปพระบรมฉายาลักษณ์

ที่มา: https://tlhr2014.com/archives/55771

Tags: ,